Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ภาพที่ 1 โรงไฟฟ้าแก่งคอย 1

ในช่วงเดือนที่ผ่านมา หากสังเกตให้ดีจะเห็นข่าวความเคลื่อนไหวของชาวแก่งคอยสวม "เสื้อเขียว" ออกมาต่อต้านโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 จ.สระบุรี ปรากฏอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์ถึง 2 ครั้ง

"สีเขียว" นี้เป็นสีเขียวเดียวกับชาวบ่อนอก-บ้านกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่คัดค้านโรงไฟฟ้าอย่างสนิทแนบแน่น ไม่เฉพาะเพียงเป็นประเด็นปัญหาร่วมที่ "คนเล็กคนน้อย" ได้รับจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน

แต่ยิ่งไปกว่านั้น "แก่งคอย" เป็นพื้นที่ที่รับมรดกโรงไฟฟ้าซึ่งเคลื่อนย้ายมาจาก "บ่อนอก" โดยตรง

โดย ครม. ได้มีมติเห็นชอบในหลักการของโครงการโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 ที่เพิ่มกำลังการผลิตจาก 734 เมกกะวัตต์ เป็น 1,468 เมกกะวัตต์ เพื่อแลกกับค่าชดเชยกว่า 4,000 ล้าน ที่รัฐไม่ต้องจ่ายให้บริษัท กัลฟ์ พาวเวอร์ เจนเนอเรชั่น จำกัด

โทษฐานที่รัฐไม่สามารถจัดการกับการแข็งขืนของ "ชาวบ่อนอก-บ้านกรูด" ซึ่งปฏิเสธโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ โดยโรงไฟฟ้าแก่งคอย2 นี้จะหันมาใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงแทน

แม้ข่าวจะไม่ใหญ่โตและเงียบหายไปในเวลาอันรวดเร็ว แต่ภายใต้ความฉาบฉวยของข่าวสารเช่นนั้น กลับพบว่ามีประเด็นและคำถามที่น่าสนใจมากมายที่ผู้คนบางส่วนในพื้นที่สะท้อนออกมา โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม

เพราะ "แก่งคอย" เป็นพื้นที่ซึ่งบอบช้ำจากมลพิษนานาประการเป็นทุนเดิม เนื่องจากแบกรับโรงงานอุตสาหกรรมสารพัดชนิดไว้ถึง 116 โรง เป็นโรงงานขนาดใหญ่วงเงินลงทุนเกิน 100 ล้าน 32 โรง ไม่นับรวมถึงโรงปูนอีก 4 โรงยักษ์ ทั้งนี้ โรงงานส่วนใหญ่กระจายตัวอยู่ตามชุมชน ขณะที่ภายในเขตนิคมอุตสาหกรรมแก่งคอยมีโรงงานไม้อัดไปตั้งอยู่เพียง 1 โรงเท่านั้น

"ไม่ใช่เฉพาะแก่งคอย ทั้งจังหวัดสระบุรีกลายเป็นขนมหวานของนักลงทุน โรงงานหลายแห่งที่นี่ที่ร่ำรวยมโหฬาร แต่ไม่มีใครที่จะพูดถึงเลยว่าจะช่วยเหลือฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมสระบุรีอย่างไร" สมคิด ดวงแก้ว จากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแก่งคอยกล่าว

ที่สำคัญกว่านั้น สมคิดเล่าว่าคนแก่งคอยไม่มีใครรู้ว่ามีโรงไฟฟ้าแก่งคอย 1 จนเมื่อโรงไฟฟ้าแห่งที่ 2 กำลังจะเกิดขึ้น

จุดเริ่มต้นของการคัดค้านโรงไฟฟ้า

สมคิดเล่าถึงการรับรู้ของคนในพื้นที่ว่า ชาวแก่งคอยไม่เคยรู้มาก่อนว่าจะมีโครงการโรงไฟฟ้าแก่งคอย2 แม้ในช่วงที่บริษัทกว้านซื้อที่ดินกว่า 300 ไร่ใน ต.บ้านป่า อ.แก่งคอย ก็ยังไม่มีการเปิดเผยว่าจะนำไปสร้างโรงไฟฟ้า

"เราก็ช็อคเหมือนกัน ว่าอยู่ๆ มีโรงไฟฟ้ามาลงที่นี่ได้ยังไง อย่าว่าแต่โรงสองเลย แม้แต่โรงหนึ่งที่อยู่ในแก่งคอยเหมือนกัน คนแก่งคอยก็ไม่เคยรู้ว่ามี มารู้ก็ตอนที่จะมีโรง 2 นี่แหละ" สมคิดกล่าวพร้อมกางแผนที่ชี้จุดที่ตั้งของโรงไฟฟ้าแก่งคอย1 ที่ต.ตาลเดี่ยว ริมลำน้ำป่าสัก ซึ่งอยู่คนละฝั่งแม่น้ำและห่างจากที่ตั้งของโรงไฟฟ้าแก่งคอย2 ไม่ถึง 5 กม.

การเข้ามาในพื้นที่ของโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 แบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว และความไม่ชัดเจนในเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ให้กำเนิด "กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแก่งคอย" มาตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2547 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ทางบริษัทจัดเวทีสาธารณะเพื่อสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่ กระทั่งกลายมาเป็นแกนหลักสำคัญในการคัดค้านโรงไฟฟ้าในเวลาต่อมา

เขากล่าวว่า การพูดคุยของเจ้าหน้าที่โรงไฟฟ้าในครั้งนั้น เต็มไปด้วยท่าทีที่ไม่เป็นมิตรและการตอบคำถามที่ไม่ชัดเจนทั้งเรื่องสารเคมี 10 ชนิด ที่จะต้องใช้ในขบวนการเผาไหม้และหล่อเย็นของโรงไฟฟ้า รวมถึงที่มาที่ไปของโครงการว่าเป็นบริษัทเดียวกับที่มาจากบ่อนอกหรือไม่

จนกระทั่งยอมเปิดเผยว่าเป็นบริษัทเดียวกัน รวมทั้งระบุชัดเจนว่ายังไม่มีการศึกษารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด ก็เมื่อจัดเวทีใหญ่ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2547

"อีกด้านหนึ่งที่น่าตกใจคือ เขาเอามติครม.มาบอกว่า ครม.อนุมัติทุกขั้นตอนแล้ว สิ่งพิมพ์ท้องถิ่นเขากว้านซื้อหมด แจกไปทั่วว่าครม.อนุมัติหมดแล้ว ทำให้คนที่ยังไม่เข้าใจข้อมูลเบื้องต้นคิดว่าคัดค้านไม่ได้แล้ว ครม.อนุมัติแล้ว ทั้งที่ครม.อนุมัติโดยกรอบ ไม่ใช่ 100%" สมคิดระบุ

อย่างไรก็ตาม คำตอบที่ไม่ชัดเจนของโรงไฟฟ้า ได้ทำให้กลุ่มอนุรักษ์มีสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ความแตกแยกในชุมชน

กระนั้นก็ตาม ความแตกแยกในชุมชนก็เริ่มปรากฏให้เห็นและขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน เนื่องจากโรงไฟฟ้ามีกิจกรรมในชุมชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งกฐิน ผ้าป่า บริจาคทุนการศึกษา พาไปศึกษาดูงาน แม้แต่นักการเมืองท้องถิ่นก็พอใจที่จะรับข้อมูล "การพัฒนา" เพียงด้านเดียว

"ใกล้ตัวที่สุดคือหลานผม เขาใกล้ชิดและได้ข้อมูลจากผม ก็เอาเรื่องนี้ไปคุยให้คุณครูที่โรงเรียนฟัง คนหนึ่งบอกว่าดีข้อมูลเยอะ อีกคนหนึ่งบอกกลับต่อว่าเด็กอย่างรุนแรง หาว่าเขามาช่วยเหลือชาวบ้านหลายอย่าง เพราะก่อนหน้านี้อาจารย์คนนี้เขาเคยไปดูงานกับโรงไฟฟ้า จนเด็กร้องไห้มาบอก ผมจึงไม่บอกกับผอ.โรงเรียนว่าเราเห็นต่างกันไม่เป็นไร แต่ปูชนียบุคคลไม่ควรใช้ท่าทีแบบนี้กับเด็กเพราะแกไม่รู้เรื่อง" สมคิดเล่าอย่างมีอารมณ์

อากาศเสียในอ้อมกอดของขุนเขา

พีระศักดิ์ สุขสำราญ สมาชิกอีกคนหนึ่งในชมรมอนุรักษ์ฯ ระบุว่า เป็นเรื่องน่าเศร้าที่คนสระบุรีนอกจากจะมีปัญหาเรื่องน้ำ แล้วยังต้องเผชิญกับมลพิษทางอากาศ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเป็นพื้นฐานของ "ชีวิต" ทั้งสิ้น

"อากาศของเราย่ำแย่อยู่แล้ว ตอนนี้ไม่มีใครกล้าดื่มน้ำฝน ไม่ว่าจะตกมาแรงขนาดไหนก็ตาม ในส่วนของโรงไฟฟ้าแม้จะใช้ก๊าซ ซึ่งถือได้ว่าดีที่สุดในกลุ่มพลังงานฟอสซิล แต่ก็ยังก่อมลพิษมาก ทั่วโลกเขาปฏิเสธแล้ว ทำไมไม่คิดใช้พลังงานทางเลือก ซึ่งนอกจากจะสะอาดแล้วยังไม่มีปัญหาการผูกขาด" พีระศักดิ์กล่าว

เขาเล่าเพิ่มเติมถึงปัจจัยเสริมทางภูมิศาสตร์ที่ทำให้ปัญหาอากาศเสียยิ่งรุนแรงมากขึ้นว่า เป็นเพราะแก่งคอย มีสภาพเป็นแอ่งกระทะ ทิศเหนือ ใต้ ตะวันออก ล้อมรอบด้วยภูเขา ทำให้เอื้ออำนวยต่อการกักขังมลพิษไม่ให้ออกไปไหน

ดูจากข้อมูลสุขภาพของโรงพยาบาลแก่งคอยจะเห็นว่า ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประชาชนป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจสูงสุดในจำนวนโรคทั้งหมด โดยปีล่าสุดมีจำนวนกว่า 2,000 รายในขณะที่โรคอื่นๆ อยู่ในระดับหลักสิบหลักร้อย ในขณะที่โรงพยาบาลสระบุรีก็มีผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจเป็นอันดับ1 ถึง 40,000-50,000 คนต่อปี

สงครามแย่งชิง "น้ำ"

ส่วนปัญหาที่น่าห่วงที่สุดหากมีการสร้างโรงไฟฟ้า พีระศักดิ์บอกว่าคือปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดยเขาให้ข้อมูลว่า โรงไฟฟ้าที่กำลังจะเกิดขึ้นใช้น้ำวันละ 54,000 คิวบิดเมตร จะทำให้น้ำไม่พอให้ชุมชน 2 ฝั่งแม่น้ำใช้ในการเกษตร เนื่องจากแม่น้ำป่าสักไม่ใช่แม่น้ำสายใหญ่ บางจุดถึงกับเดินข้ามได้ในฤดูแล้ง ทำให้ทุกวันนี้ต้องแย่งกันใช้น้ำอยู่แล้ว

"ยังไม่รวมถึงโครงการพระราชดำริคลองส่งน้ำแก่งคอย-บ้านหมอ ซึ่งอยู่เหนือแก่งคอยไป 2-3 กม. ต้องส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรถึง 8.5 หมื่นไร่" พีระศักดิ์แสดงความกังวล

เขาอ้างว่าได้ข้อมูลเหล่านี้มาจากเอกสารของโรงไฟฟ้าที่แจกให้คนในพื้นที่ โดยเล่ม1 แจกในช่วงเดือนมิถุนาก่อนจัดเวทีให้ข้อมูลชัดเจนว่าใช้น้ำวันละ 54,000 คิวบิดเมตรต่อวัน ใช้ก๊าซวันละ 260 ล้านลูกบาศก์ฟุต ต่อวัน รวมทั้งระบุโรงไฟฟ้ามีกำลังการผลิต 700-1,400 เมกกะวัตต์ ถือเป็นการบอกไว้สองระดับเพื่อพร้อมขยาย แต่เล่ม 2 ซึ่งแจกในช่วงเดือนสิงหาคม กลับไม่ปรากฏข้อมูลเหล่านี้ หรือหากมีก็เป็นเพียงบางส่วน ทำให้คนในพื้นที่สับสน

อย่างไรก็ตาม เขาเชื่อว่าวิกฤตการณ์ขาดแคลนน้ำที่จะเกิดขึ้นอาจรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ เพราะจากการแลกเปลี่ยนและศึกษาข้อมูลจากหลายพื้นที่พบว่า โรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 มีขนาดใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้าบางปะกงซึ่งต้องใช้น้ำถึงหลักแสนคิวบิดเมตรต่อวัน

วิกฤตแม่น้ำป่าสัก

นอกจากนี้เขายังเล่าถึงวิกฤตแม่น้ำป่าสัก ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม - มิถุนายน 2547 บางช่วงของลำน้ำตั้งแต่อ.เมือง - อ.เสาไห้ เน่าเสียถึงระดับ 4-5 ทำให้ปลาตายจำนวนมากทั้งปลาธรรมชาติและปลาเลี้ยงในกระชัง

คุณภาพน้ำระดับนี้ถือเป็นระดับที่ไม่สามารถนำน้ำมาผลิตน้ำประปาได้แล้ว ซึ่งปัญหานี้เกิดการทิ้งน้ำเสียของโรงอุตสาหกรรมริมฝั่งน้ำที่ไม่มีขบวนการบำบัด ประกอบกับกระบวนการตรวจสอบจากภาครัฐที่พิกลพิการก็ไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง

พร้อมกันนั้นเขาอธิบายว่า โครงการโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 ที่กำลังจะเกิดขึ้นอยู่ห่างจากแม่น้ำราว 1 กม. แต่มีโครงการจะต่อท่อน้ำไปทิ้งลงแม่น้ำป่าสักในบริเวณเดียวกับกับโรงไฟฟ้าแก่งคอย 1 ซึ่งอยู่ห่างกันราว 5 กม.

"ถามว่าทำไม เขาเองก็ไม่ตอบให้ชัด แต่มีคนเคยแนะนำเขาว่าถ้ามั่นใจว่าน้ำที่ทิ้งเป็นน้ำดี ก็ให้ต่อไปลงโครงการพระราชดำริ จะได้ไปทำการเกษตรต่อ เขาไม่กล้า และยอมรับว่ามันใช้ในการเกษตรไม่ได้ เพราะมีความเข้มข้นสูง"

"การบำบัดน้ำที่มีความเข้มข้นสูง เพราะการเวียนใช้ในขบวนการหล่อเย็นต้องใช้สารเคมี ข้อมูลของโรง1 ระบุว่าใช้เกือบ 10 ชนิด เดือนละ 84 ตัน ถ้าเป็นโรง2 ซึ่งใหญ่กว่า 14 เท่าก็ต้องใช้พันว่าตัน เราถามเขาว่ามีขบวนการกำจัดของเสียอย่างไร เขาไม่ตอบ" พีระศักดิ์กล่าวและเล่าถึงข้อมูลอีกมากมายที่กลุ่มฯ ทำการศึกษาค้นคว้า รวมถึงเรื่องที่โรงไฟฟ้ายังต้องตอบข้อข้องใจให้กระจ่างอีกหลายประเด็น.......

ธารา ธีรารมณ์
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net