Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

"ก่อนนั้นเฮาเคยออกเรือหาปลาครั้งหนึ่ง ได้ปลามาขายเต็มคันรถ ตอนนี้หาได้เพียง 2 กิโลเท่านั้น ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไป เฮาอดตายแน่…" นั่นคือเสียงของพ่อเสาร์ ระวังศรี ผู้เฒ่าวัย 74 ปี คนหาปลาในแม่น้ำของ บอกเล่าให้ทุกคนได้ฟังและรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำและวิถีชีวิตของตน…

1.
เช้าวันที่ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา กว่า 300 ชีวิต จากทั่วสารทิศ ได้มารวมตัวกัน ณ ศูนย์ฝึกอบรมข้าราชการครู อ.เชียงของ จ.เชียงราย ริมแม่น้ำโขง ใกล้ๆ กับท่าเรือเชียงของ อากาศเช้านั้น สดชื่นเย็นสบาย หลังฝนโปรยปรายลงมาเมื่อคืนก่อน ทุกคนเริ่มทยอยกันเข้ามาในบริเวณงานกันเนืองแน่น

"ผลกระทบจากการพัฒนาแม่น้ำโขงตอนบน มุมมองภาคประชาสังคม และงานวิจัยจาวบ้าน" คือ กิจกรรมในวันนี้ ถือเป็นกิจกรรมที่รวมพลคนรักแม่น้ำโขงครั้งยิ่งใหญ่ เพราะเท่าที่สังเกตดูจะรู้ว่า ผู้เข้าร่วมงานครั้งนี้ มีหลากหลายองค์กรหน่วยงาน ไม่ว่าภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ นักวิชาการ สมาชิกวุฒิสภา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน นักเรียนนักศึกษา ชาวบ้านที่อยู่อาศัยสองฟากฝั่งแม่น้ำโขง รวมไปถึงนักวิจัย นักพัฒนา นักจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวจากประเทศจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ศรีลังกา และเคนยา ได้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ด้วย

ในช่วงเช้า, รศ.สุริชัย หวันแก้ว จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ปาฐกถา เรื่อง "ความมั่นคงทางอาหารและปัญหาสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน" เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ เควิน ลี นักวิชาการแม่น้ำโขงจากประเทศจีน ได้สรุปสถานการณ์การพัฒนาแม่น้ำโขงตอนบนล่าสุด

หลังจากนั้น, นายไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ ผอ.เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เชิญผู้แทนจาก IUCN นางสุนี ไชยรส กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นางเตือนใจ ดีเทศน์ รองประธานกรรมการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา, นายบุญธรรม ทิพย์ประสงค์ รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย และนายธารินทร์ พันธุมัย เลขาฯ ชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จ.นครพนม เข้าร่วมอภิปรายแลกเปลี่ยนทัศนะมุมมองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมแม่น้ำโขง ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ด้านสิทธิมนุษยชน และกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน กับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติตามรัฐธรรมนูญ

2.
พอถึงช่วงบ่าย, ประเด็นที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ ได้ขึ้นไปกล่าวถึงความเป็นมาของ การวิจัยจาวบ้านของคนลุ่มน้ำของ

"แม่น้ำของ" หรือ "แม่น้ำโขง" ท่ามกลางเปลี่ยนแปลงจากการพัฒนาของรัฐ

"ครูตี๋" หรือนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว บอกว่า ที่ผ่านมารายงานวิจัยของรัฐ ไม่ได้ตอบสนองคนท้องถิ่น โดยเฉพาะรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)ของรัฐที่ผ่านมานั้นไม่เป็นจริงเลย สถานการณ์ขณะนี้ โครงการพัฒนาต่างๆ ของรัฐที่ถาโถมลงมา จะมุ่งไปทำลายระบบนิเวศน์ของแม่น้ำโขง ทำลายวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน คนภายนอกที่ไม่เคยได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำสายนี้ ต่างไม่เห็นความสำคัญ นอกจากไม่เห็นความสำคัญของการใช้ประโยชน์แล้ว บางคนยังละเลยที่จะมองเห็นองค์ความรู้ของคนท้องถิ่นด้วย

"งานวิจัยจาวบ้าน จึงเกิดขึ้นโดยชาวบ้านจำนวน 13 หมู่บ้าน ที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงบริเวณพรมแดนไทย-ลาว ทางตอนบน ของอ.เชียงของและเวียงแก่น จ.เชียงราย ให้ชาวบ้านเป็นนักวิจัย ซึ่งเป็นผู้ที่รู้ในเรื่องราวต่างๆ โดยผ่านวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำโขงมายาวนาน…"

"จงเคารพในธรรมชาติและความเท่าเทียมกันของมนุษย์" นั่น,คือเสียงย้ำเตือนของ ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ

3.
"มันไม่เหมือนเดิมแล้ว มันเปลี่ยนไปหมด น้ำมันขึ้นมันลงผิดปกติ ทำให้หาปลาไม่ได้ จากเมื่อก่อนออกไปหาปลาครั้งหนึ่งได้เยอะจนเต็มคันรถ แต่มาช่วงหลังนี้ ได้เพียง 2 กิโลเท่านั้น แต่ก็ต้องไป เพราะมันเป็นอาชีพ ถ้าไม่ไปลูกเมียก็อดตาย…" อุ้ยเสาร์ ระวังศรี ผู้เฒ่าหาปลา วัย 74 ปี และเป็นนักวิจัยจาวบ้าน เรื่อง การหาปลา บอกเล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงหม่นเศร้า…

เมื่อถูกถามว่า เป็นเพราะอะไรจึงเป็นเช่นนี้? แกบอกว่า อาจจะเป็นเพราะการระเบิดแก่ง ทำให้น้ำมันเชี่ยวแรง เดี๋ยวน้ำขึ้นเดี๋ยวแห้ง ปลาอยู่ไม่ได้

เมื่อใครได้ไปเยือนเชียงของ จะรับรู้ว่า…วิถีชีวิตของผู้คนที่นี่จะมีอาชีพทางการเกษตรกรรมอยู่ 2 อย่างพร้อมกัน คือ การทำนา ทำสวน กับการทำประมงพื้นบ้าน โดยเฉพาะชีวิตผู้คนริมลำน้ำโขงนั้น จะมีวิถีความผูกพันกับแม่น้ำโขงเป็นอย่างมาก ไม่ว่าฟากฝั่งเชียงของ ของไทยหรือฝั่งลาว บริเวณบ้านห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ต่างใช้ชีวิตพึ่งพากันและกันมาโดยตลอด

พวกเขามีอาชีพหลัก คือ การหาปลา เก็บไก เก็บเตา และทำเกษตรริมโขง รวมไปถึงคนหาปลาและคนขับเรือรับจ้างขนส่งสินค้าข้ามไปมาระหว่างไทย-ลาว และนำเรือนำนักท่องเที่ยวล่องแม่น้ำโขง พวกเขาต่างใช้ชีวิต และใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงมายาวนาน

อุ้ยเสาร์ ระวังศรี ก็เป็นอีกคนหนึ่ง ที่ใช้ชีวิตอยู่กับสายน้ำโขงมาเนิ่นนานกว่า 50 ปี ได้บอกเล่าว่า นอกจากทำสวน ทำไร่แล้ว อาชีพหาปลา เป็นอาชีพที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับครอบครัวมากที่สุด

คนหาปลาในบริเวณอำเภอเชียงของ จะมีการรวมกลุ่มกัน 3-4 คน แต่ละคนล้วนเป็นเครือญาติกัน เอาเรือขึ้นไปหาปลามาขายให้กับพ่อค้า บางคนมารับซื้อไปขายที่เชียงใหม่ ครั้งหนึ่งได้เงินประมาณ 5,000 บาทต่อคน

อุ้ยเสาร์ ยังบอกเล่าอีกว่า ก่อนนั้น,แกเคยขับเรือขึ้นทวนน้ำโขงไปทางตอนเหนือ เข้าไปถึงเขตพม่า จนมีความสนิทสนมผูกพันกับคนพม่าที่นั่น เมื่อขึ้นไปหาปลาแต่ละครั้ง แกจะใช้เวลาหาปลาอยู่ที่นั่นนานถึง 7-10 วัน

การหาปลา ไม่ยุ่งยากอะไร อาศัยความสัมพันธ์ ทำความคุ้นเคยกับคนท้องถิ่นแถบนั้น รวมถึงมิตรสหายตามลำน้ำ เมื่อถึงเวลามืดค่ำ ก็จอดเรือริมฝั่ง ตั้งเพิงพักง่ายๆ เพื่ออาศัยพักผ่อนหลับนอนเพื่อชั่วคราว เมื่อหาปลามาได้ก็แบ่งปันกันกิน

หากห้วงยามนี้, มันเปลี่ยนไปแล้ว การเดินทางขึ้นไปหาปลาในทางตอนบนของแม่น้ำโขงแบบนี้ไม่มีอีกแล้ว คนหาปลาบอกว่า มันเสี่ยงอันตราย และที่สำคัญ…ปลาทางตอนเหนือของแม่น้ำโขงนั้นลดลง อีกทั้งเรือขนาดใหญ่ที่ล่องลงมาจากจีน ทำให้เกิดกระแสน้ำเชี่ยวแรง จนทำให้เรือหาปลาล่มจมลง

หลังจากที่มีการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงขึ้น เพื่อการเดินเรือพาณิชย์จากจีน จนทำให้สามารถเดินเรือขนาด 300 ตันลงมาถึงเชียงแสนในขณะนี้ ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำโขงเป็นอย่างมาก
ในรายงานวิจัยจาวบ้าน ได้สรุปถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขง เอาไว้ว่า ได้ทำลายระบบนิเวศน์แม่น้ำเปลี่ยนแปลง สายน้ำเชี่ยวแรงผิดปกติ และกระแสน้ำขึ้นลงผิดปกติ ทำให้เกิดน้ำท่วม น้ำแห้ง ทำให้กระแสน้ำไหลเปลี่ยนทิศทาง ทำให้ตลิ่งถูกกัดเซาะและพังทลายลง

และที่สำคัญ, ทำให้แหล่งอาหารของผู้คนที่นี่ต้องสูญเสียไป ไม่ว่า "แก่ง" หรือ "คก" ซึ่งเป็นแหล่งหาปลาที่สำคัญที่สุด ถูกตะกอนทรายทับถม ทำให้เกิดการตื้นเขิน พื้นดอนทรายถูกพัดหายไป ใช้ทำการเพาะปลูกพืชผักริมน้ำไม่ได้

โดยเฉพาะ "ไก" สาหร่ายน้ำจืด ที่ขึ้นตามหาดหินและผาในแม่น้ำโขง ซึ่งชาวบ้านทั้งฝั่งไทยฝั่งลาว พากกันไป "จกไก" เก็บมาบริโภค และนำไปขายทำรายได้ให้กับครอบครัว ได้เงินประมาณ 300-500 บาทต่อวัน แต่ตอนนี้ ต้องแห้งตายหายไป เพราะกระแสน้ำเปลี่ยนแปลง ตอนนี้ ต้องไปซื้อจากที่อื่นมากินแทน

"แก่ง ถือว่าเป็นฝายธรรมชาติที่ช่วยชะลอความเร็ว ความแรงของสายน้ำ เป็นแหล่งอาหารมากมายหลายชนิดของพวกเราแถบนี้ ทำไมรัฐต้องทำลายแก่งด้วย มันเหมือนกับว่ารัฐกำลังทำลายชีวิตเราด้วย…" เสียงของ นักวิจัยจาวบ้าน บ่นครวญในวันนั้น…

องอาจ เดชา
ศูนย์ข่าวภาคเหนือ รายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net