Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ตอน 1 Karen River Watch : การรวมตัวของกะเหรี่ยงพลัดบ้านก่อนเขื่อนมาเยือน

...สายัณห์หนึ่งในฤดูร้อนแล้ง
ข้าก้มลงเก็บปลอกกระสุนปืน
ณ ริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน
ข้าเห็น...แผ่นดินกำลังจะลุกเป็นไฟ
จากหนึ่งนัดสู่สิบแสนนัด
ชีวิตของชนกลุ่มน้อยปลิดปลิวหายไป
แตกสลายลงในสงครามกู้ชาติ...

28 มิ.ย. 46 การรวมตัวขององค์กรกะเหรี่ยง 6 องค์กร ที่ทำงานด้านต่างๆ เช่น สิ่งแวดล้อม เยาวชน ผู้หญิง แรงงาน สิทธิมนุษยชน เพื่อติดตามการสร้างเขื่อนสาละวินชายแดนไทย-พม่าในนาม กลุ่มปกป้องแม่น้ำกะเหรี่ยง (Karen River Watch:KRW) ได้เกิดขึ้นหลังการพูดคุยแลกเปลี่ยนสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นบนผืนดินเกิด

ต้นเดือนตุลา 47 ข้าพเจ้าได้พบกับ ลอแอะ และ พอเกว หนุ่มสาวกะเหรี่ยงจากฝั่งพม่า ที่กำลังเตรียมปิดต้นฉบับงานวิจัยในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนสาละวิน หนึ่งในกิจกรรมของ KRW ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ส.ค. 46

งานดังกล่าวรวบรวมข้อมูลชีวิตความเป็นอยู่ การใช้ประโยชน์จากแม่น้ำสาละวิน พื้นที่การเกษตร พื้นที่กองกำลังพม่า สอบถามถึงสิ่งที่ชาวบ้านคิดหากมีการสร้างเขื่อน และจะสามารถทำอะไรได้ จะร่วมมือกันอย่างไร รวมทั้งจัดทำ CD โดยจะนำไปเผยแพร่ในประเทศต่างๆเพื่อไม่ให้สนับสนุนโครงการดังกล่าว

โดย KRW จะส่งคนเข้าไปในพื้นที่เพื่อไปเก็บข้อมูล และไปให้ข้อมูลกับชาวบ้าน ซึ่งบางพื้นที่ก็เป็นไปด้วยความลำบากเพราะมีทหารพม่าอยู่จำนวนมาก ตอนนี้รัฐบาลพม่าไม่รู้ว่ามีกลุ่ม KRW ติดตามเรื่องนี้ ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจาก KNU ในการดูแลความปลอดภัยและนำทางไปในหมู่บ้าน

สิ่งที่พบและเป็นความกังวลในขณะนี้ ลอแอะ บอกว่าชาวบ้านกลัวมากเรื่อง น้ำท่วม เนื่องจากพื้นที่เกษตรส่วนใหญ่อยู่ใกล้แม่น้ำ โดยเขื่อน ตอนบน จะกระทบพื้นที่ในรัฐคะเรนนีมากกว่าเนื่องจากเป็นพื้นที่ราบ แต่รัฐกะเหรี่ยงส่วนใหญ่เป็นภูเขา ส่วนเขื่อน ตอนล่าง อยู่ในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยง

นอกจากนี้ สงคราม จะรุนแรงขึ้น เมื่อสร้างเขื่อนเสร็จสิ่งที่ชาวบ้านกลัวว่าจะตามมาคือการเข้ามายึดพื้นที่โดยทหารพม่า รวมทั้งการเกณฑ์แรงงานก็จะมากขึ้นจากเดิมที่มีอยู่แล้ว เช่น การสร้างถนน เหตุผลหนึ่งคือเป็นเส้นทางสู่พื้นที่สร้างเขื่อน ซึ่งรวมถึงการเข้าสู่พื้นที่ของกองกำลัง KNU

พอเกว เองเล่าถึงความคืบหน้าตอนนี้ว่าได้ข่าวว่าบริษัทสร้างเขื่อนเริ่มมาอยู่ใกล้เชียงใหม่แล้ว ขณะที่รัฐบาลไทยก็พยายามเชื่อมให้สงครามกับกลุ่มชาติพันธุ์ยุติ และดูเหมือนจะมีการส่งผู้ลี้ภัยกลับพม่า ซึ่งจะทำให้การสร้างเขื่อนเร็วขึ้น

สิ่งที่รัฐบาลไทยบอกว่าโครงการสร้างเขื่อนสาละวินเป็นการร่วมมือเพื่อพัฒนาประเทศพม่า แต่สำหรับหนุ่มสาวกะเหรี่ยงที่พลัดถิ่นมาอยู่เมืองไทยนั้น พวกเขามองว่าการสร้างเขื่อนจะสร้างประโยชน์ให้กับคนจำนวนน้อยมาก ซึ่งบริษัทต่างๆที่เกี่ยวข้องนั้นเป็นกลุ่มหนึ่งที่ได้รับประโยชน์นั้น แต่กลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมากคือผู้ที่จะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน

"ทหารพม่าเองเขาก็เหนื่อยที่ต้องมาเฝ้าพื้นที่อยู่ตลอดเวลา ทหารก็บอกชาวบ้านว่าให้ช่วยกันอธิษฐานให้เขื่อนสร้างเสร็จเร็วๆ แต่ปีที่แล้วชาวบ้านกะเหรี่ยงเขาไปอธิษฐานกันที่ริมแม่น้ำไม่ให้มีการสร้างเขื่อน เขาเชื่อว่าอธิษฐานแล้วจะได้ ทุกวันนี้ชาวบ้านไม่มีที่ไป ถ้าน้ำท่วมพวกเขาจะไปอยุ่ที่ไหน " พอเกว เล่า

ซึ่งหลังจากที่เข้าไปให้ข้อมูลเรื่องการสร้างเขื่อน ปัจจุบันชาวบ้านในพื้นที่เริ่มตื่นตัว มีการพูดคุยกัน เพราะชาวบ้านไม่รู้ว่าจะมีการสร้างเขื่อน ยิ่งกว่านั้นคือไม่รู้จักเขื่อนเพราะในพม่าปัจจุบันก็มีเขื่อนเพียงแห่งเดียว

ส่วนการคัดค้านจะทำได้หรือไม่นั้น พวกเขาบอกว่าจากที่ศึกษาประสบการณ์จากหลายประเทศพบว่าส่วนใหญ่คัดค้านไม่สำเร็จ แต่พวกเขาก็จะทำต่อไป พยายามเผยแพร่ข้อมูลให้กลุ่มอื่นๆเพราะกลุ่มเดียวคงทำอะไรไม่ได้มาก

"อยากให้รู้ว่าการพัฒนาของพม่านั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือด้านการเมือง หากทำไม่ได้ผลประโยชน์ก็จะตกอยู่กับแค่คนที่มีอำนาจ แต่รัฐบาลไทยไม่เคยสนใจไม่กล้าแทรกแซงการเมืองในพม่า เพราะกลัวจะถูกระงับความสัมพันธ์เชิงเศรษฐกิจ การกดดันเริ่มขึ้นแล้วการจดทะเบียนแรงงานที่พยายามควบคุมคน การปิดศูนย์อพยพ แผนของเขาเริ่มชัดขึ้น ทุกวันนี้เราเองก็ไม่อยากอยู่เมืองไทย แต่กลับไม่ได้จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง" เป็นคำฝากสุดท้ายจาก KRW

เสียงเตหน่าดังกังวาลขับกล่อมถึงลำนำชีวิตแห่งเผ่าพันธุ์...ริมฝั่งสาละวิน

จันลอง ฤดีกาล
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net