Skip to main content
sharethis

"นายสุเมธ สาแลแม" ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 บ้านเกาะยาว ตำบลเจ๊ะเห อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เป็นหนึ่งในผู้นำชุมชน 6 คน ที่ได้รับมอบหมายให้เข้ามาช่วยคลี่คลายสถานการณ์การชุมนุมที่หน้าโรงพักตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ที่ผ่านมา

ภารกิจสำคัญของ "นายสุเมธ สาแลแม" และผู้นำชุมชนทั้ง 6 คน ในวันนั้น คือ เป็นนายประกันไปประกันตัวชุดคุ้มครองหมู่บ้าน หรือ ชรบ. ทั้ง 6 คน ที่ตกผู้ต้องหาแจ้งความเท็จคดีคนร้ายปล้นปืนลูกซอง อันเป็นต้นเหตุของการชุมนุมมรณะในวันดังกล่าว

พลันที่เดินทางกลับมาจากงานเลี้ยงทำบุญผู้เสียชีวิต จากคมกระสุน ในขณะที่คนของรัฐเข้าสลายการชุมนุม "นายสุเมธ สาแลแม" นั่งลงเปิดปากบอกเล่าให้ "ประชาไท" รับทราบ ถึงเหตุการณ์ในวันดังกล่าว โดยมีกลุ่มวัยรุ่น 5 - 6 ร่วมรับฟังด้วยความสนใจอย่างเป็นพิเศษ

"ช่วงเช้า วันเกิดเหตุผมอยู่ที่บ้าน บ้านผมอยู่อีกฝั่งของแม่น้ำตากใบ ตรงข้ามกับโรงพักฯ ผมเห็นคนไปประท้วงกันอยู่เต็มหน้าโรงพัก มีคนเข้าไปสมทบอยู่เรื่อยๆ จากนั้น ได้ยินเสียงปืน ผมเห็นท่าไม่ค่อยดี เลยไปที่สะพานคอยห้ามลูกบ้านไม่ให้เข้าไปร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุม เพราะเกรงจะเกิดอันตราย

ผมไปยืนห้ามอยู่พักหนึ่ง คิดได้ว่า คนจะเดินผ่านสะพานผ่านไป - มา เขามีสิทธิ เราไปห้ามเขาไม่ได้ เลยกลับบ้าน

พอมาถึงบ้านได้ไม่นาน ซักประมาณเที่ยงวัน "นายปิยะ ภารตะศิลปิน" นายอำเภอตากใบ โทรศัพท์มาหาบอกว่า ขอให้มาช่วยมาเจรจากับชาวบ้านที่มาประท้วง ผมเลยขับรถมอเตอร์ไซค์ไปที่ว่าการอำเภอ

ตอนที่เดินไปถึงหน้าที่ว่าการอำเภอ มีชาวบ้านอยู่กลุ่มหนึ่งเป็นร้อยๆ คน เดินมาจากบ้านเจ๊ะเห ด้านตะวันออกของที่ว่าการอำเภอ ผมไม่เห็นคนรู้จักเลย คนกลุ่มนี้ไม่ใช่คนเจ๊ะเห

พอชาวบ้านกลุ่มนั้น เดินผ่านหน้าที่ว่าการอำเภอ มีคนหนึ่งที่เดินอยู่ด้านหน้าตะโกนไล่ผมกับเจ้าหน้าที่ที่ว่าการอำเภอ ที่ยืนกันอยู่หลายคน เป็นภาษายาวีว่า กลับบ้านได้แล้ว กลับไปเข้าสุหนัต (การขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ) ใหม่ได้แล้ว แล้วก็ชวนกันโห่ไล่เจ้าหน้าที่…"

"น้องชาย" ของผู้ใหญ่บ้านสุเมธ สาแลแม แทรกขึ้นมาว่า ชาวบ้านที่เพิ่งมาถึงตอนนี้ น่าจะมากับรถ 3 คัน ที่หลงทางไม่รู้ว่าโรงพักอยู่ตรงไหน ขับเลยไปถึงหาดเสด็จ ที่ปรับปรุงเป็นสถานที่พักผ่อนริมทะเล อยู่ห่างจากโรงพักตากใบไปทางด่านตาบา ประมาณ 4 - 5 กิโลเมตร คนกลุ่มนี้มีทั้งผู้หญิง ผู้ชาย

"นายสุเมธ สาแลแม" เล่าต่อไปว่า อยู่ที่นั่น ไม่ได้พูดจาอะไรกัน เพราะผู้ชุมนุมโห่ใส่ตลอด ผมคิดในใจว่าแบบนี้ ไม่ใช่มาประท้วงแล้ว เจรจาก็คงรู้เรื่อง ไม่รู้ว่าต้องการอะไรกันแน่ จนกระทั่งวันนี้ ผมก็ยังไม่รู้ยังไม่เข้าใจว่า เขาต้องการอะไร ผมเลยตัดสินใจกลับบ้าน

กลับมาอยู่บ้านได้ไม่นาน นายอำเภอโทรศัพท์มาอีก บอกว่า "นายวิชม ทองสงค์" ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ขอให้ไปประกันตัวชุดคุ้มครองหมู่บ้านทั้ง 6 คน ที่ศาลจังหวัดนราธิวาส

คราวนี้ ผมขับรถมอเตอร์ไซค์ไปจอดในตลาด แล้วขึ้นรถตู้ไปศาลกับพ่อ แม่ และญาติของชุดคุ้มครองหมู่บ้านทั้ง 6 คน พวกเราไปกัน 3 คันรถตู้

คณะของพวกเรา มี "นายศิวะ แสงมณี" รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรองผู้อำนวยการคณะกรรมการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นหัวหน้าทีม

รถคันที่ผมขึ้น มีทหารไปด้วย 2 นาย คนที่จะไปประกันตัวผู้ต้องหา มีทั้งหมด 6 คน คือ ผมคนหนึ่ง แล้วมี "นายสะตอปา ตะยีนาบู" กำนันตำบลเจ๊ะเห "นายลาเด็ง" ไม่ทราบนามสกุล กำนันตำบลศาลาใหม่ "นายดอแม ตีมะซา" ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 ตำบลเจ๊ะเห "นายเจะโซะ" ไม่ทราบนามสกุล ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ตำบลเจ๊ะเห แล้วก็ผู้ใหญ่บ้านปลาแว ตำบลศาลาใหม่ ผมจำชื่อไม่ได้ อีกคนผมก็จำชื่อไม่ได้เหมือนกัน

พอไปถึงศาลจังหวัดนราธิวาส ไม่ทันจะได้ประกันตัวผู้ต้องหา เมียผมโทรศัพท์มาบอกว่า ที่หน้าโรงพักตากใบยิงกันแล้ว มีคนตายด้วย

พอทุกคนรู้ข่าวนี้ เลยเลิกคิดเรื่องประกันตัว 6 ผู้ต้องหา รีบกลับมาที่ตากใบ

มาถึง 3 แยกตากใบ ประมาณ 4 โมงกว่า ผมเห็นคนถูกมัดมือไขว้หลัง นอนคว่ำหน้าตากฝนอยู่บนถนน แต่ไม่น่าจะถึงร้อยคน กำนันตำบลเจ๊ะเหกับผมขอลงจากรถไปดู ผมเห็นบางคนน้ำลายเลอะเต็มปาก มีคนหนึ่งเรียกผม บอกว่าผู้ใหญ่ช่วยผมด้วย ผมแค่จะไปซื้อของที่ตลาด ผู้ใหญ่ช่วยผมที

ผมบอกว่า ตอนนี้ ผมช่วยอะไรใครไม่ได้แล้ว ผมไม่มีความสามารถช่วยใครได้เลย

หลังจากได้ยินเขาพูดขอความช่วยเหลือแล้ว พอหันไปมองคนอื่นๆ อีก ผมอยู่ดูต่อไปไม่ไหว สงสาร เลยชวนกำนันกลับบ้าน

ผมกลับบ้านกับรถกำนัน แกเอารถมาจอดทิ้งไว้ ใกล้ๆ กับ 3 แยกพอดี ผมกลับไปที่บ้านอีกหลัง อยู่ที่เจ๊ะเห อยู่ที่บ้านจนค่ำ ถึงนึกขึ้นมาได้ว่า จอดรถมอเตอร์ไซค์ทิ้งไว้ในตลาด จึงเดินออกไปจะเอารถกลับ ปรากฏว่าที่ตลาดเงียบสนิท มีแต่ทหารเต็มไปหมด เห็นทหารอยู่ทุกซอกทุกมุม

ยืนคิดอยู่ว่า จะเข้าไปเอารถมอเตอร์ไซค์ยังไง ถ้าเดินเข้าไปดื้อๆ ทหารคงไม่ให้แน่นอน ผมเลยเดินไปหาตำรวจตากใบที่รู้จักกัน บอกว่าช่วยไปเอารถมอเตอร์ไซค์ให้หน่อย เขาถามว่า จอดไว้ตรงไหน ผมบอกว่าจอดในตลาด

ตำรวจเลยชวนผมเดินเข้าไปพร้อมกัน พอไปถึงตลาดตรงที่ผมจอดรถทิ้งไว้ เห็นมอเตอร์ไซค์จอดอยู่หลายคัน มีชาวบ้าน 2 - 3 คน มาหารถมอเตอร์ไซค์เหมือนกับผม ผมก็ช่วยหักคอรถปลดล็อกคอให้ เพราะบางคนกุญแจหาย บางคนเป็นญาติของคนที่ถูกจับ จะเอารถกลับบ้าน แต่ไม่มีกุญแจ

คนที่หมู่บ้านผม ไม่มีใครไปร่วมชุมนุม แต่ก็ยังมีคนถูกจับ มีอยู่คนหนึ่ง ต้องไปเข้าค่ายอบรมวิวัฒน์พลเมือง ที่ค่ายรัตนพล จังหวัดสงขลา

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้แปลกมาก มันแปลกที่ว่า คนมุสลิมบ้านเรา ฟังอะไรมานี่ เชื่อไปหมด เชื่อง่ายไปหน่อย บางเรื่องฟังดูแล้ว เป็นเรื่องใหญ่โต แต่พอถามเข้าจริงๆ ได้ยินมาจากคนอื่นอีกที ไม่ได้ประสบกับตัวเอง เรื่องเชื่อคนง่าย กับชอบแต่งเรื่องให้มันเกินเลยของคนบ้านเรา เป็นปัญหาที่แก้ยากมาก

ยกตัวอย่าง เช่น หลังจากวันชุมนุม คนในตำบลเจ๊ะเหขวนกันมาหาผม บอกว่าใครที่ยังไม่ได้รถมอเตอร์ไซค์ที่จอดอยู่ใกล้ที่ชุมนุมให้มารับที่ผม ผมเป็นคนรับผิดชอบหมด ผมได้ยินแล้ว อยากจะร้องไห้

ยิ่งช่วงหลังสลายชุมนุม ชาวบ้านพากันตกใจข่าวลือ บอกต่อๆ กันไปให้ทุกคนกักตุนอาหาร เพราะ "รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร" จะปราบปรามคนมุสลิม จะเกิดความยากลำบากต่างๆ นานากับคนมุสลิม

พอถามว่า รู้มาจากไหน เขาตอบผมว่า มีคนบอกมาอีกที…."
ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่า มีคนแปลกหน้าเข้ามาร่วมชุมนุม เพราะชัดเจนแล้วว่า มีคนจากอำเภอใกล้เคียงจำนวนหนึ่ง เดินทางมาร่วมชุมนุมครั้งนี้ด้วย

เช่นเดียวกัน ประเด็นก็ไม่ได้อยู่ที่ว่า คนตากใบเชื่อคนง่าย หรือชอบพูดเกินจริง หรือตระหนกตกใจข่าวลือ

เนื่องเพราะประเด็นสำคัญ ที่ทุกฝ่ายควรจะต้องเก็บรับไปพิจารณาอย่างเป็นพิเศษ ก็คือ ในขณะที่ตัดสินใจสลายการชุมนุมนั้น ….

หนึ่ง รองผู้อำนวยการคณะกรรมการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ "นายศิวะ แสงมณี" ได้นำนายประกัน และญาติผู้ต้องหา ไปขอประกันตัวชุดคุ้มครองหมู่บ้านทั้ง 6 คน ตามที่กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องต้องการแล้ว

สอง "นายศิวะ แสงมณี" พร้อมนายประกัน และญาติๆ ผู้ต้องหา เดินทางไปถึงศาลจังหวัดนราธิวาสแล้ว

นั่นหมายถึงว่า เพียงแค่ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ จะอดทนรอคำสั่งศาลต่อไปอีกไม่เกินครึ่งชั่วโมง นับจากเวลา 15.00 น. ซึ่งเป็นเวลาสลายการชุมนุม ย่อมมีโอกาสสูงยิ่ง ที่เหตุการณ์จะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดี เมื่อผู้ต้องหาทั้ง 6 ได้รับการประกันตัว

คำถาม ก็คือว่า ทำไม ผู้รับผิดชอบสั่งการ ถึงได้ชิงตัดสินใจสลายการชุมนุมโดยไม่รอฟังคำสั่งศาล

อย่าลืมว่า เวลา 15.00 น. หรือกระทั่ง 16.00 น. ยังไม่มืดค่ำเกินที่จะควบคุมสถานการณ์ไม่ได้

ใคร หรืออะไร อยู่เบื้องหลังคำสั่งสลายการชุมนุมที่หน้าโรงพักตากใบ ณ เวลา 15.00 น. ขณะที่ 6 ผู้ต้องหา กำลังจะได้รับการประกันตัวออกมาจากเรือนจำ
นี่คือ โจทย์ที่คณะกรรมการฯ ทุกชุด ต้องค้นหาคำตอบ
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net