Skip to main content
sharethis

ภาพประกอบ 1 : แสงดาว งามเมือง ปวช.ปี2 ตั้งตรงจิตพาณิชยการ แม่ค้าเสื้อผ้ารุ่นเยาว์ที่ร่วมกับเพื่อนๆ ใช้เวลาว่างหารายได้ขายของแถวท่าพระจันทร์มากว่า 3 ปี แถมแอบกระซิบว่าเป็นไปได้ปีนี้จะลองร่วมกิจกรรมเดือนตุลาดูซักที

"ตุลาคม" มาเยือนอีกครั้ง พร้อมๆ กับวาระแห่งการหวนรำลึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์สังคมการเมือง อย่าง 14 ตุลา "16 และ 6 ตุลา" 19 อย่างเป็นทางการ

สำหรับหนุ่มสาว ยุคนั้น หลายคนคง "จดจำ" กระทั่งบางคนอาจจะยัง "เจ็บจำ" กับอดีตเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี

ถึงวันนี้ผ่านมา 3 ทศวรรษ น่าสนใจว่า "เหตุการณ์เดือนตุลา" มีที่ทางในความทรงจำของหนุ่มๆ สาวๆ ยุค AIS ครองเมืองกันอย่างไร

เมื่ออยากรู้เลยเดินไปตามกันตรงๆ ….." น้องๆ รู้จักเหตุการณ์เดือนตุลามั้ย"

"อ๋อ สิบสี่ตุลาเหรอ ก็พอรู้บ้าง นักศึกษาเขามาประท้วงแล้วเกิดเหตุการณ์ยิงกันตายไงพี่" แล้วรู้จัก 6 ตุลาไหม "ไม่รู้พี่รู้แต่สิบสี่ตุลา" แสงดาว งามเมือง สาวน้อยคนเก่งแห่งตั้งตรงจิตพาณิชยการ (ปวช.ปีที่ 2 ) ซึ่งใช้เวลาว่างช่วงปิดเทอมทำธุรกิจขายเสื้อผ้าแถวท่าพระจันทร์ตอบคำถามที่ทำให้ต้องอมยิ้ม

"หนูรู้จากหนังสือบ้าง หนังบ้าง ผู้ใหญ่พูดให้ฟังบ้าง แต่รู้สึกไม่ดีเลย ทำไมรัฐบาลต้องทำรุนแรง คุยกันดีๆ ก็ได้ ทำไมต้องให้มีคนตาย"

เมื่อถามว่าเธอคิดว่ามันยังสำคัญอยู่ไหม "โธ่ สำคัญซิพี่ คนตายตั้งเยอะตั้งแยะใช่ปะ เขาน่าจะมีพิธีไหว้ หรือทำบุญให้คนที่ตายไปแล้วบ้างแต่มันก็ไม่มี"

คนถามเถียงคอเป็นเอ็น-แต่เขาก็จัดงานกันทุกปีนะ "เขาก็จัด แต่แค่นึกถึงเฉยๆ พี่ ไม่ได้ทำอะไรให้คนที่ตายหรอก"

ส่วนพรทิพย์ จิรไวทยกิจ สาวหน้าใสชั้นม.6 โรงเรียนราชินีบอกว่า "รู้แค่ 14 ตุลา นักศึกษาอะไรอย่างนี้"
ช่วยอธิบายหน่อยซิ ... "ไม่รู้อะค่ะ"
งั้นรู้แค่ไหน.... "ก็รู้แต่ 14 ตุลา"
คนถามได้แต่หัวเราะ แต่ก็ยังไม่วายตื้อต่อ -นั่นสิ แล้วมันยังไง... "ก็รู้แค่ผิวเผินว่าเขาเรียกร้องประชาธิปไตย มียิงกันตายอะไรประมาณนี้"

เมื่อถูกถามความสำคัญของเหตุการณ์ พรทิพย์บอกว่า "มันเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้พัฒนามาได้ถึงทุกวันนี้ แต่วัยรุ่นส่วนใหญ่ก็รู้กันแบบผิวเผิน ไม่ได้ให้ความสำคัญอะไรมาก ที่หนูรู้เพราะต้องเรียน ต้องสอบ ก็เลยต้องอ่าน"

หันมาที่หนุ่มติสต์ น้องใหม่แห่งคณะจิตรกรรม ม.ศิลปากร นามว่า วัชรพงษ์ สุขศรีทอง "อืม ผมยังสับสนกับพวกตุลานะครับ ที่สนใจอยู่จะเป็น 14 ตุลา มันเกี่ยวกับการปฏิวัติ ถ้าถามว่าดีหรือไม่ดี ผมว่าดีนะที่พวกเขาทำตรงนั้นลงไป ไม่งั้นคงไม่มีวันนี้"

"รู้จากอาจารย์เล่าให้ฟังในห้องเรียน แต่ไม่แน่ใจว่า 6 ตุลา หรือ 14 ตุลา ยังจำสลับๆ กันอยู่ว่ามันยุคเดียวกันมั้ย แต่มันเป็นเหตุการณ์ที่น้องสาวอาจารย์ประท้วงกับเพื่อนเขา แล้วเพื่อนเขาถือรูปในหลวงอยู่ แล้วรถถังทหารก็เหยียบ"

คนถามถึงผงะแล้วถามย้ำ-เหยียบคนเลยเหรอ "ก็เห็นอาจารย์เล่าอย่างนั้น แต่ที่อาจารย์เจอก็ที่ฉีดน้ำเหม็นๆ ไล่ประชาชน ผมก็เลยเริ่มรู้จัก แล้วเริ่มหาอ่านตามหนังสือบ้าง แต่ก็ไม่ได้เจาะจงจริงจังมาก"

ด้านปฤณ เทพนรินทร์ และวิชา ประเสริฐสม "สิงห์หนุ่ม" แห่งรัฐศาสตร์ มธ. ก็ให้ความเห็นระหว่างกินก๋วยเตี๋ยวอย่างเมามัน ในฐานะคนที่เรียนเรื่องการเมืองโดยตรง โดยปฤณ มองว่า "มันเป็นการฆ่าหมู่นักศึกษา โดยพวกที่เรียกตอนนั้นว่าฝ่ายขวา"

"มันยังสำคัญในแง่ที่ยังใช้อ้างได้ถึงพลังนักศึกษา ทำให้ดูดี แม้จะไม่ได้ทำอะไรมาก แต่ก็เอาไปใช้หากินได้ ใช้ปลุกระดมได้ ทำให้คนภายนอกรับรู้และยึดโยงถึงคนอื่นๆ ให้เข้ามาร่วมได้ ถ้ามีเหตุการณ์อะไรเข้ามาจริงๆ เหตุการณ์นี้ก็น่าจะอามาใช้ได้อยู่"

ส่วนวิชามองว่า "มันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โครงสร้างทางการเมืองเปลี่ยนไป แต่มันก็ค่อนข้างสรุปไม่ได้ว่า ตกลงแล้วมันเป็นการต่อสู้ของใครกับใคร ไม่รู้ว่าเบื้องหลังมันคืออะไร ดูจากบทความที่มีมุมมองออกมาหลากหลาย ไม่รู้จะเชื่ออันไหน ซึ่งมันก็ไม่จำเป็นจะต้องเลือกเชื่ออันใดอันหนึ่ง"

ในขณะที่สาวน้อย น. (ขอสงวนนาม) แห่งรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายให้ฟังว่า "14 ต.ค. เป็นเหตุการณ์ที่แสดงถึงพลังโต้ตอบต่อเผด็จการทหาร ส่วน 6 ตค. ก็เป็นการพยายามกลับสู่อำนาจอีกครั้งของเผด็จการทหาร"

"มันเป็นจุดเริ่มต้นของพลังนักศึกษาในเมืองไทย แต่ในปัจจุบันนี้การเคลื่อนไหวแบบยุคเดือนตุลาฯ นั้นคงไม่จำเป็น เพราะในปัจจุบันมีกลไกจำกัดอำนาจผู้ปกครองอยู่แล้ว ส่วนภาคประชาชนก็มีพลังเคลื่อนไหวได้ดีอยู่แล้ว"

เมื่อถามว่าพูดถึงเหตุการณ์เดือนตุลา แล้วเธอนึกถึงอะไร สาว น. ตอบแบบมีอารมณ์ขันว่านึกถึง "แฟน"

"ตอนดูหนัง14 ตุลาฯ สงครามประชาชนแล้วเห็นคู่เสกสรรค์-จิระนันท์ เลยนึกถึงตัวเองกับแฟน (หัวเราะ) แต่จริงๆ แล้วไม่ได้นึกถึงใครคนใดคนหนึ่งในเหตุการณ์หรอก เพราะมันเป็นเรื่องของระบบและคนจำนวนมาก"

เช่นเดียวกับน้องนิภาภรณ์ รุ่งโรจน์ และน้องกรกนก ทับจีน ปวช.ปี2 จากวิทยาลัยนาฏศิลป์ ที่เมื่อถามถึง "เหตุการณ์เดือนตุลา" แล้ว ถึงกับพูดพร้อมเพรียงเป็นชื่อหนัง

"อ๋อ14 ตุลาฯ สงครามประชาชน มันก็ประมาณการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยของนักศึกษา"
แล้วรู้จักเสกสรรค์ ประเสริฐกุลมั้ย.... "อ๋อ....ใครอะคะพี่" ..... ????

คราวหน้าคิดว่าจะเปลี่ยนเป็น "พี่ๆ รู้จักเหตุการณ์เดือนตุลามั้ย" ดูบ้าง เพราะเชื่อว่าอดีตหนุ่มสาวๆ "คนเดือนตุลา" ก็คงมีแง่มุมที่หลากหลายไม่แพ้กัน....

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net