Skip to main content
sharethis

พายุที่เกิดขึ้นนั้นมีหลากหลายขนาด ตั้งแต่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 เมตร ไปจนถึง 1,000 กิโลเมตร ความเร็วลมของพายุบางชนิดอาจจะถึง 800 กิโลเมตร ต่อชั่วโมงเลยก็ได้ ซึ่งจะเพิ่มความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นอย่างมาก

พายุที่เกิดขึ้นในที่ต่างๆ ก็มีชื่อเรียกต่างกัน ตามแต่แหล่งกำเนิด อาทิเช่น พายุใต้ ฝุ่น พายุ ไซโคลน พายุเฮอริเคน เป็นพายุชนิดเดียวกัน แต่มีชื่อเรียกที่แตกต่างกันตามแต่แหล่งกำเนิด

พายุใต้ฝุ่นจะใช้เรียกพายุที่เกิดขึ้นในฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก พายุไซโคลนใช้เรียกพายุที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรอินเดีย และพายุเฮอริเคนใช้เรียกพายุที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรแอตแลนติก หรือบางชนิดก็เกิดเฉพาะแห่งก็จะมีชื่อเรียกเป็นภาษาพื้นเมืองของประเทศนั้น

ระดับความรุนแรงของพายุก็จะมีชื่อเรียกที่ต่างกัน อาทิเช่น ในเขตฝั่งตะวักตกของมหาสมุทรแปซิฟิก ทะเลจีนใต้ และอ่าวไทย พายุที่มีความเร็วลมต่ำสุด จะเรียกว่า พายุ ดีเปรสชั่น ซึ่งมีความเร็วลมน้อยกว่า 63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

แต่เมื่อความเร็วลมเพิ่มขึ้นเป็น 63 - 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมงก็จะเปลี่ยนเป็นพายุโซนร้อน และเมื่อความเร็วเพิ่มขึ้นมากกว่า 119 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้ก็จะกลายเป็นพายุใต้ฝุ่น ซึ่งก็มีความรุนแรงที่แตกต่างกันไปในแต่ละชนิด

โดยพายุใต้ฝุ่นชนิดที่ 1 จะมีความเร็วลมอยู่ที่ 119-153 ชนิดที่ 2 จะมีความเร็วลมอยู่ที่ 154-177 ชนิดที่ 3 จะมีความเร็วลมอยู่ที่ 178-210 ชนิดที่ 4 จะมีความเร็วลมอยู่ที่ 211-250 และถ้ามีความเร็วลมมากว่า 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก็จะเรียกว่า ซูเปอร์ใต้ฝุ่น (Super Typhoon)

พายุ : การตั้งชื่อ
การตั้งชื่อพายุหมุนเขตร้อน ในฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก ทะเลจีนใต้ และอ่าวไทยนั้น เป็นหน้าที่ขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization) ซึ่งเมื่อมีพายุหมุนที่มีความเร็วสูงสุดใกล้จุดศูนย์กลางของพายุมากกว่า 34 นอต หรือ ประมาณ 62 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง พายุนั้นจะถูกตั้งชื่อ ซึ่งรายชื่อของพายุในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือ เรื่อยมาจนถึงทะเลจีนใต้ จะแบ่งไว้เป็นห้ากลุ่ม(คอลัมน์) เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2543

ดังนั้น เมื่อมีพายุที่มีความเร็วลมสูงสุดใกล้จุดศูนย์กลางมากกว่า 62 กิโลเมตร ต่อชั่วโมงเกิดขึ้นเป็นตัวแรกของปี พายุนั้นก็จะถูกตั้งชื่อตามรายชื่อที่ 1 ในคอลัมน์ที่ 1 ซึ่งมีชื่อว่า Damrey (ดอมเรย์ )

ซึ่งในแต่ละคอลัมน์จะมีรายชื่อพายุที่ตั้งไว้คอลัมน์ละ 28ชื่อ ดังนั้น เมื่อมีพายุเกิดขึ้นใหม่ที่ความเร็วลมตามกำหนดที่จะสามารถตั้งชื่อได้ พายุที่เกิดขึ้นใหม่นั้นก็จะใช้ชื่อตัวถัดมา ไล่เรื่อยลงมาจนหมดคอลัมน์ที่ 1 ในชื่อที่ 28 แล้วจึงขึ้นต้นใหม่ที่ชื่อที่ 1 ในคอลัมน์ที่ 2 เช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนถึงคอลัมน์ที่ 5

และเมื่อหมดคอลัมน์ที่ 5 ซึ่งชื่อสุดท้ายของคอลัมน์ที่ 5 คือ Saola (โซล่า) ก็จะวกกลับมาใช้ชื่อที่ 1 ของคอลัมน์ที่ 1 ใหม่ คือ Damrey (ดอมเรย์ ) และหากชื่อไหนมีการใช้ครบเป็นหลายสิบปีแล้วก็จะมีการตั้งชื่อกันใหม่

มูลเหตุที่มาของการตั้งชื่อพายุนั้น ก็มาจากการที่นักเดินเรือออกทะเลคิดถึงลูกคิดถึงเมียและลูก จึงตั้งชื่อพายุที่ตนเองประสบในท้องทะเล ตามชื่อเมียและลูก เดิมชื่อพายุจึงมีแต่ชื่อผู้หญิง ต่อมากลุ่มสิทธิบุรุษจึงมีการเรียกร้องให้ตั้งชื่อพายุเป็นชื่อผู้ชายบ้าง ภายหลังองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกจึงให้ตั้งชื่อพายุเป็นภาษาท้องถิ่นที่ให้กำเนิดพายุนั้นๆ ด้วย อาทิเช่น Damrey (ดอมเรย์) เป็นภาษาท้องถิ่นของประเทศกัมพูชา แปลว่าช้าง

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net