บุกทำเนียบต้านเสรีจีเอ็มโอ

กรุงเทพฯ-24 ส.ค. 47 ภาคประชาชน ยื่นหนังสือให้รัฐทบทวนมติเปิดเสรีจีเอ็มโอ พร้อมเปิดกว้างให้มีส่วนร่วมในการยกร่างกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพ

หน้าทำเนียบรัฐบาล กลุ่มเครือข่ายคัดค้านนโยบายเปิดเสรีจีเอ็มโอ จำนวน 20 คน เข้ายื่นหนังสือนายกรัฐมนตรี ให้ทบทวนมติของคณะกรรมการนโยบายเทคโนโลยีชีวภาพ ที่เปิดให้มีการปลูกและทดลองพืชจีเอ็มโอรวมทั้งนำเข้าเทคโนโลยีจีเอ็มโอมาใช้ในประเทศ และให้คงมติเดิมที่ห้ามทดลองปลูกจีเอ็มโอในระดับไร่นา จนกว่าจะมีกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ ซึ่งต้องเปิดกว้างให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในสัดส่วนอย่างน้อยครึ่งหนึ่งในคณะกรรมการยกร่างกฎหมาย

น.ส.สายรุ้ง ทองปลอน ตัวแทนสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า การพัฒนาด้านการวิจัยจีเอ็มโอ สามารถกระทำได้ในพื้นที่ปิด โดยไม่จำเป็นต้องปลูกในแปลงไร่นา เพราะในความเป็นจริง เราไม่สามารถป้องกันการปนเปื้อน กรณีมะละกอจีเอ็มโอที่ จ.ขอนแก่น และฝ้ายบีที เมื่อปี 2542 เป็นกรณีตัวอย่างที่น่าศึกษา

"หลายคนท้าทายว่า ถ้านายกฯ คิดว่า นโยบายนี้ดีจริง ก็น่าจะนำไปเป็นนโยบายหาเสียง และหากท่านได้รับเลือกตั้งก็ค่อยมาคิดกันว่า จะทำได้จริงหรือเปล่า แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เรื่องนี้ต้องฟังเสียงประชาชนและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพราะเป็นการกำหนดชะตากรรมของประเทศ"

กลุ่มผู้คัดค้านนำ ฝ้ายมาโปรยให้ปลิวไปตามลม พร้อมกับตะโกนว่า "เกสรจีเอ็มโอหลุดลอด รัฐบาลช่วยเก็บกลับคืนไปหน่อย"

ขณะเดียวกัน กลุ่มกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เดินทางมาทำกิจกรรมพร้อมกับยื่นข้อมูลให้นายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับประเด็นความวิตกกังวล เรื่องจีเอ็มโอของนักวิทยาศาสตร์ ในระดับโลกและกฎเกณฑ์การติดฉลากที่เข้มงวดของสหภาพยุโรป เพื่อพิสูจน์ว่าจีเอ็มโอยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงยังไม่จบในแวดวงวิทยาศาสตร์ระดับโลก และกลุ่มประเทศยุโรปก็ไม่ได้เปิดเสรีด้านจีเอ็มโอ ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังปฏิเสธที่จะซื้อสินค้าจีเอ็มโอ จนหลายบริษัทต้องปิดตัวเองลง และไปเปิดในอเมริกาแทน

น.ส.วรุณวาร สว่างโสภากุล เจ้าหน้าที่รณรงค์กรีนพีซกล่าวว่า ในส่วนของการทดสอบความปลอดภัย ที่รัฐบาลพยายามให้ความมั่นใจนั้นก็ถือว่ายังอ่อนและไม่เพียงพอ เพราะเป็นเพียงการนำพืชจีเอ็มโอมาเปรียบเทียบกับพืชปกติ เพื่อดูปริมาณสารอาหารต่าง ๆ ว่าเท่าเดิมหรือไม่ ไม่ได้มีการตรวจสอบผลต่อสุขภาพระยะยาว การที่ยังไม่พบ ไม่ได้แปลว่าไม่มี เพียงแต่เรายังไม่รู้เท่านั้นเอง

น.ส.วรุณวาร กล่าวต่อว่า ตอนนี้คนที่รับผิดชอบในการพิสูจน์ผลกระทบก็คือบริษัทใหญ่ไม่กี่แห่งที่ผลิตจีเอ็มโอ ซึ่งเขาต้องพิสูจน์ว่าของเขาปลอดภัย การรีบผลักดันเอาจีเอ็มโอเข้ามา มีผลด้านการค้าเป็นสำคัญ เพราะบริษัทเหล่านี้ต้องลงทุนมหาศาล

" ดูจากข่าวปีที่แล้ว จะเห็นว่าบริษัทมอนซานโต้ก็จับจ้องให้ไทยเป็นศูนย์กลางข้าวโพดจีเอ็มโอ ฉนั้นถ้ามีการเปิดให้ปลูกจีเอ็มโอในไทย บริษัทมอนซานโต้ก็มีสิทธิ์ปลูก โดยจะเป็นข้าวโพดที่ต้านยาฆ่าหญ้ายี่ห้อราวด์อัพ ของบริษัทมอนซานโต้เอง เกษตรกรจึงต้องซื้อทั้งเมล็ดพันธุ์และยาฆ่าหญ้าของบริษัทนี้ "

ส่วนความวิตกกังวลในเรื่องของข้าวจีเอ็มโอนั้น น.ส.วรุณวาร กล่าวว่า ก็มีความเป็นห่วงอยู่ เพราะที่อเมริกาได้อนุมัติให้บริษัทไบเออร์ปลูกข้าวจีเอ็มโอได้แล้ว ถ้ามีข้าวจีเอ็มโอในไทยก็อาจจะเกิดการร่วมทุนระหว่างบริษัทของไทยและบริษัทต่างชาติที่มีผลประโยชน์ด้านนี้อยู่

รายงานโดย : ศูนย์ข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท