แม่ของลูกชาย 2 คน

เหมือนกับการปะทะกันทุกครั้ง ระหว่างรัฐกับกลุ่มผู้ชุมนุม ถ้าพลันถึงขั้นบาดเจ็บล้มตายมากมายเมื่อไหร่ ข้อสงสัยที่ตามมา ก็คือ มีคนสูญหายหรือไม่ สูญหายไปเท่าไหร่ ศพหายไปไหน

กรณีสลายการชุมนุมที่หน้าโรงพักตากใบ จังหวัดนราธิวาส ก็ไม่แตกต่างกับการสลายการชุมนุมในหลายครั้งที่ผ่านมา

ด้วยเพราะคำถามที่ยังคงค้างคาใจคนในพื้นถิ่น ณ เวลานี้ ก็คือ คนในหมู่บ้านที่เข้าร่วมชุมนุมครั้งนี้ อย่างน้อยก็จำนวนหนึ่งหายไปไหน

เป็นคำถามซ้ำซากที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าในประเทศนี้ ไล่มาตั้งแต่เมื่อกว่า 30 ปี ที่ผ่านมา ในเหตุการณ์เรียกร้องรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์สังหารหมู่กลางเมือง เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เหตุการณ์ขับไล่เผด็จการชุดสุดท้อง ณ เดือนพฤษภาทมิฬ เมื่อปี 2535 และเหตุการณ์สดๆ ร้อนๆ "ตากใบทมิฬ" เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ที่ผ่านมา

ประเด็นผู้สูญหายจากเหตุการณ์ตากใบทมิฬ ถูกจับตามองจากทุกฝ่าย เมื่อผู้ร่วมชุมนุมที่หลุดรอดการจับกุมไปได้ 2 ราย ออกมาเปิดเผยกับ "ประชาไท" ว่า เห็นผู้ถูกยิงเสียชีวิตจำนวนมากกว่าที่ปรากฏในเนื้อข่าว ที่มีแค่ 6 คน

หนึ่งใน 2 คนนี้ ยืนยันว่า เฉพาะที่เห็นกับตามีศพถูกจับโยนขึ้นรถนำออกไปจุดเกิดเหตุอย่างน้อย 15 ศพ

เท็จจริงเป็นอย่างไร สิ่งที่ชาวบ้านเห็นใช่ศพจริงหรือไม่ เป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย จะต้องร่วมกันพิสูจน์ เพื่อลดข้อระแวงสงสัยที่ยังคั่งค้างอยู่ในใจคนพื้นที่

อันเป็นที่มาของการรับแจ้งคนหายของ "สำนักงานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดนราธิวาส" โดยมี "นายอับดุลเราะห์มาน อับดุลศอมัด" ประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดนราธิวาส เป็นแม่งาน ซึ่งปรากฏมีผู้เข้ามาแจ้งกันอย่างคับคั่ง ยอดคนหายพุ่งขึ้นกว่า 40 ราย

สำหรับรายชื่อที่รวบรวมได้ทั้งหมด "นายอับดุลเราะห์มาน อับดุลศอมัด" บอกว่า จะมอบให้กับ "พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ" ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาสถานการณ์ภาคใต้ วุฒิสภา ที่ทำหนังสือขอข้อมูลมายังสำนักงานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดนราธิวาส

ส่งผลให้ "คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ" ตัดสินใจเข้ามาสมทบส่วน ร่วมกับ "สำนักงานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดนราธิวาส" ตั้งศูนย์รับเรื่องคนหาย เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2547 ที่ผ่านมา

ขณะที่ "นายโภคิน พลกุล" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ออกมายืนยัน เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2547 ที่ผ่านมาว่า คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ที่มี "นายศิวะ แสงมณี" รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน ได้รายงานมายังกระทรวงมหาดไทยว่า ในการตรวจสอบเบื้องต้นปรากฏมีผู้สูญหาย 27 ราย จากการติดตามพบว่า ในจำนวนนี้กลับบ้านแล้ว 7 ราย ตกเป็นผู้ต้องหาของทางราชการ 5 ราย ถูกราชการกันตัวไว้เป็นพยาน 2 ราย เสียชีวิต 4 ราย

นั่นหมายถึงว่า ยังคงเหลือคนที่ต้องติดตามหาตัวต่อไปอีก 9 ราย
"นางนาถกาญจน์ ตีมะซา" จากหมู่บ้านหัวคลอง อยู่บ้านเลขที่ 69 หมู่ 6 ตำบลเจ๊ะเห อำเภอตากใบ เป็นหนึ่งในจำนวน "แม่" หลายคน ที่จนถึงวันนี้ "ลูก" คือ "นายอับดุลรอซะ ตีมะซา" กับญาติห่างๆ อีกหนึ่งคน ชื่อ "นายมาหะมะอาบี เจะโซะ" ยังไม่กลับบ้าน หลังจากเข้าร่วมประท้วงที่หน้าโรงพักตากใบ

ขณะที่ลูกชายอีกหนึ่งคน คือ "นายมหามะมาโซ ตีมะซา" ซึ่งถูกจับกุมในเหตุการณ์ตากใบทมิฬ ก็ได้รับบาดเจ็บสาหัส ถูกส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์

"นางนาถกาญจน์ ตีมะซา" บอกกับ "ประชาไทออนไลน์" ว่า ตอนไปตรวจสอบที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบพบว่า ตำรวจมีหลักฐานบัตรประชาชน และกระเป๋าสตางค์ของลูกชายวัย 27 ปี นาม "อับดุลรอซะ ตีมะซา" แต่ไม่มีใครรู้ว่า เจ้าตัวหายไปไหน ไปตรวจรายชื่อผู้เสียชีวิตก็ไม่มีชื่อนี้ ไปดูรายชื่อผู้ถูกจับกุม ก็ไม่ปรากฏอยู่ในบัญชี

"ไม่รู้เขาเอาตัวไปไว้ที่ไหน" เป็นคำรำพึงของผู้เป็นแม่
"อยากให้บอกมาเลยว่า นำเขาไปไว้ที่ไหน ถ้าตายก็จะได้นำศพไปทำพิธี หลังจากนี้ คงจะต้องร้องเรียนกับสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจังหวัดนราธิวาสให้ช่วยตามหา" นางบอกกับ "ประชาไทออนไลน์" ด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ

ขณะที่ผู้ "นายมาหะมะมาโซ ตีมะซา" ลูกชายวัย 26 ปีของ "นางนาถกาญจน์ ตีมะซา" ที่ถูกส่งมารักษาตัวที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ภายใต้การดูแลของ "นายแพทย์ณปกรณ์ แสงฉาย" พูดคุยกับ "ประชาไท" ด้วยเสียงที่แหบแห้ง ถ้าพูดนานๆ เสียงจะหายอยู่เป็นระยะ

สภาพของ "นายมาหะมะมาโซ ตีมะซา" พะรุงพะรังด้วยผ้าพันแผล ที่แขนและน่องทั้ง 2 ข้าง ส่วนคอด้านขวาถูกเจาะใส่สายยาง ตรงช่องท้องมีผ้าปิดแผลจากการผ่าตัด และต้องฟอกไต 3 - 4 วันต่อครั้ง

ด้วยเสียงที่แหบแห้ง "นายมาหะมะมาโซ ตีมะซา" ที่ยังปรากฏบาดแผลถลอกที่หน้าผากและแก้มซ้าย เล่าว่า …
"ผมทราบเรื่องที่เขามาชุมนุมกันเกือบจะเที่ยงวัน เพราะมีชาวบ้านมาจับกลุ่มพูดคุยให้ได้ยิน จึงขับมอเตอร์ไซค์ออกไปดู พร้อมกับเพื่อนอีก 2 - 3 คน ตอนนั้นเวลาซักประมาณบ่ายโมง ขับรถออกไปแป๊บเดียวก็ถึง เพราะบ้านผมอยู่ห่างจากโรงพักตากใบแค่ 3 กิโลเมตร

ผมเข้าไปอยู่ในกลุ่มคนชุมนุมตรงหน้าโรงพักตากใบ หลังจากเข้าไปก็เห็นทหารเอาแผงกั้นมาวาง ขวางทางเข้า - ออก ตรงบริเวณที่ชุมนุม

พอประมาณ 3 โมง มีการฉีดน้ำใส่คนที่ชุมนุม ผมกับเพื่อนวิ่งไปทางแม่น้ำ แล้วหมอบลง ท่อนล่างของผมจมลงไปในแม่น้ำครึ่งตัว ผมถูกจับตรงนั้นแหละครับ จากนั้นก็ถูกมัดมือไขว้หลัง เขาสั่งให้คลานในสภาพที่มือถูกมัดไขว้หลัง ผมต้องใช้หน้าอกคลานไป เลื้อยไป เหมือนปลาดุก

ตอนนั้น ถูกตีถูกเตะไปกี่ครั้ง ผมบอกไม่ได้ รู้แต่ว่าถูกตีถูกเตะเยอะมาก พอขึ้นไปบนรถ ผมยังอยู่กับเพื่อน นอนคว่ำอยู่ชั้นล่างสุด เพื่อนผมอยู่ชั้นที่สอง บางครั้ง เขาก็ช่วยผมใช้มือยันพื้นไว้ไม่ให้น้ำหนักทับมาที่ผมมากเกินไป ตรงนี้ ถือว่าผมโชคดีมาก

พอถึงที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ที่จังหวัดปัตตานี ผมกลับเดินลงจากรถเองไม่ได้ เพื่อนๆ ต้องช่วยกันอุ้มลงจากรถ ผมไม่รู้ว่าในรถคันที่ผมมาด้วย มีคนตายเท่าไหร่ รู้แต่ว่าตายกันเยอะ น่าจะถึง 10 คน…."

ขณะที่ "นางนาถกาญจน์ ตีมะซา" ผู้เป็นแม่บอกว่า ไปสำรวจรายชื่อที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร เจ้าหน้าที่แจ้งว่า ได้รับบาดเจ็บถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลปัตตานีแล้ว เมื่อไปดูที่โรงพยาบาลปัตตานีจึงทราบว่า ถูกนำส่งมาที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ตอนนั้นกังวลมาก เพราะคิดว่าอาการคงจะหนัก พอตามมาที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ปรากฏว่าอาการหนักจริงๆ อย่างที่คาดไว้

"ตอนนี้ ยังไม่มีหน่วยงานไหนมาติดต่อ จะให้ความช่วยเหลือเลย ฉันคิดว่ารัฐจะต้องรับผิดชอบ ค่ารักษาพยาบาลลูกชาย หลังจากนี้ คงต้องพึ่งสภาทนายความ หลังจากนี้ ตั้งใจว่าจะร้องเรียนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือ"

นับเป็นภาระหนักของ "แม่" ที่ลูกชาย 2 คนมาประสพเคราะห์กรรมพร้อมกัน
หนึ่งนั้น บาดเจ็บสาหัส ส่วนอีกหนึ่งคน สูญหายไปในขณะที่กองกำลังของรัฐเข้าสลายการชุมนุม

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท