วิทยาศาสตร์ท้องถิ่น เรียนสนุกในท้องถิ่น

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ภาพประกอบ 1 : ต้นกับตัวซาก้า

ปีนี้ "ต้น" เรียนชั้น ป.5 แล้ว แต่ตัวเล็กเหมือนนักเรียนชั้น ป. 3 จนต้องถามย้ำอีกที
"ผมอยู่ ห้อง ป. 5 ข" เขาย้ำให้ชัดเจนขึ้นพร้อมเขียนชื่อ นามสกุลแบบบรรจงเป็นการแนะนำตัว... "ด.ช. ทศพล ภูมิพันธุ์" ต้นเรียนกับครูศิริพงศ์ สิมสีดา ที่โรงเรียนบ้านกระทุ่ม จังหวัดบุรีรัมย์ แต่วันที่เราเจอกัน เขาไม่ได้อยู่ที่โรงเรียน...ไม่ได้อยู่ที่บุรีรัมย์ด้วยซ้ำ เขามาช่วยครูศิริพงศ์แสดงนิทรรศการ "แมลงหกขาพาสนุก" ที่กรุงเทพฯ

……………………

โครงการวิจัยวิทยาศาสตร์ท้องถิ่นเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2544 โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อพัฒนาส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เหมาะสมกับสภาพสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งท้องถิ่นซึ่งมีลักษณะเฉพาะต่าง ๆ กันไป และทำให้ครู นักเรียนและชุมชนได้เข้าใจท้องถิ่นของตนเองมากขึ้น

อาจารย์กานดา ช่วงชัย จากโรงเรียนแม่จันวิทยาคม ผู้ทำวิจัยโครงการน้ำพุร้อนแม่จันกล่าวว่า การวิจัยครั้งนี้ทำให้ครูและนักเรียนสัมพันธ์กับชาวบ้านและชุมชนมากขึ้น

โครงการนี้ได้กระจายไปยังภูมิภาคโดยมีเชียงใหม่ เชียงราย ขอนแก่น นครศรีธรรมราช-ตรัง เป็นศูนย์ในการประสานมีนักวิชาการพี่เลี้ยงกว่า 144 คนคอยให้คำปรึกษาแก่นักวิจัยท้องถิ่นซึ่งมีทั้งสิ้น 48 โครงการ ทั้งนักวิจัยที่เป็นชาวบ้านจริง ๆ ครูชั้นประถม อาจารย์ระดับมัธยม และพระภิกษุ

ครูศิริพงศ์ สิมสีดา ครูประจำชั้น ป. 5 ข โรงเรียนบ้านกระทุ่ม เข้าร่วมโครงการนี้ด้วย "แมลงหกขาพาสนุก" เป็นโครงการวิจัยของครูกับลูกศิษย์อีก 21 คน

……………………

ต้นเป็นคนยิ้มง่ายและคุยเก่ง เราคุยกันช่วงที่ครูอยู่ในห้องสัมมนาและอยู่บนเวที งานวิจัยที่ต้นกับเพื่อน ๆ และครู ศิริพงศ์ทำร่วมกัน เป็นโครงการหนึ่งที่มาแสดงนิทรรศการในวันปิดโครงการวิจัยวิทยาศาสตร์ท้องถิ่นหลังจากดำเนินการมาร่วม 3 ปี

เด็ก ๆ ได้รับมอบหมายให้รวบรวมแมลงในท้องถิ่นของตัวเอง แล้วก็จับมาศึกษา เฝ้าสังเกต

บนโต๊ะแสดงผลงาน มีแมลงหลากหลายชนิด และบางชนิดก็ไม่ได้มีแค่หกขา ครูศิริพงศ์บอกว่าไม่ได้ต้องการให้นักเรียนเป็นนักกีฏวิทยา แต่อยากให้พวกเขามีความสนใจใคร่รู้

ต้นชี้ให้ดูตัวซาก้าไพรินทร์ ผลงานชิ้นโบว์แดงของเขา

"แมลงตัวนี้ชอบอยู่ที่ต้นมะกรูด อาศัยที่ต้นสูง ๆ มีใบสมบูรณ์ มันชอบกินใบอ่อนของมะกรูด" ต้น อธิบาย เมื่อพบกับคำถามว่ามะกรูดสูง ๆ นั้นสูงแค่ไหน เขาหันไปรอบตัวแล้วชี้ที่หน้าจั่วของนิทรรศการซึ่งสูงประมาณกว่า 2 เมตรแล้วอธิบายต่อ

"เวลาจับมันจะแกล้งตาย พอเราจับมัน ๆ ก็จะหนีบ เจ็บด้วย แต่ตัวเล็กหนีบไม่ค่อยเจ็บ" ต้นหัวเราะชอบใจในผลงานที่ต้องแลกด้วยความเจ็บปวดเล็กน้อย แต่เขาก็ได้แมลงสีสวย มาเก็บไว้ในกล่อง

อันที่จริง ต้นก็ไม่เคยรู้อะไรเกี่ยวกับแมลงตัวนี้ จนกระทั่งเขาจับมันมาให้ครูจึงรู้ว่า มันเป็นแมลงที่อพยพมาตามฤดูกาล มันจะมาที่บ้านของเขาในฤดูหนาว แต่ในฤดูอื่นเขาก็ยังตอบไม่ได้ว่าจะไปหาเจ้าตัวสีเขียวอมฟ้าปีกแข็งเป็นมันเลื่อมตัวเล็ก ๆ แถมยังมีก้ามเหมือนก้ามปู 2 ข้างแบบนี้ได้ที่ไหน

"ครูก็ไม่รู้จักเหมือนกัน แต่ไปเปิดหนังสือดู ก็เลยรู้ว่ามันเป็นแมลงอพยพ ผมเห็นมันอยู่ 3 ตัว ก็เลยจับมา 2 ตัว เหลือแม่เอาไว้ ให้มันออกไข่ สงสารมัน"

…………………….

ไม่ใช่เพียงผลงานชิ้นโบว์แดงของต้นเท่านั้น เด็ก ๆ ได้ใช้เวลาทั้งในชั่วโมงเรียนและนกเวลาเรียนออกไปตามล่าหาแมลงมาเพื่อศึกษา มันคือเหล่าแมลงในท้องถิ่น ที่บินผ่านสายตาทุก ๆ วัน

ถ้าไม่มีโครงการแมลงหกขา พวกเขาอาจไม่มีเวลามาสนใจ เพราะพวกเขามีหนังสือเรียนรออยู่ในห้องเรียนจำนวนหนึ่งแล้ว

แมลงตัวเล็ก ๆ ได้นำพาพวกเขาไปสู่หนังสือเล่มอื่น ๆ เพราะเมื่อเขาจับมันได้ ก็จะรู้ว่าเขาไม่รู้เกี่ยวกับเจ้าตัวเล็ก ๆ ในมือมากเพียงพอ

"แมลงที่เด็ก ๆ จับได้ อาจจะไม่ใช่แมลงที่แปลกอะไร แต่สิ่งที่ผมเห็นก็คือแววตาที่ตื่นเต้นของเด็ก ๆ มันเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ ผมได้เรียนรู้สิ่งนี้ และคิดว่าความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้จะติดตัวเขาไป สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากโครงการแมลงหกขาคืออิสรภาพในการเรียนรู้"

ครูศิริพงศ์ พูดบนเวที ทั้งเฉลยความคาดหวังว่านิสัยใฝ่รู้ และการตั้งคำถามจะขยายขอบเขตออกไปนอกเหนือพรมแคนของแมลงตัวจ้อย วันหนึ่งเด็ก ๆ อาจจะตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับสัตว์ตัวโต ๆ สี่ขา และสิ่งอื่น ๆ

เมื่อเราถามต้น ที่อธิบายนิทรรศการกลั้วรอยยิ้มอยู่ข้างนอกถึงวีเรียนนอกตำราในช่วงปีที่ผ่านมา ต้นยิ้มแล้วตอบ

[b "สนุกครับ"

………………………..

ปล. อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามในภายหลัง ต้นบอกว่าชอบเรียนวิชาภาษาไทยที่สุด แล้วก็จะเข้ามาเรียนต่อชั้น ม. 1 ที่กรุงเทพฯ เพราะแม่ทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ ทิ้งคำถามเกี่ยวกับท้องถิ่นและการเรียนนอกตำราอย่างสนุกสนานไว้กับนักข่าวประชาไทให้มึนงงต่อไป พร้อม ๆ กับโครงการวิทยาศาสตร์ท้องถิ่นที่จบโครงการลงไปแล้วอย่างบริบูรณ์ และไม่รู้ว่าจะติดตามภาคต่อได้ที่ไหน

พิณผกา งามสม
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท