Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

1.
บรรยากาศริมหาดบ่อนอก อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ บริเวณร้านครัวชมวาฬ ร้านอาหารเล็กๆ ของเจริญ วัดอักษร ในห้วงยามนี้ ดูสงบ นิ่ง และไหวว้าง...ไม่เหมือนเมื่อครั้งที่เคยมาเยือนในครั้งก่อน...

"พี่กระรอก กำลังวุ่นอยู่ในวัดโน่น...หาที่พักกันตามอัธยาศัยนะ..." หญิงสาวที่ดูแลร้านบอกกับเรา ในยามเย็นย่ำของวันแรกทีมาเยือน

เราเลือกพักผ่อนกันตรงศาลาเพิงพักริมหาด นั่งสนทนาถึงความเปลี่ยนไปของชีวิต บางห้วง,ใครคนหนึ่งเหม่อมองไปเบื้องหน้า…ทะเลดูเรียบสงบ ลมทะเลคล้ายดูหยุดนิ่ง ไกลออกไป...ฟ้าค่ำมีแสงสีแดงเล็ดลอดส่องมาหมู่เมฆหม่นเทา เพียงชั่วครู่...แสงนั้นหายจางไปกับขอบฟ้า

ทำให้เราย้อนนึกเขา...เจริญ วัดอักษร ที่ได้จากไปเมื่อค่ำวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา และแอบทอดถอนใจพร้อมกับคิดครุ่นคำนึงถึงคุณค่าคุณงามความดี ก่อนที่จะถูกความดำมืดอยุติธรรมเข้าเข่นฆ่าทำลาย…

2.
ทั่วทุกสารทิศ ไม่ว่าเหนือ กลาง อีสาน ใต้ ประมาณ 1,000 ชีวิตที่เดินทางมารวมกันที่นี่ ที่หาดบ่อนอกและวัดสี่แยกบ่อนอก อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ด้วยจุดหมายเดียวกัน คือ ร่วมทำบุญครบรอบ 100 วันกับการจากไปของ เจริญ วัดอักษร นักต่อสู้เพื่อพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแผ่นดินถิ่นเกิด ที่ถูกลอบสังหารด้วยน้ำมือของกลุ่มอิทธิพลในพื้นที่ จนบัดนี้,เจ้าหน้าที่รัฐยังไม่สามารถจับกุมผู้บงการมาลงโทษได้

ในวันที่สองของงาน ทุกคนทุกฝ่าย ต่างทยอยกันเข้ามาในบริเวณงาน ณ วัดสี่แยกบ่อนอก ไม่ว่ากลุ่มศิลปินวาดรูป แกะสลักไม้ กวี นักเขียน นักร้องนักดนตรี และศิลปินพื้นบ้านจากเหนือ อีสาน ใต้ รวมทั้งนักคิดนักวิชาการ รวมทั้งกลุ่มชาวบ้านคนรากหญ้าจากทุกภาค ต่างก็เข้ามาร่วมงานในครั้งนี้ เพื่อร่วมยืนหยัดต่อสู้และให้กำลังใจให้กันและกัน

งานได้เริ่มจากการทำบุญเลี้ยงพระ ก่อนที่ทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน นำโดย อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ได้มอบเหรียญเชิดชูเกียรติให้แก่ชุมชนบ้านบ่อนอก-บ้านกรูด โดยมีนางจินตนา แก้วขาว ประธานกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด เป็นผู้รับมอบ

3.
หลังจากนั้น นายสุลักษ์ ศิวลักษ์ ได้กล่าวสัมมโมทนียกถา ว่า การที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ได้มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิติมศักดิ์แก่ นายเจริญ วัดอักษร และนางจินตนา แก้วขาว ผู้นำการต่อสู้คัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าบ่อนอก-หินกรูด นั้นเหมาะสมเป็นอย่างยิ่งแล้ว และในวันนี้ มีการมอบเหรียญเชิดชูเกียรติให้กับชุมชนบ่อนอก-บ้านกรูด ที่ได้ร่วมกันต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมมาโดยตลอด ซึ่งมีค่ามากกว่าดอกเตอร์ที่เหลิงอำนาจ ที่ไม่กล้ายืนอยู่เคียงข้างสัจจะ ความจริง

"นี่คือสัญลักษณ์ของการตื่น ซึ่งมหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั้งของรัฐและเอกชนนั้นต่างหลับใหล งมงาย ถูกสะกดอยู่ในอำนาจของทุนนิยมและนักการเมือง กรณีของเจริญ จึงมีความกล้ากว่าชนชั้นกลาง ถือว่าเป็นธงชัยของคนรากหญ้า ไม่ว่าจะเป็นชาวประมง ชาวไร่ ชาวนา กรรมกร แรงงาน"นายสุลักษณ์ กล่าว

นายสุลักษณ์ กล่าวอีกว่า ยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร อาจจะเลวร้ายกว่ายุคของเผ่า ศรียานนท์ ซึ่งเป็นยุคของเผด็จการ หรือยุคจอมพลสฤษติ์ ธนรัชต์ ก็เช่นกัน ซึ่งทั้งที่ประจวบคีรีขันธ์ อุดรธานี สงขลา ที่ได้ถูกกดขี่ข่มเหง หากร่วมกันเพื่อเอาชนะการปลิ้นปล้อน ความหลอกลวง ความโสมม เชื่อว่าจะสามารถต่อสู้ได้

ถึงแม้นว่า นายเจริญ จะตายไป แต่ใจและวิญญานเชื่อว่าจะอยู่กับเรา ซึ่งนายเจริญ เป็นส่วนหนึ่งที่ฉุดคนชั้นกลางขึ้นมารับทราบปัญหา หลุดสมัยแล้วที่จะเดินตามผู้นำที่มีแต่คววามโลภ โกรธ หลง ที่ใช้ความรุนแรง นายเจริญ วัดอักษร ต้องการฝึกชาวบ้าน ให้รู้จักช่วยเหลือเผื่อแผ่กัน และอยากขอชมเชยคุณกระรอก(กรณ์อุมา พงษ์น้อย) ถึงแม้นจะมีการตายของสามี แต่ก็ได้มีสติที่จะต่อสู้กับสิ่งที่เกิดขึ้น หากประชาชนร่วมกันต่อสู้ เชื่อว่าจะเกิดชัยชนะ" นายสุลักษณ์ กล่าว

4.
นางจินตนา แก้วขาว ประธานกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด กล่าวว่า ในการต่อสู้ที่ผ่านมา หลายๆ ครั้งที่ถูกกลั่นแกล้ง ข่มขู่ ทำให้ตนและนายเจริญ วัดอักษร ต้องหลบๆ ซ่อนๆ โดยอาศัยศาลาวัดสี่แยกบ่อนอก เป็นสถานที่วางแผนในการต่อสู้ของภาคประชาชน จนขณะนี้ตนเองและชาวบ้านก็ยังต้องมีการขึ้นศาลกันอยู่

"ชาวบ้านได้ใช้พลังมหาศาล ในการต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้า มีการใช้ความรู้วิชาการเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลบ่อนอก-บ้านกรูด ไปคัดค้านกับรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมของนักวิชาการ ที่สำรวจรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EAI) ให้กับโครงการ โดยมีการต่อรองมาตลอดกับชาวบ้าน แต่เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ลงมาพื้นที่ด้วยตนเอง จึงทราบว่า พลังของคนบ่อนอก กว่า 20,000 คน ที่มาร่วมชุมนุมให้เห็นว่าไม่เอาโรงไฟฟ้า จึงได้มีการย้ายโครงการฯ บ่อนอก ไปที่อ.แก่งคอย จ.สระบุรี โรงไฟฟ้าบ้านกรูด ถูกย้ายไปที่โรงไฟฟ้าราชบุรี" นางจินตนา กล่าว

นางจินตนา ยังกล่าวอีกว่า สิ่งที่รัฐกำลังกระทำโดยการย้ายโรงไฟฟ้าไปที่อื่นนั้น ถือว่า เราไม่ได้ชัยชนะอย่างแท้จริง กลับไปสร้างความเดือดร้อนให้กับคนสระบุรีและราชบุรี ซึ่งเราไม่ต้องการให้เกิดขึ้นอย่างนั้น เพราะสิ่งที่เราทำไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว แต่เราทำเพื่อของประเทศ แต่สิ่งที่รัฐกำลังกระทำ เป็นเพียงการลดกระแสเท่านั้น

" หลังจากนั้น ชาวบ้านต้องการให้มีการรื้อที่ดินสาธารณะคลองชายธง ในพื้นที่ 931 ไร่ ซึ่งมีกลุ่มนายทุน นักการเมือง และข้าราชการบางคน เข้าไปบุกรุก โดยเจริญ ได้กล่าวว่า ต้องการต่อสู้ให้เป็นเรื่องๆ ไป เนื่องจากจ.ประจวบคีรีขันธ์มีผู้มีอิทธิพลสูง หากไปจับทั้ง 2 เรื่อง หายถูกยิงตาย อาจไม่ทราบว่าตายด้วยสาเหตุใด แต่เมื่อเรื่องโรงไฟฟ้าเริ่มเงียบหายไป เจริญ วัดอักษร จึงได้เริ่มหยิบเอาพื้นที่สาธารณะคลองชายธง ขึ้นมาเพื่อให้มีการนำพื้นที่สาธารณะกลับคืนมาเป็นของส่วนรวม นอกจากนี้ยังมองว่า ที่ดินสาธารณะดังกล่าว อาจจะเป็นชนวนให้มีการย้ายโรงไฟฟ้าลงมาอีกใน 2 ปีข้างหน้า จึงได้นำประชาชนเดินทางไปยื่นหนังสือสอบถามกับ กฟผ.ว่าจะยังมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ อีกต่อไปหรือไม่ แต่ในขณะที่เริ่มดำเนินการในเรื่องที่ดินสาธารณะคลองชายธงไปได้ไม่นานนัก เจริญ ก็ถูกยิงเสียชีวิต" นางจินตนา กล่าว

เมื่อนางจินตนา ได้บอกเล่าเรื่องราวการต่อสู้อันยาวนานนี้เสร็จ ทางกลุ่มตัวแทนศิลปินวาดรูปสิ่งแวดล้อม นำโดย นายวสันต์ สิทธิเขตต์ นางเบญจมาศ นิมมานเหมินห์ ได้มอบภาพเขียนให้แก่นางกรณ์อุมา พงษ์น้อย และตัวแทนศิลปินกวี นักคิดนักเขียน นำโดย แสงดาว ศรัทธามั่น สถาพร ศรีสัจจัง เทือก บรรทัด สุนทรี เวชานนท์ และจิตติมา ผลเสวก ได้อ่านบทกวี พร้อมมอบเงินที่ได้จากการจำหน่ายหนังสือรวมบทกวี เจริญ วัดอักษร ให้จำหน่ายเป็นทุนสำหรับการต่อสู้ครั้งต่อไป

5.
บ่ายวันนั้น,ชาวบ้านบ่อนอก ได้ตั้งขบวนเดินทางออกจากวัดสี่แยกบ่อนอก ไปยังถนนเพชรเกษม โดยขบวนได้แห่ไปตามถนนเพื่อไปรับกลุ่มศิลปิน กวี นักคิดนักเขียน และชาวบ้านที่เดินทางมาจาก ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคใต้ ที่ได้รับผลกระทบปัญหาความไม่เป็นธรรม ความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับรัฐ ไม่ว่าชาวบ้านจากกลุ่มสมาพันธ์ชาวนาภาคเหนือ กลุ่มสมัชชาคนจน กลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากท่าแซะ จ.ชุมพร และชาวบ้านจะนะ จ.สงขลา ต่างเดินทางไปสู่สถานที่ ที่นายเจริญ วัดอักษร ถูกยิงเสียชีวิต ซึ่งมีรูปแกะสลักไม้นายเจริญ วัดอักษร ตั้งอยู่ตรงจุดที่เกิดเหตุ พร้อมกับรูปชูกำปั้น

ทุกคนทุกฝ่าย ต่างมาร่วมกันใช้สื่อทางวัฒนธรรมพื้นบ้านเป็นแนวทางการเรียกร้องให้เห็นว่า ทุกคนต้องการความยุติธรรม และมีความรักสามัคคีกันโดยไม่ได้แบ่งเชื้อชาติ ศาสนาและชนชั้น โดยมีการแสดงของกลองสะบัดชัย ฟ้อนเจิง ศิลปะการต่อสู้ด้วยอาวุธของล้านนา การแสดงลิเกฮูลูของชาวมุสลิมปัตตานี การแสดงประเพณีเป่าแคนของภาคอีสาน การแสดงกลองยาวของกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก และการนำบทกวีของ อังคาร กัลยณพงศ์ และ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ มาอ่าน พร้อมกับมีการแสดงดนตรีของ สุรชัย จันทิมาธร บนหลังรถประชาสัมพันธ์ของกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก

จากนั้น, มีการร่ายรำศิลปะการต่อสู้ด้วยอาวุธมีดดาบของล้านนา และได้แสดงท่าทิ่มแทงหุ่นฟาง โดยเขียนตัวหนังสือติดไว้ที่ตัวหุ่นว่า ข้าราชการ นักการเมือง นายทุน และผู้มีอิทธิพล ก่อนที่กลุ่มศิลปินจะนำมีดดาบออกมาร่ายรำประหารหุ่นดังกล่าว ก่อนจุดไฟเผา…

"เจริญรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา…ว่าจะต้องมีการสูญเสีย เจริญเคยบอกกับทุกคนเสมอว่า หากใครคนใดคนหนึ่ง ได้ล้มลงไปด้วยความไม่เป็นธรรม ขอให้นำศพไปใช้ให้เป็นประโยชน์แก่สังคมประเทศชาติ ขอให้นำร่างไปเผาที่หน้าทำเนียบฯ ดังนั้น เราขอประกาศสืบสานเจตนารมย์ต่อไปว่า…รัฐจะต้องรับผิดชอบจัดการเรื่องที่ดินสาธารณะให้คืนกลับมา ต้องมีการจับกุมคนร้ายมาลงโทษให้ได้ทั้งหมด และต้องมีการกวาดล้างเจ้าหน้าที่ชั่วให้หมดสิ้นไป…"

นั่น,คือเสียงของ"กระรอก" กรณ์อุมา พงษ์น้อย ภรรยาของ เจริญ วัดอักษร ประกาศก้องไปทั่วสี่แยกบ่อนอก บนรถประชาสัมพันธ์ ขณะที่สายตาทอดมองจ้องไปบนพื้นถนนที่เคยรองรับร่างที่ไร้วิญญาณของเจริญ วัดอักษร

6.
เราเดินทางกลับ…ด้วยความรู้สึกที่บอกไม่ถูกว่า คนเล็กๆ สามัญธรรมดาคนหนึ่ง สามารถหลอมรวมจิตใจผู้คนทั่วประเทศได้ยิ่งใหญ่ขนาดนี้ คงเหมือนกับที่ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ ได้กล่าวเป็นบทกวีไว้ว่า…

เจริญสร้าง เจริญสู้ เจริญอยู่ กับชาวบ้าน
บ่อนอก เป็นตำนาน ที่สร้างคน ให้สู้คน
คือใจ ของชาวบ้าน ผู้กล้าหาญ และทานทน
บ่อนอก บ่ จำนน กับถ่อยเถื่อน อธรรมใดฯ

องอาจ เดชา
ศูนย์ข่าวภาคเหนือรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net