Skip to main content
sharethis

ศูนย์ข่าวภาคเหนือ-29 พ.ย.47 นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ผู้ประสานงานเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา เปิดเผยว่า งานวิจัยจาวบ้านเชียงของ เป็นงานวิจัยที่ทำโดยชาวบ้าน ซึ่งจัดทำขึ้นในพื้นที่แม่น้ำโขง บริเวณพรมแดนไทย-ลาวทางตอนบน แถบ อ.เชียงของและ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ตรงข้ามกับแขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว มีทั้งหมด 6 ประเด็น คือ ระบบนิเวศน์ พันธุ์ปลา เครื่องมือหาปลาพื้นบ้าน การทำเกษตรริมโขง พรรณพืชในแม่น้ำโขง และสังคมวัฒนธรรมของชุมชนบริเวณพรมแดนไทย-ลาวทางฝั่งไทย

"โดยทางนักวิจัยจาวบ้านได้แบ่งกันทำวิจัยเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ตั้งชุมชนบริเวณรอบคอนผีหลง ไดแก่ บ้านหาดทรายทอง บ้านดอน บ้านผากุบ บ้านเมืองกาญจน์ อ.เชียงของ โดยคัดเลือกนักวิจัยจาวบ้าน หมู่บ้านละ 5 คน ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อที่ได้พึ่งพาลำห้วยสาขาของแม่น้ำโขงเป็นหลัก และกลุ่มชุมชนคนเมืองที่พึ่งพาแม่น้ำโขงด้วยการหาปลาและการปลูกผัก เก็บไก เป็นผู้วิจัย อีกกลุ่มหนึ่ง เป็นนักวิจัยที่อยู่ในชุมชนบริเวณใต้คอนผีหลงลงไปจนถึงแก่งได ซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านเวียงแก้ว เวียงดอนชัย บ้านหาดไคร้ บ้านปากอิง อ.เชียงของ และบ้านห้วยลึก อ.เวียงแก่น ที่อาสาเข้ามาร่วมวิจัยในครั้งนี้" นายสมเกียรติ กล่าว

นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า แม่น้ำโขงได้เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก ไม่ว่าระบบนิเวศน์ จำนวนปลา จำนวนพรรณพืชที่เคยอุดมสมบูรณ์เริ่มลดน้อยลง บางชนิดสูญพันธุ์ไปแล้ว ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำโขงนั้นได้ส่งผลกระทบถึงความเป็นอยู่ของคนลุ่มน้ำโขง และในปัจจุบันยิ่งมีผลกระทบมากยิ่งขึ้น เมื่อมีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำโขงผุดขึ้นมาอย่างมากมาย

"งานวิจัยจาวบ้านชุดนี้ จึงจัดทำขึ้นเพื่อนำเสนอให้สาธารณะได้รับรู้และเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งนี้เราจะนำเสนอให้ทางรัฐได้นำไปประกอบการตัดสินใจในการคิดสร้างโครงการต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อแม่น้ำโขง และผู้คนแถบลุ่มน้ำโขง ได้ตระหนักและเข้าใจ เป็นข้อมูลความจริงที่รัฐจะต้องทบทวนว่า หลายโครงการของรัฐนั้นได้ก่อปัญหา มุ่งทำลายระบบนิเวศน์ของแม่น้ำโขง ทำให้วิถีชีวิตผู้คนและความเป็นอยู่ต้องเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก" นายนิวัฒน์ กล่าว

องอาจเดชา
ศูนย์ข่าวภาคเหนือรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net