Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ระบอบการเมืองการปกครองภายใต้ทักษิโณมิกส์เป็นระบบเถ้าแก่

 

( ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ นำเสนอบทวิพากษ์ ระบอบทักษิโณมิกส์ ในการเสวนาเรื่อง ทักษโณมิกส์ ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ที่ผ่านมา)

มี3 หัวข้อ ที่ผมอยากจะพูดคือ

1. ทักษิโณมิกส์ คืออะไร
2. สาระสำคัญว่าด้วยทักษิโณมิกส์
3. มายาคติว่าด้วยทักษิโณมิกส์

หัวข้อแรก ทักษิโณมิกส์ คืออะไร ทักษิโณมิกส์ก็มาจากคำ 2 คำผสมกัน คือทักษิณ กับอีโคโนมิกส์ เราจะแปลทักษิโณมิกส์ว่าอย่างไร จะแปลว่าเศรษฐศาสตร์โดยคุณทักษิณ หรือจะแปลว่าเศรษฐศาสตร์ของคุณทักษิณ หรือจะแปลว่าเศรษฐศาสตร์เพื่อคุณทักษิณ

ผมคิดว่าเรามีวิธีการมองทักษิโณมิกส์ได้ 3 แนวทาง คือ
1. มองในฐานะเป็นสำนักความคิดทางเศรษฐศาสตร์ เราจะพบว่าทักษิโณมิกส์ไม่ได้ผลิตองค์ความรู้ใหม่ ไม่ได้ผลิตปรัชญาทางเศรษฐศาสตร์ใหม่เพื่อที่จะอธิบายพฤติกรรมและปรากฏการณ์ รวมทั้งปัญหาเศรษฐกิจที่มีอยู่ในสังคมมนุษย์ แต่ทักษิโณมิกส์ต้องการนำเสนอเมนูนโยบายเศรษฐกิจสำหรับการบริหารราชการแผ่น ดิน ซึ่งคุณทักษิณมีส่วนในกระบวนการผลิตทักษิโณมิกส์อย่างปราศจากข้อกังขา โดยมีคณะที่ปรึกษาร่วมในกระบวนการผลิตนั้นด้วย

2. มองในฐานะเป็น Policy Manu ทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นแนวทางที่สมจริงในการที่จะมองทักษิโณมิกส์ คุณทักษิณอ้างในคำปราศรัยที่ฟิลิปปินส์ในปลายปี 2546 ว่าทักษิโณมิกส์เป็น People Center Policy Menu มีหัวใจสำคัญคือ ยุทธศาสตร์การพัฒนาทวิวิถี (Dual Track Development Strategy) หากเราจะศึกษาทักษิโณมิกส์ในฐานะที่เป็นเมนูนโยบายทางเศรษฐกิจ เราจำเป็นจะต้อง ประมวลเนื้อหาสาระของเมนูอันนี้ให้รอบด้าน โดยประมวลจากสุนทรพจน์ของคุณทักษิณซึ่งจะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ประมวลจากบทสัมภาษณ์ของคุณทักษิณซึ่งจะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ประมวลจากข้อเขียนของที่ปรึกษาของคุณทักษิณ รวมทั้งประมวลจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลทักษิณ ซึ่งจะพบว่ามีความไม่สอดคล้องต้องกันอย่างมากกับสิ่งที่คุณทักษิณพรรณนาว่า เป็นทักษิโณมิกส์

สาระสำคัญพบว่ามีความเลื่อนไหล ไม่คงตัว ขึ้นอยู่กับ Hyper Activeness ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ถ้าเราศึกษาทักษิโณมิกส์เมื่อต้นปี 2544 จะแตกต่างไปจากทักษิโณมิกส์ปลายปี 2547 อย่างมาก ตอนต้นปี 2544 รัฐบาลทักษิณถูกโจมตีจากพวก Neo-liberalism เพราะ Policy Menu ของรัฐบาลทักษิณมีการเคลื่อนตัวหลังกันยายน 2544 มาสู่จุดซึ่งเป็นอยู่ในปัจจุบัน

3. มองในฐานะ เป็น Political Brand name คือเป็นยี่ห้อทางการเมือง ซึ่งเป็นแนวทางที่ผมเลือกศึกษา ผมคิดว่ามีคำถามในการวิเคราะห์ว่า ทำไมต้องมี Policy Manu จึงต้องมี Brand name รัฐบาลก่อนหน้านี้เสนอ Policy Manu โดยไม่ต้องมี Brand name คุณธารินทร์-ชวน ก็ไม่มี Brand name และใครเป็นผู้สร้าง Brand name

ซึ่งผมอยากเสนอในที่นี้ว่า คุณทักษิณและบริวารเป็นผู้สร้าง Brand name ทักษิโณมิกส์ ผมพยายามค้นว่าใครเป็นคนแรกที่ใช้คำนี้ แล้วผมค้นไม่พบ เป็นหน้าที่ที่คุณทักษิณและบริวารมาโต้เถียงว่าผมผิด ไม่ใช่เป็นหน้าที่ผมที่จะพิสูจน์ว่าผมถูก นี่ผมใช้ตรรกะแบบทักษิณนะครับ

ทักษิโณมิกส์ตามวิธีการมองวิธีนี้ เป็นประดิษฐกรรมเพื่อตลาดการเมืองระหว่างประเทศของพรรคไทยรักไทย มีเป้าประสงค์ที่สร้างบารมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้เป็นผู้นำแห่งอุษาคเนย์ ท้ายที่สุดสาระสำคัญของทักษิโณมิกส์ก็เป็นเศรษฐศาสตร์ของคุณทักษิณ โดยคุณทักษิณ และเพื่อคุณทักษิณ ถ้าอยากจะเข้าใจทักษิโณมิกส์ ผมคิดว่ามีงานที่จะต้องอ่าน แต่สิ่งที่คุณทักษิณพยายามนำเสนอว่าเป็นทักษิโณมิกส์ในการปราศรัยที่ประเทศ ฟิลิปปินส์ ปี 2546 นั้น ต่างไปจากเมื่อต้นปี 2544 เป็นอันมาก พร้อมกันนั้นก็มีเลคเชอร์ของพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ที่ปักกิ่งซึ่งต้องอ่านเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับทักษิโณมิกส์ ในเรื่องของบทวิเคราะห์ ผมคิดว่า โอฬาร ไชยประวัติ (ทำหน้าที่เป็นนักวิชาการที่พยายามวาง เฟาวเดชั่นของทักษิโณมิกส์) ซี่งพิมพ์ในเกียวโต รีวิว ออฟ เวาท์อีสต์ เอเชีย และเวบไซต์ที่ควรเข้าไปดูก็คือ www. Thailandoutlook.com ของสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง งานของคริส เบเกอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร

หัวข้อต่อมา คือ สาระสำคัญของทักษิโณมิกส์ ผมอยากจะพูดถึงสาระสำคัญของทักษิโณมิกส์โดยแบ่งเป็น 7 หัวข้อย่อย

1. เป้าหมายการดำเนินนโยบายภายใต้ทักษิโณมิกส์
2. สังคมการเมืองภายใต้ทักษิโณมิกส์
3. ระบบการบริหารจัดการภายใต้ทักษิโณมิกส์
4. ยุทธศาสตร์การพัฒนาภายใต้ทักษิโณมิกส์
5. บทบาทของรัฐภายใต้ทักษิโณมิกส์
6. โครงสร้างของอุปสงค์มวลรวมภายใต้ทักษิโณมิกส์
7. การคลังรัฐบาลภายใต้ทักษิโณมิกส์

เป้าหมายการดำเนินนโยบายภายใต้ทักษิโณมิกส์
รัฐบาลพรรคไทยรักไทย มีเป้าหมายหลักที่สำคัญอยู่ 2 ประการ เป้าหมายทั้ง 2 นี้ บางครั้งสอดคล้องต้องกัน บางครั้งขัดกัน เป้าหมายแรกก็คือ Vote Gain Maximization การดำเนินนโยบายเพื่อให้ได้คะแนนนิยมทางการเมืองสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เป้าหมายอีกประการหนึ่งคือการพยายามแสวงหาผลประโยชน์ส่วนบุคคลให้มากที่สุด เท่าที่จะมากได้จากการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ

เราจะพบว่า Vote Gain Maximization ก่อให้เกิดแนวนโยบายชุดที่เราเรียกว่าประชานิยม เป้าหมายที่เราเรียกว่า ผลประโยชน์ส่วนบุคคล ก็ทำให้รัฐบาลนี้ไม่สนใจในประเด็นปัญหา ผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่สนใจเรื่องของธรรมาภิบาล
ด้วยเหตุที่มีเป้าหมายของการดำเนินนโยบาย 2 เป้าหมายดังกล่าว ศิลปะในการบริหารราชการแผ่นดินภายใต้ ทักษิโณมิกส์จึงอยู่ที่คำถามว่า จะบริหารราชการแผ่นดินอย่างไร จึงจะได้ Vote Gain Maximization ควบคู่กับ Private Interest (ผลประโยชน์ส่วนบุคคล) นี่คือโจทย์ที่รัฐบาลต้องตอบ และผมคิดว่ารัฐบาลก็ได้ตอบให้เราเห็นแล้ว ในระยะเวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมา

สังคมการเมืองภายใต้ทักษิโณมิกส์
ผู้นำทางการเมืองภายใต้ทักษิโณมิกส์ ต้องการความนิ่งทางการเมือง ระบอบการเมืองการปกครองภายใต้ทักษิโณมิกส์เป็นระบบเถ้าแก่ เป็นระบอบการเมืองการปกครองของเถ้าแก่ โดยเถ้าแก่ และเพื่อเถ้าแก่ ถ้าเมียเถ้าแก่เป็นใหญ่กว่าเถ้าแก่ ระบบเถ้าแก่ก็เป็นระบอบการเมืองการปกครองของเมียเถ้าแก่ และเพื่อเมียเถ้าแก่

ภายใต้ระบบเถ้าแก่ ลูกจ้างและหลงจู๊ต้องฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของเถ้าแก่ เถ้าแก่มีอำนาจในการปลดหลงจู๊อย่างเต็มที่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2540 มาตรา 217 ให้อำนาจเถ้าแก่ในการปลดหลงจู๊ ด้วยเหตุดังนั้น หลงจู๊ก็ต้องกลัวเถ้าแก่ ถ้าลูกชายเถ้าแก่จะจัดงานสังคม บรรดาหลงจู๊ก็ต้องไปร่วมงาน ถ้าไม่ไปอาจจะถูกหมายหัวได้

ภายใต้ระบบเถ้าแก่ เถ้าแก่ย่อมเป็นใหญ่ในแผ่นดิน เถ้าแก่ไม่ต้องการความโปร่งใส ไม่ต้องการการมีส่วนร่วม ไม่ต้องการการตรวจสอบ ดังนั้นเถ้าแก่ไม่ต้องการธรรมภิบาล

ในฐานะผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน เถ้าแก่ย่อมอยู่เหนือการวิพากษ์ ผู้วิพากษ์เถ้าแก่ย่อมถูกตอบโต้ ยกเว้นเป็นผู้มีอำนาจเหนือกว่าเถ้าแก่ ระบบเถ้าแก่ก่อให้เกิดทักษิณานุวัตร สมาชิกในสังคมต้องอนุวัตรตามเถ้าแก่ข้าราชการ สื่อมวลชน นักวิชาการ เอ็นจีโอต้องอนุวัตรตามเถ้าแก่

ยุทธวิธีการเพิ่มพลวัตของขบวนการทักษิณานุวัตรก็อยู่ที่การเพิ่มพื้นที่ การยึดครองรัฐสภา ระบบเถ้าแก่มีโอกาสที่จะนำสังคมการเมืองไทยไปสู่ระบบ เผด็จการประชาธิปไตย (Democratic Authoritarianism)

ระบบการบริหารจัดการภายใต้ทักษิโณมิกส์
ภายใต้ทักษิโณมิกส์ การบริหารรัฐกิจยึดระบบและวิธีการเดียวกับการบริหารวิสาหกิจเอกชน แต่การบริหารรัฐกิจมีปรัชญาพื้นฐานแตกต่างจากการบริหารวิสาหกิจเอกชน เนื่องจากเป้าหมายพื้นฐานแตกต่างกัน การบริหารรัฐกิจนั้นควรจะเป็นไปในทางที่ก่อให้เกิด ผลประโยชน์สาธารณะสูงสุด (Social Welfare Maximization) ในขณะที่การบริหารวิสากิจเอกชนมุ่งในเรื่องผลกำไรสูงสุด (Profit Maximization) หรือไม่ก็มุ่งในเรื่องทรัพย์สิน หรือการตลาด หรือทั้ง 3 อย่าง
การบริหารแบบ CEO เป็นหัวใจของทักษิโณมิกส์ จะบริหารแบบ CEO ได้ จะต้องมีวัฒนธรรมและบุคลากรแบบCEO แต่รัฐบาลทักษิณนั้นไม่มีวัฒนธรรมและบุคลากรที่เคยเป็น CEO แม้กระทั่งคุณทักษิณเอง ตามประวัติเมื่อออกจากราชการก็กระโดดมาเป็นเถ้าแก่ คุณทักษิณไม่เคยมีประสบการณ์เป็น CEO บรรดานายทุนที่อยู่ในรัฐบาลทักษิณไม่ว่าจะเป็นคุณอดิศัย โพธารามิก คุณประชา มาลีนนท์ คนเหล่านี้มีประสบการณ์เป็นเถ้าแก่ ไม่เคยมีประสบการณ์เป็น CEO เพราะล้วนเป็นเถ้าแก่ที่บริหารจัดการธุรกิจที่ตัวเองเป็นเจ้าของหรือถือหุ้น ใหญ่เกือบหมด

ยุทธศาสตร์การพัฒนาภายใต้ทักษิโณมิกส์
ผมคิดว่าจำเป็นจะต้องเปรียบเทียบกับยุทธศาสตร์การพัฒนาก่อนยุคที่ทัก ษิโณมิกส์มีอิทธิพล ยุทธสาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจไทยตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนกระทั่งถึงปี 2543 มี 2 ยุทธศาสตร์หลักที่ชัดเจน อันแรกก็คือยุทธศาสตร์พัฒนาที่ไม่สมดุล เป็นยุทธศาสตร์ที่ดำเนินอย่างต่อเนื่อง ไม่มีการขาดช่วง อันที่ 2 ก็คือยุทธศาสตร์ การพัฒนาแบบเปิด มีช่วงของการหยุดชะงัก ในระหว่างปี 2475 เป็นต้นมามีจังหวะเวลาลัทธิชาตินิยมทางเศรษฐกิจเข้ามามีบทบาทครอบงำการ ดำเนินนโยบายของรัฐบาลเป็นช่วง ๆ เช่น ระหว่างปี 2475-2500 , 2514-2519 เป็นต้น แต่ว่าอย่างไรก็ตาม ตั้งแต่รัฐบาลเปรมขึ้นมาได้มีการปรับยุทธศาสตร์การพัฒนาเป็นแนวทางการพัฒนา แบบเปิด แนวทางเสรีนิยมมากขึ้น นับตั้งแต่รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหวัณ เป็นต้นมา

ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้ทักษิโณมิกส์ นำเสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาทวิวิถี มีอยู่ 2 วิถี วิถีหนึ่งเดินตามยุทะศาสตร์การพัฒนาแบบเปิด (Outward Orientation) วิถีที่ 2 คือการพัฒนาระดับรากหญ้า ซึ่งผมอยากจะข้ามตรงนี้ไป
มีมาตรการทางนโยบายต่าง ๆ ที่รัฐบาลดำเนินในบางเรื่องก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่รัฐบาลไม่ตั้งใจจะดำเนิน เรื่องเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาคก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลนี้ให้ความสนใจค่อน ข้างน้อยส่วนใหญ่เป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการปฏิรูปการเงิน เรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ เป็นเรื่องที่รัฐบาลนำเสนอแนวความคิดเรื่อง TAMC แต่เร่องอื่นเป็นเรื่องที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินการโดยที่รัฐบาล ไม่ได้เข้าไปยุ่ง หรือว่าไม่ได้มีนวัตกรรมทางด้านนโยบาย

มีมาตรการที่เกื้อหนุนการพัฒนาระดับรากหญ้า เช่น พักหนี้ให้เกษตรกร Micro Finance ทั้งกองทุนหมู่บ้าน สินเชื่อสำหรับพ่อค้าแม่ค้าหาบเร่ สินเชื่อ SME และ SML แล้วก็มีเรื่อง OTOP แปลงทรัพย์สินให้เป็นทุน

Micro Finance เป็นหัวใจของการพัฒนาระดับรากหญ้าแล้วเราจะเห็นสถาบันของ Micro Finance ต่าง ๆ ที่ปรากฏรูปร่างให้เราเห็น

ในการดำเนินยุทธศาสตร์การพัฒนาทวิวิถี รัฐบาลก็ให้ความสนใจกับเรื่องสวัสดิการสังคม เรื่องการพัฒนาการศึกษาและเทคโนโลยี เช่น การประกันสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรค การสงเคราะห์คนจน การจดทะเบียนคนจน แล้วก็ไม่ได้ทำอะไร จนผมเข้าใจว่าเป็นการจดทะเบียนสมาชิกพรรคไทยรักไทย การเขียนเรียงความขอทุนการศึกษา อ่านเรียงความแล้วน้ำตาไหลก็ได้ทุนไป อ่านแล้วน้ำตาไม่ไหลก็ไม่ได้ทุน

การสงเคราะห์ชนชั้นกลางก็มี บ้านเอื้ออาทร แท็กซี่เอื้ออาทรคอมพิวเตอร์เอื้ออาทร ต่อไปอาจจะมีกางเกงในเอื้ออาทร ใส่แล้วตดไม่เหม็น

การพัฒนาการศึกษาและเทคโนโลยีภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาทวิวิถีต้องมี เรื่องของการศึกษา การปฏิรูปการศึกษาเป็นเรื่องที่รัฐบาลนี้ให้ความสนใจน้อย แต่ว่ามีนโยบายเช่น 1 อำเภอ 1 โรงเรียนในฝัน เรื่องทุนการศึกษาเอื้ออาทร ทุนนักเรียนนักศึกษาอัจฉริยะ ที่เราได้ยินข่าวนักเรียนไทยไปฆ่าตัวตายในเยอรมันนี

บทบาทรัฐภายใต้ทักษิโณมิกส์
ปรัชญาพื้นฐานในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจภายใต้ทักษิโณมิกส์ ทำให้ ทักษิโณมิกส์ ไม่สามารถกำหนดบทบาททางเศรษฐกิจของรัฐอย่างชัดเจนได้ เพราะว่ามันมีปัญหาเรื่องความแตกต่างของเป้าหมายในการบริหารราชการแผ่นดิน ระหว่าง Vote Gain Maximization กับ Private Interest Maximization ความต้องการคะแนนนิยมทางการเมืองทำให้เพิ่มบทบาทอำนาจของรัฐ ความต้องการผลประโยชน์ส่วนบุคคลบางครั้งต้องลดบทบาทของรัฐ เช่น การขายการไฟฟ้าฝ่ายผลิต บางครั้งต้องเพิ่มบทบาทของรัฐ เช่นการไปซื้อรถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดิน

Vote Gain Maximization ก็ก่อให้เกิดชุดนโยบายเอื้ออาทร
Private Interest Maximization ซึ่งมีจุดประสงค์ในการแสวงหาส่วนเกินทางเศรษฐกิจ บางครั้งก็เน้นในเรื่องการ Privatization เพื่อให้มีหุ้นใหม่เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งตลาดหลักทรัพย์เป็นหัวใจหรือเป็นพระเจ้าของทักษิโณมิกส์

โครงสร้างอุปสงค์ มวลรวมภายใต้ทักษิโณมิกส์
ทักษิโณมิกส์เน้นการให้ความสำคัญกับดีมานด์ ภายในประเทศ ในการฟื้นเศรษฐกิจคืนจากภาวะวิกฤติ โดยเร่งการใช้จ่ายในการบริโภคของประชาชนในชนบท และประชาชนในระดับระดับรากหญ้า ทั้งนี้ก็ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า marginal provensity to consume (อัตราการใช้เงินส่วนที่เพิ่มขึ้นเพื่อการบริโภค) ของคนจนสูงกว่าคนรวย เพราะนั้นการเพิ่มรายได้ของประชาชนในระดับรากหญ้าและการเร่งค่าใช่จ่ายในการ บริโภคของประชาชนในระดับรากหญ้าจะมีผลทวีคูณต่อรายได้ประชาชาติสูง

ทักษิโณมิกส์ยึด อัตราเร่งของการบริโภค (Consumption Rate Growth) เป็นยุทธศาสตร์สำคัญ การส่งเสริมการใช้จ่ายในการบริโภค อัดฉีดให้ประชาชน ส่งเสริมการใช้เครดิตการ์ด ส่งเสริมการซื้อสินค้าเงินผ่อน ส่งเสริมให้ประชาชนใช้จ่ายเกินตัว ส่งเสริมให้ใช้จ่ายด้านอบายมุข

ในการปราศรัยในช่วง 9 เดือนแรก ในปี 2544 คุณทักษิณก็โจมตีแบบจำลองการพัฒนาเศรษฐกิจของเอเชียบูรพา โดยบอกว่าเศรษฐกิจที่เน้นการส่งออก ทำให้สังคมเศรษฐกิจต้องเผชิญกับความง่อนแง่นทางเศรษฐกิจประเทศที่พึ่งการส่ง ออกจะต้องเผชิญกับปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เพราะว่าเมื่อตลาดสินค้าออกมีความแปรปรวน เศรษฐกิจของประเทศในเอเชียบูรพาซึ่งเดินตามวิถีทางนี้ก็ต้องเผชิญกับปัญหา เสถียรภาพทางเศรษฐกิจด้วย

คุณทักษิณจึงบอกว่าเราต้องหันกลับมาพัฒนาโดยให้ความสำคัญกับตัวความต้อง การบริโภคภายในประเทศ ถ้าเป็นไปตามที่คุณทักษิณพูด อย่างน้อย 9 เดือนแรกของปี 2544

Structue of Educated Demand ก็จะต้องเปลี่ยนแปลงไปในแง่ อัตราการบริโภค (Consumption ratio) เพิ่มขึ้น และก็หวังว่าขนาดขงการเปิดประเทศจะต้องลดลงโดยอาศัยความต้องการบริโภคภายใน ประเทศ และลดการส่งออก นี่คือการคาดการหากว่ารัฐบาลดำเนินนโยบายภายใต้ทักษิโณมิกส์ในเวอร์ชั่นดั้ง เดิมที่พูดใน 9 เดือนแรกของปี 2544

คลังภายใต้ทักษิโณมิกส์
ภายใต้ทักษิโณมิกส์ไม่มีความชัดเจนว่าขนาดของภาครัฐบาลจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศ ทางใด จะมีขนาดใหญ่ขึ้นหรือว่ามีขนาดเล็กลง มันมีแรงทั้ง 2 ด้าน การแปรให้เป็นเอกชน (Privati zation) ทำให้รัฐบาลมีขนาดเล็กลง การแปรรูปให้เป็นสาธารณะ (Publicization) และนโยบายชุดเอื้ออาทรจะทำให้รัฐบาลมีขนาดใหญ่ขึ้นเพราะฉะนั้นมันมีแรงที่จะ ทำให้ขนดของภาครัฐบาลเปลี่ยนแปลงไปทั้งในทางที่จะทำให้ขนาดใหญ่ขึ้นและขนาด เล็กลง แต่ผมเข้าใจว่าแรงที่จะทำให้ขนาดของรัฐบาลใหญ่ขึ้น น่าจะมีแรงมากว่า

ภายใต้ทักษิโณมิกส์ นโยบายการคลังคุมทั้งด้านรายจ่ายและด้านรายได้ นโยบายรายจ่ายรับบาลเป็นนโยบายเจ้าบุญทุ่มการทุ่มรายจ่ายของรับบาลเป็นผลจาก Vote Gain Maximization โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามเมนูนโยบายเอื้ออาทร

ภายใต้ทักษิโณมิกส์ นโยบายรายได้ของรัฐบาลเน้นการแสวงหารายได้ที่ไม่ใช่ภาษีอากร ไม่มีการปฏิรูประบบภาษี เพราะการปรับระบบภาษีกระทบต่อคะแนนนิยมทางการเมือง แต่ว่าการอุ้มการใช้จ่ายเพิ่มคะแนนนิยมทางการเมือง

ภายใต้ทักษิโณมิกส์ ทรัพยากรการคลังเป็นเพียงน้ำมันหล่อลื่นในการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อให้ บรรลุเป้าหมาย วินัยการคลังไม่อยู่ในพจนานุกรมของทักษิโณทิกส์

รัฐบาลที่ยึดกุมทักษิโณมิกส์ต้องพยายามระดมทรัพยากรทางการคลังทั้งปวงมา ใช้ประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดิน ความคล่องตัวในการใช้จ่ายเป็นปรัชญาสำคัญของทักษิโณมิกส์ ฉะนั้นสิ่งที่ต้องการก็คือทรัพยากรที่ไม่ต้องขออนุมัติรบสภาในการใช้จ่าย ทรัพยากรที่ปลอดพ้นจากการตรวจสอบของรัฐสภา

รัฐบาลทักษิณอาศัยรายได้ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลในการดำเนินนโยบาย ต่าง ๆ การขยายบทบาทของรัฐในการดำเนินนโยบาย ทำให้มีการขยายกิจกรรมของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ด้วยการนำหวยใต้ดินขึ้นสู่บนดิน

รัฐบาลทักษิณรุกคืบเข้าไปหารายได้จากกาสิโน แล้วก็มีความพยายามที่จะอนุญาตให้จัดตั้ง เอนเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์

มายาคติ 10 ประการว่าด้วยทักษิโณมิกส์

มายาคติ
1. เป็นนวัตกรรมทางความคิด ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ในสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์
2. ปฏิเสธ East Asian Economic Development Model
3. ปฎิเสธ Washington Consensus และ Neo- liberalism
4. สนับสนุนนโยบายชาตินิยมทางเศรษฐกิจ
5. เลือก Inward Looking Strategy
6. ช่วยลดการพึ่งพิงทางเศรษฐกิจต่างประเทศ
7. เดินตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
8. สลัดแอก IMF
9. ไม่นำมาซึ่งวิกฤติเศรษฐกิจ
10. ไม่มีอะไรดีเลยในทักษิโณมิกส์

ข้อเท็จจริง
1. มิได้มีการนำเสนอปรัชญาใหม่ในสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ไม่นำเสนอความคิดใหม่ใน สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ ผสมผสานคิดต่าง ๆ ที่มีอยู่ก่อนเพื่อนำเสนอ Policy Manu
แนวความคิดสำคัญ ๆ ของทักษิโณมิกส์

1.1 การฟื้นเศรษฐกิจด้วยการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ไม่ใช่ความคิดใหม่แต่มาจาก Tensianism

1.2 ความคิดเรื่องนโยบายเอื้ออาทรและสวัสดิการสังคมก็ไม่ใช่ความคิดใหม่ แต่เป็นส่วนหนึ่งของแนวความคิดรัฐสวัสดิการในยุโรปตะวันตก

1.3 การพัฒนาเศรษฐกิจชนบทและเศรษฐกิจรากหญ้าก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะว่ามีนักวิชาการไทยจำนวนมากนำเสนอนโยบายนี้มาเป็นเวลาช้านานแต่ไม่เคย มีรัฐบาลใดสนใจ ความจริงหลายประเทศในเอเซียก็ให้ความสำคัญกับชนบทและรากหญ้า เช่น ประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้และไต้หวัน

1.4 การพัฒนาโดยให้ความสำคัญกับการบริโภคภายในประเทศ (Domestic Demand) ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่

1.5 นโยบายประชานิยมก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่รัฐบาลในละตินอเมริกาดำเนินมานานแล้ว

1.6 กองทุนหมู่บ้าน และ SML ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีที่มาจากเรื่อง Micro Finance

1.7 การแปลงสินทรัพย์เป็นทุนก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะนำมาจากเฟอร์นันโด เดอโซโต

1.8 การใช้ Quasai - Fisical Policy
ทฤษฎีใหม่ประการเดียวมีกรณีเดียวคือ คิดว่าซื้อทีมฟุตบอลแล้วการกีฬาและเศรษฐกิจไทยจะพัฒนาอย่างก้าวกระโดด

2. ในช่วงอย่างน้อย 9 เดือนแรกของปี 2544 คุณทักษิณวิพากษ์วิจารณ์ระบบเศรษฐกิจแบบเอเชียบูรพาค่อนข้างมาก (เน้นการส่งออก พึ่งพิงตลาดต่างประเทศสูง) แต่เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2544 คุณทักษิณบอกว่ายังไง ๆ ก็ต้องเดินตามแบบจำลองการพัฒนาเอเชียบูรพา นิยามของทวิวิถีนั้นเลื่อนไหล ขึ้นอยู่กับผู้นิยาม และไม่อาจสรุปได้ว่าการพัฒนาแบบทวิวิถี หรือวิถีเดี่ยวอย่างไหนดีกว่ากันทักษิโณมิกส์แม้ว่าจะวิพากษ์แบบจำลอง แบบเอเชียบูรพาแต่ก็เดินตามยุทธศาสตร์ Outward Orientation และก็ให้ความสำคัญกับการส่งออก เหมือนแบบจำลองการพัฒนาเศรษฐกิจเอเชียบูรพา การส่งเสริม SMEs ภายใต้ทักษิโณมิกส์ ก็เป็นนโยบายที่ประเทศเอเชียน นิกส์ ดำเนินมาก่อนแล้วเป็น 10 ปี เช่น ไต้หวัน การพัฒนาระดับรากหญ้า ชนบท เกษตรกรรม เป็นวิถีการพัฒนาเอเชียบูรพา ปรากฏในญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวันมาก่อนแล้ว ไม่อาจถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมทางนโยบายของทักษิโณมิกส์

3. ไม่ได้ปฏิเสธ Washington Consensus หรือ Neo - Liberization ในขั้นฐานราก แต่ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมในระดับที่ไม่กระทบผลประโยชน์ส่วนตัว และพวกพ้อง

4. ชาตินิยม ภายใต้ทักษิโณมิกส์ นโยบายเศรษฐกิจชาตินิยมหรือเสรีนิยมไม่ได้มีความหมายสำคัญมากไปกว่า Vote Gains Maximization และ Private Interest Maximization ภายใต้ทักษิโณมิกส์ รัฐบาลจะยึดถือลัทธิเศรษฐกิจใดก็ได้ทีให้ผลประโยชน์แก่ตนเองและพวก

ถ้าเราจำได้ พรรคไทยรักไทยขี่กระแสชาตินิยมหลังวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ และชนะการเลือกตั้งในเดือนมกราคม 254 ทักษิโณมิกส์เอียงข้างนโยบายเศรษฐกิจชาตินิยม อย่างน้อยใน 9 เดือนแรก ของปี 2544 เพราะต้องการ Vote Gains Maximization จนมีความเข้าใจกันว่าในตอนนั้นรัฐบาลพรรคไทยรักไทยเลือกนโยบายเศรษฐกิจชาติ นิยม แต่ต่อมาก็เคลื่อนสู่นโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมเพราะต้องการ Private Interest Maximization ในตอนต้นมีการเคลื่อนตัวตามกระแสต่อต้านกฎหมาย 11 ฉบับ มีการตั้งกรรมการขึ้นมาสะสาง กรรมการมีข้อสรุปแล้ว คุณทักษิณก็ไม่ได้ปฏิบัติข้อสรุป เช่น ข้อสรุปที่ว่าจะไม่ขายรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภค เป็นต้น

5. ยุทธศาสตร์การพัฒนาทวิวิถีภายใต้ทักษิโณมิกส์ ให้ความสำคัญกับ Domestic Demand Rate Growth เพราะเชื่อว่าความต้องการใช่จ่ายของคนระดับรากหญ้าสูง และช่วยแก้ปัญหาการพึ่งพิงเศรษฐกิจภายนอกประเทศที่ต้องพึ่งการส่งออก ในข้อเท็จจริง นโยบาย หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ก็เป็นนโยบายเพื่อการส่งออก ส่งเสริมเพื่อส่งออกโดยที่นโยบายนี้ผสมผสานเรื่อง Vote Gains Maximization เพราะชาวบ้านชอบ ขณะเดียวกันก็ได้ Private Interest Maximization ด้วย เพราะตัวเองและพรรคพวกก็ได้ประโยชน์ ไม่มีใครตอบคำถามว่าชาวบ้านได้กี่เปอร์เซ็นต์ของราคาส่งออก แล้วบริษัทของใครที่เป็นคนจัดการส่งออกสินค้าภายใต้โครงการ 1 ตำบล การส่งเสริมการท่องเที่ยว การทำกรุงเทพฯให้เป็นเมืองแฟชั่น นี่ก็เป็น Outward Orientation.

6. ทักษิโณมิกส์ไม่ได้ลดการพึ่งพิงต่างประเทศ เราจะพบว่า Policy Manu มันเลื่อนไหลไปสู่ Outward Orientation มากขึ้นจนกระทั่งในที่สุดขนาดของการเปิดประเทศจะเพิ่มขึ้น ไม่ได้ลดลงอย่างที่ทักษิโณมิกส์แถลงใน 9 เดือนแรก ปี 2544 การเร่งการส่งออกโดยการทำข้อตกลงการค้าเสรี FTA โดยการส่งออกผลิตภัณฑ์ภายใต้โครงการOTOP การผลิตเพื่อการส่งออกสินค้ามีมากขึ้น การลดลงของอัตราการออม(Saving Ratio) การเร่งการใช้จ่าย การเพิ่มการใช้จ่ายของประชาชนสิ่งที่จะตามมาคือการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และจะขาดดุลมากขึ้นในอนาคตถ้าหากว่ารับบาลยังคงเดินตาม Policy Manu ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ และท้าที่สุดการพึ่งพิงเงินทุนต่างประเทศก็จะเพิ่มขึ้น

7. มีการเผยแพร่มายาคตินี้โดยทั่วไปว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาทวิวิถีภายใต้ทักษิโณมิกส์ดำเนินตามปรัชญาเศรษฐกิจพอ เพียง ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจทักษิโณมิกส์ พึ่งพิงตลาดต่างประเทศ ควบคู่กับการพัฒนาในระดับรากหญ้า ไม่ได้ยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ได้เดินตามยุทธศาสตร์ชุมชนท้องถิ่นพัฒนา หรือเดินตามฉันทามติแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อมีความขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์ชุมชนกับผลประโยชน์ธุรกิจขนาดใหญ่ ทักษิโณมิกส์เข้าข้างกลุ่มทุน ยุทธศาสตร์การพัฒนาทักษิโณมิกส์ เน้นการผลิตเพื่อการพาณิชย์ และเน้นการส่งออก ขณะที่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงผลิตเพื่อการยังชีพ ไม่ได้ผลิตเพื่อขาย มีเหลือจึงจะขาย ไม่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวซึ่งจะทำให้กลายเป็นวิถีชีวิตแบบไม่ยั่งยืน เกษตรกรรมแบบทักษิโณมิกส์เป็นการเกษตรปนเปื้อน ด้วยจีเอ็มโอ เศรษฐกิจพอเพียง เน้นเกษตรธรรมชาติ ทักษิโณมิกส์ต้องการให้มีการผลิตตามความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ เช่นนโยบายเรื่องการท้ำอตกลงเรื่องการค้าเสรี นโยบาย 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงต้องการกระจายการผลิต ไม่ต้องการให้ผลิตตามความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ เช่นแนวความคิดวนเกษตรกรรมของผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม เป็นต้น ทักษิโณมิกส์ต้องการอยู่ดีกินดี แต่เศรษฐกิจพอเพียงต้องการอยู่พอดีกินพอดี ทักษิโณมิกส์ส่งเสริมการใช้จ่ายในการบริโภค ส่งเสริมการใช้จ่ายในการเล่นหุ้นเพื่อจะให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไม่ต้องกรให้สังคมไทยอยู่ในความเสี่ยง ทักษิโณมิกส์ส่งเสริมการใช้จ่ายในการเล่นหวย ส่งเสริมการจัดตั้งกาสิโน และเอ็นเตอร์เทนเมนท์ คอมเพล็กซ์ ส่งเสริมกิจกรรมอบายมุข ขณะที่เศรษฐกิจพอเพียงนั้น อบายมุขเป็นของต้องห้าม ขัดต่อหลักการอยู่พอดีกินพอดี ทักษิโณมิกส์เน้นบทบาทของรัฐบาลส่วนกลางในการจัดการทรัพยากรส่วนท้องถิ่น ปรัชญาเสรษฐกิจพอเพียงเน้นบทบาทของชุมชน และสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ให้สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรท้องถิ่น รัฐบาลทักษิณทำลายความเข้มแข็งของชุมชน ทักษิโณมิกส์ต้องการให้องค์กรประชาชนอยู่ภายใต้กำกับของรัฐบาล และเชื่อฟังรัฐบาล ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงต้องการส่งเสริมการจัดตั้งองค์กรประชาชน เสริมสร้างความเข้มแข็งกับองค์กรประชาชน เสริมสร้างความเข้มแข็งกับองค์กรประชาชนเพื่อสามารถสร้างอำนาจต่อรอง

8. เมื่อรัฐบาลชำระหนี้คืนกองทุนการเงินระหว่างประเทศหมดในเดือนกรกฎาคม 2546 พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ประกาศสลัดแอกกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ปลุกกระแสชาตินิยม โบกธงไทยเพื่อความเป็นชาติ ประกาศย้ำว่ารัฐบาลไทยจะไม่คลานไปหากองทุนการเงินระหว่างประเทศอีกแล้ว รูปการณ์จิตสำนึกรัฐบาลไทยยังไม่พ้นจากแอกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ แอกทางความคิดยังดำรงอยู่โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดนโยบายตาม Policy Manu ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ อิทธิพลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศที่กำหนดนโยบายยังอยู่ การไม่ปฏิบัติตามมีผลต่อเครดิตของประเทศ ยังปฏิบัติตามในกรณี Privatization ไม่มีอะไรประกันได้ว่าจะไม่กลับไปหา IMF อีก

ปัจจัยที่จะทำให้รัฐบาลกลับไปหา IMF มี 2 ประการคือ การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคผิดพลาด หรือโชคร้าย

9. มีหลายปัจจัยที่ทำให้เชื่อว่าทักษิโณมิกส์ไม่ได้ให้หลักประกันว่าจะไม่นำพาไป สู่วิกฤติเศรษฐกิจ เช่น การดำเนินยุทธศาสตร์ Consumption Rate Growth การทุ่มการใช้จ่ายของรัฐบาลโดยหลบเลี่ยงกลไกการตรวจสอบและการรับผิดต่อ รัฐสภา มีโอกาสขาดดุลทางการคลัง ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล และที่สำคัญก็คือว่าวิกฤติการณ์การเงินในทศวรรษ 2540 และในทศวรรษถัดไปต่างไปจากที่เกิดขึ้นในอดีต เกิดจากเหตุปัจจัยที่คาดไม่ถึง และยากที่จะสร้าง Early Warning System

Policy Manu มีกลไกที่จะทำลายเสถียรภาพภายในระบบด้วยนโยบายต่าง ๆ ของมันเอง

10. แม้จะไม่มีอะไรใหม่ในด้านปรัชญาเศรษฐศาสตร์ ไม่มีอะไรใหม่ในด้านความคิดพื้นฐาน แต่ไม่ใช่จะไม่มีอะไรดีเสียเลย จุดเด่นของทักษิโณมิกส์ อยู่ที่การวางกรอบความคิดและนำกรอบความคิดไปกำหนดนโยบายในการสถานปนา Social safety net

บทความพิเศษโดย : ศูนย์ข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net