Skip to main content
sharethis

ศูนย์ข่าวภาคเหนือ-11 พ.ย.47 ที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย กลุ่มรักษ์เชียงของ เตรียมจัดงาน"แม่น้ำโขง : มุมมองภาคประชาสังคมกับงานวิจัยจาวบ้าน" เพื่อเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะพร้อมกับจัดกิจกรรมรณรงค์ รวมพลคนรักแม่น้ำโขง คัดค้านการสร้างเขื่อนและการระเบิดแก่งน้ำโขง

นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ผู้ประสานงานโครงการแม่น้ำและชุมชน เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากร
ธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำโขง-ล้านนา เปิดเผยว่า เนื่องจาก 2 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านในพื้นที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ได้ทำการศึกษาวิจัยในเรื่องผลกระทบจากการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในประเทศจีน ซึ่งทำให้การขึ้นลงของกระแสน้ำผิดธรรมชาติ ทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านในบริเวณพื้นที่ อ.เชียงแสน อ.เชียงของ และ อ.เวียงแก่น ได้รับผลกระทบอย่างมาก ไม่ว่าเรื่องการหาปลา การปลูกผักริมน้ำ วิถีจารีตความเชื่อ ประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมเริ่มเปลี่ยนแปลงไป

"นอกจากนั้น โครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงในพื้นที่ตอนบน ได้ทำให้กระแสน้ำไหลแรงผิดปกติจนที่ดินทำกิน ที่ดินหมู่บ้านริมฝั่งพังทะลายลงอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นเรื่องแปลกมาก ที่ยังไม่มีหน่วยงานใดทำการศึกษาความเสียหายอย่างจริงจัง จนชาวบ้านตั้งข้อสงสัยกันว่า ทำไมประเทศท้ายน้ำ จึงไม่มีสิทธิในการปกป้องความเป็นธรรมในฐานะคนลุ่มน้ำเดียวกัน" นายนิวัฒน์ กล่าว

นายนิวัฒน์ ยังกล่าวอีกว่า ทางเครือข่ายฯ จึงได้จัดงานในครั้งนี้ขึ้น ในระหว่างวันที่ 26-27 พ.ย.47 นี้ ที่กลุ่มรักษ์เชียงของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย เพื่อนำเสนอข้อมูลผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว โดยนำงานวิจัยจาวบ้าน เรื่อง เรื่องเล่าจากคนหาปลาในสายน้ำของและคอนผีหลง การเกษตรริมน้ำของ ไก…พืชพื้นบ้านกับแม่ญิงน้ำของ และพืชริมน้ำ ความมั่นคงทางอาหารและสุขภาวะ

นอกจากนั้น จะมีการสรุปสถานการณ์ การพัฒนาแม่น้ำโขงตอนบนล่าสุด โดยเครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเควิน ลี นักวิชาการแม่น้ำโขง จากประเทศจีน ปาฐกถา เรื่อง อารยธรรมลุ่มน้ำโขงตอนบนกับโลกาภิวัฒน์ โดย รศ.ศรีศักร วิลลโภดม การอภิปราย เรื่อง การพัฒนาแม่น้ำโขงตอนบน และผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการเมือง มุมมองภาคประชาชน โดย ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ

การอภิปราย เรื่อง ความมั่นคงทางอาหารและปัญหาสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน โดย รศ.สุริชัย หวันแก้ว และ กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน กับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติตามรัฐธรรมนูญ โดย นางเตือนใจ ดีเทศน์ รองประธาน กรรมาธิการการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และวุฒิสภา จ.เชียงราย

"งานวิจัยชาวบ้าน ใช้เวลาผ่านมาไม่ถึง 2 ปี เป็นเพียงข้อมูลพื้นฐาน ซึ่งเป็นงานวิจัยในระยะแรก แต่สามารถยืนยันได้ว่า การกระทำของมนุษย์ จากการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ การระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขง ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในแม่น้ำ ประเพณีความเชื่อ วัฒนธรรม วิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำโขง จนไม่สามารถประเมินความเสียหายได้ และรายงานชิ้นนี้ จะนำเสนอต่อสาธารณะอย่างเป็นทางการต่อไป" นายนิวัฒน์ กล่าว

องอาจ เดชา
ศูนย์ข่าวภาคเหนือรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net