ชีวิตที่ยังอยู่...ภาระที่ถูกลืม ร่องรอยโศกนาฏกรรมชีวิต ณ แดนใต้

บ่ายหนึ่งของเดือนตุลาคมที่กรุงเทพมหานคร เราได้พบกับหญิงมุสลิมในชุดดำทั้ง 5 คน ที่เดินทางมาไกลกว่า 1 พันกิโลเมตร พร้อมร่องรอยความโศกเศร้าที่ปกคลุมบรรยากาศในห้อง ราวกับว่าโศกนาฏกรรมที่ผ่านมากลับมาทวงถามความทรงจำเมื่อวันนั้นของเราอีกครั้ง

หากความความเสียหายที่ผ่านมาคือชีวิตที่ล้มตายไป วันนี้ร่องรอยที่ยังคงอยู่คือ ชีวิตและภาระที่ถูกลืม เบื้องหน้าเรา... ภรรยา ที่ต้องรับจ้างตัดยางวันละ 100 บาทหาเลี้ยงลูก 2 คนเพียงลำพัง หลังจากสามีซึ่งเป็นสายสืบให้ตำรวจจากไปอย่างไม่คืนกลับในเช้าหนึ่งของเดือนตุลาคมปี 46 พบเพียงศพนอนตายอยู่ใต้สะพาน

"แฟนหาเลี้ยงครอบครัวมาตลอด ตอนนี้ก๊ะต้องหาเลี้ยง ลูกคนเล็ก 4 ปีเวลาตัดยางก็พาไปด้วย คนโต 14 ปีก๊ะพยายามตัดยางส่งลูกเรียน ไม่รู้จะไปทำอะไร..."

เสียงก๊ะขาดห้วงไปกับความรู้สึกบางอย่างและภาระหนักอึ้งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง ชีวิตของก๊ะถูกตอกย้ำด้วยการถูกปล่อยร้างจากครอบครัว ก๊ะเล่าต่อว่าไปไหนต้องเอาลูกคนเล็กไปด้วย แม่ไม่ค่อยใส่ใจหลาน เพราะแม่ไม่รักก๊ะเหมือนลูกคนอื่นคือคำอธิบาย ลูกๆ อยากให้ก๊ะพาย้ายไปเช่าบ้านอยู่ต่าง หากเพราะทุกวันนี้อยู่บ้านเดียวกันแต่ต้องทำอาหารกินกันเอง ซึ่งภาวะที่มีเพียงก๊ะคนเดียวหาเลี้ยงนั้นค่าเช่าบ้านเป็นสิ่งที่ยากเย็นนัก

ตอนนี้ชาวบ้านเข้าใจว่าครอบครัวก๊ะได้รับเงินชดเชยจากรัฐแล้วที่แฟนเสียชีวิต รวมทั้งเงินดูแลลูกเขาคิดว่าสบาย ตำรวจที่แฟนก๊ะทำงานด้วยสัญญาว่า จะให้ค่าทำศพ ค่าดูแลลูก แต่จริงๆไม่มี ก๊ะไม่เคยได้เงินสักบาท นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับก๊ะและอีกหลายครอบครัวเช่นกันที่ไม่ได้รับการเหลียวแลหลังต้องสูญเสียเรี่ยวแรงหลักไป

น้องสาว อายุเพียง 17 ปี เธอสูญเสียพี่ชายคนเดียวไปที่กรือเซะ ตอนนี้เหลือเพียงยายอายุ 80 กว่าปี ซึ่งทั้งสองดำรงชีวิตอยู่ด้วยเงินเก็บที่พี่ชายซึ่งทำงานก่อสร้างทิ้งไว้ เธอเรียนอยู่ปอเนาะชั้น 10 และอยากเรียนต่อ ส่วนยายเองถึงแม้จะหลังงองุ้มเดินไปมาไม่สะดวก แต่ก็คอยเก็บมะพร้าวที่หล่นลงมานำมาขูดเพื่อคั่วขายได้วันละประมาณ 10 บาทเท่านั้นและบางวันก็ขายไม่ได้

เมื่อถามถึงสิ่งที่อยากบอก "อยากได้เงินไปดูแลยายและเงินที่จะประทังชีวิตจนจบชั้น 10 ก่อน" นี่คือความหวังที่เธอฝากถึงทุกคนในยามนี้

อีกคนที่ครอบครัวกำลังเผชิญชะตาชีวิตไม่ต่างกัน น้องสาวอายุ 17 ปี เรียนอยู่ชั้น ม.5 สูญเสียพ่อไปที่กรือเซะเช่นกัน โดยพี่น้องทั้ง 3 คนอยู่ในความดูแลของแม่ที่ต้องไปรับจ้างตัดยางได้ประมาณ 500 บาทต่อสัปดาห์ เพราะต้องแบ่งครึ่งกับเจ้าของสวน โดยเมื่อก่อนพ่อจะไปขายรองเท้าที่ตลาดนัดเป็นรายได้หลัก

เราต้องหยุดพักการพูดคุยเพื่อปรับอารมณ์กันหลายครั้งเพราะเรื่องราวเบื้องหน้ามากมายเกินกว่าที่สังคมเคยรับรู้ การพบปะวันนี้เกิดขึ้นโดย เครือข่ายผู้หญิงเพื่อสันติภาพ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้หญิงที่รวมตัวขึ้นเพื่อติดตามผู้ที่ได้รับผลกระทบหลังเหตุการณ์ 28 เม.ย. ที่มัสยิดกรือเซะ โดยได้ลงติดตามและจัดกิจกรรมเพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบซึ่งส่วนมากเป็นกลุ่มผู้หญิงและเด็ก

ภาพสไลด์ผ่านไปทีละรูป เป็นภาพต่อที่แจ่มชัดขึ้นในอารมณ์ความรู้สึกของพวกเราที่นั่งอยู่ ...แม่หน้าตาหม่นเศร้าหอบลูกเล็กๆมาร่วมกิจกรรมเยียวยา เพื่อแบ่งปันและบรรเทาความทุกข์ของกันและกัน มีทั้งจากฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐและชาวบ้าน คำอธิบายประกอบภาพดังเป็นระยะๆ

"ถ้าจำได้ เด็กคนนี้ได้รับเงิน 2 พันบาทจากนายกตอนที่ลงพื้นที่ แต่ปัจจุบันยังไม่ได้รับความช่วยเหลืออะไรอีกเลย"

"ก๊ะคนนี้สามีเป็นตำรวจ เธอไม่เคยร้องไห้และทุกครั้งที่ผ่านไปจุดที่แฟนถูกยิงเสียชีวิตเธอจะบอกให้ลูกชายจำไว้และบอกให้ลูกเข้มแข็งเหมือนเธอ มีคนถามว่าเธอจะสอนให้ลูกไปแก้แค้นใช่ไหม เธอเงียบ ...วันที่มาร่วมกิจกรรมเธอร้องไห้โฮตั้งแต่กิจกรรมยังไม่เริ่ม"

"ก๊ะคนนี้อายุ 26 ปี มีลูก 6 คน และกำลังท้องอีกคนได้เก้าเดือน แฟนเสียชีวิตที่กรือเซะ ตอนนี้ไปรับจ้างกรีดยางวันละ 50 บาท ลูกคนเล็ก 1 ขวบแต่ขาผิดปกติยืนไม่ได้ หลังพ่อตายเด็กร้องไห้ตลอดเวลา ไม่กินข้าวกินแต่นมข้น กรมประชาสงเคราะห์ให้ไปรับนมผงที่จังหวัดแต่บ้านเขาอยู่ไกลมาก และถ้ามารับก็กินได้เพียงครั้งละ 2 สัปดาห์เท่านั้น ...วันที่เราไปเยี่ยมเด็กก็ร้องไห้อยู่ตลอด"

ภาพสไลด์ผ่านไปภาพแล้วภาพเล่า หนึ่งในเครือข่ายฯเล่าย้ำถึงสภาพที่ลงไปเจอว่า สิ่งที่พบหลังจากไปพบกับญาติของทั้งฝ่ายรัฐและชาวบ้าน ทำให้เห็นว่าคนที่ได้รับผลกระทบคือผู้หญิงและเด็กของทั้งสองฝ่าย เพราะแม้แต่ตำรวจทหารที่เสียชีวิตส่วนใหญ่ก็เป็นมุสลิมเป็นคนแถวนั้น ไม่ใช่คนจากที่อื่นอย่างที่เราเคยเข้าใจกัน เพียงแต่ชาวบ้านอาจจะไม่สามารถบอกเล่าถึงความรู้สึกของตนได้เหมือนกับฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐที่สูญเสีย

พวกผู้หญิงไม่รู้ด้วยซ้ำว่าวันนั้นออกไปทำอะไรกัน บางคนบอกถ้ารู้จะมัดไว้ไม่ให้ไป คิดดูจะปล่อยไปได้ยังไงถ้ารู้ว่าไม่กลับมาอีก ลูกตั้ง 6 คน บางคนยังท้องอยู่ และเขาไม่อยากให้คาดคั้นเรื่องนี้

หนึ่งในกลุ่มที่เดินทางมาจากภาคใต้ เล่าว่า ญาติของเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐเองบางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะติดตามค่าชดเชยและสวัสดิการของลูกได้อย่างไร กรณีของหญิงคนหนึ่งที่สามีเป็นเจ้าหน้าที่รถไฟเสียชีวิต ตอนนี้ต้องย้ายออกจากบ้านพักการรถไฟและไปรับจ้างล้างจานตั้งแต่ตี 2 ได้ค่าแรงวันละ 100 กว่าบาท เพราะเขาไม่รู้ว่าจะเรียกร้องสิทธิ์อย่างไร

...ความกังวลที่กำลังตามมาอีกตอนนี้คือ ครอบครัวที่มีผู้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 28 เม.ย.ได้รับหมายศาลที่ส่งมาทางไปรษณีย์ ซึ่งคนส่วนใหญ่เป็นคนที่อ่านภาษาไทยไม่ได้บางคนแม้แต่พูดยังไม่ถนัด ทำให้หลายคนไม่เข้าใจ และความห่วงใยที่มีคือ คดีวิสามัญนั้น หากญาติไม่ไปคัดค้านจะไม่สามารถเรียกร้องอะไรในภายหลังได้ แต่ประเด็นสำคัญคือชาวบ้านติดใจว่าญาติของเขาจะเป็นผู้ร้ายไปตลอด ซึ่งจะส่งผลไปถึงลูกหลานที่อยู่ต่อไป พวกเขาต้องการลบภาพตรงนี้

น้องสาวที่เป็นล่ามบอกความในใจว่า ได้ไปพูดหลายเวทีแต่ไม่ได้พูดเรื่องคนที่เหลืออยู่ซึ่งจำเป็นกว่า อยากให้บ้านเราสงบสุขเหมือนเดิม นาทีนี้เราอยากพูดเรื่องของเรา หลายคนเขาไม่สนใจว่าสื่อจะนำเสนอว่าสามีเขาเป็นอะไร เขาสนใจว่าลูกไม่มีนมกิน ลูกไม่สบาย บางคนอยู่ในบ้านแต่ยังเปียกฝนมีผ้าห่มทั้งบ้านแค่ 3 ผืน

...อยากให้พูดถึงภาพมุสลิมไม่ใช่แค่ความโหดเหี้ยม ความจริงมันมีหลายอย่าง มีคนที่ต้องการความช่วยเหลืออีกมาก ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้บางคนไม่ยอมรับเรา และเมื่อเรามากรุงเทพแค่เห็นเราคลุมหน้ารถแท็กซี่ไม่ยอมจอดรับมันยิ่งแย่

ห้องเงียบงัน... ถ้อยคำจากเครือข่ายผู้หญิงเพื่อสันติภาพบอกเราว่า เราไม่เคยพูดว่าคนที่มีชีวิตอยู่จะเป็นยังไง ภาคใต้มีความขัดแย้ง มีความรุนแรงปรากฏ ถึงแม้จะยังหาสาเหตุไม่ได้แต่ไม่ใช่ว่าแก้ไขไม่ได้ เพราะปัญหาเกิดแล้วถ้าไม่บรรเทาความรุนแรงจะขยายตัว ต้องมาดูว่าจะทำอะไรได้ วันนี้ผู้เสียหายมีอยู่จริงและต้องได้รับความช่วยเหลือ ปืนช่วยไม่ได้เพราะมีภรรยาที่สามีถูกยิงตายบอกเราว่าขณะที่ถูกยิงเขามีปืนอยู่กับตัวถึง 3 กระบอก

"ตอนนี้มีเด็กที่อาจจะอดตายเป็นพันคน ซึ่งเป็นคนที่เราช่วยได้ เราต้องบอกทั้ง 2 ฝ่ายให้เขารู้ ต่างฝ่ายต่างอ้างว่าทำเพื่อให้เกิดความสงบสุข เราต้องบอกเขาว่าเขากำลังทำให้คนที่เขาหวังดีเดือดร้อน ลำบาก ถ้าเขายังถือปืนเข้าหากัน เขาจะได้เปลี่ยนแปลงสิ่งที่ทำอยู่" นี่คือเสียงและเรื่องราวที่เราทุกคนควรรับฟัง

หากประสงค์ร่วมแบ่งเบาและช่วยเหลือครอบครัวที่สูญเสีย กรุณาเปิดใจรับฟังอย่างเข้าใจ และบอกเล่าสู่คนอื่นๆในสังคม หรือร่วมบริจาคที่ มูลนิธิผู้หญิง 259 ถ.จรัลสนิทวงศ์ ซอย 62 ขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพฯ 10700 โทร 02-4335149, 02-4351246

ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท