Skip to main content
sharethis

ศูนย์ข่าวภาคใต้-21 ก.ย.47 เมื่อวันที่ 20 - 21 ก.ย. ที่ผ่านมา ที่โรงแรมเจบี อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับวิทยาลัยสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดสัมมนาโครงการจัดทำข้อเสนอแนะการปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรีเรื่องการกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำที่สำคัญของประเทศไทย

นายกิตติชัย ดวงมาลย์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผย "ประชาไท" ว่า ขณะนี้หลายเห็นว่า มติคณะรัฐมนตรีเรื่องการกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำสำคัญของประเทศไทย เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2528 เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ประกอบกับสถานการณ์ต่างๆ เปลี่ยนไป จึงมีแนวคิดเสนอให้ยกเลิกมติดังกล่าว เพื่อให้การจัดการทรัพยากรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นายกิตติชัย กล่าวว่า เดิมมีการแบ่งชั้นคุณภาพลุ่มน้ำออกเป็น 5 ชั้น ประกอบด้วย ชั้น 1A ป่าต้นน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ ชั้น 1B เป็นป่าต้นน้ำแต่มีสภาพป่าที่ไม่สมบูรณ์มากนัก ชั้น 3 พื้นที่ทำเกษตรของชาวบ้าน ชั้น 4 พื้นที่สำหรับปลูกพืชไร่ ชั้น 5 พื้นที่ปลูกข้าวหรือพื้นที่ราบ ซึ่งเดิมห้ามมิให้เข้าไปเปลี่ยนแปลงสภาพป่า 1A ที่มีความอุดมสมบูรณ์ แต่พบว่ายังมีการละเมิด เช่น การเข้าไปทำกินของชาวบ้าน หรือบุกรุกในลักษณะอื่นๆ

นายกิตติชัย กล่าวต่อไปว่า การสัมมนาครั้งนี้ จึงได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อทบทวนมาตรการด้านต่างๆ และร่วมเสนอทางออกให้กับภาครัฐในการกำหนดทิศทางการใช้ทรัพยากร จากนั้น จะสรุปนำเสนอ สผ. เพื่อนำเข้าพิจารณาในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ใช้ประกอบการกำหนดกรอบการดำเนินการใหม่ต่อไป

นางสาลี โชติรัตน์ ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ปากแจ่ม (เทือกเขาถ้ำแรด) อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง เปิดเผย "ประชาไท" ว่า ในการประชุมกลุ่มย่อย ที่มีตัวแทนชาวบ้าน ผู้ประกอบการ และข้าราชการ มีผู้ประกอบการคนหนึ่งเสนอให้ตัดไม้ในป่าอนุรักษ์ได้ เพราะเก็บไว้ก็เสียประโยชน์ ที่หนักกว่านั้น มีข้าราชการผู้หนึ่งเสนอให้ลดขั้นตอนการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ วัตถุประสงค์ของโครงการฯ นี้ คือ การเปิดช่องทางให้นายทุนเข้าไปทำลายทรัพยากรได้สะดวกขึ้น

หนึ่งในผู้ชำนาญการ สผ. ระบุว่า โครงการจัดทำข้อเสนอแนะการปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรีเรื่องการกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำที่สำคัญของประเทศไทย มีจุดประสงค์ต้องการลดขั้นตอนการทำ EIA เนื่องจากในอนาคต จะมีการเข้าไปใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ในพื้นที่ในลุ่มน้ำชั้น 1A ซึ่งจะต้องทำ EIA เสนอให้คณะผู้ชำนาญการเฉพาะด้านพิจารณาอย่างละเอียดครอบคลุมทุกด้าน ซึ่งเป็นเรื่องยางยากสำหรับผู้ประกอบการ

ขณะเดียวกัน บรรดาเจ้าของประทานบัตรเหมืองแร่ที่หมดอายุ จะต้องขอประทานบัตรใหม่ ซึ่งมีขั้นตอนยุ่งยาก จึงต้องการให้ปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรี เพื่อให้การดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ สะดวกขึ้น

ณขจร จันทวงศ์
ศูนย์ข่าวภาคใต้รายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net