Skip to main content
sharethis

ประชาไท- 14 ก.ย. 47 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติร่วมกับคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นเพื่อจัดทำข้อเสนอในการยกร่างกฎหมายว่าด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว 4 ครั้งคือ เชียงใหม่ ขอนแก่น หาดใหญ่ และกทม. โดยแลกเปลี่ยนในประเด็นต่างๆ ซึ่งพิจารณาจากร่างพ.ร.บ.การมีส่วนร่วมของประชาชนฉบับของกฤษฎีกา

นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สว.กทม. กล่าวว่าหลักการกว้างๆ ของการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้น ต้องมีในทุกส่วนไม่ใช่แค่การเลือกตั้งเหมือนที่คนทั่วไปเข้าใจ และต้องคิดวิธีการที่มากกว่าการทำประชาพิจารณ์ด้วย เนื่องจากการจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นของคณะกรรมการสิทธิ์ฯยังเน้น
เฉพาะการทำประชาพิจารณ์

"วัฒนธรรมแห่งอำนาจของไทยมองประชาชนไม่เท่ากัน เพราะยังมองว่าประชาชนไม่รู้เรื่อง ไม่มีข้อมูลจึงมีส่วนร่วมไม่ได้ แต่ไม่พยายามให้ข้อมูลและไม่เปิดโอกาสให้ การจัดทำกฎหมายจึงสามารถช่วยได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น" นายเจิมศักดิ์ กล่าว

นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท คณะทำงานเครือข่ายผู้หญิงกับรัฐธรรมนูญ กล่าวว่าสิ่งสำคัญคือการสร้างความเข้าใจในการมีส่วนร่วมของประชาชนว่าเป็นยุทธศาสตร์หรือเป็นแค่เพียงวิธีการ ควรมีการฝึกอบรมรณรงค์ส่วนราชการในเรื่องแนวคิดการเคารพประชาชนภายใน 2 ปีเพราะถือว่าเป็นประเด็นเร่งด่วน

นอกจากนี้เสนอให้ยกเลิกมาตรา 14 ในร่างพ.ร.บ.ฯฉบับกฤษฎีกาเนื่องจากมีการกำหนดว่าหากเป็นเรื่องเร่งด่วนให้อำนาจรัฐบาลตัดสินใจได้เลย ซึ่งอาจจะเป็นช่องทางในการอ้างเพื่อดำเนินโครงการได้และเป็นการให้อำนาจกับรัฐบาลที่ไม่เคยมีมาก่อนจึงไม่ควรมีข้อยกเว้นไว้

นายจรวย เพชรรัตน์ จากจังหวัดสงขลา กล่าวว่าการตัดสินใจที่ผ่านมาของภาครัฐมักจะละเลยประเด็นทางสังคม ดังนั้นจึงอยากให้มีการส่งเสริมในเรื่องข้อมูล เช่น การทำวิจัย เนื่องจากประสบการณ์จากการทำประชาพิจารณ์จะมีการนำผลการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม(EIA)มาพิจารณาแต่ก็พบกับความล้มเหลวมาโดยตลอด เพราะเจ้าของโครงการสามารถบีบบังคับให้ผลการศึกษาเป็นไปในแนวทางที่ต้องการ ดังนั้นการโต้แย้งจึงควรมีข้อมูลทั้ง 2 ฝ่าย จึงควรมีกองทุนในการสนับสนุนให้มีนักวิชาการและชาวบ้านในการทำข้อมูลออกมาโต้แย้งกันอย่างสมดุล

รายงานโดย : ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว
ศูนย์ข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net