Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ภาพประกอบ 1 : ที่มาhttp://www.uzo.net

ตอน 2...สู่แผ่นดินรัฐฉาน

เมื่อออกจากยูนนาน นู่เจียง(สาละวิน)เดินทางมุ่งลงใต้เข้าสู่แผ่นดินรัฐฉาน กลายเป็น "น้ำคง" ตามคำเรียกพื้นถิ่น หรือ "สาละวิน" ที่เพี้ยนมาจาก "ตาลวิน" ชื่อเรียกของชาวพม่า แม่น้ำสายหลักที่หล่อเลี้ยงผู้คนรัฐฉานตั้งแต่เหนือจนถึงใต้นับสิบล้านคน นอกจากชาวไทใหญ่(ไต) ยังมีชาวปะหล่อง มูเซอ และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ที่อาศัยอยู่ตลอดลำน้ำโดยมีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า

".............กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เมื่อแผ่นดินยังไม่มีสายน้ำ น้ำของและน้ำคงเป็นเพื่อนรักกัน ทั้งสองอยู่อาศัยบนแผ่นดินที่ราบสูงทิเบต วันหนึ่งทั้งสองแข่งขันกันว่าใครจะเดินทางถึงทะเลก่อนกัน แต่มีข้อแม้ว่าต้องเดินทางผ่านหุบเขาและที่ราบ ห้ามเดินทางลัดภูเขา

การเดินทางเริ่มต้นขึ้น เส้นทางของทั้งสองแทบขนานกันแต่แตกต่างกันสิ้นเชิง

น้ำของมุ่งลงใต้และยึดมั่นในข้อตกลง จนกลายมาเป็น "แม่น้ำโขง" สายน้ำที่ยาวที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากไหลผ่านหุบเขาและที่ราบ น้ำจึงเป็นสีขุ่น สีปูนหรือสีน้ำซาวข้าว

ขณะที่น้ำคงมุ่งลงใต้เช่นกัน แต่กลับเดินทางตัดภูเขาลูกแล้วลูกเล่า กลายเป็น "แม่น้ำคง" เนื่องจากไหลตัดผ่านภูเขาน้ำจึงมีสีเขียวมรกตไม่ขุ่นข้น

.............น้ำของแพ้น้ำคง เมื่อรู้ว่าเพื่อนไม่ซื่อสัตย์น้ำของโกรธแค้นและสาปแช่งว่า "วันใดที่เจอกัน แผ่นดินจะลุกไหม้เป็นไฟประลัยกัลป์" จนทำให้มีเรื่องเล่าต่อมาว่าหากนำน้ำมาใส่รวมกัน น้ำจะกลายเป็นสีเลือด ..........."

หรือเพราะคำสาปแห่งสายน้ำจึงทำให้แผ่นดินที่น้ำคง(สาละวิน)ไหลผ่าน เต็มไปด้วยไฟแห่งสงครามและความขัดแย้ง กลายเป็นสายน้ำแห่งสายเลือดที่เสียงปืนไม่เคยเงียบหายไปจากริมฝั่งแม่น้ำแม้ปัจจุบัน

12 กุมภาพันธ์ 2490 หลังจากพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษ "สัญญาเวียงป๋างโหลง" ร่างขึ้นที่เมืองไทยโดยการนำของอูอ่องซานตัวแทนของพม่าร่วมกับเจ้าฟ้าไทใหญ่ คะฉิ่นและชิน ภายใต้ข้อตกลงสำคัญที่ว่าหลังจากรวมกันเป็นเวลา 10 ปีแล้ว ทุกรัฐอิสระสามารถแยกตัวไปจัดตั้งเป็นประเทศใหม่ ซึ่งมีเพียงกลุ่มกะเหรี่ยงที่ไม่เคยเชื่อในคำมั่นของพม่า

สิบปีให้หลัง แผ่นดินรัฐฉานต้องตกอยู่กับความขมขื่นเมื่อพม่าฉีกสัญญาทิ้ง ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของไทใหญ่จึงเปิดฉากขึ้นอีกครั้ง กองกำลังติดอาวุธ "หนุ่มศึกหาญ" ได้ก่อตั้งขึ้นก่อนที่จะแตกกระจายกันออกไป รวมทั้ง "ขุนส่า" แห่งกองทัพเมืองไตหรือ MTAราชายาเสพติดที่คนไทยรู้จักเป็นอย่างดี ซึ่งทรยศหักหลังไทใหญ่โดยการไปจับมือกับรัฐบาลพม่า

กว่าครึ่งทศวรรษผ่านมา ปัจจุบันกองกำลังไทใหญ่เพียงกลุ่มเดียวที่ยังทำการสู้รบคือ SSA นำโดยเจ้ายอดศึก ซึ่งปฏิบัติการอยู่ตอนกลางและตอนใต้ของรัฐฉาน

ต้นทศวรรษ 2520 สาละวินถูกวางแผนในการสร้างเขื่อนไว้ถึง 12 ตำแหน่ง โดยอยู่ในเขตรัฐฉาน 4 ตำแหน่งคือ เขื่อนท่าซาง ประกอบด้วยเขื่อนตอนบนและตอนล่าง กำลังผลิต 3,600 เมกกะวัตต์ เขื่อนสาละวินตอนบน(2) อยู่เหนือเขื่อนท่าซาง กำลังผลิต 3,200 เมกกะวัตต์ ศึกษาโดยบริษัทนิปปอน โคเออิจากญี่ปุ่น และ เขื่อนเหนืออำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ กำลังผลิต 4,000 เมกกะวัตต์ ศึกษาโดยบริษัทเวิลด์อิมแพ็คท์ ซึ่งท่าซางเป็นเขื่อนที่กำลังถูกผลักดันมากที่สุดในปัจจุบัน

"ท่าซาง" เป็นคำเรียกเพี้ยนมาจากภาษาไทใหญ่ว่า "ต้าจ้าง" หรือท่าช้างนั่นเอง โดยอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองตองยีเมืองหลวงของรัฐฉาน และห่างจากชายแดนไทยด้านจ.เชียงใหม่เพียง 130 กม.ซึ่งเป็นท่าน้ำที่ชาวไทใหญ่ใช้สัญจรข้ามไปมาระหว่างแผ่นดินรัฐฉานฝั่งตะวันตกกับตะวันออกของแม่น้ำคง(สาละวิน) ต้าจ้างจึงเป็นท่าน้ำสำคัญของรัฐฉานตอนใต้ รวมทั้งเป็นเส้นทางค้าขายที่สำคัญระหว่างรัฐฉานตอนใต้กับประเทศไทยตอนบน โดยมีลักษณะเป็นเวิ้งน้ำกว้างใหญ่สองฟากฝั่งเป็นภูเขาใหญ่น้อย และในฤดูฝนน้ำจะกลายเป็นน้ำวนในบางช่วงเวลา

นอกจากนี้แม่น้ำสาขาของน้ำคง(สาละวิน)ยังมีอยู่มากมายซึ่งเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตของชาวไทใหญ่ โดยเฉพาะ "น้ำปาง" แม่น้ำสาขาที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งไหลรวมกับน้ำคง(สาละวิน)ก่อนถึงต้าจ้างประมาณ 80 กม. น้ำปางเต็มไปด้วยเกาะแก่งมากมายทำให้อำเภอนี้มีชื่อเรียกว่า "กุ๋นฮิง" แปลว่า "เมืองพันเกาะ" ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ปลาหลากชนิด ตลอดสองฝั่งน้ำปางในเขตนี้จึงมีผู้คนอยู่อาศัยตั้งรกรากโดยมีหมู่บ้านเก่าแก่กว่า 50 หมู่บ้าน

การสร้างเขื่อนท่าซางที่มีสันเขื่อนสูง 188 เมตร ซึ่งจะเป็นเขื่อนที่มีความสูงมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดว่าจะมีพื้นที่จมอยู่ใต้น้ำนับร้อยตารางกิโลเมตร โดยใช้งบประมาณการก่อสร้างประมาณ 120,000 ล้านบาท

ข่าวคราวจากฟากฝั่งน้ำคง(สาละวิน)ตั้งแต่เดือน มีนาคม 2539 รัฐบาลพม่าเริ่มมีการบังคับโยกย้ายชาวบ้านออกจากหมู่บ้านไปอยู่ในแปลงอพยพ เพื่อตัดขาดความช่วยเหลือแก่กองกำลัง SSA โดยในปี 2539-2541 มีหมู่บ้านถูกโยกย้ายรวม 1,478 หมู่บ้านหรือประมาณ 3 แสนคน รวมทั้งหมู่บ้านที่อยู่ริมน้ำปางซึ่งคาดว่าจะถูกน้ำท่วมประมาณ 2 พันครอบครัว จนเหลือเพียงบ้านร้าง

ผืนป่าสองฝั่งน้ำปางได้กลายเป็นแหล่งพักพิงสุดท้ายของชาวบ้านที่หลบหนีทหารพม่าและแปลงอพยพ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากเพื่อรอวันกลับคืนถิ่นเดิม แต่ผืนป่าอุดมสมบูรณ์ที่เหลืออยู่ในรัฐฉานไม่อาจจะหลีกหนีจากการถูกน้ำท่วมได้หากเขื่อนท่าซางเกิดขึ้น

การละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นอีกหนึ่งความจริงที่ชาวไตบอกเล่าออกมา ให้มีการคิดคำนึงถึงก่อนที่จะเข้าไปดำเนินโครงการใดๆ ซึ่งจะเป็นการตอกย้ำและทำให้ทวีความรุนแรงขึ้น จากรายงาน "ใบอนุญาตข่มขืน" จัดทำโดยเครือข่ายปฏิบัติการสตรีไทใหญ่(SWAN)และมูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่(S.H.R.F.)เมื่อเดือน มิถุนายน 2545 ระบุว่าผู้หญิงเกือบ 300 คนหรือเกือบครึ่งหนึ่งของผู้หญิงที่ปรากฏในรายงาน ถูกทหารพม่าข่มขืนในบริเวณใกล้เคียงกับที่ตั้งของเขื่อนท่าซางและพื้นที่ที่จะถูกน้ำท่วม รวมทั้งถูกบังคับใช้แรงงานในการก่อสร้าง ความจริงที่ว่าเขื่อนนำพาทหารพม่าเข้ามาพร้อมกับความเลวร้ายที่ชาวบ้านยากจะหลีกเลี่ยงเพียงแต่ว่าจะเป็นลักษณะใดเท่านั้นเอง

เพื่อนคนหนึ่งซึ่งพลัดพรากจากผืนดินรัฐฉานมาหลายปี บอกข้าพเจ้าว่า มีหลายคนเคยได้ยินเรื่องเขื่อนและพวกเขาก็เฝ้ารอว่าจะได้ใช้ไฟฟ้าเหมือนเมืองไทย แต่จนถึงวันนี้เขายังไม่เห็นหนทางว่าชาวบ้านจะได้ใช้ไฟฟ้าได้อย่างไร แต่เขาเห็นพี่น้องล้มตาย ถูกทำร้ายสารพัด ต้องหลบหนีจากบ้านเกิดซึ่งมันเกิดขึ้นแล้ว และมากกว่านั้นเขาคงไม่รู้ว่าไฟฟ้าที่ผลิตได้จะถูกส่งขายให้คนไทยในราคาถูกซึ่งมีไฟฟ้าใช้เกือบทุกครัวเรือน

20 ธันวาคม 2546 บริษัทเอ็มดีเอกซ์จากประเทศไทยได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ(MOU)กับรัฐบาลทหารพม่าในการสร้างเขื่อนท่าซาง ตามมาด้วยการสร้างถนนเข้าสู่จุดสร้างเขื่อนและความเดือดร้อนของชาวไตที่ตามมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

แนวชายแดนไทย-พม่าในเขตอำเภอฝาง เวียงแหง แม่อายได้เป็นที่หลบภัยของชาวไทใหญ่นับแสนคน เนื่องจากรัฐไทยไม่เคยยอมรับว่าไทใหญ่หลบหนีภัยสงคราม ไม่เคยยอมให้มีการจัดตั้งค่ายผู้ลี้ภัยไทใหญ่ แต่รัฐไทยยอมให้มีแรงงานไทใหญ่ราคาถูกปลูกส้มส่งขายให้คนไทยกิน และอาจจะเพิ่มมากขึ้นตราบใดที่เสียงปืนยังไม่เงียบหายไปจากแผ่นดินรัฐฉาน พร้อมการรุกรานทรัพยากรของเพื่อนบ้านที่ยังไม่สิ้นสุด

ข้อมูลประกอบ หนังสือเขื่อนสาละวินโศกนาฏกรรมสองแผ่นดิน

จันลอง ฤดีกาล
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net