Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

นโยบายพรรคการเมือง :
ต้นตอวิกฤตการศึกษา ?

หลังจากที่พรรคไทยรักไทยได้รับเลือกเข้ามาเป็นรัฐบาล ก็ได้ดำเนินนโยบายตามที่ได้ประกาศไว้ตอนหาเสียง หนึ่งในนโยบายนั้นคือการปฏิรูปการศึกษา แผนและโครงการต่างๆ ถูกนำมาใช้ในแต่ก็ไม่สามารถที่จะเป็นไปได้อย่างที่คาดหมาย รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการถูกเปลี่ยนตัวจนดูเป็นเรื่องธรรมดา แต่ก็ไม่อาจสนองให้เป็นไปตามเป้าหมายที่นายกรัฐมนตรีได้วางไว้ หลายคนจึงเริ่มตระหนักว่าเรื่องการศึกษานั้นไม่ใช่ปัญหาเล็ก เพียงเปลี่ยนตัวบุคคลหรือตัวระบบการบริหารแล้วจะสามารถแก้ไขได้ แต่เป็นปัญหาใหญ่ที่ถึงขั้นวิกฤต

ปัญหาการศึกษานั้นเป็นสิ่งที่มีรากฐานของปัญหาที่ถูกถ่ายทอดกันมาจากยุคสู่ยุค จากรากฐานถึงจุดสูงสุดของโครงสร้างการศึกษาของไทย หากมองย้อนกลับไปในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา คือรัชการที่ ๕ ในยุคที่การล่าอาณานิคมกำลังเฟื่องฟู แม้ว่าประเทศสยามจะไม่ได้ตกเป็นอาณานิคมของประเทศใด แต่อิทธิพลทางความคิดกลับถูกครอบงำจากประเทศตะวันตก เยาวชนรุ่นใหม่หลายคนในยุคนั้นถูกส่งไปเรียนในต่างประเทศ หลังจากนั้นฐานความคิดทางวิทยาศาสตร์ก็เข้ามามีบทบาทในการศึกษาของไทย การศึกษาในระบบเก่านั้นถูกละทิ้งทั้งหมดและถูกตราว่าล้าสมัย การศึกษาของไทยจึงเปลี่ยนไปเป็นการศึกษาจากตะวันตกทั้งระบบ โดยไม่มีการรักษาส่วนดีของระบบเก่าไว้เลย

แล้วกลุ่มคนที่จะมาขับเคลื่อนกำหนดนโยบายด้านการศึกษาของประเทศ ได้มองถึงทิศทางการพัฒนาอุดมศึกษาของไทยไว้เช่นไร

ในเวทีประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ที่ปีนี้มหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นเจ้าภาพได้มีการเชิญตัวแทนจากพรรคการเมือง 3 พรรค คือ ไทยรักไทย ประชาธิปัตย์ และ มหาชน มาอภิปรายกลุ่ม ในเรื่อง" แนวนโยบายพรรคการเมืองต่อการพัฒนาระบบการศึกษาไทย"
ดร.วิชัย ตันศิริ ส.ส.ระบบบัญชีราชชื่อจากพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า ประชาธิปัตย์มุ่งขยายโอกาสทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษาจากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 50 พัฒนามหาวิทยาลัยของรัฐให้เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยมากขึ้น และเพิ่มสัดส่วนของมหาวิทยาลัยเอกชน ขยายฐานวิทยาลัยชุมชนให้พัฒนาเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัย จัดระบบการเรียนการสอนด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เน้นการเรียนที่น้อยวิชาแต่เน้นในทางลึกให้เข้าใจตนเอง สังคม และอุดมการณ์ของมนุษยชาติและที่สำคัญจะผลักดันให้มีองค์กรที่ทำหน้าที่พิจารณางบประมาณเพื่อการศึกษาที่เข้าใจจุดที่ต้องพัฒนาอย่างแท้จริง

ด้านนายอภิชาติ ทองอยู่ โฆษกพรรคมหาชนกล่าวว่า พรรคจะให้เด็กยากจนเรียนฟรีจนถึงปริญญาตรี แต่ต้องกำหนดคุณภาพของสถานศึกษาใหม่ เพื่อลบความเหลื่อมล้ำในสังคม และจะยกเลิกการบังคับมหาวิทยาลัยออกนอกระบบเพราะถือว่าเป็นแนวคิดที่ไม่ให้เสรีภาพทางวิชาการ และจะต้องพัฒนาการศึกษาของท้องถิ่นให้เชื่อมโยงกับโลกาภิวัฒน์โดยผูกติดกับเสรีภาพและความรับผิดชอบ

"ผมว่าการบริหารประเทศทุกวันนี้ไม่ได้ใช้สหวิทยาการเลย เพียงแต่ใช้ทักษะการบริหารธุรกิจศาสตร์เดียวเท่านั้น ซึ่งอันตรายมากๆ"

โฆษกพรรคมหาชนยังประกาศว่าจะให้สิทธิพิเศษด้านภาษีแก่บุคลากรทางการศึกษา ปรับโครงสร้างเงินเดือนและสวัสดิการใหม่ด้วย

ขณะที่นายพีระพันธ์ พาลุสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวว่า การปรับปรุงมหาวิทยาลัยให้คล่องตัวในรูปแบบกำกับของรัฐ ได้รับการตอบรับจากแทบทุกมหาวิทยาลัย เพราะขณะนี้ทุกมหาวิทยาลัยจะเร่งรัดถามความคืบหน้าในการออกนอกระบบทั้งสิ้น ซึ่งรัฐบาลก็จะต้องเดินหน้าในแนวทางนี้ต่อไปเมื่อได้เป็นรัฐบาลในสมัยหน้า และจะเร่งสร้างวิทยาลัยชุมชนในพื้นที่ที่ไม่มีมหาวิทยาลัยด้วย และจะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของเอเชีย ซึ่งจะต้องออกนอกระบบราชการและการใช้เทคโนโลยีในการศึกษา

แต่หากมองในทัศนะของ อาจารย์เสน่ห์ จามริก นักวิชาการอาวุโสที่ได้กล่าวในเวทีเดียวกันในก่อนหน้านี้ว่า "วิกฤตสังคมนั้นเกิดจาก ปัญหาวิชาการ และการศึกษา ในฐานความรู้ เป็นปัญหาจากความคิดอ่านในอดีต จนไม่สามารถที่จะแก้ไขได้จนถึงปัจจุบัน" มีตัวอย่างมากหลายที่แสดงให้เห็นถึงการรับความรู้จากต่างชาติมาทั้งดุ้น โดยไม่มองมิติทางประวัติศาสตร์ที่มีมาแต่เก่าก่อน

ในช่วงแผนพัฒนาฉบับที่ 1 ปี 2504 -2509 สิ่งที่เรียกว่า "โอกาศทางการศึกษา" ได้แผ่ขยายไปทั่วราชอาณาจักร โดยเฉพาะในระดับ อาชีวะศึกษา และอุดมศึกษาซึ่งสอดคล้องเป็นอย่างดีกับแนวคิดทางการศึกษาที่ว่ากำลังคนอันเป็นที่ต้องการทางเศรษฐกิจ มักจะตกอยู่กับผู้ที่จบการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลาย อาชีวะ หรือมหาวิทยาลัย แผนกำลังคนจึงควรมุ่งสู่ระดับเหล่านี้ ในช่วงดังกล่าวมหาวิทยาลัยถูกตั้งในภูมิภาคต่างๆของประเทศ ควบคู่กับแผนพัฒนาเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม ปริมาณนักศึกษามีจำนวนมากขึ้นทุกขณะ และมีการตอกย้ำเสมอในเรื่อง "ความเป็นเลิศทางวิชาการ" กระแสความเคลื่อนไหวทางการศึกษาและงานวิจัย ก็เป็นไปเพื่อ "กำลังคนอันเป็นที่ต้องการทางเศรษฐกิจหรือเพื่อสนองต่อความต้องการกำลังคนของภาคธุรกิจอุสาหกรรม"

ทุกมหาวิทยาลัยต่างจัดระบบความรู้ตามแบบจำลองที่มาจากมหาวิทยาลัยยุคใหม่ในตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา ที่มีการแบ่งแยกความรู้ออกเป็นแขนงวิชาต่างๆแล้วจัดโครงสร้างหลักสูตร การเรียนการสอนและงานวิจัยให้แยกห่างจากกันโดยสิ้นเชิง

ในปัจจุบันนี้ระบบการศึกษาของไทยในระดับประถมและมัธยม ต้องเข้าเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมลอกเลียนและพึ่งพาระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งอิงอยู่กับกระแสความรู้จากกระแสอุตสาหกรรม ระบบการเรียนแบบ "ท่องจำ" ถูกปลูกฝังไว้อย่างเป็นธรรมชาติในการศึกษาของไทย

ในกระแสโลกาภิวัตน์ คุณค่าและคุณภาพของบรรดาการศึกษาวิจัยทั้งหลาย รวมทั้งนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญไม่ได้ให้อะไรที่เป็นการสร้างสรรค์ความรู้ใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำวิทยานิพนธ์ระดับสูงในต่างประเทศ ผู้ทำงานวิจัยมีความเป็นอิสระเพียงใด จากโลกทัศน์หรือกรอบความคิดของอาจารย์ที่ปรึกษา

เมื่อการศึกษาในระดับอุดมศึกษานั้นถูกอิงด้วยกลุ่มตลาด ทิศทางของหลักสูตรการศึกษาจึงมุ่งไปในทิศทางเดียวกัน รศ.ดร.สมพงษ์ สุอังคะวาทิน จิตประดับ กล่าวว่า "มหาวิทยาลัยในประเทศไทยนั้นไปในทิศทางเดียวกัน ในอนาคตคณะในการเรียนนั้นจะลดลง คณะที่ไม่สามารถทำเงินนั้นจะถูกปิด อุดมการณ์และความหลากหลาย จะหายไป ด้วยกรอบที่ถูกกำหนดขึ้นจากงบประมาณ วิธีปฏิบัติ และกรอบของกฎหมาย" แล้วสุดท้ายมหาวิทยาลัยก็จะกลายเป็นพิมพ์เดียวกัน บัณฑิตที่จบออกมาจะเหมือนกัน มหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง ก็จะมีความแตกต่างกันยเพียงชื่อและเวลาในการก่อตั้งเท่านั้น พ่อแม่ส่งลูกเรียน หวังที่จะให้ลูกเป็นผู้นำ

"ให้ลูกเรียนเพราะไม่อยากให้ลูกเป็นควาย แต่สุดท้ายก็มาเป็นควายที่ตกงาน เพราะทำอะไรก็ไม่เป็น"

ซึ่งทำให้เข้าใจได้ว่านโยบายของพรรคการเมืองที่นำเสนอมาเหล่านี้เองที่เป็นส่วนหนึ่งในวิกฤต เพราะพรรคการเมืองที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนทิศทางการศึกษา ต่างมีเป้าหมายในทิศทางเดียวกันคือการผลิตบุคลากรเพื่อนำไปให้กับภาคธุรกิจในการต่อสู้แข่งขันกับตลาดโลก โดยลืมอุดมการณ์ หรือกล่าวถึงก็เป็นในอุดมคติที่ไม่มีรายละเอียดมากพอที่จะเห็นความเอาจริงในการผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลง

และหลังจากนี้การศึกษาของไทยจะเป็นอย่างไรเมื่อนโยบายการศึกษานั้นถูกจะเปลี่ยนมือกันโดยพรรคการเมืองต่างๆ จนขาดความต่อเนื่องส่วนทิศทางในการพัฒนานั้นบิดเบี้ยวไปตามการจัดการของพรรคการเมือง

โครงการความร่วมมือด้านข่าวภูมิภาค
พลเมืองเหนือ-ประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net