Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

นักเรียนตีกัน: การต่อต้านของเยาวชน

โครงการข่าวสารทิศทางประเทศไทย
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) (www.trf.or.th)

สถานการณ์ในประเทศ

1. กรณีนักเรียนตีกันและพฤติกรรมต่อต้านอื่น
การที่ผู้ใหญ่บ่นและกังวลถึงพฤติกรรมเยาวชนวัยรุ่นนั้น ปรากฏมานานนับพันปีในนครใหญ่ ปัจจุบัน เมืองได้กลายเป็นการตั้งถิ่นฐานหลักของโลก ปัญหาของเยาวชนดูมีมากและรุนแรงขึ้น ในรอบเดือนสิงหาคม ปรากฏข่าว และการแสดงทัศนะเกี่ยวกับนักเรียนโดยเฉพาะนักเรียนอาชีวศึกษาตีกันหรือลอบทำร้ายกันจนบาดเจ็บล้มตายกันอย่างต่อเนื่องกว้างขวาง ในหลายมิติ การจัดการของภาครัฐมีแนวโน้มไปสู่การจัดระเบียบให้เคร่งครัดขึ้น แต่สภาพความเป็นจริงซับซ้อนกว่านั้น อาจกล่าวได้ว่า พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของเยาวชนวัยรุ่นที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ตามรายงานของกองบัญชาการตำรวจนครบาล ระบุว่าระหว่างเดือนตุลาคม 2546 - สิงหาคม 2547 มีเหตุการณ์ตีกันรวมถึงกว่า 3 พันครั้ง เป็นสิ่งสะท้อนความป่วยไข้บางประการหรือกระทั่งโดยพื้นฐานของสังคม

สถานการณ์ แนวโน้มและบทเรียนบางประการ อาจสรุปได้ดังนี้
1) กรณีเยาวชนวัยรุ่นในวัยเรียนยกพวกตีกันระหว่างสถาบันหรือระหว่างคณะมีมานานแล้ว เมื่อหลายสิบปีก่อน มีการตีกันตั้งแต่ระดับโรงเรียนไปจนถึงมหาวิทยาลัย ปัจจุบันมีมากอยู่แต่ในระดับอาชีวศึกษา เป็นลักษณะเฉพาะที่คงมีเหตุปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง สาเหตุตีกันนั้น ในสมัยก่อนมักเนื่องจากการแข่งขันกีฬา ปัจจุบัน โอกาสการชุมนุมรวมกลุ่มในที่สาธารณะมีหลายรูปแบบกว่า การตีกันนั้นมักเนื่องด้วยการเที่ยวเตร่หาความสำราญเป็นสำคัญ เช่นการชมคอนเสิร์ต การแสดง งานตามโรงเรียน หรือตามห้างสรรพสินค้า รวมร้อยละ 78 ที่เนื่องด้วยการกีฬาเหลือเพียงร้อยละ 16 (ผลการสำรวจดุสิตโพลล์ 4 ก.ย. 47)

2) การยกพวกตีกันนี้ แม้ว่าจะมาจากการรวมกลุ่มในเหตุการณ์ที่แตกต่างกัน เมื่อเทียบปัจจุบันกับในอดีต ก็ดูจะมีสาเหตุหลักเหมือนกัน ได้แก่ การรักษาหรือป้องกันศักดิ์ศรีของสถาบัน รวมทั้งของเพื่อนฝูง และจากระบบอาวุโสในสถานศึกษา ซึ่งรวมแล้วเป็นร้อยละ 80 ของสาเหตุทั้งหมด (ผลการสำรวจดุสิตโพลล์, อ้างแล้ว) เป็นที่น่าสนใจว่าเหตุใดในช่วงเวลายาวนานถึง 50 ปี จึงยังคงมีบรรยากาศและค่านิยมนี้ดำรงอยู่

3) การยกพวกตีกันของนักเรียนระหว่างสถาบัน จัดว่าเป็นลักษณะเฉพาะของความรุนแรงในหมู่เยาวชนวัยรุ่นของไทย มีปัญหาความรุนแรงในหมู่เยาวชนวัยรุ่นทั่วโลก รวมทั้งในประเทศพัฒนาแล้ว สหรัฐเป็นประเทศหนึ่งที่มีปัญหาความรุนแรงในเยาวชนวัยรุ่นสูงมาก มีทั้งการเสพติดและการค้ายาเสพติด การก่ออาชญกรรม การฆ่าคน ความรุนแรงในสถานศึกษา ไปจนถึงการตั้งแก๊งค์ก่อกวนชุมชนสังคม แต่ไม่ปรากฏข่าวการยกพวกตีกันของนักเรียนระหว่างสถาบัน ในประเทศญี่ปุ่นปัญหาความรุนแรงในหมู่เยาวชนก็พุ่งสูงขึ้น สถิติทางการ พบว่าอาชญากรรมวัยรุ่นได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 47 ในปี 2003 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา อายุผู้ที่กระทำผิดก็น้อยลง เป็นเหตุให้เมื่อปี 2001 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ลดเกณฑ์อายุอาชญากรวัยรุ่นจาก 16 ปีเหลือ 14 ปี วิเคราะห์กันว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นจากความเครียดของเยาวชนในท่ามกลางการพัฒนา (Jointogether.org. 120804) บ้างวิเคราะห์ว่า เป็นอาการป่วยของสังคมญี่ปุ่นที่มีลักษณะเด่น 3 ประการ ได้แก่ การเสพติด การบังคับเข้มงวด และการทำร้ายตนเอง (Worldpress.org เมษายน 2004)

4) เป็นที่สังเกตว่า กลุ่มนักเรียนอาชีวะเป็นอาณาบริเวณซึ่งชนชั้นนำไทย เคยเข้ามาจัดตั้งเพื่อต่อต้านขบวนการนักเรียน นิสิต นักศึกษา หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่ได้มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องทางด้านประชาชาติ ประชาธิปไตยและความเป็นธรรมในสังคมมากขึ้น นี่อาจเป็นคำอธิบายอีกข้อหนึ่งว่า เหตุใดความติดยึดในสถาบันการศึกษาและระบบอาวุโส จึงยังคงมีสูงในสถาบันอาชีวศึกษา อนึ่ง เรื่องของสถาบันนี้มักแปรเป็นเชิงสัญลักษณ์ สำหรับในปัจจุบันดูจะ ได้แก่ "เสื้อช็อปและหัวเข็มขัด" ซึ่งก็คือเครื่องแบบ การยึดถือเครื่องแบบและศักดิ์ศรีของเครื่องแบบนี้ ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในนักเรียนอาชีวะเท่านั้น แท้จริงปรากฏทั่วไปโดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีอำนาจ เช่นทหาร ตำรวจ จนอาจกล่าวได้ว่า สังคมไทยมีวัฒนธรรมนิยมเครื่องแบบและศักดิ์ศรีเครื่องแบบ แม้มีข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาการตีกันของนักเรียนอาชีวะที่ปรากฏบ่อย ปฏิบัติง่าย เสียค่าใช้จ่ายน้อย และน่าจะมีผลในทางปฏิบัติสูงอยู่ 2 ข้อได้แก่ (1) การยกเลิกเครื่องแบบ (2) การยกเลิกระบบอาวุโส รุ่นพี่สั่งรุ่นน้อง แต่ก็ดูจะปฏิบัติได้ยากในวัฒนธรรมนิยมเครื่องแบบ

5) มีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะมีการรื้อฟื้นกลุ่มนักเรียนอาชีวะเพื่อต่อต้านขบวนการนักเรียนนักศึกษาอย่างที่เคยเป็นมาก่อน ความเป็นไปได้นี้มีอยู่ แต่แนวโน้มน่าจะเป็นว่า การปฏิบัติทางเครื่องแบบและระบบอาวุโส ที่กระทำมานานได้เผาผลาญตนเอง จนอ่อนแรงลง และเปิดทางให้แก่การจับกลุ่มของหมู่เยาวชนวัยรุ่น และสร้างวัฒนธรรมกลุ่มของตนเข้ามาแทนที่โดยลำดับ ดังที่ได้เริ่มปรากฏขึ้นแล้ว

6) นโยบายการบริหารและความรุนแรงในสถาบันการศึกษา การศึกษาที่รัฐบาลต่างๆจัดขึ้นทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยมีหน้าที่อยู่อย่างหนึ่ง นั่นคือ การนำเด็กและเยาวชนเข้าสู่สังคมในฐานะพลเมืองดี หรือยอมรับค่านิยมของสังคมโดยดี สำหรับสังคมไทยวิเคราะห์ว่ามีค่านิยมแบบอำนาจนิยม เท่ากับสอนเด็กและเยาวชนให้เป็นคนหัวอ่อน ยอมรับผู้มีอำนาจ กล่าวโดยรวมทำให้เด็กเป็นเด็ก ไม่บรรลุวุฒิภาวะทางอารมณ์อย่างเหมาะสม สภาพเช่นนี้ ขัดแย้งกับภาวะแวดล้อม เช่น ในกรุงเทพฯที่เป็นเมืองใหญ่ มีประชากรอยู่อย่างหนาแน่น มีกิจกรรมต่างๆและสินค้าสำหรับการบริโภคมาก ปรากฏการณ์นี้ก่อให้เกิดความรุนแรงในสถาบันการศึกษา เช่น ครูบังคับขู่เข็ญนักเรียน นักเรียนรังแกกันทั้งแบบปัจเจกและที่สำคัญรวมกันเป็นกลุ่ม การบริหารโรงเรียนหลายแห่งนิยมใช้ระบบอาวุโส เพื่อให้เด็กดูแลกันเอง เป็นการผ่อนภาระของครูอาจารย์ ซึ่งอาจกลายเป็นการส่งเสริมนักเรียนให้จับกลุ่มตีกันได้โดยไม่ได้เจตนา

มีข้อเสนอแนะบางประการในการปรับปรุงหรือแก้ไขสภาพดังกล่าว ได้แก่ (1) เปิดประชาธิปไตยในโรงเรียนตามความเหมาะสม เช่นในครั้งก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม นักเรียนได้ร่วมกันก่อตั้งสภานักเรียนขึ้น (2) ส่งเสริมให้นักเรียนนิสิตนักศึกษาทำกิจกรรมสร้างสรรค์ เช่น กิจกรรมทางวิชาการหรือที่ก่อประโยชน์ต่อสาธารณะ (3) การศึกษา เฝ้าระวังและระงับเหตุความรุนแรงตั้งแต่ต้น แลกเปลี่ยนผลการศึกษาและประสบการณ์ในเรื่องนี้อย่างสม่ำเสมอ (4) เพิ่มความสนใจให้แก่การศึกษาระดับนี้ ไม่ปล่อยให้เกิดภาพลักษณ์ว่า เป็นการศึกษาของกลุ่มที่ถูกกีดกันอยู่ภายนอก

7) ความรุนแรงในครอบครัวและสังคม สื่อมวลชน มีผลการศึกษาทั้งของไทยและต่างประเทศตรงกันอยู่ว่า ความรุนแรงในครอบครัวมีสูงกว่าและมีผลกระทบมากกว่าที่คิด หรือที่วาดฝันเรื่องบ้านแสนสุขอย่างมาก ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง ได้แก่ สตรีและเด็ก ซึ่งทำให้เด็กและเยาวชนคุ้นกับความรุนแรง ในสังคมก็มีแนวโน้มสู่ความรุนแรงเพิ่มขึ้น มีการเผยแพร่วัฒนธรรมความรุนแรงในสื่อมวลชนต่างๆ โดยเฉพาะภาพยนตร์และโทรทัศน์ สิ่งเหล่านี้แก้ไขได้ยาก ความรุนแรงในหมู่เยาวชนวัยรุ่นจึงอาจเป็นเพียงความรุนแรงส่วนเล็กๆ ในสังคมเท่านั้น มันถูกจับผิดและขยายออกมาเพียงเพราะว่าบุคคลเหล่านี้ไม่ได้มีอำนาจในสังคม

8) ในระยะหลัง ปรากฏข่าวพฤติกรรมเยาวชนวัยรุ่นจับกลุ่มเสพสุขก่อเหตุรุนแรงหนาหูขึ้น จนรู้สึกว่ากำลังกลายเป็นปัญหาสังคมใหญ่ พฤติกรรมดังกล่าวคือ (1) การหมกมุ่นในกาม การมีกิจกรรมทางเพศพร่ำเพรื่อ หรือไม่เลือกที่ (2) การเสพและค้ายาเสพติดรวมทั้งของมึนเมาต่างๆ (3) การวิวาททำร้ายกัน บางครั้งถึงชีวิต (4) การก่ออาชญากรรมอื่น เช่นการลักทรัพย์ การตั้งแก๊งค์ก่อกวน (5) การติดของใช้หรูหราและความสนุกสนานฟุ่มเฟือย ถึงขั้นลักขโมยหรือขายตัว พฤติกรรมแบบบริโภคนิยมเสพสุขนี้ มีด้านที่เป็นไปตามกระแสลัทธิผู้บริโภคที่ครอบงำหรือเป็นโครงสร้างทางสังคมปัจจุบัน ในอีกด้านหนึ่งได้เลยเถิดจนกระทั่งกลายเป็นพฤติกรรมต่อต้านสังคม ยึดถือการรักษาหรือการเลื่อนสถานะของตนภายในกลุ่ม อยู่เหนือค่านิยมและประโยชน์ส่วนรวม ดังนั้นพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของเยาวชนวัยรุ่นจึงยากที่จะแก้ไข ทั้งมีแนวโน้มหนักหน่วงขึ้น เว้นแต่จะมีความพยายามในการลดผลกระทบด้านลบจากลัทธินี้ลงไปให้มากพอสมควร

9) เยาวชนกับความรุนแรงใน 3 จังหวัดภาคใต้ มีข้อเท็จจริงมากพอที่จะสรุปได้ว่า ผู้ปฏิบัติการก่อความไม่สงบรุนแรงใน 3 จังหวัดภาคใต้จำนวนมากเป็นเยาวชน นี่เป็นพฤติกรรมต่อต้านที่รุนแรงน่าหวั่นเกรง เยาวชนเหล่านี้ได้ร่วมกลุ่มที่มีลักษณะปิด ใช้การสร้างความตื่นกลัว เพื่อผลทางการเมือง เป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยากอีกเรื่องหนึ่ง

10) มีทฤษฎีในวิชาสังคมวิทยา เสนอเหตุปัจจัยของความขัดแย้งทางสังคม (Social Conflict) ไว้บางประการ ได้แก่ (1) ความไม่เท่าเทียมกัน ความไม่เป็นธรรม เช่นความขัดแย้งระหว่างคนรวยกับคนจน นี้เป็นความขัดแย้งพื้นฐานของความขัดแย้งอื่น กล่าวตามทฤษฎีนี้หากความไม่เท่าเทียมกันหรือช่องว่างทางสังคมขยายตัว ความขัดแย้งและความปั่นป่วนในสังคมก็มีแนวโน้มขยายตัวตามไปด้วย (2)การแข่งขันเพื่อการควบคุม ในสังคมที่มีช่องว่าง กลุ่มต่างๆในสังคมมีแนวโน้มที่จะต่อสู้แข่งขัน เพื่อการควบคุมกลุ่มอื่น การแข่งขันเหล่านี้ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ค่านิยมเก่าสลาย ของใหม่เกิดไม่ทัน ขาดปทัสถานในการวัด ขาดความสำนึกทางประวัติศาสตร์ ยากที่จะสรุปบทเรียนได้ กระทำความผิดซ้ำเดิม การแข่งขันเพื่อการควบคุมระดับสูง เช่น การต่อสู้ทางการเมืองระหว่างกลุ่มฝ่ายในชนชั้นนำของไทยในปัจจุบัน ได้มีความรุนแรงขึ้นจนใกล้จุดเดือด (3) การขัดเกลาทางสังคม (Socialization) เพื่อทำให้สังคมเป็นปึกแผ่น ผู้มีอำนาจจำต้องขัดเกลาทางสังคมที่เป็นพื้นฐาน ได้แก่ เด็กและเยาวชน การขัดเกลาทางสังคมนี้มีเครื่องมือหลักอยู่ 2 อย่าง ได้แก่ ก) เครื่องมือทางจิต ได้แก่ การศึกษา ศาสนา ประเพณี ความเชื่อ เป็นต้น ข) เครื่องมือทางกายภาพ ได้แก่ กฎหมาย การใช้อำนาจทางกฎหมายหรือเหนือกฎหมาย ไปจนถึงการลงโทษระดับต่างๆ การขัดเกลาทางสังคมจำต้องใช้การบังคับเข้มงวด ซึ่งก่อให้เกิดการต่อต้านในตัว ยิ่งหากกระทำในภาวะที่มีการแข่งขันและความไม่แน่นอนสูง ก่อให้เกิดการต่อต้านมากขึ้น

11) สถานการณ์ทั้งหมดดูจะชี้ว่า สถาบันสังคมตั้งแต่ครอบครัว ชุมชน โรงเรียน ศาสนา ไปจนถึงรัฐ ได้อ่อนล้าลง จนไม่สามารถขัดเกลาหรืออบรมสั่งสอนเยาวชนวัยรุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันเยาวชนวัยรุ่นเองจำนวนไม่น้อยก็อ่อนแอเกินไปที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ถึงพร้อมด้วยวุฒิภาวะ

2. การเลือกตั้งผู้ว่ากทม.
1) ผลการเลือกตั้ง (1) มีผู้ใช้สิทธิลงคะแนนสูงเป็นประวัติการณ์ เนื่องจาก ก) การกระตุ้นของสื่อมวลชน โดยสร้างเรื่องว่าเป็นการยึดกรุงเทพฯและอื่นๆ แสดงถึงบทบาททางการเมืองการเลือกตั้งของสื่อมวลชนไม่น้อย ดังนั้น ย่อมเป็นพื้นที่ในการแย่งชิงอิทธิพลในระดับที่แน่นอน ข) ผู้ลงสมัครมีความหลากหลาย มียุทธวิธีหรือการตลาดทางการเมืองเพื่อสร้างจุดเด่นเรียกความสนใจให้ไปลงคะแนน (2) คะแนนเกือบทั้งหมดลงให้แก่ผู้ที่มีภาพลักษณ์ทางด้านเป็นผู้บริหารสมัยใหม่ หรือสนับสนุนโดยกลุ่มผู้บริหารสมัยใหม่ คะแนนที่ลงให้แก่ผู้สมัครที่ถือว่าเป็นทางเลือกที่สาม ซึ่งคาดว่าจะมีสูงในหมู่คนกรุงเทพฯกลับมีน้อยมาก (3) ผู้ที่มีภาพลักษณ์เป็นแบบสีเทาได้รับคะแนนสูงเป็นอันดับสาม แสดงว่า ก) ผู้ที่อาศัยกิจการสีเทาเพื่อดำรงชีพมีอยู่ไม่น้อยในกรุงเทพฯ ข) กล่าวกันว่ามีเยาวชนวัยรุ่นจำนวนหนึ่ง เลือกเพื่อความสะใจ ค) เวทีการเมืองไทยปัจจุบัน ก็มีนักการเมืองที่มีภาพลักษณ์เป็นสีเทาอยู่ไม่น้อย (4) ดูเหมือนว่าชาวกรุงเทพฯก็ไม่ได้คาดหวังว่าผู้ว่าฯคนใหม่จะสามารถแก้ไขปัญหาให้แก่ กทม. สำเร็จมากน้อยเพียงใด การวิเคราะห์ตามสื่อมวลชน เน้นหนักไปในด้านผลกระทบทางการเมืองใหญ่ เช่นต่อพรรคการเมืองและการเลือกตั้งทั่วไปมากกว่า

2) ปัญหาที่เผชิญหน้า นอกจากปัญหาการจราจรแล้ว กทม.มีปัญหาใหญ่ที่ควรกล่าวถึง ได้แก่ (1) กทม. มีแนวโน้มที่จะบริหารปกครองยากขึ้นทุกที ทั้งนี้มาจากความเจริญของตัวเอง ทั้งจำนวนประชากรและความต้องการเพิ่มขึ้น การขยายตัวของกรุงเทพฯมีแนวโน้มไปกินพื้นที่จังหวัดใกล้เคียงทั้งหมด เป็นภาระหนักในการสนองสาธารณูปโภค เช่นเฉพาะการจราจรขนส่งก็ต้องใช้เงินหลายแสนล้านบาท นอกจากนี้ ต้องมีบริการสาธารณะอื่นอีก การรักษาระบบนิเวศของกรุงเทพฯมีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เป็นภาระใหญ่ (2)ปัญหาความยากจนในเมือง โดยเฉพาะความยากจนอย่างสัมพัทธ์ (Relative Poverty) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แม้ว่ารัฐบาลจะใช้ความพยายามขจัดความยากจน ความยากจนในเมืองก่อให้เกิดเศรษฐกิจใต้ดิน หรือเมืองใต้ดินขึ้นในกรุงเทพฯ ซึ่งมีทั้งด้านบวกและด้านลบของมัน แต่ที่แน่ก็คือมีด้านที่บริหารปกครองได้ยากขึ้น (3) พร้อมกับการเกิดเศรษฐกิจหรือเมืองใต้ดิน ย่อมมีปัญหาทางสังคมอื่น ได้แก่ อาชญากรรม ยาเสพติด ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ผู้มีอิทธิพล โสเภณี พฤติกรรมต่อต้านของเยาวชน เป็นต้น สภาพดังกล่าว ได้ปรากฏขึ้นแล้ว และรัฐบาลดูจะใช้ความพยายามแก้ไขจริงจังกว่าครั้งใด ซึ่งอย่างน้อยมีผลให้ปัญหาดังกล่าวไม่ขยายตัวเร็วจนเกินไป แต่ภาระย่อมหนักขึ้น และน่าจะมีการจัดระเบียบที่เข้มงวดและการต้านการจัดระเบียบปะทุขึ้น

3) การแก้ไข (1) ควรเห็นว่าการแก้ไขปัญหาของกทม.เป็นกระบวนที่ยืดหยุ่นซับซ้อน เช่น ไม่สามารถทำสำเร็จได้ด้วยการออกกฎหมายฉบับเดียวหรือหลายฉบับ (2) การรังสรรค์การบริหารปกครองกทม.ใหม่ โดยมีหลักการสำคัญ ได้แก่ ความกระทัดรัด คล่องตัว ความมีเอกภาพในแผนใหญ่ การมีส่วนร่วมโดยตรงของประชาชน การตรวจสอบได้ และการมีราคาไม่แพง เช่นเดียวกับการพัฒนากรุงเทพฯ ก็ควรหาวิธีที่ถูกที่สุด (3) มีปัญหาพื้นฐานบางอย่างที่ควรให้กทม.มีความรับผิดชอบแก้ไข เช่น ความยากจน เศรษฐกิจใต้ดิน ผู้มีอิทธิพล ที่อยู่อาศัย และโรคเอดส์

การแก้ไขปัญหาของกรุงเทพฯที่มีแนวโน้มซับซ้อนและเป็นภาระหนักขึ้นทุกทีนั้น เป็นการท้าทายอย่างสูง และจำเป็นต้องทำ เพราะว่าอย่างไรเสีย ความมั่นคงของกรุงเทพฯ ก็ยังเป็นสิ่งชี้วัดความมีเสถียรภาพของชาติและคุณภาพชีวิตของประชาชนทั่วไป

3. กรณีพืชจีเอ็มโอ

เรื่องนี้ได้เป็นข่าวใหญ่มากขึ้น เมื่อมีการเคลื่อนไหวของคณะรัฐมนตรี ที่จะให้มีการทดลองปลูกพืชจีเอ็มโอในระดับไร่นา ซึ่งก่อให้เกิดกระแสคัดค้านอย่างกว้างขวาง จนมีการระงับไป กรณีพืชจีเอ็มโอนี้มีประเด็นใหญ่ 2 ด้าน ได้แก่

1) ประเด็นทั่วไป เป็นด้านการกำหนดยุทธศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีในสังคมไทย ที่ตั้งอยู่บนการศึกษาข้อมูลที่เพียงพอ เช่นผลกระทบด้านต่างๆทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมทั้งด้านจริยธรรม มีการแบ่งเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาในประเทศกำลังพัฒนาไว้ 2 ส่วนใหญ่ได้แก่ (1) เทคโนโลยีทันสมัย ซึ่งมักต้องนำเข้าหรืออยู่ใต้อิทธิพลของบรรษัทในประเทศพัฒนาแล้ว ต้องใช้การไล่กวดอย่างยิ่ง ซึ่งถ้าหากขนาดตลาดของตนเองไม่ใหญ่พอ หรือไม่สามารถรักษาตลาดของตนไม่ให้ถูกครอบงำโดยบรรษัทข้ามชาติแล้ว ก็มักทำไม่สำเร็จ และ (2) เทคโนโลยีที่เหมาะสม ซึ่งอาจเป็นการดัดแปลงเทคโนโลยีขั้นสูงให้เหมาะกับประเทศ หรือการพัฒนาต่อยอดจากภูมิปัญญาพื้นบ้าน หรือเป็นการคิดค้นขึ้นใหม่ให้เหมาะสม ที่เรียกว่าเหมาะก็คือ เหมาะสมกับระดับการพัฒนาทางสังคม หรือทุนทางการเงิน ทุนทางวัฒนธรรมและทุนทางสังคม เหมาะสมกับที่ประชาชนในระดับฐานรากจะนำไปใช้ปฏิบัติหรือผลิตได้ และเหมาะสมกับการถ่ายทอด

2) ประเด็นเฉพาะของพืชจีเอ็มโอ มีสถานการณ์ดังนี้ (1) เทคโนโลยีนี้มีลักษณะผูกขาดโดยบรรษัทข้ามชาติไม่กี่แห่ง บรรษัทเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาลของตนโดยเฉพาะสหรัฐ ที่ผลักดันให้เกิดการยอมรับ โดยมีข้ออ้างสำคัญที่เหลืออยู่เพียงประการเดียว ได้แก่ การป้องกันภาวะอดอยากในโลก (ข้ออ้างอื่นเช่นผลดีทางเศรษฐกิจรับฟังไม่ขึ้นแล้ว) (2) เทคโนโลยีนี้น่าจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อมที่แน่นอน แต่ยังไม่อาจยืนยันได้ชัดเจน เนื่องจากต้องการเวลา ขณะนี้ชุมชนระหว่างประเทศยึดหลักป้องกันไว้ก่อน (3) ผลกระทบทางเศรษฐกิจค่อนข้างเห็นได้ง่าย นั่นคือทำให้การเกษตรเป็นแบบอุตสาหกรรม ใช้พลังงานเชื้อเพลิงมาก รวมทั้งสารเคมีต่างๆ และเกิดการรวมศูนย์ขึ้นต่อบรรษัทเกษตรขนาดใหญ่ (4) ผลกระทบทางสังคมที่สำคัญ ได้แก่ การล้มละลายของเกษตรกรขนาดเล็กและขนาดกลาง (5) ผลกระทบด้านการผลิตอาหารมี 3 ด้านได้แก่ ก) ปัญหาความปลอดภัยทางอาหาร ข) ความมั่นคงทางอาหาร ค) ความหลากหลายทางอาหาร (6) กรณีตัวอย่างในอาร์เจนตินาที่เพาะปลูกพืชแบบนี้มาก ในปี 2002 ในจำนวนพื้นที่ที่ใช้ปลูกพืชจีเอ็มโอทั่วโลก 58.7 เฮกตาร์ มีการเพาะปลูกในอาร์เจนตินาถึง 13.5 ล้านเฮกตาร์ กระทรวงเกษตรสหรัฐระบุว่าที่ต้องเร่งปลูกพืชจีเอ็มโอก็เพื่อป้องกันความอดอยาก (ฟูดเฟิร์สต์ 11102003) แต่หลังวิกฤติเศรษฐกิจใหญ่ในอาร์เจนตินา ปี 1999-2002 พบว่าชาวอาร์เจนตินาถึงราวร้อยละ 35 มีอาหารไม่พอกิน (มันธ์ลี่ รีวิว กันยายน 2004)

4. เหตุการณ์ใน 3 จังหวัดภาคใต้
เหตุการณ์ฯยังไม่สงบ ฝ่ายรัฐบาลดูยังไม่มีเอกภาพในการจัดการปัญหานี้ ทั้งในด้านทิศทางนโยบายใหญ่ ไปจนถึงการปฏิบัติรูปธรรม การแก่งแย่งกันเพื่อมีบทบาทหรืออำนาจยังคงมีสูงในระบบราชการ อาจทำให้ค่าใช้จ่ายต้องบานปลายและยืดเยื้อ อนึ่ง ในสภาพที่เกิดความเสียหายรายวัน ย่อมก่อความเครียดอย่างสูงต่อเจ้าพนักงาน รวมทั้งชุมชน เอกภาพทางยุทธศาสตร์จึงมีความสำคัญสูงขึ้น ในการรับมือความเสี่ยงยืดเยื้อของสถานการณ์

สถานการณ์ต่างประเทศ

ความแปรปรวนของลมฟ้าอากาศ
ในรอบเดือนสิงหาคมซึ่งถือว่าอยู่ในห้วงฤดูใต้ฝุ่นและเฮอร์ริเคนของโลก ในปีนี้ ปรากฏลมพายุดังกล่าว ทั้งจำนวนและความแรงสูงกว่าค่าเฉลี่ย ก่อความเสียหายอย่างหนักแก่ประเทศสหรัฐ จีนและญี่ปุ่น รวมทั้งประเทศไทย คาดว่ากว่าจะสิ้นสุดฤดูพายุใหญ่ในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน น่าจะก่อความเสียหายเพิ่มขึ้นอีก

สำนักข่าวรอยเตอร์ (07082004) รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์อังกฤษคาดหมายว่า มนุษย์จะต้องเผชิญกับการแปรปรวนทางลมฟ้าอากาศรุนแรงขึ้น โดยยกตัวอย่างคลื่นความร้อนที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตนับพันคนในยุโรป ซึ่งมีการคาดหมายว่าคลื่นความร้อนนี้จะรุนแรงขึ้นอีกเป็น 10 เท่า ปัญหาโลกร้อน อากาศที่วิปริต น้ำท่วม โคลนถล่ม ฝนแล้ง มลพิษในอากาศ กิจกรรมของมนุษย์ที่เพิ่มขึ้น อย่างเช่นการเดินทางทางอากาศ การสูญเสียโอโซนในชั้นบรรยากาศ เหล่านี้อาจฆ่าคนเป็นจำนวนนับล้านได้ บางคนเห็นว่าความแปรปรวนดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของระบบนิเวศอันเป็นที่อาศัยของมนุษย์ เป็นสัญญาณว่ามนุษย์ไม่อาจใช้ธรรมชาติตามอำเภอใจได้เหมือนเดิม และบ้างเห็นว่าเป็นการตอบโต้ของธรรมชาติที่มีต่อการกระทำของมนุษย์ นักวิทยาศาสตร์เห็นกันว่าการแก้ไขปัญหามลพิษข้างต้น จะต้องกระทำพร้อมกัน ไม่ใช่ทำทีละเรื่อง

-------------------------------------------------------------------
(ดาวน์โหลดบทวิเคราะห์ฉบับนี้และฉบับย้อนหลังได้ที่http://ttmp.trf.or.thหรือติดต่อ ประชาสัมพันธ์ สกว.)

รายงานโดย : ศูนย์ข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net