Skip to main content
sharethis

ประชาไท -- 1 ต.ค. 2547 ประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยทั่วปท. เตรียมเข้าพบวุฒิฯ เสนอปัญหาพรบ.มหาวิทยาลัยนอกระบบ จันทร์นี้ พร้อมเสนอทำประชาพิจารณ์ก่อนออกกฎหมาย

ดร.ไชยยนต์ ประดิษฐ์ศิลป์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ ประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.) ประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวกับ" ประชาไท" ว่า วันจันทร์ ที่ 4 ต.ค.นี้ ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยบูรพาจะเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา ซึ่งร่างฯ ฉบับดังกล่าวจะเป็นแม่แบบให้กับอีกกว่า20 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ

ในวันเดียวกันนี้สมชิกปอมท. จะเข้าพบจะเข้าพบกรรมาธิการวุฒิสภา 2 ชุดคือ กมธ.ฝ่ายการศึกษา และกมธ. ฝ่ายพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อชี้แจงถึงข้อกังวลจากร่างพรบ. ฉบับดังกล่าว

"ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเป็นกฎหมายที่กระทบกับคุณภาพชีวิตของประชาชน ตามรัฐธรรมนูญแล้วควรจะมีการประชาพิจารณ์ก่อน แต่กลับมีความพยายามที่จะให้ร่างพรบ.ฯ ผ่านวาระแรกในสภานิติบัญญัติชุดนี้"

ทั้งนี้ ร่างฯ ฉบับดังกล่าวมีสาระสำคัญคือ กำหนดให้มหาวิทยาลัยบูรพาซึ่งเดิมเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐต้องออกนอกระบบราชการ โดยได้รับการอุดหนุนงบประมาณจากรัฐ

"ร่างฯมหาวิทยาลัยบูรพา มีประเด็นที่น่ากังวลหลายประการ ในประเด็นเรื่องรายได้นั้น เงินอุดหนุนจากรัฐไม่มีลักษณะผูกพันเหมือนงบประมาณซึ่งมหาวิทยาลัยเคยได้รับจากรัฐ ในระยะยาวจะเกิดการขาดแคลนงบประมาณ เป็นปัญหาใหญ่ของหลายมหาวิทยาลัย"

ดร.ไชยยนต์กล่าวและโต้แย้งวิธีคิดเบื้องหลังการผลักดันมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการว่าทางแก้ไขก็อาจนำไปสู่การขึ้นค่าเล่าเรียนซึ่งเป็นการผลักภาระให้กับนักศึกษา แม้รัฐบาลจะมีแนวทางจัดตั้งกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กรอ. - Income Contingency Loan.) แต่ก็เท่ากับทำให้นักศึกษาต้องเป็นหนี้

การคาดหวังว่า จำนวนนักศึกษาจะเป็นตัวกำหนดทิศทางการพัฒนามหาวิทยาลัยภายหลังจากออกนอกระบบนั้น ความเป็นจริงคือ ประเทศไทยยังอยู่ในบรรยากาศต้องการปริญญาเพื่ออาชีพ เพราะฉะนั้น วิชาการสาขาที่ไม่ทำเงินก็อาจจะถูกยุบเลิกไป เช่น ปรัชญา ศาสนา ทั้ง ๆ ที่เป็นสาขาวิชาที่มีคุณค่า

นอกจากนี้มหาวิทยาลัยในกำกับ (นอกระบบ) ราชการซึ่งเป็นนิติบุคคลนั้น ปอมท. มีข้อสงสัยว่าต้องเสียภาษีหรือไม่ เพราะหากกำหนดให้มหาวิทยาลัยต้องเสียภาษีก็จะมีค่าใช่จ่ายเพิ่มมากขึ้น และส่งผลต่อความอยู่รอดของมหาวิทยาลัยพอสมควร

สำหรับบุคลากรของมหาวิทยาลัยซึ่งจะมีสถานภาพเป็นลูกจ้างของมหาวิทยาลัยนั้นจะมีสิทธิได้รับความคุ้มครองอะไรบ้าง และควรกำหนดให้มีสหภาพแรงงานได้ แต่ประเด็นนี้ถูกทำให้ตกไปจากพระราชบัญญัติดังกล่าว

ขณะที่ข้าราชการที่ยังดำรงอยู่ในระบบคู่ขนาน ก็มีข้อบังคับให้ลาออกออกภายใน 15 วัน เป็นการเร่งให้ข้าราชการลาออกเร็วเกินไป น่าจะมีการเตรียมความพร้อมมากกว่านี้ และการให้ข้าราชการซึ่งมีประสบการณ์ทำงานมายาวนานต้องลาออกตามข้อกำหนดตามพรบ.ฯ นั้นก่อให้เกิดการสูญเสียทรัพยากรมนุษย์อย่างมาก

ดร. ไชยยนต์ เสนอด้วยว่า มหาวิทยาลัยนอกระบบราชการควรมีธรรมาภิบาล มีการถ่วงดุลระหว่างสภาอาจารย์ ผู้บริหารและฝ่ายวิชาการซึ่งควรแยกออกจากกันให้ชัดเจน เช่น อธิการบดีไม่ควรดำรงตำแหน่งซ้ำซ้อน นายกสภามหาวิทยาลัยไม่ควรดำรงตำแหน่งเดียวกันในหลาย ๆ สถาบันการศึกษา และควรเปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้ามาเป็นตัวแทนในสภามหาวิทยาลัย เพราะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากมหาวิทยาลัยโดยตรง

พิณผกา งามสม
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net