Skip to main content
sharethis

นายจำเนียร หลาบงาม อายุ ประมาณ 60 ปี เกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ด จ.ลพบุรี

มาตรการเรื่องฟาร์มปิดที่รัฐจะบังคับมีต้นทุนสูง มากกว่าล้านบาท เกษตรกรคงไม่มีปัญหาทำ ที่มาก็เห็นใจผู้ที่เดือนร้อนจากการปิดถนน แต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร แต่ต้องการคำตอบจากรัฐบาลว่า จะให้เลี้ยงต่อไปได้หรือไม่ ส่วนค่าชดเชย จ่ายยังไงก็ไม่มีทางคุ้ม เพราะว่าเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นหนี้อยู่แล้วจากค่าพันธุ์เป็ดที่นำมาเลี้ยงก่อนแล้วค่อยขายไข่เป็ดล้างหนี้ ซึ่งค่าชดเชยที่จ่ายไม่คุ้มกับหนี้ที่มี

การฝังกลบเป็ดก็ไม่มีหลักประกันอะไรว่า ไข้หวัดนกจะไม่กลับมาระบาดอีก หากรัฐออกคำสั่งห้ามเลี้ยงชั่วคราวไม่มีปัญหาแต่ ถ้าห้ามถาวรมีปัญหาแน่นอน

นายประทุม ดำเลิศ อายุ 36 ปี เกษตรกรจาก จ.กำแพงเพชร

วิธีการเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งทำโดยเกษตรกรจะไล่ฝูงเป็ดลงไปกินเศษข้าวในนาที่เก็บเกี่ยวแล้ว ซึ่งเป็ดจะใช้เวลาประมาณ 3-4 วันในการกินเศษข้าว แต่ถ้ามีเป็ดฝูงใหญ่จำนวนมากจะกินเวลาเพียง 2 วัน เมื่อหมดนาก็จะย้ายไปที่อื่นๆ ซึ่งบางครั้งถึงขึ้นข้ามจังหวัดก็มี

เจ้าของนาส่วนใหญ่ยินดีเพราะเป็ดไล่ทุ่งช่วยควบคุมและกำจัดหอยเชอร์รี่ซึ่งเป็นศัตรูโดยธรรมชาติของข้าวไปด้วยในตัว ทั้งหลังจากเจ้าของเป็ด ขายไข่ได้แล้วมักก็จะแบ่งไข่เป็นสินน้ำใจให้เจ้าของนา ซึ่งมาตรการของรัฐจะสร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรอย่างมาก

เพราะกรณีอยู่ในระบบปิด เป็ด 1,000 ตัวกินอาหารวันคิดเป็นเงินค่าอาหารถึงวันละ 1,800 บาท และยังไม่รวมค่าลงทุนอื่นๆ และในความเป็นจริงเกษตรกรมักจะเลี้ยงเป็ดฝูงละ 2-3 พันตัวเป็นอย่างต่ำ ขณะที่รายได้โดยเฉลี่ยแล้วหากมีเป็ด 3,500 ตัว เกษตรกรจะได้ค่าไข่เพียงวันละ 3-4 พันบาท

แต่หลังจากมีไข้หวัดนกรอบ 2 ทำราคาไข่ตกเหลือ จากเดิม 10 ฟอง ราคา23-24 บาท เหลือเพียง20 บาท

จริงๆ แล้ว เป็ดจะมีโรคห่าที่ทำให้ตายยกฝูง 4-5 ปี จะเจอซักครั้ง ซึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงไม่ได้คิดจะเรียกร้องอะไร และเป็ดก็ตายด้วยโรคประจำตัวเรื่อยๆ อยู่แล้ว ผู้เลี้ยงไม่ได้กลัวเวลาที่เป็ดตาย เพราะเวลาเลี้ยง ผู้เลี้ยงก็กินนอนกับเป็ด หากจะเกิดระบาดผู้เลี้ยงคงตายก่อนไปนานแล้ว

ตัวแทนเกษตรกรจาก จ.เพชรบุรี

ไม่ยุติธรรมเลย ที่ปศุสัตว์ใช้วิธีการตรวจสอบเป็ดทั้งฝูงโดยสุ่มตรวจแค่ 2-3 ตัว แล้วสั่งทำลายเป็ดในรัศมี 5 กม. โดยส่วนตัวไม่ค่อยเชื่อถือเรื่องการตรวจเชื้อ เพราะปศุสัตว์มาตรวจแบบลวกๆ และทราบผลเพียง 2-3 วัน ทั้งๆ ที่ ทราบกันอยู่ว่า การเพาะเชื้อเพื่อตรวจไข้หวัดนกนั้น ต้องใช้เวลา 7-9 วัน

ไข้หวัดนกที่เกิดขึ้นทำให้เดือดร้อนมากเพราะตอนนี้เลี้ยงทั้งเป็ดเนื้อและเป็ดไข่ แต่ไม่มีที่ขาย เพราะพ่อค้าไม่รับซื้อมาเป็นเดือนแล้ว

ตัวแทนเกษตรกรจาก จ.พิษณุโลก

รัฐบาลควรจะแก้ปัญหาในลักษณะการโซนนิ่ง โดยห้ามเคลื่อนย้ายข้ามจังหวัด และให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เป็นผู้ตรวจสอบ แต่ปัญหาที่ผ่านมา คือ เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ไม่เพียงพอ ขณะที่คนเลี้ยงเป็ดมีเป็นร้อย

ดังนั้นควรให้ผู้เลี้ยงเป็ดตั้งกลุ่มดูแลกันเอง และควรอบรมให้ความรู้กับคนเลี้ยงเป็ดเพื่อสามารถตรวจสอบในเบื้องต้นได้ และต้องเพิ่มเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ด้วย

นอกจากนี้ การตรวจสอบไข้หวัดนกในเป็ดควรมีหน่วยงานเข้ามาดูแลอย่างน้อย 2 หน่วย เพื่อให้มีการตรวจสอบซึ่งกันและกัน

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net