Skip to main content
sharethis

การเจรจาเรื่องสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต และจีเอ็มโอใน FTA ไทย-สหรัฐ*
(เอกสารประกอบการเสวนา เรื่อง "รู้ทัน GMO กับปัญหาทรัพย์สินทางปัญญา" จัดโดย โครงการยุทธศาสตร์นโยบายฐานทรัพยากร คณะกรรมสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ)

ข้าวสีทอง (Golden Rice) ที่เกิดขึ้นจากการตัดแต่งพันธุกรรมเพื่อเพิ่มวิตามินเอให้กับข้าวนั้น มีสิทธิบัตรเกี่ยวข้องอยู่กว่า 70 รายการ

ตัวอย่างรูปธรรมนี้แสดงให้เห็นว่าข้อเรียกร้องของสหรัฐอเมริกาในการเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรีกับประเทศไทย ให้มีการขยายการคุ้มครองกฎหมายสิทธิบัตรไปยังสิ่งมีชีวิตทุกชนิดคือ พืช สัตว์ และจุลินทรีย์ และให้ประเทศไทยเปิดรับสินค้าตัดแต่งพันธุกรรมนั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกันอย่างชัดเจน ซึ่งมีเขียนระบุไว้ทั้งในกฎหมายการค้าขอสหรัฐ ฯ (Trade Promotion Authority Act 2002) และในกรอบการเจรจาที่ผู้แทนการค้าของสหรัฐยื่นเสนอต่อรัฐสภาของสหรัฐ เพื่อขออนุมัติที่จะมาเจรจากับประเทศไทย

ตามกฎหมายสิทธิบัตร สิทธิของผู้เป็นเจ้าของสิทธิบัตร คือ สิทธิในการผลิต ใช้ ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอ ขายหรือนำเข้ามาในประเทศซึ่งผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตร ดังนั้น บริษัทธุรกิจข้ามชาติที่ทำการคิดค้นพัฒนาพืชสัตว์ตัดแต่งพันธุกรรมจึงต้องการคุ้มครองผลประโยชน์ทางธุรกิจของตนเองไว้โดยอาศัยสิทธิบัตรคุ้มครอง ตัวอย่างเช่น กรณีสิทธิบัตรการถ่ายยีน (Gene Transfer Patent) ผู้ถือครองสิทธิบัตรเป็นจำนวนถึงร้อยละ 95 ของสิทธิบัตรการถ่ายยีน คือบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ 5 อันดับแรกที่อยู่ในสหรัฐอเมริกาและยุโรป (UNDP 1999)

แต่สำหรับประเทศไทย กฎหมายสิทธิบัตรของไทยให้การคุ้มครองเฉพาะจุลชีพที่มิได้พบอยู่ตามสภาพในธรรมชาติเท่านั้น ไม่ได้ให้การคุ้มครองสิทธิบัตรพืชและสัตว์ ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นสิทธิที่ไทยสามารถกระทำได้ภายใต้ความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญา หรือความตกลงทริปส์ในองค์การการค้าโลก ในการเจรจาทบทวนความตกลงทริปส์ในเรื่องนี้ ทางสหรัฐได้ผลักดันอย่างมากที่จะแก้ไขข้อกำหนดในความตกลงเพื่อให้ประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลกทุกประเทศให้การคุ้มครองสิทธิบัตรพืชและสัตว์ แต่ก็ถูกกลุ่มประเทศกำลังพัฒนารวมตัวกันคัดค้านอย่างเต็มที่ ดังนั้น สหรัฐจึงต้องหันมาผลักดันการคุ้มครองสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิตผ่านทางการเจรจาการค้าเสรีแบบทวิภาคี โดยกดดันให้ประเทศคู่เจรจายอมแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตร พร้อมๆ กับการผลักดันให้ยอมรับเอาสินค้าจีเอ็มโอเข้ามาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งในแง่การระบายสินค้าที่ขายไม่ค่อยได้ในประเทศพัฒนาแล้วเนื่องจากผู้บริโภคไม่ยอมรับ และเพื่อคุ้มครองการผูกขาดการใช้ประโยชน์โดยอาศัยกฎหมายสิทธิบัตร

ทำไมกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจึงร่วมกันคัดค้านกฎหมายสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต ผลกระทบต่อเกษตรกรจะเป็นอย่างไร ??

จุดกำเนิดของกฎหมายสิทธิบัตร คือ การคุ้มครองการประดิษฐ์ในสินค้าอุตสาหกรรม แต่เมื่อมีการขยายการคุ้มครองแบบกึ่งผูกขาดนี้มายังพืชสัตว์ หรือพันธ์พืชพันธุ์สัตว์ จึงถูกคัดค้านจากประเทศสังคมที่มีฐานเกษตรกรรมทั้งหลาย เนื่องจากเป็นการไม่เหมาะสมที่จะเอาพืช สัตว์ ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานของการดำรงชีวิต เป็นปัจจัยสำคัญของภาคเกษตรไปครอบครองเป็นเจ้าของแบบผูกขาดเช่นนั้น ซึ่งสร้างผลกระทบในหลากหลายมิติ เช่น เป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิต อาจเกิดปัญหาการผูกขาดปัจจัยการผลิต สร้างผลกระทบด้านสังคมและวัฒนธรรม เนื่องจากภายใต้ระบบสิทธิบัตรพันธุ์พืช เกษตรกรไม่สามารถคัดเลือกเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ เพื่อปรับปรุงพันธุ์หรือปลูกในฤดูกาลถัดไปได้ ฯลฯ

ปัญหาเหล่านี้ได้เกิดขึ้นแล้ว แม้แต่ในประเทศพัฒนาแล้ว เมื่อต้นปีนี้ศาลสูงของประเทศแคนาดาได้ตัดสินให้นายชไมเซอร์ (Schmeiser) เกษตรกรวัย 71 ปี ผู้ปลูกพืชแคโนลา (พืชให้น้ำมัน) มีความผิดฐานละเมิดสิทธิบัตรของบริษัทมอนซานโต้ เนื่องจากมีการตรวจพบยีนของต้นแคโนลาที่ตัดแต่งพันธุกรรมเพื่อต้านทานยากำจัดวัชพืช ที่เป็นของบริษัทในแปลงปลูกของนายชไมเซอร์ โดยนายชไมเซอร์ได้ยืนยันว่าตนเองไม่ได้ปลูกพืชจีเอ็มโอ แต่ยีนที่ตรวจพบนั้นเนื่องมาจากการปนเปื้อนทางพันธุกรรมจากละออกเกสรของต้นแคโนลาจีเอ็มโอที่ลอยมาโดยกระแสลม ในกรณีนี้ศาลชั้นต้นได้ตัดสินในปี 2543 ว่าเกษตรกรมีความผิด และให้จ่ายค่าปรับเป็นเงิน 175,000 เหรียญ ชไมเซอร์ได้ต่อสู้คดีมา 7 ปี จนถึงศาลสูง แต่ในที่สุดก็ถูกตัดสินว่ามีความผิด อย่างไรก็ตาม ศาลสูง
ได้พิพากษาไม่ต้องจ่ายค่าปรับ

ในกรณีประเทศสหรัฐ ทางบริษัทมอนซานโต้ ได้ทำการฟ้องคดีเกษตรกรที่ละเมิดข้อตกลงการอนุญาตใช้สิทธิ(license) ในการปลูกพืชจีเอ็มโอไปแล้วจำนวน 73 คดี ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่น กรณีการฟ้องร้องเกษตรกรวัย 47 ปีในรัฐเทนเนสซี ชื่อ เคม ราฟ (Kem Ralph) ถูกศาลสั่งจำคุกและปรับเป็นเงิน 165,649 เหรียญสหรัฐ ในความผิดที่ละเมิดข้อตกลงกับบริษัทโดยเก็บเมล็ดฝ้ายและถั่วเหลืองจีเอ็มโอไว้ปลูก

กรณีมะละกอตัดแต่งพันธุกรรมของไทยที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในเวลานี้ว่ามีการหลุดแพร่กระจายในสิ่งแวดล้อมหรือไม่นั้น ในร่างความตกลงการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตร ฯ กับมหาวิทยาคอร์แนล (แต่ยังไม่มีการเซ็น ) ถ้ามีการนำเอามะละกอไปขายได้ผลกำไร ทางคอร์แนลต้องการมีผลประโยชน์ร่วม อัตราที่มีการกล่าวถึงแต่ไม่ยืนยันเป็นทางการ คือ กำไร 1 ล้านบาทแรก แบ่งให้ทางคอร์แนล 10% , ถ้า 2.5 ล้านบาท แบ่งให้ 20% และถ้าถึง 5 ล้านบาท แบ่งให้ 30%

เรื่องจีเอ็มโอไม่ได้เป็นแค่เรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีแต่เพียงอย่างเดียว มีประเด็นที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบอีกมาก เกษตรกรไทยจะต้องเผชิญปัญหาเหมือนกับเกษตรกรในแคนาดาหรือสหรัฐหรือไม่ ขึ้นอยู่กับผลการเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรีกับสหรัฐ และให้ความรู้เท่าทันและความเข้มแข็งของภาคประชาชนไทย

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net