กรรมกรชุมนุมใหญ่ดันค่าแรงขั้นต่ำ

ศูนย์ข่าวภาคใต้ -- 16 ก.ย. 2547 สมาพันธ์แรงานรัฐวิสาหกิจจับมือสหภาพแรงงาน นัดชุมนุมใหญ่ 14 ตุลานี้ เรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำ 200 บาททั่วประเทศ ยกเลิกอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด - ลิ่วล้อนายจ้าง

นายสมศักดิ์ โกศัยสุข ประธานสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ เปิดเผยกับ "ประชาไท" ว่า วันที่ 14 ตุลาคม 2547 นี้สมาพันธ์สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจจะร่วมมือกับสหภาพแรงงานภาคเอกชนชุมนุมผลักดันให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 200 บาททั่วประเทศ ส่วนอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดนั้น ควรจะยกเลิกไปตั้งนานแล้วเพราะอนุกรรมการฝ่ายลูกจ้างส่วนใหญ่เป็นคนของนายจ้าง

"การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันทั้งประเทศจะแก้ปัญหาการหลั่งไหลเข้าส่วนกลางของบรรดาผู้ใช้แรงงานขณะเดียวกันปัจจุบันไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนค่าครองชีพก็เท่ากันหมดแล้ว" นายสมศักดิ์ กล่าวและเสริมว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ให้ค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันหมด และแรงงานที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดารยังได้รับสวัสดิการพิเศษด้วย

ด้านแรงงานรัฐวิสาหกิจนั้น นายสมศักดิ์ เปิดเผยว่าได้เสนอต่อรัฐบาลให้ปรับเงินอัตราเงินเดือนขั้นต่ำเป็น 7,000 บาท สำหรับผู้ที่เงินเดือน 7,000 บาทอยู่แล้ว ให้ปรับเพิ่มเป็น 10,000 บาท แต่ขณะนี้รัฐบาลยังไม่ได้นำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ประธานกลุ่มพันธมิตรสหภาพแรงงานประชาธิปไตยกล่าวว่า ได้ยื่นข้อเสนออัตราค่าแรงขั้นต่ำ 200 บาทเท่ากันทั้งประเทศ ต่อนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างกลางไปเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2547

สำหรับอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดที่องค์กรแรงงานต้องการให้ยุบเลิกนั้น เกิดจากปี 2540 องค์กรการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก เสนอให้ยกเลิกอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ แต่ผู้ใช้แรงงานต่อต้าน
ที่สุดรัฐบาลจึงกำหนดให้มีคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด ประกอบด้วยฝ่ายนายจ้าง 5 คน ฝ่ายลูกจ้าง 5 คน และฝ่ายรัฐบาล 5 คนเพื่อพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำเสนอคณะกรรมการค่าจ้างกลาง แต่ที่ผ่านมาปรากฏว่าอนุกรรมการฝ่ายลูกจ้างไม่ได้เป็นผู้ใช้แรงงานจริงๆ การพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำ จึงเอนเอียงเข้าข้างฝ่ายนายจ้าง
ตัวอย่างเช่น ปีที่ผ่านมา มีจังหวัดที่ไม่เสนอให้เพิ่มค่าแรงขันต่ำ 20 จังหวัด บางจังหวัดเสนอให้เพิ่มแค่ 1 บาท

บรรดาองค์กรแรงงานได้เคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น200 บาท มาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรียกร้องเกี่ยวกับสวัสดิภาพแรงงานที่ยังคั่งค้างอยู่ เช่น กองทุนประกันสังคมที่ผู้ใช้แรงงานได้รับประโยชน์น้อยมาก

ณขจร จันทวงศ์
ศูนย์ข่าวภาคใต้รายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท