"PAN" S SHOP" สินค้าทุกชิ้นต้องมีดีไซน์

หลังจากต้องสูญเสียพ่อไปอย่างไม่มีวันกลับเมื่อราวปี 2543 "ณัฐพล โปธาตน" คิดเพียงว่าจะต้องสืบทอดมรดกทางภูมิปัญญาของพ่อที่เป็นช่างแกะสลักไม้ในหมู่บ้านถวายต่อไป เงินที่เก็บออมไว้ 20,000 บาท ถูกนำมาลงทุนเปิดร้านขายเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านทำจากไม้ แทรกตัวอยู่อย่างเงียบ ๆ ท่ามกลางร้านค้าขายของฝากของที่ระลึกนับร้อยร้าน ที่ตั้งอยู่ริมสองฝั่งคลองภายในหมู่บ้านถวาย เขาเลือกเอาชื่อ "ปัน" ซึ่งเป็นชื่อของพ่อที่ล่วงลับ มาตั้งเป็นชื่อร้าน "PAN" S SHOP"

แม้ณัฐพล จะไม่ได้เล่าเรียนมาสูงนัก แต่ความรู้ที่มีเพียงระดับชั้น ปวช.ด้านบริหารธุรกิจ ก็สามารถทำให้ช่วงเวลาไม่ถึง 4 ปีของการก่อเกิด "PAN" S SHOP" ได้ขยายฐานการเติบโตอย่างรวดเร็ว จากร้านห้องแถว เล็ก ๆ แคบ ๆ ที่ร้านค้าสองฝั่งคลองภายในหมู่บ้านถวาย ก้าวเข้าสู่ธุรกิจเต็มรูปแบบและครบวงจร ทั้งผู้ผลิต ผู้ค้าส่ง ผู้ค้าปลีกและผู้ส่งออก และก้าวเข้าไปอยู่ในเวทีระดับโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ ด้วยสินค้าที่ล้วนกลั่นออกมาจากภูมิปัญญาของผู้เป็นเจ้าของ ที่มุ่งเน้นการดีไซน์และสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างให้กับสินค้าของ "PAN" S SHOP"

ขอเดินตามรอยพ่อ
เขาพูดถึงพ่อด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มว่า ตั้งแต่เป็นเด็กก็เห็นพ่อทำงานแกะสลักมาตลอด จึงอาจถูกซึมซับมาโดยไม่รู้ตัว ประกอบกับตอนเป็นเด็กชอบวาดรูปเป็นชีวิตจิตใจ ซึ่งทั้งสองปัจจัยอาจเป็นน้ำหนักมากพอ ที่ทำให้เขาต้องสร้าง "PAN" S SHOP" ขึ้นมา เพื่อสืบทอดมรดกทางภูมิปัญญาที่พ่อให้ไว้ โดยเขาคิดและลงมือทำสินค้าทุกชิ้นด้วยตัวเอง จึงทำให้สินค้าทุกชิ้นมีดีไซน์และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างจากร้านค้าอื่น ๆ

ออร์เดอร์ล็อตใหญ่ชิ้นเดียวและชิ้นแรกมูลค่า 1,500,000 บาท ได้จากลูกค้าชาวอังกฤษรายหนึ่งผลงานที่ทำออกมาลูกค้าชื่นชมและยอมรับในเนื้องานชิ้นนั้นมาก และนับจากนั้นเขาก็เริ่มได้รับออร์เดอร์สินค้าจากชาวต่างชาติมากขึ้นเรื่อย ๆ และเริ่มเป็นที่รู้จักแบบปากต่อปากของกลุ่มผู้นำเข้าในวงการเฟอร์นิเจอร์

เขาเริ่มขยับขยายกิจการเมื่อราวปี 2545 โดยขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินเพื่อนำเงินมาลงทุนสร้างโรงงานบนเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ริมถนนก่อนถึงทางเข้าไปบ้านถวาย โดยมุ่งเน้นผลิตสินค้าขายส่ง (Wholesale) มากขึ้น และวางตำแหน่งผลิตสินค้าชิ้นใหญ่ในกลุ่มเฟอร์นิเจอร์และของประดับตกแต่งบ้านที่เป็นงานฝีมือที่ทำจากไม้

ดีไซน์ต้องแตกต่าง

จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของ "PAN" S SHOP" ก็คือเป็นธุรกิจที่ทำเองครบวงจร ซึ่งเขาบอกว่าต้องการทำให้สินค้าทุกชิ้นมีดีไซน์ที่แตกต่างไม่เหมือนใคร และเขาสามารถควบคุมขั้นตอนการผลิตและควบคุมรูปแบบได้ตามที่ลูกค้าต้องการ ทำให้รูปแบบไม่รั่วไหลออกไป โดยสินค้าทุกชิ้นจะผลิตเป็นพิเศษเฉพาะให้กับลูกค้าในแต่ละโซนที่จะไม่ซ้ำแบบกัน ดีไซน์สินค้าทุกชิ้นที่ออกมาจะเป็นแนวร่วมสมัย (Contemporary) ที่สามารถจัดวางเข้าคู่กับรูปแบบที่ทันสมัย (Modern) ได้อย่างลงตัว

"การทำสินค้าที่มีดีไซน์นั้น จะหยุดนิ่งอยู่กับที่และขายรูปแบบเดิม ๆ คงไม่ได้ เพราะเทรนด์ตลาดเปลี่ยนไปเร็วมาก และตลาดยุคนี้ต้องการเห็นสิ่งแปลกใหม่ที่จับต้องได้ และต้องเรียนรู้วัฒนธรรมของแต่ละตลาดให้ลึกซึ้ง อย่างแถบยุโรปจะชอบอะไรที่เรียบ ๆ ง่าย ๆ ไม่มีลูกเล่นมาก แต่มีดีไซน์ในตัวเอง ส่วนทางอเมริกาจะชอบรูปแบบที่แข็งแรง เป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ ตอนนี้ผมก็เริ่มมองหาวัตถุดิบอื่น ๆ อย่างไม้ไผ่มาผสมผสานเข้ากับไม้สัก ในส่วนนี้กำลังทำสินค้าประเภทเตียงนอน โต๊ะกินข้าว และยังทำได้อีกหลายส่วน เราเสนอลูกค้าไป ก็ได้รับออร์เดอร์กลับมาทันทีเยอะมาก"

เขาบอกว่า การคิดค้นรูปแบบใหม่ ๆ ปรับประยุกต์ให้ได้สินค้าที่มีดีไซน์ไม่เหมือนใครแล้ว ที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ยังสามารถช่วยแก้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนวัตถุดิบและแรงงานฝีมือที่เริ่มขาดแคลน โดยเฉพาะวัตถุดิบที่ส่วนใหญ่เป็นไม้ต้องนำเข้ามาจากประเทศลาว แต่ในระยะ 3 - 4 เดือนทางประเทศลาวต้องปิดป่าชั่วคราว เพราะเป็นช่วงฤดูฝน จึงต้องแก้ปัญหาด้วยการสต๊อกสินค้าไว้ ส่วนการขาดแคลนแรงงานฝีมือ เขาก็แก้ปัญหาโดยนำเครื่องจักรเข้ามาช่วยในเรื่องของขั้นตอนเตรียมการผลิต ซึ่งก็ช่วยลดต้นทุนแรงงานในส่วนนี้ไปได้ประมาณ 50 %

เจาะตลาดบน
"ผมจะไม่รับออร์เดอร์จำนวนเยอะ ๆ และไม่มุ่งที่จะผลิตสินค้าให้ได้ปริมาณมาก เราจะไม่พยายามยึดติดอยู่กับลูกค้ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพราะถ้าทำแบบนั้นจะเป็นตลาดกลุ่มใหญ่ ซึ่งอาจจะมียอดขายสูง แต่สินค้าอาจไม่ได้คุณภาพ เราผลิตสินค้าที่เป็น High Value คือต้องคิดว่าทำอย่างไรจึงจะเพิ่มมูลค่าสินค้าต่อชิ้นให้ได้มากเท่าที่จะทำได้ ดังนั้น งานที่เราทำออกมาลูกค้าพอใจและยอมรับในคุณภาพ"

โดยกำหนดกลุ่มและวางสัดส่วนตลาดไว้อย่างชัดเจน แบ่งตลาดเป็นโซนได้แก่ ตลาดอเมริกา 30 % ยุโรป 30 % ญี่ปุ่น 10 % ออสเตรเลีย 10 % ส่วนอีก 20 % เป็นตลาดทั่วไปในโซฯเอเชีย ตะวันออกกลาง และในประเทศบางส่วน

เขาบอกว่า ข้อดีของการที่ลงมือคิดเองออกแบบสินค้าเองทั้งหมดก็คือ สามารถกำหนดสินค้าเองได้และสินค้าชิ้นนั้นก็จะอยู่กับตัวเราไปตลอด แต่ถ้าจ้างดีไซน์เนอร์เข้ามา วันหนึ่งเมื่อเขาเรียนรู้จากเรา เขาก็อาจจะเดินจากไป เราก็ต้องหาคนใหม่เข้ามาทดแทน ซึ่งจะทำให้งานไม่ต่อเนื่องและต้องมาเริ่มต้นเรียนรู้กันใหม่ แต่ข้อเสียของการคิดเองทำเองทั้งหมดก็คือ ธุรกิจนี้จะตายไปกับเรา ซึ่งเขาอธิบายว่า ใช่ว่าเขาจะยึดติดทุกสิ่งทุกอย่างไว้กับตัวเอง เพียงแต่เขาอยากจะปูพื้นฐานของกิจการ ที่เพิ่งอยู่ในระยะเริ่มต้นและกำลังเริ่มเติบโตไว้ให้แข็งแกร่งก่อน ส่วนอนาคตคิดไว้อยู่แล้วว่า ต้องหาคนเพิ่มเข้ามาเรียนรู้งานต่อจากเขาอย่างแน่นอนภายใน 5 - 10 ปีนี้

เดินสายกลาง..ไม่ทำใหญ่เกินตัว

เขาวางแผนไว้ว่าในระยะ 10 ปีนับจากนี้ จะทำธุรกิจนี้อย่างเต็มความสามารถ ปัจจุบันมีพนักงานที่เป็นแรงงานฝีมือและพนักงานในส่วนสำนักงานรวมทั้งสิ้น 120 คน ซึ่งในระยะ 10 ปีจะพยายามควบคุมไว้ให้อยู่ในระดับ 150 - 200 คน ซึ่งเขาพอใจที่จะเดินบนทางสายกลาง เพราะถ้าขยายตัวมากไปกว่านี้จะทำให้การควบคุมการผลิตทำได้ค่อนข้างลำบาก และต้องวิ่งหาออร์เดอร์เข้าโรงงานมากขึ้นตามไปด้วย ปัจจุบันกำลังการผลิตของโรงงานสองแห่งที่มีอยู่ สามารถผลิตสินค้าได้ต่อเดือนประมาณ 5 - 6 ตู้คอนเทนเนอร์ คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ยต่อตู้ประมาณ 1 ล้านบาท ซึ่งเขาตั้งเป้าทำให้ถึง 10 ตู้ เมื่อย่างเข้าสู่ปีที่ 5

"ความสำเร็จของผมยังต้องก้าวเดินต่อไป ไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนารูปแบบสินค้า ต้องมีสิ่งแปลกใหม่เพื่อดึงลูกค้าเข้ามาหาเรา ผมก็ไม่รู้นะว่าไอเดียในเรื่องของการดีไซน์มันมาจากไหน เพราะผมก็ไม่ได้เรียนมาทางด้านนี้ แต่มันน่าจะเกิดจากการที่เราทำในสิ่งที่เรารัก และรักในสิ่งที่เราทำ คิดออกมามันก็เลยได้สิ่งที่ถูกใจ" บทสรุปของนักธุรกิจหนุ่มวัย 33 ปี ผู้ปั้นและสร้าง PAN" S SHOP ให้มีดีไซน์.
สุธิดา สุวรรณกันธา
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท