Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 อาจเป็นพระมหากษัตริย์ที่คนไทยมีความรู้เกี่ยวกับพระองค์ท่านน้อยที่สุด เมื่อพิจารณาจากปริมาณหนังสือและงานวิชาการเกี่ยวกับพระองค์ท่าน นอกจากเรื่องสนธิสัญญาบาวริ่ง สุริยุปราคาที่หว้ากอ และเรื่องแต่งของแหม่มแอนนาแล้ว นับว่าความรับรู้เกี่ยวกับพระองค์ท่านในสังคมไทยค่อนข้างพร่าเลือน

26 พฤศจิกายน 2547 มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิโตโยต้าประเทศ ได้จัดสัมมนาทางวิชาการเพื่อเทิดพระเกียรติในโอกาส 200 ปีแห่งพระราชสมภพ การอภิปรายเรื่อง "ภาพสังคมสยามจากประชุมประกาศรัชกาลที่ 4" ถูกจัดขึ้น ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

วิทยากรประกอบด้วย รศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, คุณวารุณี โอสถารมย์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิยาลัยธรรมศาสตร์, รศ.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ผศ.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ จากมหาวิทยาลัยรังสิต, อ.ฉลอง สุนทราวาณิชย์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดยดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

ประชุมประกาศกว่า 343 ฉบับซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงคัดเลือกเพื่อตีพิมพ์ครั้งแรกในปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้ตีพิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้ง... การค้าเสรียุคแรก การเปลี่ยนสถานภาพของรัฐ และการจัดรูปสังคมวัฒนธรรม ฯลฯ รอการเรียนรู้จากผู้คนในสังคมไทย เรื่องราวเหล่านี้กำลังรอการเรียนรู้จากผู้คนในรุ่นหลัง

"เพราะเราคิดว่าเรารู้เรื่องแต่เอาเข้าจริงแล้วเราอาจจะไม่รู้ก็ได้ เพราะเราก็ท่องกันมา เรามักพูดถึงเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขต เรื่องของการหลุดพ้นจากการเป็นอาณานิคม นั่นเป็นประเด็นที่ปรากฏอยู่ในหนังสือเรียนของกระทรวงศึกษาฯ เป็นส่วนใหญ่ แต่เอาเข้าจริงเราก็เห็นว่าเรื่องมันมีมากมายกว่านั้นอีก" ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กล่าวเปิดประเด็น

เราเรียนรู้อะไรจากประชุมประกาศ

"ผมเห็นอะไรในประชุม ผมเห็นความสับสนอ่อนแอทางความรู้ความเชื่อเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและยุคสมัยของพระองค์ในสังคมไทยปัจจุบัน"

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์จากภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวพร้อมยกตัวอย่างที่เด่นชัด 2 ประการ

"ประการแรก ถ้าในฐานะของผู้สอนหนังสือทางด้านประวัติศาสตร์ทั้งการเมือง สังคมและเศรษฐกิจ เราจะหมายถึงรัชกาลที่ 123 แล้วเราก็หยุด เมื่อเราอธิบายถึงยุคสมัยการปฏิรูปการปกครองเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ตามแบบตะวันตกเราอธิบายถึงรัชกาลที่ 5 ต่อด้วย 6และ7 เมื่อนั่งอยู่ตรงนี้ผมก็นึกว่าแล้วรัชกาลที่ 4 อยู่ที่ไหน ผู้ที่สอนประวัติศาสตร์ การเมือง สังคม และเศรษฐกิจก็จะบอกว่าอยู่ระหว่างกลางแล้วเราก็ข้ามไป"

ความเลือนลางในการเรียนรู้เกี่ยวกับพระจอมเกล้าที่เด่นชัดมากคือหนังสือหรือหนังสือวิชาการการค้นคว้าเกี่ยวกับพระจอมเกล้ามีน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับรัชกาลอื่น ๆ ในพระบรมราชจักรีวงศ์

อีกตัวอย่างของความสับสนอ่อนแอในการรับรู้เกี่ยวกับรัชกาลที่ 4 คือข้อเท็จจริงที่ว่า ประชุมประกาศกว่า 343 ฉบับที่รวมเล่มตีพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่านี้ มิใช่ประกาศทั้งหมดของพระองค์ในช่วงรัชสมัย 17 ปี ของพระองค์ แต่เป็นการคัดสรรโดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

"คำถามก็คือว่ามีประกาศอีกจำนวนเท่าไหร่ มากแค่ไหนที่อยู่ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ นี่อาจเป็นสภาวะเซื่องซึมของกระทรวงวัฒนธรรมที่ไม่กระทำอะไรเลยเกี่ยวกับช่วงเวลา 200 ปีของพระองค์"

ผศ.ธำรงศักดิ์ กล่าวพร้อมสรุปความรับรู้ของสังคมไทยเกี่ยวกับพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว.... "ดูเหมือนยิ่งใหญ่แต่ลางเลือน"

ประกาศ ร.4: ความรู้คืออำนาจ

ประเด็นต่อมาที่ผศ.ธำรงศักดิ์เสนอคือ ความรู้คืออำนาจ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นผู้ที่สถาปนาองค์ความรู้มากมาย ดังนั้นจึงเป็นพระองค์เองที่กำหนดว่าอะไรถูกอะไรผิด

ดร.ชาญวิทย์ นำเสนอเพิ่มเติมว่า ประกาศรัชกาลที่ 4 นั้นได้รับการคัดเลือกโดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เพื่อตีพิมพ์ครั้งแรกในปลายรัชกาลที่ 6 ปี พ.ศ. 2464 และถูกติพิมพ์ซ้ำมาอีกหลายครั้ง

เนื้อหาของประชุมประกาศที่ได้รับการตีพิมพ์นั้น เป็นขุมทรัพย์ทางปัญญาทั้งเรื่องภาษาวรรณคดี เรื่องราวทางสังคม และรัชกาลที่ 4 ได้มีการฟื้นฟูประเพรีสมัยอยุธยา และหากจะวิเคราะห์ ทางวิชาการจริง ๆ แล้ว หลายสิ่งในประชุมประกาศเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น

ดร.ชาญวิทย์ถึงความรู้ที่ถูกสร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 และทรงอิทธิพลต่อสังคมไทยปัจจุบันว่า

"รัชกาลที่ 4 ทรงสร้างวาทกรรมเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ประเพณีสมัยอยุธยา โดยที่ก่อนหน้านั้นเอาเข้าจริงแล้วเราในยุคปัจจุบันไม่มีทางรู้จริง ๆว่าอยุธยาเป็นอย่างไร ซึ่งหลักวิชาการทางมานุษยวิทยาสังคมวิทยาเรียกว่าเป็น ประเพณีประดิษฐ์ ซึ่งเป็นประเพณีที่เราถือมาสืบทอดกันอยู่ในปัจจุบันก็ล้วนมาจากวาทกรรมของ ร. 4 แทบทั้งสิ้น"

พิณผกา งามสม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net