Skip to main content
sharethis

สารพัดคำบอกเล่า ไล่มาตั้งแต่เสียงเล่าลือเรื่องคนสูญหาย คนถูกยิง คนเสียชีวิต จากกรรมวิธีสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่รัฐ ณ หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547

อันตามมาด้วยเสียงกระซิบกระซาบถึงเบื้องหน้าเบื้องหลังการชุมนุมครั้งนี้ ของบรรดาชาวบ้านอำเภอตากใบ และอำเภอใกล้เคียง

เหล่านี้ ล้วนเป็นแรงบันดาลใจให้ "ประชาไท" ลงสำรวจพื้นที่เกิดเหตุ สัมผัสกับกลุ่มชาวบ้านที่เข้าไปมีส่วนร่วมกับการชุมนุมคราวนี้ ในระดับที่แตกต่างกันไป

หนึ่งในหลายเป้าหมายของ "ประชาไท" ที่จะต้องพบปะพูดคุยให้ได้ มี "นายอูเซ็ง อาแวเลาะ" ชาชราวัย 75 ปี อยู่บ้านเลขที่ 271 หมู่ 7 ตำบลเจ๊ะเห อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส รวมอยู่ด้วย

เนื่องเพราะ "นายอูเซ็ง อาแวเลาะ" คือ หนึ่งในผู้ได้รับบาดเจ็บ ถูกยิงตรงบริเวณชายโครงขวา ขณะเจ้าหน้าที่กำลังสลายการชุมนุม หน้าโรงพักตากใบ

"นายอูเซ็ง อาแวเลาะ" เล่านาทีวิกฤติให้ "ประชาไท" ฟัง ท่ามกลางญาติพี่น้อง ลูก หลาน เพื่อนบ้าน ทั้งจากมาเลเซีย จากต่างอำเภอ และต่างจังหวัด ที่มาเยี่ยมดูอาการบาดเจ็บ ในวันตรุษอีดิ้ล
อัฎฮา เกือบ 20 คน

"ตอนนั้นใกล้จะ 11 โมงเช้าแล้ว ผมนั่งอยู่ที่สะพานปลาของเพื่อนบ้าน ริมแม่น้ำตากใบ ห่างจากบ้านผมประมาณ 100 เมตร นั่งกันอยู่หลายคน เพื่อนบ้านก็เดินไปมาอยู่แถวนั้น มีคนหนึ่งมาชวนว่า ไปโรงพักกันมั้ย ผมบอกว่าไม่ไป เพื่อนๆ ที่นั่งอยู่ด้วยกัน 5 - 6 คน ไปกันหมด

พอเพื่อนเดินออกไป ผมกลับเข้าบ้าน ใส่เสื้อเสร็จก็เดินไปโรงพัก ที่อยู่ห่างจากบ้านประมาณ 1 กิโลเมตร

พอเดินถึงรั้วที่ว่าการอำเภอตากใบ ก่อนถึงโรงพักประมาณ 50 เมตร ผมเข้าไปสมทบกับเพื่อนบ้านที่ยืนอยู่ตรงนั้น 10 กว่าคน ผมมองไปที่หน้าโรงพัก เห็นคนชุมนุมกันอยู่มาก ดูอยู่ไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ผมก็บอกกับเพื่อนบ้านว่า สงสัยอีกนาน กลับบ้านดีกว่า

เอาเข้าจริง ผมไม่ได้กลับ แต่แวะไปที่ร้านน้ำชาแมะอาแซ ที่อยู่ใกล้ๆ กัน มีคนนั่งอยู่ในร้านราว 20 คน เป็นคนรู้จักกันทั้งนั้น มีคนเห็นผมยืนเฉยๆ อยู่หน้าร้านเลยแซวผมว่า ทำไมถึงยืนงง ผมเลยบอกว่า วันนี้อยากยืนงง แต่ก็คิดอยู่ในใจว่า จะไปไหนดี

พอดีทหารที่เฝ้ารั้วกั้นถนนผ่านหน้าโรงพัก เอารั้วออกช่องหนึ่ง คนที่อยู่ในร้านพาเดินเข้าไปตามช่องที่เปิดให้ เพื่อจะเข้าไปดูคนที่ชุมนุมได้ใกล้ๆ ผมก็เลยเข้าไปดูด้วย ไปยืนดูหน้าโรงพักตรงริมแม่น้ำ แต่ไม่ได้เข้าไปอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม

เพื่อนๆ ที่เข้าไปด้วยกันก็ชวนกลับ ผมบอกว่าเดี๋ยวผมก็จะกลับเหมือนกัน แต่ขอดูต่ออีกซักพัก ไม่นานนักผมก็เดินออกมา แต่ออกไม่ทัน ทหารปิดทางเข้า - ออกเสียก่อน แล้วดันให้ผมไปรวมอยู่กับผู้ชุมนุมที่หน้าโรงพัก

ผมก็จะออกไปไม่ได้ ตอนนั้น 11 โมงเช้าน่าจะได้ อยู่ๆ ก็ได้ยินเสียงปืนดังขึ้น ผมวิ่งลงไปที่ศาลารักษ์ไทยที่ริมแม่น้ำ อยู่ต่ำกว่าถนน เข้าไปหลบอยู่หลังกำแพงริมถนน อยู่กับเด็กข้างบ้านชื่อ "กาดา" อายุประมาณ 12 ปี

รู้สึกเลยว่า มีกระสุนเฉี่ยวหัวหลายนัด ตรงรั้วมีรอยกระสุนเต็มไปหมด ตอนนี้ทหารเขาไม่ให้คนเข้าไปดูตรงนั้น ส่วนโรงพักเข้าไปได้ไม่เป็นไร

พอเงียบเสียง ผมก็ยืนขึ้น มีทหารสองคน มาหิ้วปีกผมไป เขาประคองผมไปไว้ตรงรั้วหน้าโรงพัก ผมเห็นมีคนเจ็บน่าจะประมาณ 20 คน ที่เจ้าหน้าที่เอาไปไว้ตรงนั้นด้วย พวกนี้เจ็บเพราะถูกยิงแน่นอน เขาวางให้ผมนั่งลงแบบนั่งสมาธิ ผมรู้สึกง่วงหัวทิ่มไปข้างหน้า เลยเอามือรองหน้าผากไว้ สงสัยอยู่เหมือนกันว่า ทำไม่ถึงง่วงแปลกๆ

ผมเลยยกหัวขึ้นอีกครั้ง เอามือซ้ายคลำไปที่ชายโครงข้างขวา จึงรู้ตัวถูกยิง เลือดก็ไหลพุ่งออกมาไม่หยุด หัวผมทิ่มลงไปข้างหน้าอีกครั้ง หลังจากนั้นก็หมดความรู้สึก

ผมมารู้สึกตัวอีกครั้ง ตอนอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี เวลาประมาณ 10 โมงเช้า ของวันที่ 26 ตุลาคม 2547 หมอถามว่า อยู่ที่ไหน ผมบอกว่า ตรงที่คนชุมนุมกันนั่นแหละบ้านผมเอง เขาถามบ้านเลขที่ แล้วถามชื่อ เป็นภาษายาวี

ผมพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี 10 วัน มีคนมาสัมภาษณ์ 4 ครั้ง ครั้งแรกเขาบอกว่ามาจากกรุงเทพฯ มากัน 3 คน มีหะยี 2 คน มาเป็นล่ามช่วยแปล ผมไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร เขาบอกว่า เป็นพรรคพวกของเรา ไม่ต้องกลัว

หลังจากนั้น ก็ถูกนำตัวไปอยู่โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหารอีก 2 คืน ตอนที่ผมเข้าไปที่นั่น มีคนเจ็บอยู่ 5 คน ผมถามพวกเขาว่ามาจากไหน พวกเขาบอกเป็นคนตำบลศาลาใหม่ อำเภอตากใบหมดเลย ผมไม่ได้ถามชื่อ ไม่ได้ถามว่าอยู่หมู่บ้านอะไร

คนหนึ่งมีรอยรองเท้าอยู่ที่ใบหน้าด้านซ้าย ลิ้นเกือบขาดพูดไม่ได้ คนที่ 2 ถูกยิงที่ข้อมือ คนที่ 3 ถูกยิงที่ศอกซ้ายจนกระดูกข้อศอกหลุด คนที่ 4 ถูกยิงที่ชายโครงขวาทะลุหลัง คนที่ 5 กระดูกหน้าแข้งแตกละเอียด เขาบอกว่าถูกยิงแล้วก็ถูกเหยียบ

ที่โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร มีผู้ชาย 2 คน มาสอบปากคำผม ไม่รู้ว่าเป็นตำรวจหรือทหาร มีคนพูดภาษายาวีคนหนึ่งมาช่วยแปล เพราะผมพูดไทยไม่ได้ เขาเรียกไปสอบในห้องที่อยู่ใกล้ๆ กัน ทีละคน เขาถามเหมือนกับที่คุณถามนี่แหละ พอสอบเสร็จเขาบอกว่า พรุ่งได้กลับบ้านแล้ว ให้ผมโทรศัพท์ไปบอกที่บ้านมารับได้เลย

วันรุ่งขึ้น ตรงกับวันศุกร์ที่ 5 พฤศจิกายน 2547 ผมก็ได้กลับบ้านพร้อมกับคนเจ็บ ที่ให้ปากคำด้วยกัน ที่โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร 4 คน ส่วนอีกคนบาดเจ็บที่ขา ไม่ได้กลับบ้านพร้อมกันวันนั้น เพราะยังเจ็บอยู่

มีอยู่คนหนึ่งถูกปล่อยพร้อมกันด้วย คนนี้ผมไม่รู้มาจากไหน แต่คิดว่าน่าจะมาจากโรงพยาบาลปัตตานี

ผมกลับบ้านพร้อมกับญาติของคนที่อยู่บ้านนัดกูวิง ตำบลศาลาใหม่ เขาขับรถมาส่งผมถึงที่บ้าน

ผมไม่รู้เหมือนกันว่า ผมถูกยิงด้วยปืนอะไร ตอนนี้อาการดีขึ้นแล้ว ไปไหนมาไหนได้ แต่ยังต้องไปล้างแผลที่โรงพยาบาลตากใบทุกเช้า…"

"นายสือมัน อาแวเลาะ" ผู้เป็นลูกชายวัย 33 ปี ของ "นายอูเซ็ง อาแวเลาะ" บอกกับ "ประชาไท" ว่า…
"วันนั้น ไม่มีใครทราบว่าพ่อไปไหน จนกระทั่งถึงเวลาละศีลอดเกือบ 6 โมงเย็น "จ่ามูซอ" ตำรวจตากใบ ขับรถมอเตอร์ไซด์นำเด็กข้างบ้านชื่อ "กาดา" มาส่ง "กาดา" ร้องไห้ วิ่งมาบอกว่า พ่อผมถูกจับ

ผม กับน้องอีก 2 คน แล้วก็แม่ ก็ตกใจ แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร "กาดา" เล่าว่า ตัวแกเองถูกเตะไปหลายที ตามตัวยังมีรอยฟกช้ำดำเขียว

วันรุ่งขึ้น (วันที่ 26 ตุลาคม 2547) พวกเรา 5 คน พี่น้อง ชวนกันไปค่ายอิงคยุทธบริหาร พอขับรถออกไปถึง 3 แยกตากใบ ทหารที่ตั้งด่านตรงนั้นห้ามไม่ให้ไป เขาบอกว่าไม่ต้องไป คนไปที่ค่ายฯ กันมากแล้ว วันนั้นพวกผมก็เลยไม่ได้ไป

วันต่อมา (วันที่ 27 ตุลาคม 2547) ก็ไปอีก ทหารก็ห้ามอีก วันนี้ผู้ใหญ่บ้านมาขอบัตรประชาชนของพ่อ บอกว่าจะไปหาที่ค่ายฯ ให้ แต่ก็ไม่เจอ

พอวันที่ 28 ตุลาคม 2547 พี่น้องทั้ง 5 คน ก็ปรึกษากันว่า น่าจะไปดูศพเลยดีกว่า เราทั้ง 5 คน จึงชวนกันไปค่ายอิงคยุทธบริหารอีกรอบ

คราวนี้ผ่านด่านไปได้ ไปดูรูปศพก็ไม่มี จึงไปตรวจชื่อ ปรากฏว่ามีชื่อ มีบ้านเลขที่ หมู่ที่ ถูกต้อง แต่ระบุตำบลศาลาใหม่ เจ้าหน้าที่บอกว่า รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี

พวกเราไปดูที่โรงพยาบาล ถึงได้เจอนั่งอยู่ที่เตียงคนไข้…"
อันที่จริงเป้าหมายการค้นหาคนที่ถูกยิงในระหว่างการสลายการชุมนุมครั้งนี้ของ "ประชาไท" มีอยู่หลายคน

ทว่า เงื่อนเวลา ความพร้อมและภารกิจของเป้าหมาย กลายเป็นอุปสรรคสำคัญ

รายหนึ่ง บ้านอยู่ริมแม่น้ำตากใบ ฝั่งตรงกันข้ามกับโรงพักตากใบ ไม่ได้ออกจากบ้านมาร่วมชุมนุม แต่ถูกลูกหลงกระสุนปืนบินข้ามฝั่งเจาะหลังเท้าทะลุฝ่าตีน รายนี้เจ้าตัวพร้อมจะพูดคุยด้วย แต่ญาติไม่พร้อมจะให้เหยื่อกระสุนเปิดตัว

รายต่อมา กระสุนพุ่งเจาะหน้าท้องระหว่างเข้าไปอยู่ในที่ชุมนุม วันที่ "ประชาไท" ไปที่บ้าน เขาเดินทางไปเยี่ยมญาติ ที่ถูกยิงในเหตุการณ์เดียวกัน

รายสุดท้าย ถูกยิงถากศีรษะ เมื่อ "ประชาไท" เดินทางไปถึงบ้านพัก กำลังอยู่ในระหว่างเตรียมตัวเดินทางไปอบรมวิวัฒน์พลเมือง ที่ค่ายรัตนพล อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา ในวันรุ่งขึ้น จึงไม่พร้อมที่จะให้สัมภาษณ์ในวันนั้น

ข้อมูลที่ได้รับจากญาติและผู้บาดเจ็บทุกรายตรงกัน ก็คือ จนถึงวันนี้ ยังไม่มีหน่วยงานใด เข้ามาดูแลสารทุกข์สุกดิบผู้บาดเจ็บจากคมกระสุนเหล่านี้

นอกจากนี้ ยังพบว่า คนที่ถูกยิงส่วนใหญ่ อยู่ในตำบลเจะเห ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งโรงพักตากใบ สถานที่เกิดเหตุ

ข้อสันนิษฐานระหว่างคนถูกยิงกับนักข่าว จึงค่อนข้างตรงกันว่า เป็นเพราะอยู่ใกล้ที่ชุมนุม คนตำบลเจะเห จึงชวนกันไปที่เกิดเหตุ มากกว่าคนจากพื้นที่อื่นๆ โอกาสจะถูกลูกกระสุนจึงมากตามจำนวนคนที่เข้าไปยังที่ชุมนุม

ทว่า นั่นไม่สำคัญเท่ากับคำบอกเล่าของ "พ่อเฒ่า" นาม "นายอูเซ็ง อาแวเลาะ" ที่ระบุว่า ถูกยิงตั้งแต่ประมาณ 11 โมงเช้า

นั่นหมายความว่า มีการใช้ปืนจริง กระสุนจริง ยิงใส่ผู้ชุมนุมในระยะต่ำ ตั้งแต่เริ่มโหมโรงความรุนแรง ด้วยการยิงปืนขึ้นฟ้า เพื่อสลายการชุมนุมครั้งแรก ในช่วงก่อนเที่ยงโน่นแล้ว

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net