Skip to main content
sharethis

ทำไมคนไทยต้องสนใจ น้ำเทิน 2 ตอนที่ 3
น้ำเทิน 2 เหลือเพียงการรอคอย

ปรับเข็มทิศข่าว
"มีคำถามอื่น ๆ อีกไหม" ผู้ดำเนินการประชุมน้ำเทิน 2 รอบสุดท้ายที่กรุงเวียงจันทน์ ถามย้ำทุกช่วงที่มีการเปิดให้ผู้ร่วมประชุมตั้งคำถาม

จำนวนผู้ร่วมประชุมที่ลุกขึ้นตั้งคำถามกับโครงการ น้ำเทิน 2 น้อยกว่าการประชุมที่เมืองไทยมากอย่างเทียบกันไม่ได้ คงมีเพียงเจ้าหน้าที่จากองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศ ไม่กี่คนที่ยังคงทำหน้าที่ซักค้าน แต่ก็ไม่หนักหน่วงนัก

ดิฉันมั่นใจว่าไม่เห็นเอ็นจีโอจากประเทศไทยที่เคยเข้าร่วมการประชุมที่กรุงเทพฯ ในงานนี้แม้สักคนเดียว

ในช่วงเวลาที่มีแต่ความเงียบ ดิฉันได้ยินเสียงสะท้อนและภาพที่ฉายซ้ำในความทรงจำชุดหนึ่ง

"ผมคิดว่าไม่คุ้มกับการต้องเดินทางไป เพื่อร่วมประชุมสั้น ๆ และเราคงไม่สามารถแสดงความเห็นอะไรได้มากเท่าที่กรุงเทพฯ" ผู้อำนวยการโครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติอินโดจีนและพม่าให้เหตุผลที่ไม่ไปร่วมการประชุมที่เวียงจันทน์

"คนลาวเขาไม่คิดอะไรต่างจากรัฐบาลหรอก"
"ทำไมล่ะพี่"
"ถ้าคุณพูดว่าคุณไม่เห็นด้วย ชีวิตคุณก็จะหาไม่น่ะซี"
นักข่าวรุ่นพี่ที่คร่ำหวอดอยู่กับข่าวแถบ
อินโดจีนมานานให้แง่มุมในการทำข่าวไว้ก่อนเดินทาง

"คนลาวที่ต้องย้ายถิ่นฐานเพราะการสร้างเขื่อนก็คงไม่รู้สึกว่าเดือดร้อนหรอก อาจจะยินดีด้วยซ้ำที่จะได้พัฒนา มีไฟฟ้าใช้ เพราะประเทศลาวมีที่ดินและป่าไม้เหลืออีกเยอะ อยู่ที่นี่ไม่ได้ ก็ไปอยู่อีกที่หนึ่ง ทั้งประเทศมีแต่ป่า เสียไปสักป่าหนึ่งก็ยังเหลืออีกเยอะ" นักเขียนสารคดีผู้ทำหน้าที่มัคคุเทศก์ในเมืองลาวบ่อยครั้งให้ความเห็น

นาย สมดี ดวงดี รับมนตรีว่าการกระทรวงการเงิน สปป.ลาวกล่าว ในการประชุมที่โตเกียวว่า ประเทศลาวต้องอาศัยเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศจำนวนมาก ซึ่งไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น ในฐานะที่เราเป็นประเทศหนึ่ง เราก็ควรยืนด้วยลำแข้งของตัวเอง

ทัศนคติเหมือนเข็มทิศในการทำข่าว ทว่าเข็มทิศนั้นหันไปทางทิศเหนือเสมอ แต่ทัศนคติอาศัยสภาพแวดล้อมทางสังคมวัฒนธรรมเป็นตัวกำหนด ก่อนจะออกเดินทางไปทำข่าวการประชุมน้ำเทิน 2 รอบสุดท้ายที่เวียงจันทน์ คำแนะนำที่ได้รับส่วนใหญ่ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ คือปรับเข็มทิศข่าวเสียก่อน ไม่เช่นนั้นนักข่าวหน้าใหม่ก็อาจหลงทางในเมืองเล็กอย่างเวียงจันทน์ได้ง่าย ๆ

การยืนยันด้วยความเงียบ

การคาดการณ์ไม่ต่างจากความจริง นี่แหละหนา สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น

ตลอดช่วงเช้าซึ่งเป็นพิธีเปิดโดยรองนายกรัฐมนตรี สปป. ลาว การนำเสนอของธนาคารโลก การนำเสนอของรัฐบาลลาว ไม่มีการตั้งคำถามจากชาวบ้านที่เข้าร่วมประชุม กระทั่งผู้ดำเนินรายการต้องย้ำหลายครั้ง

"ผมอยากได้ยินคำถามเป็นภาษาลาวบ้าง มีชาวบ้านเข้าร่วมประชุมหลายคน อยากให้มีคำถามจากชาวบ้านบ้าง"

ความเงียบของชาวบ้านที่เข้าร่วมประชุมทำให้ทำให้จอความจำของดิฉันฉายภาพและเสียงซ้ำไปมาดังข้อความข้างต้น

ลาว - ไทย ไม่ใช่อื่นไกล แต่ไม่เหมือนกัน

จนกระทั่งบ่ายก่อนที่การประชุมจะจบลง ชาวบ้านจากแขวงคำม่วนซึ่งเป็นพื้นที่เก็บน้ำโครงการน้ำเทิน 2 จำนวน 3 คนลุกขึ้นแสดงความเห็น เรียกร้องให้ธนาคารโลกสนับสนุนโครงการน้ำเทิน 2 พวกเขาเชื่อว่าโครงการนี้จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่พัฒนาขึ้น พวกเขาไม่ได้เรียกร้องสิทธิในการจัดการทรัพยากรของชุมชนด้วยชุมชนเอง พวกเขายกความผูกพันในถิ่นฐานบ้านช่องขึ้นเป็นข้อเรียกร้อง สิ่งที่พวกเขาเรียกร้องคือ....
"ขอให้พวกเฮาได้รับสิทธิที่จะพัฒนาทุกด้าน" นายบรรจง วงใจ ชาวบ้านจากบ้านากายเหนือกล่าวถึงสิทธิที่เขาต้องการ

"อย่างชาวบ้านที่ปากมูลพูดที่กรุงเทพฯเราก็รับฟัง พี่เข้าใจว่าคนไทยเป็นห่วง แต่ว่าเราไม่ได้มีทางเลือกในการพัฒนาเหมือนเมืองไทย คนไทยมีทางเลือก ก็คัดค้านได้ และในจินตนาการก็คงคิดว่าชาวบ้านอยู่อย่างพอมีพอกิน มีแม่น้ำลำธาร มีอาหารพอเพียง แต่ความจริงคือ คนลาวจนมาก บ้านยังต้องมุงด้วยใบตองเหลือง ทำนาไม่พอกิน" ทีปกร จันทวงสา เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการเงิน สปป.ลาวกล่าว

การรอคอย...อีกไม่นาน
"ถ้าทางการลาวเขาจัดการกับความเห็นต่างของประชาชนได้ดีขนาดที่ไม่มีใครกล้าแสดงความ "ไม่เห็นด้วย" กับรัฐบาล เช่นนั้นแล้ว การประชุมน้ำเทิน 2 ที่ผ่านมาทั้งหมด 4 รอบนั้นจัดขึ้นเพื่ออะไร" ฉันถาม
"ก็เพราะคนคัดค้านมันอยู่ข้างนอกประเทศไง" นักข่าวรุ่นพี่คนเดิมตอบ

" ธนาคารโลกได้วางกรอบการตัดสินใจที่จะสนับสนุนโครงการน้ำเทิน 2 ไว้ 3 กรอบ กรอบที่ 3 กำหนดว่าโครงการนี้ต้องได้รับการสนับสนุนจากประชาคมสากล" ไชยประเสริฐ พมโสภา หัวหน้าสำนักเลขานุการคณะกรรมการพลังงานแห่งซาดลาว กล่าวถึงเหตุผลที่ต้องจัดการประชุม ที่กรุงเทพฯ โตเกียว ปารีส และวอชิงตันดีซี

และจากนี้ไป กระบวนการที่เปิดโอกาสให้กับประชาคมสากลเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นหมดลงแล้วพร้อมสัญญาณความพอใจของธนาคารโลกต่อการดำเนินการโครงการน้ำเทิน 2 ที่ผ่านมาตลอดระยะเวลาเกือบ10 ปี

ระหว่างนี้เหลือตัวละครเพียงไม่กี่ตัวเท่านั้นที่จะโลดแล่นอยู่ในเรื่องราวของโครงการน้ำเทิน 2 คือ ธนาคารโลก รัฐบาลลาว และบริษัทน้ำเทิน 2 (ซึ่งเป็นการถือหุ้นร่วมกันระหว่างบริษัทไฟฟ้านานาชาติแห่งประเทศฝรั่งเศส รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว บริษัทผลิตไฟฟ้า ประเทศไทย (EGCO) และบริษัทอิตาเลียน - ไทย จำกัด)

ตัวละครเพียงไม่กี่ตัวที่เหลือจะเป็นผู้กำหนดอนาคตของโครงการน้ำเทิน 2 และทรัพยากรป่าไม้และสายน้ำ รวมทั้งชีวนานาพันธุ์ของประเทศลาว(และของโลก?)

พิณผกา งามสม
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net