แถลงการณ์ ของคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา

แถลงการณ์ ของคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา
เรื่อง การเสียชีวิต และการใช้ความรุนแรงในเหตุการณ์ปราบปรามการชุมนุมประท้วง
ที่สถานีตำรวจภูธร อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547

จากเหตุการณ์ที่มีผู้ชุมนุมประท้วงที่บริเวณหน้าสถานีตำรวจภูธร อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวเจ้าหน้าที่ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) 6 คน ที่ถูกจับกุม และต่อมาภายหลังจากที่เจ้าหน้าที่ได้เข้าสลายการชุมนุมประท้วง ผลจากการดำเนินการสลายการชุมนุมตามที่ปรากฏจากรายงานของเจ้าหน้าที่มีผู้ชุมนุมเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 6 ราย มีผู้เสียชีวิตในระหว่างควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ จำนวน 79 ราย รวมผู้เสียชีวิตจาดเหตุการณ์ทั้งสิ้น 85 ราย และมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่ถูกควบคุมตัว 1,298 คนนั้น

คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ มีความเสียใจและกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อสภาพการณ์ความรุนแรงและการสูญเสีย ทั้งนี้รวมไปถึงสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นก่อนและหลังวันที่ 25 ตุลาคม ที่มีประชาชน พระสงฆ์ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ต้องบาดเจ็บ สูญเสียชีวิต จากความรุนแรงที่เกิดขึ้นในภาคใต้

คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา จึงได้ลงพื้นที่ ร่วมกับคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาความมั่นคงในจังหวัดภาคใต้ และคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อรับทราบข้อมูลจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในวันที่ 25 ตุลาคม ทั้งจากเจ้าหน้าที่รัฐบาล ผู้ชุมนุมประท้วง และผู้เห็นเหตุการณ์ รวมทั้งยังได้ตรวจสอบข้อมูลจากสื่อมวลชน นักวิชาการ ผู้นำศาสนาอิสลาม และองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ อย่างกว้างขวาง โดยมีข้อสรุปดังต่อไปนี้

1) คำชี้แจงของกองทัพภาคที่สี่ และคำชี้แจงของรัฐบาลในชั้นต้น ซึ่งระบุว่า การสลายการชุมนุมได้ดำเนินไปโดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้ใช้กำลังอาวุธปืน ทำร้ายร่างกายผู้ชุมนุมประท้วงนั้น มีความคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง

คณะกรรมาธิการฯ พบหลักฐานที่ยืนยันได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็น "การใช้ความรุนแรงเกินกว่าที่ได้ชี้แจงไว้" โดยเจ้าหน้าที่ได้ยิงปืนที่บรรจุกระสุนจริงเข้าใส่ผู้ชุมนุมประท้วง ทั้งนี้ นอกจากจะมีผู้ชุมนุมประท้วง 6 คนถูกยิงเสียชีวิตแล้ว ยังปรากฏว่า มีผู้ชุมนุมประท้วงที่ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนปืน ทั้งที่อาการสาหัส และไม่สาหัส อีก 11 คน นอกจากนี้ ยังยืนยันได้ว่า มีการทุบตี และทำร้ายร่างกายผู้ชุมนุมประท้วง ทั้งในระหว่างที่มีการปราบปรามการชุมนุมประท้วง และภายหลังจากที่ถูกควบคุมตัวเพื่อส่งไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ในประเด็นนี้ คณะกรรมาธิการฯ พบว่า การใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมประท้วง โดยเฉพาะการที่เจ้าหน้าที่ยิงปืนที่บรรจุกระสุนจริงเข้าใส่กลุ่มผู้ประท้วงนั้นน่าจะเป็นการใช้ความรุนแรงที่เกินกว่าเหตุ และขัดกับหลักการพื้นฐานของสหประชาชาติว่าด้วยการใช้กำลัง และการใช้อาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ ซึ่งกำหนดว่า ก่อนที่จะใช้กำลังนั้น เจ้าหน้าที่จะต้องใช้มาตรการต่างๆ ที่ไม่รุนแรงให้ถึงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เสียก่อน และเมื่อการใช้กำลังเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เจ้าหน้าที่จะต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง และใช้ความยับยั้งชั่งใจ เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปอย่างเหมาะสมกับเหตุความร้ายแรงของสถานการณ์ ซึ่งความชอบธรรมของวัตถุประสงค์ในการใช้กำลังนั้น อยู่ที่การพยายามรักษาชีวิตของผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยให้เกิดความเสียหาย และการบาดเจ็บน้อยที่สุด

2) อาวุธต่างๆ ที่รัฐบาลเปิดเผยว่า ผู้ชุมนุมประท้วงนำมาด้วยนั้น นอกจากอาวุธมีด และปืนรวมทั้งระเบิดที่พบในแม่น้ำหลังจากที่มีการปราบปรามการชุมนุมประท้วงแล้ว เจ้าหน้าที่ไม่สามารถยืนยันกับคณะกรรมาธิการฯ ได้ว่า อาวุธปืนที่พบนั้นมีการนำเอามาชุกซ่อนอย่างไร โดยที่ไม่มีการพบเห็นหรือตรวจสอบได้ โดยเฉพาะอาวุธปืนยาว ขณะที่เจ้าหน้าที่ ซึ่งได้รับบาดเจ็บนั้น ส่วนใหญ่โดนขว้างด้วยก้อนหิน อนึ่ง รายงานข่าวของสื่อมวลชนในระหว่างที่กำลังมีเหตุการณ์ชุมนุมประท้วง รวมทั้งข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่นระบุตรงกันว่า ผู้ชุมนุมประท้วงไม่มีอาวุธที่จะก่อให้เกิดความรุนแรงที่จะนำไปสู่การใช้ความรุนแรงในการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมที่เกินกว่าเหตุได้

3) คณะกรรมาธิการฯ ได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่ว่า ทางเจ้าหน้าที่ได้เตรียมการจะจับกุมแกนนำผู้ชุมนุมประท้วง โดยได้ถ่ายภาพเอาไว้ด้วยวีดีโอ และภาพนิ่ง เพื่อกำหนดตัวบุคคลที่ต้องการจับกุมเอาไว้ก่อนประมาณ 100 คน พร้อมกันนั้นก็ได้เตรียมรถจีเอ็มซี 4 คัน จากค่ายอิงคยุทธบริหาร ไปรอไว้เพื่อเตรียมไว้ขนย้ายบุคคลเหล่านั้น แต่ต่อมาเมื่อมีการสลายการชุมนุม บุคคลที่เจ้าหน้าที่ต้องการจับกุมได้กระจายตัวไปปะปนกับฝูงชนที่เข้าร่วมการชุมนุมประท้วง การที่เจ้าหน้าที่ได้เข้าสลายการชุมนุม แล้วให้ผู้ชุมนุมถอดเสื้อมัดมือไพล่หลัง ทำให้ไม่สามารถเลือกจับกุมเฉพาะบุคคลที่ต้องการตัว 100 คน ซึ่งเจ้าหน้าที่เชื่อว่า เป็นแกนนำการชุมนุมประท้วงได้ ดังนั้น เจ้าหน้าที่จึงกวาดจับผู้ชุมนุมประท้วงไป 1,298 คน เพื่อตรวจสอบ

คณะกรรมาธิการฯ มีความเห็นว่า ข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงการไร้ประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่ ทั้งในด้านยุทธวิธี ยุทธศาสตร์ และการบริหารจัดการ จนทำให้เกิดความสูญเสียเกิดขึ้น

4) การที่มีผู้เสียชีวิตจากขาดอากาศหายใจ 78 คน ซึ่งต่อมารัฐบาลชี้แจงว่า เป็นเพราะการขนย้ายผู้ชุมนุมประท้วงจากอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ไปยัง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นที่ตั้งของค่ายอิงคยุทธบริหารนั้น มีความแออัดยัดเยียด รถบรรทุกที่ขนส่งไม่เอื้ออำนวยการในการขนส่ง และใช้เวลาในการขนส่งนานมากถึง 6 ชั่วโมง ประกอบกับผู้ที่เสียชีวิตขาดอาหาร และขาดน้ำตาล เนื่องจากอยู่ในช่วงถือศีลอด

คณะกรรมาธิการฯ พบว่า เจ้าหน้าที่มีความบกพร่องอย่างชัดเจนจากการที่ไม่ได้จัดหารถบรรทุกเอาไว้ให้เพียงพอ และยังไม่ได้ให้การรักษาพยาบาลผู้ที่ได้รับบาดเจ็บอย่างเหมาะสม และทันท่วงที ที่สำคัญ ผู้ชุมนุมประท้วงยืนยันกับคณะกรรมาธิการฯ ว่า การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ระหว่างที่ขนย้ายผู้ชุมนุมประท้วงไปยังค่ายอิงคยุทธบริหารนั้นเป็นไปในลักษณะที่ขาดมนุษยธรรม และมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง โดยบังคับให้ผู้ชุมนุมประท้วงนอนซ้อนกันสี่ถึงห้าชั้นบนรถบรรทุกแต่ละคัน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ขาดอากาศหายใจจนเสียชีวิต นอกจากนี้ยังมีการทุบตีทำร้ายผู้ชุมนุมประท้วง ทั้งการเตะ และตีด้วยพานท้ายปืน โดยเฉพาะในระหว่างที่มีการร้องขอความช่วยเหลือ เนื่องจากผู้ชุมนุมประท้วงจำนวนหนึ่งกำลังขาดอากาศหายใจ โดยหลังจากที่เจ้าหน้าที่พบว่า มีผู้เสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจบนรถบรรทุกคันแรกที่เดินทางไปถึงค่ายอิงคยุทธบริหารแล้ว กลับไม่มีการติดต่อสื่อสารให้รถบรรทุกคันอื่นๆ ทราบเพื่อป้องกันไม่ให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น และให้การรักษาพยาบาลผู้ที่ได้รับบาดเจ็บอย่างทันท่วงที

จากเหตุการณ์ในครั้งนี้มีผลกระทบรุนแรงต่อสังคมไทย ทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อภาพพจน์ของประเทศในสายตาของนานาชาติอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากท่าทีของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ รัฐบาลประเทศต่างๆ องค์การสิทธิมนุษยชน และสื่อมวลชน ซึ่งแสดงความห่วงใยต่อการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมประท้วงที่ใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ จนทำให้มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บจำนวนมาก

ประเทศไทยเคยได้รับการยกย่องจากนานาชาติเกี่ยวกับความเป็นประชาธิปไตย และการเคารพหลักสิทธิมนุษยชน แต่ข้อมูลที่คณะกรรมาธิการฯ รวบรวมมาได้เกี่ยวกับการเสียชีวิต และบาดเจ็บของผู้ชุมนุมประท้วงในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม นั้นชี้ให้เห็นว่า การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนในหลายด้านด้วยกัน ที่ชัดเจนที่สุด คือ การละเมิดสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 31 ซึ่งระบุว่า "บุคคลย่อมมีสิทธิ และเสรีภาพในชีวิต และร่างกาย การทรมาน ทารุณกรรม หรือการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้าย หรือไร้มนุษยธรรมจะกระทำมิได้" ถึงแม้พื้นที่ในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตประกาศกฎอัยการศึก แต่ต้องปฏิบัติภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ จึงมีมติเสนอต่อรัฐบาลดังต่อไปนี้

1) รัฐบาลจะต้องดำเนินการตามพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยยุติการใช้ความรุนแรง และท่าทีที่ก้าวร้าวในการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งคณะกรรมาธิการขอสนับสนุนข้อเสนอของรองนายกรัฐมนตรีจาตุรนต์ ฉายแสง และภาคประชาชนเกี่ยวกับการใช้สันติวิธีแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาปฏิบัติ

2) เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ รัฐบาลจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ โดยจะต้องมีการสอบสวนนำผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามสายการบังคับบัญชาไปจนถึงขั้นสูงสุด ไม่ว่า การเสียชีวิต และบาดเจ็บ ตลอดจนความเสียหายต่อทรัพย์สินของผู้ชุมนุมประท้วงจะโดยประมาท โดยตั้งใจ หรือโดยอคติของผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ คณะกรรมการที่รัฐบาลแต่งตั้งขึ้นจะต้องสอบสวนข้อเท็จจริงอย่างโปร่งใส รวดเร็ว และเป็นธรรม โดยเป็นที่ยอมรับได้จากทั้งสังคมไทย และนานาชาติแล้ว และเมื่อมีการพบข้อเท็จจริงว่ามีผู้กระทำความผิดนั้น ต้องดำเนินการให้มีการลงโทษผู้ที่รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ครั้งนี้ตามกระบวนการของกฎหมายเพื่อให้เป็นบรรทัดฐาน และยังจะเป็นการขจัดเงื่อนไขสำคัญของความรุนแรงในในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ การขาดความยุติธรรม และการที่เจ้าหน้าที่รังแกละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชน โดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย แต่เป็นที่น่าเสียใจว่า จนถึงขณะนี้ นอกจากนายกรัฐมนตรีจะยังไม่ให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวแล้ว ยังไม่ได้ส่งสัญญาณใดๆ ให้เจ้าหน้าที่ ทั้งระดับนโยบาย และระดับปฏิบัติการตระหนักถึงความสำคัญของความยุติธรรม และการเคารพสิทธิมนุษยชน โดยเน้นแค่เพียงการแก้ปัญหาความยากจน และการขาดโอกาสทางการศึกษาเท่านั้น ดั้งนั้นรัฐบาลจะต้องแสดงเจตนาที่จะให้ความยุติธรรมกับประชาชนที่ถูกละเมิด ซึ่งจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่ออำนาจของรัฐที่จะอำนวยความยุติธรรมให้ประชาชนได้อย่างแท้จริง เพื่อเป็นการสลายเงื่อนไขที่กลุ่มผู้ก่อการกล่าวอ้าง จึงจะสามารถประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ภาคใต้

3) การสื่อสารกันด้วยความจริงใจ เคารพในความคิดเห็นที่แตกต่างกัน และให้เกียรติกัน และกันอย่างทัดเทียมเป็นหนทางที่สำคัญได้ในการสร้างความเข้าใจ การยอมรับ และความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้น ดังนั้นการดำเนินการใดก็ตามที่พยายามควบคุมการเสนอข่าวสาร หรือตำหนิการทำงานของสื่อมวลชนที่เสนอรายงานข่าวที่ไม่ถูกใจรัฐบาล จะส่งผลต่อการทำหน้าที่อย่างเที่ยงธรรมตามจรรยาบรรณทางวิชาชีพ นอกจากนี้ ยังเป็นการปิดกั้นไม่ให้เกิดฉันทาคติของประชาชนทุกหมู่เหล่าในสังคมที่จะแก้ปัญหาร่วมกัน

4) รัฐบาลจะต้องเข้าใจว่า ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีมิติของการข้ามพรมแดน ซึ่งจำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการฯ มีความกังวลว่า ท่าทีของรัฐบาลในขณะนี้อาจจะส่งสัญญาณผิด ๆ บางอย่าง ก่อให้เกิดการดำเนินการบางส่วนของกลไกรัฐที่จะสร้างความร้าวฉานขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซีย รวมทั้งประเทศมุสลิมอื่นๆ ที่มีความผูกพันเชื่อมโยงกับเกี่ยวกับผู้นับถือศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยมาช้านาน

5) รัฐบาลจะต้องตระหนักถึงสถานะของประเทศไทยในสายตาของนานาชาติ ความกังวลของนานาชาติเกี่ยวกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งในครั้งนี้ และที่ผ่านมาในอดีตทั้งหมด ควรจะได้รับการตรวจสอบอย่างโปร่งใส และจริงจัง รวมทั้งจะต้องมีการดำเนินการให้เห็นว่า ประเทศไทยมีความยุติธรรม ไม่ปล่อยให้ผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนสามารถอยู่เหนือกฎหมาย การชี้แจงที่ปราศจากข้อเท็จจริงนั้นไม่เป็นผลดีต่อภาพพจน์ของประเทศไทย

6) รัฐบาลจะต้องแสดงความพร้อมในการที่จะเปิดเผยข้อเท็จจริงในฐานะสมาชิกที่ดีของประชาคมระหว่างประเทศ และพร้อมที่จะรักษามาตรฐานทางสิทธิมนุษยชน ด้วยการอนุญาตให้ผู้แทนพิเศษของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติทางด้านการทรมาน ด้านการวิสามัญฆาตกรรม และด้านการใช้เสรีภาพในการแสดงออกเข้ามาตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งยังจะต้องเปิดโอกาสให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สภาทนายความ และองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ สามารถทำหน้าที่สำรวจข้อเท็จจริงได้อย่างเป็นอิสระ และมีความปลอดภัยด้วย

3 พฤศจิกายน 2547

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท