Skip to main content
sharethis

ประชาไท-15 พ.ย.47 "รัฐบาลอ้างว่าโครงการกองทุนหมู่บ้านประสบความสำเร็จ เพราะมีการจ่ายหนี้คืนกว่า 80-90% นั้น ต้องดูว่าคิดจากไหน เพราะในความเป็นจริงเขาไปวัดจากจำนวนคนที่เดินเข้ามาคืนเงินกู้เพื่อกู้ต่อ ไม่ใช่เม็ดเงินกู้ที่ออกไปแล้วส่งกลับคืนมา" ดร.วิชัย ตุรงคพันธุ์ อาจารย์จากคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวบรรยายเรื่อง "กองทุนหมู่บ้าน" ในงานสัมมนาทางวิชาการติดตามนโยบายสาธารณะของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ดร.วิชัยกล่าวว่า จากการวิจัยในพื้นที่ภาคอีสาน 19 จังหวัด ซึ่งสนับสนุนโดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) พบว่ากองทุนหมู่บ้านไม่มีประสิทธิภาพในการเพิ่มรายได้ แต่กลับมีการเพิ่มของหนี้สิน โดยก่อนมีโครงการกองทุนหมู่บ้าน ปี2543 มีหนี้สินครัวเรือนเฉลี่ย 70,586 บาท แต่ในปี 2545 หนี้สินกลับเพิ่มเป็น 84,603 บาท หรือเพิ่มจาก 5.7 เท่าของรายได้ครัวเรือนเป็น 6.1 เท่า

ดร.วิชัยยังกล่าวถึงผลการศึกษาและจัดอันดับกองทุนหมู่บ้านเปรียบเทียบกับของสำนักงานคณะกรรมการกองทุนหมู่และชุมชนเมือง (สทบ.) พบว่าตัวเลขมีความคลาดเคลื่อนกับพอสมควร โดยสทบ.ระบุว่ากองทุนที่มีระบบการบริหารจัดการ การจ่ายคืนอยู่ในขั้นดีมี 33.6% ขั้นปานกลางมี 63.7% ขั้นควรปรับปรุงมี 2.7%

ขณะที่ผลการศึกษากลับพบว่า กองทุนที่อยู่ในขั้นดีมี 37.9% ปานกลาง 50.4% และที่ต้องปรับปรุง 11.7%

"ในส่วนที่ดีและปานกลางจะได้รับเงินในปีที่สองเพิ่ม 1 แสนบาท ดังนั้น ตัวเลขในส่วนกองทุนที่แย่หรือต้องปรับปรุงต่างกันมาก ทำให้ต้องนำเงิน 1 แสนไปอุดหนุนกองทุนแย่ๆ ที่เชื่อว่าดีตามสทบ.บอกจำนวนมาก แทนที่จะได้เมาปรับปรุงให้มันดีก่อนคิดถึงขั้นให้เป็นธนาคารชุมชน" ดร.วิชัยกล่าว

ดร.วิชัยอธิบายว่า แนวคิดธนาคารคนจนเป็นแนวคิดที่ต่อยอดจากกองทุนหมู่บ้าน โดยกำหนดระยะเวลา 3 ปีในการปรับตัวให้เป็นนิติบุคคล ทำให้ทุกกองทุนมีสิทธิ์มีเสียงเหมือนองค์กรห้างร้าน ที่เสียภาษีหรือฟ้องร้องได้

"แต่จากการลงพื้นที่ ชาวบ้านเขาไม่เข้าใจว่านิติบุคคลคืออะไรด้วยซ้ำ แต่เป็นแนวคิดที่ระดับบริหารคิดเผื่อให้แล้วว่าต้องทำ โดยไม่รู้ว่าทำเพื่อใคร เป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่ากลัว" ดร.วิชัยกล่าวและว่าสิ่งที่น่าห่วงคือปัญหาการควบคุมตรวจสอบจะอยู่ในความรับผิดชอบของใคร และจะมีความโปร่งใสได้แค่ไหน

นอกจากนี้ยังพบว่าการบริหารจัดการมีปัญหาทั้งคณะกรรมการระดับจังหวัด อำเภอ หมู่บ้านที่ไม่มีข้อมูล ขาดความรู้ในการจัดการบัญชี และไม่มีการเชื่อมประสานกับส่วนอื่นๆ รวมทั้งปัญหากองทุนที่หมกเม็ดไม่เปิดเผยข้อมูลมีจำนวนมาก ซึ่งพื้นฐานของปัญหามากจากความเร่งรีบอัดฉีดเงินโดยไม่เตรียมความพร้อมใดๆ รวมทั้งการนำโครงการต่างๆ ลงไปในพื้นที่หลายโครงการในขณะเดียวกัน ซึ่งล้วนเป็นเรื่องของการเมือง

"แม้ปัญหาจะมีมาก แต่รัฐบาลคงไม่ยอมให้โครงการที่มีมูลค่ากว่า 7 หมื่นล้านล้มแน่นอน ต้องหาโครงการอะไรที่จะหนุนให้กองทุนนี้หมุนไปไม่หยุด คำถามคือถ้าเปลี่ยนรัฐบาลจะทำให้มันอยู่ต่อได้ไหม เพราะปัญหาข้างในสะสมไว้หลายปี แม้มีการเปลี่ยนแปลงความผิดพลาดไปอยู่ในรูปโฉมที่มีภาพลักษณ์ดีขึ้น แต่ถ้าพื้นฐานมีปัญหาก็ล้มได้" ดร.วิชัยกล่าว

มุทิตา เชื้อชั่ง
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net