Skip to main content
sharethis

เรื่องของ "วัด" กับ "ทักษาเมือง" ได้เป็นประเด็นร้อนในหมู่นักล้านนาคดีอยู่ขณะนี้ เหตุเพราะเชียงใหม่กำลังมีแผนจะฟื้นเมืองประวัติศาสตร์ขึ้น มีเป้าหมายเพื่อหาขอบเขตที่จับต้องได้ในการประกาศผังเมืองรวมฉบับใหม่

เป็นความพยายามเสาะหาหลักยึดเพื่อตีกรอบการพัฒนาเมืองให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่คนเมืองนี้ต้องการ นั่นคืออนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและคงความเป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่แท้จริง

ภาครัฐมุ่งร้อยอดีตให้เชื่อมโยงกับปัจจุบัน สืบค้นหลักการวางผังเมืองโบราณ เชื่อมต่อกับระบบทักษา และมีวัดเข้ามาเกี่ยวข้องกลายเป็นกรอบการพัฒนา "วัดตามทักษาเมืองทั้ง 9"

นักวิชาการสำนักหนึ่งเชื่อว่ามีหลักฐานที่มาเสนอให้เป็นไปตามนั้น แต่อีกสำนักระบุว่ายังไม่พบหลักฐานจารึกหรือตำนานใดให้เชื่อตามนี้ได้ วันประวัติศาสตร์ของการระดมสุดยอดนักล้านนาคดีเพื่อหาคำตอบเรื่อง "วัด" กับ "ทักษา" คือวันสำคัญที่จะเป็นอีกหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์ล้านนาที่ทรงคุณค่าควรจารึกไว้

อาจารย์สมโชติ อ๋องสกุล ผู้สืบค้นด้านประวัติศาสตร์ล้านนามายาวนาน เสนอบทความเรื่อง "วัดในทักษาเมือง" ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์พลเมืองเหนือต่อเนื่องมาตั้งแต่ฉบับที่ 144 เนื้อความตอนหนึ่งระบุว่า

"…..จากอ่านคัมภีร์มหาทักษาของวัดศรีภูมิโดยรองศาสตราจารย์สรัสวดี อ๋องสกุล พบว่าเชียงใหม่มีวัดสำคัญ 9 วัดใน 8 ทิศที่สอดคล้องกับระบบความเชื่อ คือบริเวณกลางเวียงนับเป็นเกตุเมืองมีวัดโชติการามหรือวัดเจดีย์หลวงเป็นวัดที่อยู่ในตำแหน่งศูนย์กลางของเมือง

ด้านทิศเหนือถือเป็นเดชเมืองมีวัดเชียงยืนเป็นวัดประจำทิศ ด้านทิศใต้ถือเป็นมนตรีเมืองมีวัดนันทารามเป็นวัดประจำทิศ ด้านทิศตะวันออกถือเป็นมูลเมืองมีวัดบุพพารามเป็นวัดประจำทิศ ด้านทิศตะวันตกถือเป็นบริวารเมืองมีวัดสวนดอกเป็นวัดประจำทิศ ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือถือเป็นอายุเมืองมีวัดเจ็ดยอดเป็นวัดประจำทิศ ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือถือเป็นศรีเมืองมีวัดชัยศรีภูมิหรือวัดพันตาเกิ๋นเป็นวัดประจำทิศ ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้เป็นอุตสาหเมืองมีวัดชัยมงคลเป็นวัดประจำทิศ และด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ถือเป็นกาลกิณีเมืองมีวัดตโปทารามหรือวัดร่ำเปิงเป็นวัดประจำทิศ (สรัสวดี อ๋องสกุล "วัดเจ็ดยอดในฐานะอายุเมืองเชียงใหม่" นิตยสารศิลปากร ปีที่ 23 ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2535 หน้า 20 - 30 )…."

ข้อเสนอนี้ มีความเห็นต่างของนักล้านนาคดีหลายท่าน จนเป็นที่มาของการจัดเสวนาเรื่อง "โตยฮอยทักษาเมืองเชียงใหม่ - สืบหาวัดในทักษาเมืองทั้งเก้า" ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ วัดสวนดอก เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2547

เชื่อทักษาเมืองมี แต่หลักฐานวัดในทักษาเมืองไม่พบ

การเสนอข้อมูลและแง่มุมในอดีตจากผู้เชี่ยวชาญหลายท่านในภาคเช้า สรุปไปในทิศทางเดียวกันได้ว่า ในเมืองเชียงใหม่นั้นระบบคิดเรื่องทักษาเมืองมีอยู่จริง แต่อาจมีหรือมิได้มีตั้งแต่สมัยพญามังราย แต่สำหรับเรื่องวัดในทักษาเมือง ยังไม่มีผู้ใดพบหลักฐาน และวัดทั้ง 9 ยังสร้างต่างยุคต่างสมัย ไม่น่าจะอยู่ในกรอบคิดของทักษามาตั้งแต่แรกสร้างเมือง

โดยศาสตราจารย์เกียรติคุณมณี พยอมยงค์ กล่าวว่าตนยังไม่พบหลักฐานว่าสมัยเริ่มต้นของการสร้างเมืองเชียงใหม่พญามังรายได้กล่าวถึงทักษาเมือง มีเพียงพญามังรายตั้งเสาสะดือเมืองที่เรียกว่าอินทขิล

ดร. ฮันส์ เพนท์ ชาวเยอรมันผู้เชี่ยวชาญการอ่านจารึกตัวเมือง มีข้อแย้ง 3 ประการว่า 1.เขาไม่เคยเห็นตำนาน พงศาวดาร หรือจารึกใดที่บอกว่าเชียงใหม่สร้างขึ้นด้วยระบบวัดทักษา 2.ไม่เคยเห็นหลักฐานว่าเวียงอื่นในล้านนามีระบบวัดทักษา และ 3. วัดทั้ง 9 ที่ปรากฏขึ้นมานั้นมีอย่างน้อย 3 วัดที่ทราบวันสร้างแน่นอน คือวัดสวนดอกสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.1914 วัดเจ็ดยอดสร้างเมื่อพ.ศ.1998 ส่วนวัดร่ำเปิงสร้างปีพ.ศ.2035 ล้วนเป็นระยะ 70-200 ปีหลักสร้างเมืองเชียงใหม่ สรุปว่าใน 9 วัดนั้นมี หนึ่งในสามที่เรารู้ว่าไม่ได้สร้างขึ้นตอนเมืองเชียงใหม่เกิด ก็อาจสรุปได้ว่าการสร้างเมืองเชียงใหม่ตามระบบทักษาวัดนั้นไม่มี และอีกประการ ระบบทักษาไม่ใช่ระบบพุทธศาสนา เป็นระบบพราหมณ์ซึ่งทางเหนือไม่ใช้กันมาก

ศาสตราจารย์ดร.อุดม รุ่งเรืองศรี เห็นพ้องกันดร.เพนท์ที่ว่าการสร้างเมืองเชียงใหม่ไม่ได้ตั้งอยู่บนเรื่องของทักษา แต่ใช่คำว่าทิศและต้นไม้ที่เป็นสัญลักษณ์เมืองที่เรียกว่า "ไม้เสื้อเมือง" และคอนเซ็ปต์ของการสร้างเมืองคือการสร้างเรือนหลังหนึ่งให้เป็นที่อยู่ที่เหมาะสม ส่วนการบูชาทักษานั้นจะประกอบพิธีตามประตูเมือง เพื่อบูชาเทวดาประจำทักษา ไม่ได้บูชาที่วัด

อาจารย์อุดมแสดงความเห็นใกล้เข้ามาถึงหลักฐานที่อาจารย์สมโชติเสนอว่านำมาจากคัมภีร์มหาทักษาของวัดชัยศรีภูมินั้น อายุต่างกันมาก เพราะจากประวัติวัดชัยศรีภูมิ เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2455 และเดิมมีชื่อว่าวัดพันต๋าเกิ๋น ซึ่งกว่าจะเปลี่ยนมาเป็นชื่อวัดชัยศรีภูมิก็ยุคหลังซึ่งถือว่าใหม่มาก และเป็นยุคของการเขียนตำนานที่ภาษาไทยเข้ามาแล้ว และเชื่อว่าเป็นการเขียนตำนานประกอบว่าชื่อวัดนี้ดีเพราะอยู่ในตำแหน่งของศรีเมืองและลากเรื่องทักษาเข้ามาประกอบแต่ไม่สอดคล้องกันทั้งทิศทางและระยะห่าง

พระครูอดุลสีลกิตติ์ เจ้าอาวาสวัดธาตุคำ เจ้าคณะตำบลหายยา อ.เมือง มีข้อมูลเรื่องที่มาของการปรากฏคำว่าวัดในทักษาเมืองว่าเมื่อปี พ.ศ.2519 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯได้เสด็จเททองหล่อพระพุทธบุพพาภิมงคลของวัดบุพพาราม ทางวัดได้จัดพิมพ์หนังสือคัมภีร์อุปปาตะสันติ แจกเป็นบรรณาการในคราวนั้นปรากฏว่ามี ตารางวัดทักษาเมือง ซึ่งพระสีอ่อง ชยสิริ วัดเอี่ยมวรนุช เป็นผู้ช่วยเรียบเรียง

ซึ่งเรียบเรียงตามความเข้าใจของคัมภีร์มหาทักษาพม่า ซึ่งในคัมภีร์ภาษาพม่าในเรื่องมหาภูติพม่านั้น กำหนดทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นทิศที่ไม่เป็นศิริมงคลของเมืองด้วยซ้ำ ถือว่าเป็นทิศกาลกิณีซึ่งขัดกับแผนภูมิของล้านนาเชียงใหม่ และเมื่อสอบถามเจ้าอาวาสวัดชัยศรีภูมิถึงที่มาของข้อมูลมหาทักษาที่ปรากฏของวัดชัยศรีภูมิ ก็ได้ความว่าคัดลอกมากจากของวัดบุพพาราม

อาจารย์เกริก อัครชิโนเรศ ผู้ศึกษาใบลานเสนอข้อมูลการบูชาเมือง 28 แห่งเมื่อมีเหตุร้ายแรงตามปั้ปสาราว พ.ศ.2339 เนื้อหาแปลโดยสรุปได้ว่าให้มีการบูชา 28 แห่งที่ใดบ้าง และมีข้อความว่า "….ถึงเดชะเมืองคือว่าประตูช้างเผือก .." ดังนั้นเดชเมืองคือประตูช้างเผือกไม่ใช่วัด และเมื่อกล่าวถึง 28 แห่งที่ต้องบูชาของเมืองแล้วอยากให้การพัฒนาครั้งนี้มองถึงหลวงพ่อขาวกลางเมืองที่วัดถูกผ่าและเป็นพระประธานนั่งเฝ้ารถที่มาจอดกินข้าวมันไก่และก๋วยเตี๋ยวชื่อดังข้างศาลากลางหลังเก่าด้วย อ.เกริกยังได้ตั้งคำถามถึงตำแหน่งของวัดที่เป็นกาลกิณีในทิศหรดีหรือตะวันตกเฉียงใต้ตามที่ปรากฏในข้อเสนอนั้นคือวัดร่ำเปิงตโปทาราม ว่านอกจากที่มีผู้ระบุว่าวัดอันเป็นที่อยู่ของพระแล้วจะเป็นกาลกิณีได้อย่างไรนั้น

วัดร่ำเปิงหรือวัดตโปทารามมีนัยยะว่าเป็นวัดที่สร้างขึ้นเป็นที่รำลึกถึงนางเตมีย์โป่งน้อยอันเป็นพระเตมีย์ตนแม่ของพญาเมืองแก้ว น่าจะอธิบายความคิดของพญาเมืองแก้วให้ได้ว่า ด้วยเหตุใดจะสร้างวัด "ร่ำเปิง" เพื่อคิดถึงแม่ของตนเอง จึงไปสร้างในตำแหน่งหรดีอันเป็นกาลกิณี จุดนี้จึงน่าอธิบายให้ได้ นอกจากนั้นยังมีผู้เสนอในเชิงทำไมต้องเป็นวัดนั้น ทำไมไม่เป็นวัดนี้ทั้งที่อยู่ในทักษาเดียวกัน ทำไมวัดที่ไม่มีศรัทธาแต่ก็มีความสำคัญอยู่ในทิศแต่ละทิศเหมือนกันไม่ปรากฏในชุดข้อมูลนี้ และจะทำอย่างไรกับวัดร้างอีกมากมายเต็มเมืองเชียงใหม่

ยันมีหลักฐาน/ยึดกรอบเวลา 100 ปี

อาจารย์สมโชติ อ๋องสกุล เข้าร่วมวงเสวนาในช่วงบ่าย ยืนยันว่าทำงานวิชาการมาหลายสิบปีอยู่บนพื้นฐานของหลักฐาน และมองประวัติศาสตร์ในฐานะสมบัติชุมชน โดยหลักฐานอันเป็นที่มาของวัดในทักษาเมืองครั้งนี้คือหลักฐานมหาทักษาแห่งวัดชัยศรีภูมิ ซึ่งอ.สรัสวดี อ๋องสกุลได้พบและนำเสนอไว้เมื่อคราวต่อสู้ไม่ให้ถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ขยายผ่าวัดเจ็ดยอดเพื่อรับซีเกมส์ ด้วยงานวิชาการที่เสนอว่า "วัดเจ็ดยอดในฐานะอายุเมือง"

นอกจากหลักฐานฉบับดังกล่าวที่มีการระบุถึงวัดในทักษาแล้ว อาจารย์สมโชติยังอธิบายว่ากำลังมองถึงเหตุการณ์เมื่อ 100 ปี เป็นหลัก พิจารณาจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเช่นการปฏิบัติของเจ้านายที่เคารพในระบบทักษา เหตุผลของการมากราบไหว้วัดที่ปรากฏชื่อตามทักษาที่ชัยศรีภูมิระบุ และบริบทของชุมชนเช่น

"23 พ.ย.2440 พระเจ้าอินทวิชนานนท์พิราลัย คุ้มท่านอยู่ที่ร.ร.ยุพราชปัจจุบัน ข่วงหลวงอยู่ที่กาดหลวงปัจจุบัน สิ่งที่ระดับเจ้านายจะทำได้ก็คือทำศพออกประตูท่าแพโดยไม่ต้องสนใจอะไรก็ได้ แต่ลูกหลานท่านนำศพออกทางประตูสวนปรุง ออกประตูหายยาเดินอ้อมกำแพงชั้นนอกไปทำพิธีที่ข่วงริมแม่น้ำปิง นั่นคือความรู้เรื่องทักษาเมืองได้รับการยืนยันอย่างเป็นแบบแผนโดยผู้ครองนคร ที่นับถือเอาศพออกทางทิศกาลกิณีเมือง"

ประเด็นต่อมาคือทำไมต้องวัดเชียงยืน นั่นเป็นเพราะอาจารย์สมโชติบอกว่าได้วงประวัติศาสตร์เมื่อครั้งพระเจ้าไชยเชษฐาได้รับเชิญมาปกครองล้านนา ท่านนำทัพครั้งแรกไปวัดเชียงยืน และเมื่อพระเจ้ากาวิละได้รับแต่งตั้งจากสยามให้เป็นผู้ครองนครเชียงใหม่ เช้าวันที่ 9 มีนาคม 2339 เดินทางมาวัดบุพพาราม เดินอ้อมเมืองไปทางเหนือไหว้พระวัดเชียงยืนแล้วเข้าเมืองที่ประตูหัวเวียง นี่คือคำอธิบายว่าทำไมเป็นวัดเชียงยืน ไม่ใช่วัดอื่น

ส่วนที่วัดทั้ง 8 เป็นวัดนอกเวียงนั้น อาจารย์สมโชติระบุว่ามีหลักฐานที่อธิบายได้ นั่นคือปลายทิศที่อำนาจแผ่ความเป็นมหาทักษาไปได้ และทั้งหมดขอบขีดเส้นเหนือใต้ออกตกจะมาลงที่กู่หลวงกลายเป็นเส้นเกตุเมือง

"ระบบทิศเป็นความรู้สากลที่มีอยู่เดิม ทั้งอียิปต์ เมโสโปเตเมีย ความรู้เรื่องทิศได้ถูกกำหนดเอาไว้และค่อยๆ ก่อตั้งขึ้นมาเป็นวัดประจำทิศ อย่างน้อยเมื่อ 100 ปี หมายความว่ามิติเวลา…เราจะพูด 700 ปี 500 ปี หรือ 100 ปี คำจำกัดความสิ่งที่ผมเสนอคือฉบับวัดชัยศรีภูมิระยะ 100 ปี ที่มีการเขียนระบุไว้ว่าทิศไหนวัดอะไร มิใช่ผมเขียนขึ้นเอง"

อาจารย์สมโชติยังได้นำเสนอว่าประวัติศาสตร์ได้ทำอะไรในพื้นที่แต่ละทักษาบ้างเช่นศรีเมืองที่ถูกใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างเมือง มูลเมือง อุตสาหะเมือง เป็นที่ทำมาค้าขาย จึงพบพ่อค้ารุ่นแรกพม่า ไทยใหญ่ จีนฮ่อ ต่อมารุ่น 2 คือคนจีน รุ่น 3 ฝรั่ง และรุ่นข้าราชการสยาม ก็ได้อยู่บริเวณริมแม่น้ำปิง ส่วนบริวารเมืองกับอายุเมือง ก็ปรากฏเรื่องการศึกษาโดยมีวัดเจ็ดยอดอันเป็นที่เริ่มต้นของการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งแรกของสยาม ครั้งที่ 8 ของโลก ฯลฯ โดยเป็นการนำหลักฐานมาอธิบายด้วยมิติชนชั้น

อย่างไรก็ตามยังมีผู้เสนอแนวคิดแย้งว่าการที่ระบุว่ากษัตริย์เข้าเมืองและไปที่วัดเชียงยืนเพราะเป็นเดชเมืองนั้น จะเป็นเพราะทิศนั้นเป็นหัวเวียงอันเป็นมงคล ไม่เข้าที่หางเวียงมิได้หรือ ?นอกจากนั้นยังอยากเห็นหลักฐานชั้นต้นของคัมภีร์มหาทักษาวัดชัยศรีภูมิดังกล่าว เพราะในเนื้อหายังมีบางช่วงบางตอนที่กำกวมอยู่

หาทางออก-พัฒนากลุ่มวัด
นายปริญญา ปานทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เสนอทางออกว่า ที่ประชุมยอมรับเรื่องทักษาเมืองว่ามีอยู่แน่นอนในเมืองเชียงใหม่ แต่เมื่อพูดถึงวัดเนื่องจากมีวัดเป็นจำนวนมากถ้าจะระบุวัดใดเป็นวัดประจำทักษาเมืองอาจตอบยาก จึงเสนอให้เรียกว่ากลุ่มวัดที่อยู่ในทิศที่เป็นทักษาเมือง เช่นทิศเหนือเดชเมืองวัดกี่วัดรวมทั้งวัดเชียงยืน ซึ่งโดดเด่นอย่างไร เป็นวัดที่เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์สำคัญ เจ้าผู้ครองนครได้ไปกราบไหว้ หรือเป็นวัดที่เชื่อว่าสำคัญตามหลักทักษาเมืองโดยมีแนวคิดจากอะไรก็สามารถระบุได้เป็นปกติของงานวิชาการ ซึ่งอาจมีการหักล้างภายหลังเมื่อมีหลักฐานที่ชัดเจน

อีกข้อเสนอหนึ่งของอาจารย์สมโชติเองในแนวทางประนีประนอมคือ เสนอการพัฒนาไปเป็นย่านตลอด 8 ทิศ เช่นทิศเหนือ 20 วัดจากประตูช้างเผือกถึงแยกข่วงสิงห์ เพราะหลังอาคารพาณิชย์ย่านช้างเผือกคือวัดสำคัญทั้งนั้น หลายวัดอยู่ในเขตบ้านคนไปแล้ว ทิศตะวันออก ย่านท่าแพมีสมบัติวัฒนธรรมมากมายที่จะพัฒนาได้ ทิศใต้ถนนวัวลาย นันทาราม ชุมชนช่างหายยา ศรีสุพรรณ หมื่นสารและนันทาราม ชุมชนครัวเงินครัวฮักครัวหางควรได้รับการรื้อฟื้น ทิศตะวันตกนับแต่ประตูสวนดอกทะลุถึงดอยสุเทพ ต้องปลูกต้นพยอม แนวถนนตลอดรั้วมหาวิทยาลัยคือป่าพยอมสมัยพระเจ้ากือนา ซึ่งการพัฒนาล้วนสามารถทำได้ในงบ 148 ล้านบาทที่ได้มาบนเส้นทาง 8 ทิศ ผมคิดว่านี่คือทางออกที่น่าจะทำในวาระครบ 6 รอบในหลวง"

ข้อสรุปในวันนั้นคือเรื่องของวัดในทักษาเมืองยังจำเป็นจะต้องหาคำตอบให้ชัดเจนเพิ่มเติม นอกจากนั้นยังอยากให้เพิ่มเติมการฟื้นเมืองประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ที่กำลังถูกรุกรานจากสิ่งแปลกปลอมต่างๆ เช่นป้ายโฆษณาขนาดยักษ์ตามแข่งเมือง อาคารสูงและตึกทรงแปลกแยกที่ทำให้คุณค่าของเมืองลดลงไปด้วย รวมทั้งการพัฒนาจิตใจของคนมิใช่มองเพียงแค่วัตถุ โดยยกตัวอย่างของการหารือครั้งนี้ที่มีผู้รู้ตั๋วเมืองเพียงจำนวนหนึ่ง การฟื้นเมืองเชียงใหม่ควรจะพัฒนาคนเชียงใหม่ให้รู้จักตัวเมืองด้วย

เมื่อยังมีข้อถกเถียงในเนื้อหาของ "วัด" กับ "ทักษา"เช่นนั้น ขณะที่ช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่จังหวัดควรจะได้เสนอโครงการเพื่อขอรับงบ 148 ล้านบาทจากสำนักงบประมาณเพื่อให้กำหนดเวลาที่จะทำงาน 2 ปีเสร็จสิ้นทันนั้น จังหวัดและสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองคิดอย่างไร ?

นายปริญญา ปานทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผย "พลเมืองเหนือ"ว่า ทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี่เราให้ความสำคัญเพื่อความยั่งยืน ตอนนี้ชัดเจนและตอบคำถามแล้วว่าที่บอกว่าวัดในทักษาเมืองนั้นผู้ศึกษานำข้อมูลมาจากที่ไหน คำตอบคือเป็นเอกสารของวัดชัยศรีภูมิเป็นหลัก แต่เนื้อหายังเป็นที่ถกเถียงกัน สรุปว่าถ้าจะใช้ข้อมูลเหมือนเรามีเอกสารวิจัย เขียนมาจากเล่มนี้ถ้าเชื่อก็จบ

ถ้าไม่เชื่อก็ไม่เชื่อ แต่หากจะใช้ข้อมูลเชิงเอกสารก็ต้องเขียนกำกับว่ามาจากที่ใด จากการหารือของที่ประชุมเห็นพ้องกันว่าเรื่องของทักษาเมืองมีแน่แต่จะละเอียดแค่ไหนเป็นอีกเรื่อง อีกประเด็นที่มีปัญหาคือวัดตามหลักทักษาเมือง เอกสารอ้างอิงนี้ที่ประชุมเห็นว่ายังเป็นที่ถกเถียงกันได้อยู่ แต่สำหรับตัวโครงการเราก็คงจะต้องดำเนินการต่อ ซึ่งเกี่ยวกับเงื่อนเวลาด้วย เราเขียนโครงการก็จะต้องบอกได้ว่าจะทำอะไรที่ไหน มีรายละเอียดเป็นอย่างไร แต่เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วเราจะเขียนโครงการโดยใช้คำว่าวัดตามหลักทักษาเมืองก็คงจะต้องเปลี่ยนถ้อยคำตรงนี้

ขณะที่นางพจนีย์ ขจรปรีดานนท์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่ได้เสนอโครงการไป เพราะเราไม่สามารถส่งความชัดเจนกับรายละเอียด ทั้งรูปแบบรายการไปด้วยได้ แต่ในเบื้องต้นนี้คิดว่าจะต้องมีข้อสรุปเบื้องต้นเพื่อที่จะต้องส่งตัวโครงการไปก่อน โดยอาจประชุมเพื่อหาความที่ชัดเจนและประนีประนอมกว่านี้ เช่นจะไม่ต้องพูดว่าวัดตามทักษาเมือง แต่อาจพิจารณาวัดที่สำคัญที่ต้องฟื้นฟูบูรณะในพื้นที่เป้าหมาย เพราะโครงการนี้มูลค่า 148 ล้านบาท ยังมีเรื่องของกรอบกำแพงเมืองและคูเมือง รวมทั้งย่านชุมชนที่จะพัฒนาในคราวเดียวกันด้วยอีก

ได้ทางออก - พัฒนาวัดเพิ่ม

ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2547 ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการประชุมสรุปทางออกด่วนอีกครั้งโดยมีนายปริญญา ปานทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และมีข้อสรุปเพื่อที่ภาครัฐจะได้เดินหน้าทำงานในส่วนของระบบการเสนอโครงการและงบประมาณต่อไปให้ได้ นั่นคือ

จะยังไม่ใช้คำว่า "วัดตามทักษาเมือง" เพราะยังมีความคิดเห็นแย้งไม่ชัดเจน วัดที่กำหนดไว้ 9 วัดนั้นก็ล้วนเป็นวัดสำคัญ แต่จะเพิ่มเติมวัดในเขตคูเมืองชั้นในที่มีสถาปัตยกรรม และมีความสำคัญด้านศาสนาและชาติพันธ์อีกประมาณ 9 วัด เช่นวัดดวงดี วัดพระเจ้าเม็งราย วัดทรายมูลเมือง วัดทรายมูลม่าน วัดป่าเป้า

พิจารณาวัดที่ถูกละเลย ศรัทธาเหลือน้อย และจะเป็นจะต้องเข้าไปดูแลก่อนการเสียหาย ซึ่งคณะทำงานจะต้องเข้าไปสำรวจอีกครั้ง

มีการเสนอให้ดูแลศาลพระเจ้าเม็งรายกลางเมืองที่อยู่ในพื้นที่เอกชน โดยควรเฉลี่ยงบประมาณการดำเนินงานให้ทั่วถึง

ทั้งนี้มีการเสนอให้จัดเสวนาหาข้อมูลเพื่อการทำงานในอนาคตร่วมกันระหว่างราชการกับชุมชนในพื้นที่เพื่อให้เกิดการยอมรับต่อไป

โครงการความร่วมมือด้านข่าวภูมิภาค
พลเมืองเหนือ-ประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net