สัมภาษณ์พิเศษ- ดร.ธนิต ชังถาวร

สัมภาษณ์พิเศษ- ดร.ธนิต ชังถาวร
นักวิชาการด้านทรัพย์สินทางปัญญา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)
สัมภาษณ์ 15 กันยายน 2547

"พอทุกคนคุยภาพรวมก็กลัวกันไปใหญ่ว่าสิทธิบัตรเลว มันไม่ได้น่ากลัวอะไรขนาดนั้น อันที่จริงก็แทบไม่ต่างอะไรกับโฉนดที่ดิน"

ประชาไท - ช่วยอธิบายตั้งแต่เริ่มแรกเลยว่า สิทธิบัตรคืออะไร

ธนิต - สิทธิบัตรเป็นเอกสารที่ออกโดยหน่วยงานราชการ ซึ่งในประเทศไทยจะออกโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ส่วนที่อเมริกาจะเป็นหน่วยงานที่ชื่อ USPTO หรือ United State Partent and Trademark Office มีลักษณะคล้ายๆ โฉนด ที่บอกว่าคุณได้สิทธิครอบครองในเทคโนโลยีในผลิตภัณฑ์ตัวนี้ ซึ่งมันก็จะเป็นเอกสารที่ประกอบด้วยแผ่นปะหน้าและเอกสารที่บรรยายว่าสิ่งที่คุณได้คืออะไร

ปัญญาที่เจอกันเยอะเวลาคนอ่านสิทธิบัตรแล้วเข้าใจผิดก็คือ อันแรกคิดว่าสิทธิบัตรที่อเมริกาจะบังคับใช้ได้ในเมืองไทย สิทธิบัตรที่อเมริกาก็บังคับใช้ได้ที่อเมริกา ถ้าเราไม่ทำอะไรหรือส่งของอะไรที่เกี่ยวข้องกับสิทธิบัตรไปที่อเมริกาก็ไม่เป็นไร เพราะศาลไทยไม่รับเอาสิทธิบัตรที่อเมริกามาฟ้องแน่ ต้องทำความเข้าใจกันอย่างยิ่ง คนจะเข้าใจผิด มันไม่มีที่จดสิทธิบัตรแล้วจะครอบคลุมทั่วโลก

ส่วนที่เป็นห่วงเพราะมีการจดที่ WIPO หรือ World Intellectual Organization ซึ่งเป็นหน่วยงานของ UN นั้น คนที่พูดก็ไม่รู้เรื่องทั้งสิ้น เพราะ WIPO ไม่มีระบบการรับจด มันจะมีระบบเรื่อง PCT เล็กน้อย แต่เรื่องนั้นจะยาวว่าคุณจะจดประเทศไหนต้องมีการตรวจสอบแต่ละประเทศ ตั้งแต่ผมเรียนปริญญาเอกมาไม่เคยได้ยิน แต่คนที่เขาไม่ได้เรียนเขาอาจจะเก่งกว่าผม ถ้ามี World Partent ก็รวยกันแล้วซิ

จะมีอย่างเก่งก็คือว่า ระบบที่จดแล้วคล้ายกันก็คือระบบยุโรป European Partent Office ที่เราเรียก EPO คือถ้าเราไปจดที่นี่ ก็อาจจะได้ครอบคลุมประเทศสมาชิกยุโรป แต่ก็ไม่ใช่จะได้โดยอัตโนมัติ ในคำขอของคุณต้องระบุอีกว่าจะเอาประเทศไหน แล้วจะส่งไปให้แต่ละประเทศตรวจสอบดูอีกทีหนึ่ง

ประชาไท - แล้วอนุสัญญา PCT คืออะไร

ธนิต - PCT ย่อมาจาก Partent Cooperation Treaty ของ WIPO พยายามจะดึงความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก เพื่อลดขั้นตอนในการตรวจสอบ ประเทศที่เป็นสมาชิก PCT เวลาคุณส่งไปประเทศไหนเขาจะทดสอบตรวจสอบคุณสมบัติเรื่องความใหม่ แล้วผลการตรวจสอบอาจจะใช้ได้ในกลุ่มประเทศสมาชิก PCT แทนที่จะต้องตรวจสอบกันใหม่ เป็นการลดขั้นตอน

สมมติว่ามี 100 กว่าประเทศ แล้วสมมติไทย ซึ่งตอนนี้ยังไม่เป็นแต่กำลังจะเป็นใกล้ๆ นี้ แต่ถ้าสมมติว่าเป็นแล้วแล้วคนไทยจะยื่นจดก็ยื่นจดไปแล้วต้องระบุในนั้นว่าจะเอากี่ประเทศในสมาชิก PCT ไม่ใช่จดแล้วคลุมหมดเกลี้ยงเลย บางทีคนที่พูดก็ไม่รู้เรื่อง แล้วหลังจากนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าจะผ่านการตรวจสอบของประเทศที่เราระบุอีกหรือไม่ มันไม่ง่าย

การตรวจสอบโดยหลักๆ แล้วก็จะตรวจสอบความใหม่ ขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น รวมทั้งการประยุกต์ใช้ได้ในทางอุตสาหกรรม แต่ระบบอเมริกาอาจจะตรวจสอบง่ายหน่อย แต่ที่ยุโรปการจะผ่านการตรวจสอบนั้นยากมาก กว่าสิทธิบัตรจะหลุดออกมาได้ ถามกรมทรัพย์สินทางปัญญาเมืองไทยดูว่าบางฉบับกว่าจะได้ 3 ปี มันจึงเป็นความเข้าใจผิดในเรื่องสิทธิบัตรโลก

ประชาไท - กรณีที่กำลังมีการยื่นจดสิทธิบัตรไวรัสใบด่างวงแหวนซึ่งมีสายพันธุ์ของไทยรวมอยู่ด้วย จะทำให้ครอบคลุมถึงมะละกอของไทยหรือไม่

ธนิต - เวลาได้สิทธิบัตรมาทุกคนชอบอ่านแล้วเข้าใจผิดกันคือ ชื่อ อ่านแล้วเข้าใจว่าเขาให้การคุ้มครองตัวนี้ทั้งหมด แต่ไม่ใช่ คนพูดเป็นคนที่ไม่เข้าใจ มันเป็นเรื่องที่ไม่ใช่นั่งอ่านกันวันสองวันแล้วจะเข้าใจ ผมใช้เวลาเรียน 6-7 ปี

เวลาอ่านสิทธิบัตรต้องดูข้อถือสิทธิว่าเขาขอถือสิทธิกว้างขนาดไหน ไม่ใช่ดูแค่ชื่อ เพราะชื่อเขาอาจจะตั้งหลวมๆ ไว้กว้างมาก เหมือนคุณบ้านอยู่ถนนสุขุมวิท ก็ตั้งชื่อว่าบ้านสุขุมวิทก็ย่อมได้ แต่จริงๆ ไปดูโฉนดจริงอาจจะเป็นงานเดียวในซอยสวัสดี เหมือนกันเลย คนชอบดูตรงนี้แล้วตีโพยตีพาย ซึ่งมันก็ดีเหมือนกันว่าเขาช่วยยกประเด็นออกมาให้เห็น

สิทธิบัตรนี้เขาไม่ได้จดมะละกอ เขาเอาไวรัสไปจด ถ้ารู้วิทยาศาสตร์จะรู้ว่ามันคนละส่วน ซึ่งที่กังวลว่ามันจะกระทบต่อการศึกษาวิจัยของไทยก็ผิด เพราะสิทธิบัตรมันมีข้อยกเว้น ว่าถ้าเพื่อการศึกษาวิจัยกฎหมายอนุญาต อันนี้เป็นหลักสากลไม่ต้องเกี่ยวกับการเซ็น MOU หรือไม่ เพราะนี้เป็นหลักการของสิทธิบัตรเป็นร้อยๆ ปีมาอยู่แล้วเพื่อที่จะให้มันสมดุล ไม่เช่นนั้นมันจะเกิดระบบการผูกขาดแล้วความก้าวหน้าทางวิชาการไม่ไปไหน มันมีรายละเอียดของมัน แต่พอทุกคนคุยภาพรวมก็กลัวกันใหญ่ว่าสิทธิบัตรเลว มันไม่น่ากลัวอะไรขนาดนั้น อันที่จริงก็แทบไม่ต่างอะไรกับโฉนดที่ดิน

คำถามอันหนึ่งที่จะต้องเช็คกับนักวิจัยเหมือนกัน ว่า โรคไวรัสจุดด่างวงแหวนมันไม่ได้เป็นที่มะละกอที่เมืองไทยที่เดียว แต่มันมีที่ฮาวายด้วย แล้วงานวิจัยที่คอร์แนล ดร.เดนิส กอนซาเวส เขาก็ทำที่ฮาวายมาเป็นชาติแล้ว เข้าใจว่าเป็นผลงานที่เขาทำที่ฮาวายที่นำไปจด

ประชาไท - แต่กรีนพีซให้ข้อมูลว่าโครงสร้างพื้นฐานของไวรัสเหมือนกัน อาจครอบคลุมไวรัสสายพันธุ์อื่นๆ ทั่วโลก

ธนิต - ก็ต้องดูว่าเขาจดที่ไหนนั่นประเด็นแรก อีกอย่างเขาอาจจะมีว่าให้ใช้สิทธิบัตรที่จดร่วมกันในกลุ่มนักวิจัยด้วยกัน ให้ฟรีๆ เลยก็ได้ มันก็มีข้อตกลงกันอยู่แล้วใน MOU หรือบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding)

ส่วนที่ว่ามันจะครอบคลุมต้นมะละกอลูกมะละกอนั้น จริงๆ แล้วถ้ากลุ่มนั้นแอนตี้เรื่องจีเอ็มโอ ไม่ต้องกลัวเลย เพราะถ้าเมืองไทยจะปลอดจีเอ็มโออย่างที่เขาว่า สิทธิบัตรอันนี้แทบจะไม่มีผลอะไรเลย เพราะเราไม่ได้ใช้เทคโนโลยีเขาเลย เขาไม่ได้เอามะละกอไปจดแม้แต่นิดเดียว

ที่ผมมาพูดนี่ไม่ได้ผม Pro หรือ Against จีเอ็มโอ แต่อยากให้เห็นข้อเท็จจริงตรงนี้ ว่าสิทธิบัตรเป็นเอกสารราชการ แต่อาจมีคนที่ถือสิทธิบัตรเอาไปใช้ในทางที่ผิด แต่สิทธิบัตรเองมันโอเคอยู่แล้ว ไม่ต่างจากโฉนด

ประชาไท - ในสิทธิบัตรระบุไวรัสครอบคลุมของไทยด้วย จะทำให้ไทยจดเพิ่มไม่ได้หรือไม่

ธนิต - ก็ต้องไปดูว่าเขาจดสายพันธุ์อะไร อย่างไรก็ตาม ผมนิยม appoarch ที่ค่อนข้างจะ win-win ถ้าเกิดเราคิดว่าอันนี้มันมีส่วนที่เป็นของเราด้วย เราก็ไปขอถือสิทธิร่วม หรือถ้าเขาบอกถือสิทธิร่วมไม่ได้ เราก็บอกว่าถ้าคุณจะใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ คุณก็แบ่งปันผลประโยชน์กลับมาให้เรา อันนั้นคือ win-win situation แต่ถ้าอยู่ดีๆ ไปปฏิเสธเลยก็ไม่เกิดประโยชน์

ประชาไท - ถ้าจดสิทธิบัตรในสหรัฐแล้ว เวลาจะมาจดที่เมืองไทยสามารถทำได้เลยหรือไม่

ธนิต - มันจะต้องมีอย่างที่บอกไว้ คือ การตรวจสอบ และจะต้องมีส่วนที่เรียกว่า Great Period ผมจำไม่ได้ว่ากฎหมายอเมริกาเท่าไร แต่กฎหมายไทยบอกว่า ถ้าคุณจดที่อื่นแล้ว ภายใน 1 ปีไม่รีบมาจดในเมืองไทย คุณหมดสิทธิ์ โดยนับตั้งแต่วันที่ไปยื่น ไม่ใช่วันที่อนุมัติแล้วเผยแพร่ออกมา

พอมาถึงเมืองไทย เมืองไทยก็ต้องตรวจสอบอีก ถ้าเราไม่เห็นว่ามันมีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น เราปัดตกก็ได้ ไม่ถือว่าเป็นการกีดกัน ในกฎหมายไทยมีอีกข้อด้วย ที่บอกว่าถ้าการประดิษฐ์อะไรขัดต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมไม่ได้ ถ้าเราจะเล่นแง่เล่นอะไร เรามีวิธีเยอะ ไม่ใช่ว่าเขายื่นที่อเมริกาแล้วมายื่นเมืองไทยเราจะต้องอนุมัติอัตโนมัติ ไม่จำเป็น มันมีหลายที่กรณีที่ยื่นได้ที่อเมริกา แต่แล้วไปถูกปัดตกที่ยุโรป เพราะคนตรวจสอบมันเข้มต่างกัน

และอีกอย่างหนึ่ง ในกรณีที่จดอย่างข้อ 6 ในการขอสิทธิบัตรนี้ระบุว่า trangenic plants ถ้ามาจดเมืองไทยข้อนี้จะตกทันที เพราะเมืองไทยพืชจดสิทธิบัตรไม่ได้ มันละเอียดมาก

ประชาไท - ดังนั้น อาจจะมีการผลักดันให้มีการจดสิทธิบัตรในพืชด้วยก็ได้ใช่ไหม

ธนิต - อันนั้น มันเอฟทีเอ ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่าเขาหยิบประเด็นมาถูกต้องหรือเปล่าว่า จะให้พืชจดสิทธิบัตร ว่าไปว่ามาโดยหลักการทั่วไปของการจดสิทธิบัตร เขาบอกว่าพืชที่ไม่ใช่พันธุ์พืชจดสิทธิบัตรได้ มีแต่ประเทศเราที่พืชจดสิทธิบัตรไม่ได้

ประชาไท - พืชที่ไม่ใช่พันธุ์พืชหมายความว่าอย่างไร

ธนิต - อันนี้มันซับซ้อนมาก กฎหมายสิทธิบัตรเขาบอกว่าพันธุ์พืชจดสิทธิบัตรไม่ได้ แต่กฎหมายไทยใช้คำว่าพืช ไม่ใช่พันธุ์พืช คนโดยทั่วไปคิดว่าทั้งสองอย่างนี้น่าจะเหมือนกัน แต่ในกฎหมายไม่ใช่ มันต้องไปดูนิยามว่าพันธุ์พืชแปลว่าอะไร ที่ใกล้เคียงที่สุดก็คือ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช ซึ่งมันประกอบด้วย 3 ลักษณะด้วยกัน คือต้องมีลักษณะเด่น ความคงตัว ความเสถียร จำพวกนี้

ทีนี้มันมีพืชจีเอ็มโอบางชนิดที่มันมีลักษณะเป็นพืช แต่เผอิญมันไม่เสถียร คือมันไม่สามารถถ่ายทอดลักษณะเด่นในรุ่นต่อไปได้ เขาก็บอกว่าอันนี้ไม่ใช่พันธุ์พืช

คืออย่างนี้ พืชที่พูดถึงรวมทุกสิ่งที่อย่างที่อยู่ใน อาณาจักรพืช แล้วในนั้นจะมีซับเซ็ทคือ plant variety (กลุ่มของพืช -- ผู้สัมภาษณ์) ซึ่งเขาบอกว่าต้องมีลักษณะที่คล้ายๆ กันอยู่ในกลุ่มของมัน แต่ถ้าคุณสามารถทำพืชขึ้นมาที่มีลักษณะเด่นไม่เข้าหมู่กับชาวบ้านเลย มันก็คือว่าไม่เป็น plant variety ซึ่งตรงนี้สามารถจะจดสิทธิบัตรได้

ที่จริงมีประวัติศาสตร์มายาวนานว่าทำไมเขาจึงต้องห้ามตรงนี้ ก็เพราะมันมีกฎหมายพิเศษของมัน เมืองไทยก็คือกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช แต่ไทยห้ามหมดเลย แต่เผอิญเรามีกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช

แม้กระทั่งพืชจีเอ็มโอบางอย่างที่มันสามารถเป็น plant variety ได้ พอมันเป็น plant variety ที่เป็นจีเอ็มโอ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชเอง ก็มีข้อหนึ่งที่พูดไว้ว่า พืชจีเอ็มโอที่จะจดภายใต้พ.ร.บ.ฉบับนี้ต้องผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยทางชีวภาพ

ประชาไท - เป็นจีเอ็มโอแล้วยังไปอยู่ใน plant variety ได้หรือ

ธนิต - ก็แค่สมมติว่ามันได้ คือบางทีกฎหมายมันมีพื้นที่สีเทาที่มันเลี่ยงกันได้ แต่อย่างไรก็ต้องผ่านหลายด่าน ไม่ใช่จะมาจดกันง่ายๆ พอพูดถึงจีเอ็มโอกับสิทธิบัตรเมืองไทย ตัดไปได้เลย จดไม่ได้แน่นอน แต่จีเอ็มโอกับการคุ้มครองพันธุ์พืชก็อาจจะได้ แต่ต้องผ่านความปลอดภัยทางชีวภาพก่อน

เรื่องความปลอดภัยทางชีวภาพมันมี guideline เป็น soft law อยู่ เข้าใจว่ากระทรวงทรัพฯ กำลังร่างอยู่ ซึ่งตรงนี้ก็ยังสับสนกันอยู่ อย่าง CBD (convention on biological diversity) เมืองไทยเป็น ประเทศสมาชิก CBD แล้ว ดูแลโดยกระทรวงทรัพยากรฯ และภายใต้ CBD มันมีส่วนที่เรียกว่า Biosafety Protocol ที่ตกลงกันที่คาร์ตาฮาน่า แล้วเรียก พิธีสารคาร์ตาฮาน่า ฉะนั้นก็เลยยังสับสนว่ามันจะอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวง ทรัพยากรฯ หรือไม่ เดี๋ยวขั้นต่อไปไทยก็คงต้องรับพิธีสารอันนี้ เรื่องนี้มันซับซ้อนต้องมองภาพเชิงบูรณาการให้ได้

แต่ที่เป็นอยู่ตอนนี้คือ ดึงภาพมาภาพหนึ่งแล้วทำให้เป็นประเด็นใหญ่ บางทีมันก็ใหญ่เกินควร

ประชาไท - คิดอย่างไรที่สิทธิอยากให้เมืองไทยยื่นคัดค้านการขอสิทธิบัตรของคอร์แนล

ธนิต - ต้องถามว่าอยู่บนพื้นฐานของอะไร เดี๋ยวก็จะเหมือนกรณีข้าวทั้งหลายอีก บางทีไปคัดค้านไม่ศึกษาให้ดี เพราะ เขาไม่ได้เอามะละกอไปจด ผมว่าจริงๆ มีทางออกที่สวยกว่านี้เยอะ โดยการทำความร่วมมือแล้วตกลงใช้ประโยชน์ร่วมกันดีกว่า

ประชาไท - การแพร่กระจายที่พบตอนนี้ถือว่าเราผิดข้อตกลงหรือไม่

ธนิต - มันเป็นข้อตกลงระหว่างหน่วยงานและหน่วยงาน และเขียนว่าต้องใช้ reasonable control คือต้องคุ้มครองให้ดีไม่ให้มันหลุดออกไป แต่นี้มันอาจจะ beyond reasonable control เช่น ถ้าเกิดมีกลุ่มใดหรือปัจเจกชนแอบเข้าไปตอนกลางคืนเอาไป อย่างนี้มัน beyond แล้ว เขาจะมาทำอะไรเราไม่ได้ มันต้องดูภาพรวม

เอกสารมีหลายตัว แต่เผอิญเอกสารบางตัวผมไม่ได้เห็น อย่าง MOU ก็ไม่เป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณชน ซึ่งตอนนี้ก็มีข้อเรียกร้องให้เปิดเผย ก็ต้องขึ้นอยู่กับกรมวิชาการเกษตร จริงๆ เขาก็น่าจะโอเค เราเอาของเขามาใช้ประโยชน์มันไม่ใช่แค่นี้ มันมีเทคโนโลยีอื่นๆ อีกที่ได้มา เขาก็บอกถ้ายูเอาไปใช้เป็นฟาเมอร์ก็ใช้ไปฟรีไม่ต้องแบ่งผลประโยชน์ แต่ถ้ายูเอาไปให้บริษัท ไปออกใบอนุญาต ขายให้บริษัทต้องแบ่งผลประโยชน์กัน ขั้นแรกผมจำตัวเลขไม่ค่อยได้ ถ้าไม่ผิดฝ่ายไทยได้ 90% ฝ่ายโน้นได้ 10% แต่ถ้ากรมวิชาการเกษตรจะเอาพืชจีเอ็มโอไปแจกเกษตรกรทั่วประเทศถ้ากฎหมายอนุมัติก็ไม่เกี่ยว

ประชาไท - มีการสงสัยกันว่าไทยยังไม่ได้เปิดให้ปลูกจีเอ็มโอในเชิงพาณิชย์ แต่ใน MOU มีการตกลงการไปถึงผลประโยชน์ในเชิงพาณิชย์แล้ว

ธนิต - อันนั้นเป็นเงื่อนไขในอนาคต แต่ถ้าไม่ไม่เกิดขึ้นก็คือไม่เกิด มันสามารถทำได้ และในเอ็มโอยูไม่เคยบังคับว่าเราจะต้องไปใช้ในเชิงพาณิชย์ มันอยู่ที่การตัดสินใจของเรา ในส่วนที่เขาต้องกังวลคือบริษัทที่ส่งออกฟรุตคอกเทลทั้งหลายที่ต้องยุ่งยากในการตรวจสอบมากขึ้น แต่โดยตัวเกษตรกรเอง ด้วยข้อมูลเท่าที่รู้ ตอนนี้แค่บริโภคในประเทศก็ยังไม่พอ ฉะนั้นไม่ต้องเดือนร้อนอะไรเลย อีกอย่างหนึ่ง มันก็อีกนานกว่าจะทำเป็นการค้าได้ เพราะกฎระเบียบก็ยังไม่ให้อยู่ดี

ประชาไท - แสดงว่ากระทบต่อภาคการส่งออกชัดเจน

ธนิต - เรื่องส่งออก ที่เราคุยกันไว้ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เราได้ฟรีเลยนะ ส่งออกได้เลย แต่ถ้าจะส่งออกไปที่อื่นเขาก็บอกว่าคุยกับเขาเสียหน่อยหนึ่ง แล้วตกลงแบ่งปันผลประโยชน์กันหน่อยหนึ่ง

สมมติมีบริษัทส่งออกผลไม้กระป๋องไทยต้องการจะส่งออกไปอเมริกา เขาก็ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่ามะละกอที่จะส่งไม่ใช่มะละกอพันธุ์นี้ ซึ่งก็เป็นภาระของเขาที่ต้องตรวจสอบ

ผมก็ใกล้ชิดนักวิจัยด้วย รู้ว่าเขาก็ใช้เวลานานกว่าจะได้เทคโนโลยีนี้ขึ้นมา แล้วอยู่ดีๆ จะเอาของเขามาใช้โดยไม่แบ่งปันผลประโยชน์ผมก็ว่ามันไม่แฟร์ ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าต้องแบ่งผลประโยชน์กันบนพื้นฐานความเป็นธรรม ซึ่งไปดูได้เลยในโลกนี้ นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ได้ไม่เยอะได้น้อยมาก

ประชาไท - มีการเชื่อมโยงเรื่องสิทธิบัตรกับมอนซานโต้และไอซ่าด้วย

ธนิต - ยิ่งไปกันใหญ่ ซึ่งมันก็ไม่เกี่ยวกับผม เผอิญก็มีไอซ่าที่เคยให้ทุนหน่วยงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปฝึกเรื่องการจัดการทรัพย์สินทางปัญญา และผมเป็นคนแรกที่ได้ไปฝึก เขาก็อาจจะพูดโดยอ้อมๆ ว่าผมเกี่ยวกับมอนซานโต้ ไม่เกี่ยว ไม่รู้เรื่องเลย แต่ถามว่ารู้จักคนที่มอนซานโต้ที่นี่ไหม ก็รู้จักกันอยู่ เพราะอยู่ในแวดวงไบโอเทคเหมือนกัน

ผมไปฝึกที่นู่นแล้วได้ความรู้มา มาทำให้ความเข้มแข็งในการต่อรองกับบริษัทใหญ่ๆ เพิ่มขึ้นเสียด้วย เมื่อก่อนเราก็เซ็นสัญญาต่างๆ ได้เลย เดี๋ยวนี้เรารู้จักต่อรองเอาอะไรให้เยอะกว่านั้น บางทีก็ไม่ได้ดูเนื้อในกันว่าทำอะไรบ้าง ตรงนั้นเป็นอันตราย

ประชาไท -สรุปสั้นๆ ว่าสิทธิบัตรทั้ง 3 ฉบับทั้งที่จดแล้วและกำลังยื่นขอ จะไม่ส่งผลกระทบอะไรกับเกษตรกรไทย

ธนิต - ไม่กระทบ โดยเฉพาะภายใต้ MOU และโดยเฉพาะเกษตรที่ทำมะละกอเพื่อบริโภคภายในประเทศยิ่งไม่กระทบเลย แต่ถ้าเป็นบริษัทอุตสาหกรรมส่งออกที่อาจจะส่งมะละกอไปอเมริกาที่ไม่ใช่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็อาจจะมีแต่นิดเดียว หรืออาจไม่มีผลกระทบเลย ถ้ามะละกอนั้นไม่ใช่ตัวที่จดสิทธิบัตรแล้ว

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท