Skip to main content
sharethis

หนทางที่ประเทศไทยจะดำรงอยู่ได้ในกระแสโลกาภิวัตน์ คือเร่งปฏิรูปการศึกษา ทั้งนี้ไม่ใช่เพื่อการแข่งขันทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ที่สำคัญกว่าคือ การพัฒนาที่แท้จริงจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่เพิ่มขีดความสามารถของคนอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อทำให้คนไทยทุกกลุ่มสามารถปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างมีความสุข สามารถรักษาความเป็นธรรมในสังคมอย่างมีสติ

ทั้งรัฐธรรมนูญและพ.ร.บ.การศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๒ มุ่งจะปฏิรูปการศึกษาในสองประเด็นที่มีความสำคัญคือ ๑/ เปิดให้คนไทยสามารถเข้าถึงการศึกษาในระบบได้อย่างน้อย ๑๒ ปีโดยเท่าเทียมกัน ๒/ เปิดให้คนไทยสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ในทุกวัย ทุกสถานภาพและทุกเงื่อนไข หรือทำให้การศึกษาตลอดชีวิตเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้จริงแก่คนไทยทั่วไป

แต่ที่ผ่านมารัฐบาลทุกชุดไม่ได้ให้ความสำคัญแก่เจตนารมณ์ในสองประการนี้อย่างแท้จริง เช่น จนถึงทุกวันนี้ แม้โรงเรียนรัฐบาลเลิกเก็บค่าเล่าเรียน แต่กลับตั้งราคาให้แก่กิจกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาอย่างปฏิเสธไม่ได้ไว้ในราคาแพง รวมแล้วสูงกว่าค่าเล่าเรียนในแต่ละเทอมเสียอีก ก่อความยากลำบากอย่างสาหัสให้แก่ผู้ปกครองที่ยากจน และอาจเป็นเหตุให้ต้องเอาลูกออกจากโรงเรียนก่อนจะครบ ๑๒ ปี

เงินยืมเพื่อการศึกษาซึ่งทำมาสองรัฐบาลแล้ว ก็ขาดการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ธุรกิจการศึกษาของเอกชนเข้ามาแสวงหากำไรอย่างไม่รับผิดชอบจากนักเรียน-นักศึกษาของตนอยู่เสมอ และมีเด็กยากจนอีกมากที่ไม่สามารถเข้าถึงเงินยืมนี้ได้ด้วยเหตุผลต่างๆ กัน

ในด้านเนื้อหาและกระบวนการการศึกษาซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา แทบจะไม่ได้รับความสนใจจากนักการเมืองที่เข้าไปบริหารบ้านเมืองเลย ส่วนใหญ่ของโรงเรียนตลอดจนถึงมหาวิทยาลัยก็ยังเน้นการท่องจำมากกว่าการเรียนรู้ จุดมุ่งหมายของพ.ร.บ.การศึกษาซึ่งต้องการให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วม กลับถูกทำให้ไร้ความหมายเพราะการปรับโครงสร้างของรัฐเปลี่ยนได้แต่รูปแบบภายนอก ในขณะที่เนื้อหาภายในก็ยังพยายามรักษาการรวมศูนย์เอาไว้เหมือนเดิม

ในส่วนการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งจะต้องสร้างแหล่งเรียนรู้นานาชนิดอย่างกว้างขวาง รัฐแทบไม่ได้ลงทุนอะไรมากไปกว่าไอซีที เช่นไม่มีการจัดพิพิธภัณฑ์สำหรับการเรียนรู้ด้านต่างๆ ให้แพร่หลายสำหรับประชาชน ไม่ใช่สำหรับส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยว ไม่มีรัฐบาลใดคิดจะงดภาษีนำเข้าวัสดุการศึกษา เช่นตำรับตำรา เครื่องดนตรี เครื่องมือวิทยาศาสตร์ วิดีทัศน์ที่ให้ความรู้ด้านต่างๆ ตลอดจนเครื่องไม้เครื่องมืออื่นๆ ซึ่งจะเปิดการเรียนรู้ได้กว้างขวางขึ้น สื่อวิทยุและโทรทัศน์ซึ่งประชาชนเข้าถึงได้มาก ไม่เคยได้รับการปรับปรุงไปในทางที่จะให้เป็นช่องทางเรียนรู้แต่อย่างใด คงเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อแก่สินค้าและการเมืองของผู้มีอำนาจเหมือนเดิม

แหล่งเรียนรู้นอกระบบชนิดต่างๆ ซึ่งพ.ร.บ.การศึกษาสนับสนุนให้เกิดขึ้น ไม่เคยได้รับความสนใจอย่างจริงจังจากนักการเมือง การศึกษาตลอดชีวิตเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อมีแหล่งเรียนรู้อยู่รอบตัวที่ผู้คนสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก

การทำให้การศึกษาของชาติเป็นเครื่องมือแห่งการพัฒนามนุษย์ จึงต้องเริ่มจากการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ จากการปฏิรูประบบโรงเรียนไปเป็นการทำให้การเรียนรู้ในโรงเรียนและการเรียนรู้หลักสูตรวิชาการ สามารถเชื่อมโยงสู่การเรียนรู้ในชีวิตประจำวัน และสู่ปัญหาของผู้เรียนได้ อย่างน้อยที่สุดคือการเปิดหรือสร้างความยืดหยุ่นให้แก่เนื้อหาหลักสูตรในแต่ละท้องถิ่นแต่ละฐานวัฒนธรรม โดยการทำให้ผู้เรียนและชุมชนรอบโรงเรียนมีสิทธิมีส่วนกำหนดเนื้อหาการเรียนรู้ร่วมกับโรงเรียนในระดับใดระดับหนึ่ง

นอกจากนี้ ควรส่งเสริมแหล่งเรียนรู้ และกลุ่ม-องค์กร หรือชุมชน ที่จัดการความรู้นอกสถาบันการศึกษาทางการ ซึ่งปัจจุบันขยายตัวไปมาก ได้เข้ามาเชื่อมต่อความรู้ชุมชนกับระบบความรู้ในโรงเรียน ซึ่งพ.ร.บ.ปฏิรูปการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๑๒ และ ๑๘(๓) รวมถึงมาตรา ๒๕ และ ๒๙ ได้ให้สิทธิชุมชน องค์กร เหล่านี้จัดการศึกษาได้เอง หรือประสานเชื่อมต่อกับระบบโรงเรียนก็ได้ รวมถึงการสนับสนุนทั้งทางวิชาการและทรัพยากรแก่แหล่งเรียนรู้นอกโรงเรียนเหล่านี้ด้วย

ที่สำคัญคือ การเร่งรัดจัดทำกฎกระทรวงที่รองรับความชอบธรรมในการมีส่วนร่วมจัดการศึกษาของภาคประชาชนตามมาตราที่กล่าวข้างต้น ตลอดจนส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยคำนึงถึงการสร้าง " เงื่อนไขเชิงสังคม" แก่การเรียนรู้ อาทิ วิทยุเพื่อการศึกษา โทรทัศน์เพื่อการศึกษา หรือสื่อสาธารณะเพื่อการเรียนรู้ที่หลากหลาย ทั้งพิพิธภัณฑ์ อุทยานเพื่อการเรียนรู้ต่างๆ ชุมชนเพื่อการเรียนรู้ฯ หรือ " พื้นที่ดีๆ" ที่เอื้อแก่การเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนทุกวัย

ตลอดจนการมีมาตรการควบคุม ตรวจสอบสื่อที่คุกคามเด็ก เยาวชนและครอบครัว ทั้งนี้โดยมองให้เห็นถึงความเชื่อมโยงการปฏิรูปการศึกษา ที่ต้องดำเนินการไปพร้อมกับการปฏิรูประบบราชการ การปฏิรูปสื่อ การปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น โดยรัฐพึงจัดทำนโยบายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดสรรงบประมาณโดยเฉพาะรายได้ของท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนกิจกรรมการเรียนรู้ของชุมชน โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมบริหารจัดการ

เราในฐานะผู้เลือกตั้ง ควรตรวจสอบความคิดเห็นของผู้สมัครให้ถ่องแท้ว่า เขามีความเห็นอย่างไรในเรื่องดังต่อไปนี้ และพร้อมจะให้สัญญาว่าจะร่วมกับเราในการผลักดันให้เป็นผลจริงจังหรือไม่

๑. เปิดการมีส่วนร่วมปฏิรูปการศึกษาจากภาคสังคม โดย (๑) ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ภาครัฐและหน่วยการศึกษา (๒) ทบทวน ปรับปรุงนโยบาย กฎหมาย และระเบียบปฏิบัติที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้สิทธิจัดการศึกษาจากสังคม (๓) เร่งเตรียมความพร้อมให้องค์กรทางสังคมจัดการศึกษาได้ ทั้งนี้รวมถึงการเร่งออกกฎกระทรวงที่รองรับความชอบธรรม

๒. เร่งเตรียมความพร้อมให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มีความรู้ความเข้าใจต่อการปฏิรูปการศึกษาแบบมีส่วนร่วม ภายใต้ปรัชญาการศึกษาเพื่อให้คนเกิดความรักต่อการเรียนรู้

๓. สนับสนุนทั้งทางทรัพยากร วิชาการ และโครงสร้างพื้นฐานแก่การจัด " การศึกษาทางเลือก" ที่เกิดขึ้นโดยองค์กรทางสังคมต่างๆ ทั้งครอบครัวบ้านเรียน (Home School) กลุ่มชุมชนและองค์กรชุมชน สถานประกอบการ สถาบันทางศาสนา เป็นต้น

๔. กำหนดมาตรการทางภาษีที่เป็นธรรมและปฏิบัติได้จริง เพื่อจูงใจให้เอกชนและภาคธุรกิจ ลงทุนด้านการศึกษาตลอดชีวิตให้มากขึ้น

๕. ให้ความสำคัญสูงสุดแก่การปฏิรูปการศึกษาที่สังคมมีส่วนร่วม โดยการยกระดับให้การปฏิรูปการศึกษาเป็น "วาระแห่งชาติ" ที่ทุกภาคส่วน ไม่แต่เฉพาะหน่วยงานด้านการปฏิรูปการศึกษาจะร่วมรณรงค์ สร้างสำนึกและสร้างปฏิบัติการด้านการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย ในปริมาณที่มากและกว้างขวางทั่วประเทศ

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net