14 ตุลาคม ความน่าเบื่อหน่ายของ นักศึกษายุค IT

เมื่อวัยรุ่นลืมกำพืดตัวเอง ลืมการต่อสู้ของคนยุคก่อน

เมื่อเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นเพียงประวัติศาสตร์ที่ผ่านไปหน้าหนึ่ง หลายคนตั้งคำถามและพยายามหาคำตอบว่า สิ่งที่เป็นไปเหล่านี้เป็นผลผลิตจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคมหรือไม่ ?

14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ผ่านมามาแล้ว 31 ปี หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งกระบวนความคิดของคนในสังคม ทั้งที่มีรากฐานเดิมที่จากเหตุการณ์นั้น

"การต่อสู้ 14 ตุลาคมเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ทั้งในแง่ของการรวมพลังและเจตนารมย์ แต่ถ้ากล่าวสำหรับการคลี่คลายของสถานการณ์มันไม่ได้จบลงแค่นั้น การต่อสู้ 14 ตุลาคมมันเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง และการต่อสู้อย่างต่อเนื่องระหว่างพลังต่างๆต่อเนื่องไปจนถึง 6 ตุลาคม 2519 แล้วก็สืบเนื่องไปจนถึงการต่อสู้ด้วยกำลังนักศึกษาที่เข้าไปสมทบกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จนกระทั่งชนชั้นนำทางการเมืองซึ่งยึดอำนาจไว้ในปี 2519 ต้องยอมปรับกระบวนทัศน์ แล้วหันทิศทางประชาธิปไตยอีกครั้งในปี 2521 เพราะฉะนั้นเราจะเห็นได้ว่า กระบวนการต่อสู้เพื่อระบอบประชาธิปไตยแท้จริงมันใช้เวลาหลายปี เมื่อเรามองและประเมิน 14 ตุลาคม ในแง่การต่อสู้ถือว่ายิ่งใหญ่และไม่เคยมีมาก่อน" ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตผู้นำนักศึกษาเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 กล่าวไว้ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ฉบับที่วันที่ 10-16 ตุลาคม 2546

เมื่อครบรอบเวลาที่เกิดเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ในการรวมตัวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ในยุค 14 ตุลาคม เหตุการณ์ในวันเก่ามักถูกนำกลับมาบอกเล่าอีกครั้ง และสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่เสมอคือ การเปรียบเทียบยุคสมัยในปัจจุบัน กับยุค 14 ตุลาคม 2516 รวมทั้งสำนึกที่ขาดหายของวัยรุ่นในสมัยนี้โดยไม่เคยได้คำตอบอันชัดเจนสักครั้ง

"14 ตุลาคม มันเป็นเรื่องที่เอาทหารมายิงนักศึกษา ตอนสมัยจำลองกับสุจินดา" เป็นคำบอกกล่าวของนักศึกษามหาวิทยาลัยหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่

เหตุการณ์การเรียกร้องประชาธิปไตยกลายเป็นสิ่งที่พร่าเลือนในความรับรู้ของคนรุ่นใหม่ กลายเป็นประวัติศาสตร์ที่หลายคนนั้นเบื่อหน่าย "เหตุการณ์ 14 ตุลาคม ถูกบิดเบือนไป เยาวชนรุ่นหลังไม่ได้รับการบอกเล่า หรือสอนในชั้นเรียน ให้ได้รู้จักประวัติศาสตร์ในช่วงนี้ หรือไม่ก็ได้รับการบอกเล่าการสอนที่พล่ามัวผิดๆพลาดๆ" วิทยากร เชียงกูล เสนอบทความพิมพ์ในหนังสือปัญญาชนกับการเปลี่ยนแปลงสังคม เมื่อ พ.ศ.2530

อาจเป็นเรื่องของตัวตนของวัยรุ่นเองที่ขาดความใฝ่รู้

เทพศิริ สุขโสภา ศิลปินนักวาดนักเขียน เคยพูดคุยถึงความอ่อนด้อยทางความคิด ในวันที่ได้พูดคุยเรื่องเหตุการณ์14 ตุลาคมว่า "พวกคุณไม่อ่าน ประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ การเมือง แม้แต่งานวรรณกรรมเองก็ยังอ่านไม่มาก ต่างกับคนรุ่นก่อนๆ ที่ตื่นตัวกับการอ่าน พวกคุณไม่รู้แม้ประวัติศาสตร์สุโขทัย แม้แต่การเปลี่ยนแปลงระบอบประชาธิปไตยในปี 2475 ทุกวันนี้คนเราต้องอ่านหนังสือ จึงจะสามารถที่จะรู้กำพืดของตนเอง"

วิสา คัญทัพ อดีตนักศึกษาหนึ่งใน 13 คนที่ถูกจับในยุค 14 ตุลาคม ได้เขียนบทความไว้ในหนังสือ ขบวนการนักศึกษาไทย จาก 2475 ถึง14 ตุลาคม 2516 ว่า

"คนหนุ่มสาวเริ่มตั้งปัญหาถามเอากับตนเองถึงความมีคุญค่าของการมีชีวิตอยู่อย่างมีความหมาย เขาเริ่มเรียนรู้ฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม และในที่สุดก็เริ่มคิดอย่างจริงจังทำให้เขาเริ่มมองออกไปนอกตนเองหลังจากที่ได้คำตอบ…เมื่อสำนึกถึงคุณธรรมก็จะมองเห็นขัดแย้งในสังคมที่เกิดขึ้น ในปี พ.ศ.2511-13 จึงเป็นยุคฉันจึงมาหาความหมาย"

ฉันเยาว์ฉันเขลาฉันทึ่ง
ฉันจึงมาหาความหมาย
ฉันหวังเก็บอะไรไปมากมาย
สุดท้ายให้กระดาษฉันแผ่นเดียว

อาจเป็นเพราะการตั้งคำถามจนมาถึงการหาความหมายในตัวตนเหล่านี้ที่ทำให้นักศึกษาสมัยก่อนนั้นมีความแตกต่างอย่างชัดเจนทางด้านความคิด จนเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมและนำมาซึ่งการต่อสู้เพื่อสังคมให้เกิดความเป็นธรรม

"คนหนุ่มสาวของเราในยุคนี้เริ่มได้ตระหนักแล้วว่า สิ่งที่คนรุ่นก่อนพร่ำพูดมันไม่มีเสียแล้วอธิปไตยของชาติทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและทางปัญญา ย่อมสำคัญเท่ากับประชาธิปไตยทางการเมือง การเป็นอาณานิคมของประเทศเราย่อมมีความสำคัญเท่ากับการเป็นอาณานิคมโดยนิตินัย" คำประกาศความรู้สึกใหม่ บทนำสังคมปริทัศน์ฉบับคนหนุ่ม เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2513

หรือการที่วัยรุ่นนั้นเป็นอย่างนี้นั้น คือผลผลิตที่เกิดจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2547?

ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล มองว่า การที่วัยรุ่นเป็นอย่างนี้ มันเป็นผลของนโยบายการพัฒนาประเทศ บวกกับการเปิดประตูรับกระแสทุนโลกาภิวัตน์

"แตกต่างอย่างไรนั้นดูง่ายนิดเดียว กระแสโลกาภิวัตน์จริงๆแล้วตั้งอยู่บนพื้นฐานเสรีนิยมใหม่ เสรีนิยมใหม่ประกอบไปด้วยหลักยึด สามสี่ข้อ คือ หนึ่งยึดธุรกิจเอกชนเป็นแกนกลางของสังคม สองเปิดเสรีในทุกด้าน ตั้งแต่การค้า การเงิน ไปจนถึงวัฒนธรรม สามยกเลิกกฎเกณฑ์ที่กั้นขวางทั้งหลายการหากำไรสูงสุด ทั้งหมดเราโยงสู่พฤติกรรมเยาวชนก็พบว่า มันขานรับกันหมดเลย ชีวิตของวัยรุ่นสมัยนี้มันเป็นเรื่องปัจเจกชนล้วนๆ ไม่มีส่วนรวม เสรีตามอารมณ์ได้ทุกเรื่อง เพราะเป็นบุคคลไร้สังกัด ไม่มีกฎเกณฑ์ในเรื่องศีลธรรมจริยธรรมใดๆ เพราะอาศัยกฎเกณฑ์ตลาดมาวัดค่าทุกอย่าง มันเหมือนกันทุกอย่างระหว่างกระแสทุนนิยมโลกกับพฤติกรรมของบุคล เพราะต้นทางมามาอย่างเดียวกันมันสอดรับกัน

สุรปคือ เยาวชนในยุคหลังเป็นผลมาจากสิ่งแวดล้อมในยุคเขา ในแง่นี้ตำหนิเราไม่ได้ เพราะทั้งหมดล้วนถูกสร้างมาโดยผู้ใหญ่ แต่ผลกระทบเป็นสิ่งที่น่ากลัวมากเพราะมันทำให้เขาไม่มีสังกัดทางจิตสำนึก นอกจากนี้แล้วเขาจะไม่มีกฎเกณฑ์ไม่ยึดมั่นประเพณี ศีลธรรมจริยธรรมอันใด ทุกอย่างจะเลื่อนไหลไปตามชีวิตของเขา เขาถือว่าเป็นอะไรก็ได้ตามใจของเขา"

หลายคนพร่ำบ่นถึงความแตกต่างของยุคสมัยรวมทั้งความคิดของวัยรุ่นในยุคปัจุบัน เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่เป็นดังเจตนารมณ์ของตนที่เคยตั้งไว้และต่อสู้จนได้มา มันเป็นความคาดหวังที่คนยุคหนึ่งส่งต่อให้กับคนอีกยุค

"ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนั้นอีก ผมคนหนึ่งที่จะไปเรียกร้องประชาธิปไตย" นักศึกษาคนเดิมที่เคยตอบคำถามบอกกับ " พลเมืองเหนือ"

โครงการความร่วมมือด้านข่าวภูมิภาค
พลเมืองเหนือ-ประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท