Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

"ผู้หญิงใจแข็งไม่กลัว เขาว่ามีนายทุนจะมายิงหัวแต่ผู้หญิงก็ไม่กลัว "

เสียงของจ๊ะลิหย้า หวังสบ หรือ "จ๊ะสาว" วัย 43 ปี เอ่ยด้วยสำเนียงใต้ดังชัดเจน จ๊ะเป็นหนึ่งในชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ห้วยน้ำขาว ที่ต่อสู้คัดค้านการไถดันป่าขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้(ออป.) เพื่อรื้อปลูกสวนยางพาราในเขตสวนป่าห้วยน้ำขาว ต.ห้วยน้ำขาว อ.คลองท่อม จ.กระบี่ เป็นเวลาร่วม 2 เดือนแล้วที่ชาวบ้านประมาณ 30 คนมาตั้งเต็นท์ชุมนุมคัดค้านอยู่ที่ปากทางเข้าสวนป่าห้วยน้ำขาว ริมถนนเพชรเกษม ทางหลวงเอเซียหมายเลข 4 ที่อีกด้านหนึ่งคือสามแยกเลี้ยวเข้าสู่เกาะลันตา

1 สิงหาคม 2547 "งานเลี้ยงน้ำชา" จัดขึ้นที่บริเวณการชุมนุมของชาวบ้านประกาศเจตนารมณ์ในการต่อสู้เพื่อผืนป่า รวมทั้งเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับชาวบ้านในพื้นที่อื่นที่มาร่วมงาน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ต.ปากแจ่ม เครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด จ.ตรัง และเครือข่ายปฏิรูปที่ดิน จ.สุราษฎร์ธานี

ช่วงเย็น หลังกลับจากไปดูพื้นที่แปลงที่มีการไถดันครั้งล่าสุด เมื่อผู้ร่วมงานเริ่มทยอยมากิจกรรมบนเวทีจึงดำเนินไปแบบเป็นกันเอง กลุ่มผู้หญิงที่เป็นกำลังสำคัญตั้งแต่การพาลงพื้นที่รวมทั้งจัดเตรียมอาหารต้อนรับผู้มาเยือนจึงได้โอกาสนั่งคุยกัน

"บ้านจ๊ะทำสวนยาง สวนปาล์ม และจ๊ะขายไก่ทอดที่ตลาดยาวริมถนนหน้าปั๊มบางจากถัดจากสวนป่าไปไม่ไกลเท่าไหร่ พอมาตั้งเต็นท์รอบนี้ จ๊ะก็ต้องหยุดขายไก่ทอดเพราะมากินนอนอยู่ที่นี่ตลอด ตอนนี้ก็ชวนแม่ค้าคนอื่นมาด้วย 10 กว่าคนแล้วที่ยังขายอยู่มีคนเดียว" จ๊ะสาวเปิดฉากสนทนาถึงเรื่องราวส่วนตัว

ย้อนถึงการต่อสู้ของกลุ่มอนุรักษ์ฯ จ๊ะสาวเล่าต่อว่าเข้าร่วมต่อสู้คัดค้านการไถดันป่าของ ออป.มาตั้งแต่ปี 2542 ซึ่งขณะนั้นมีอยู่ประมาณ 30 คน มีการตั้งเต็นท์ชุมนุมในพื้นที่ที่ออป.ไถดันป่าต่อมานายอำเภอคลองท่อมมาขู่ว่าจะจับชาวบ้านหากไม่ยุติการชุมนุม สุดท้ายได้ข้อยุติเมื่อออป.รับปากว่าจะหยุดไถดันป่าชาวบ้านจึงหยุดชุมนุม แต่หลังจากที่ชาวบ้านเงียบไปก็มีการไถดันป่าอีก

การรวมตัวในครั้งนี้จ๊ะสาวเองบอกว่าไม่กลัวถึงแม้ว่าถูกขู่ว่าจะถูกจับ เพราะมีคนเข้าใจและสนับสนุนมากขึ้น มีหลายกลุ่มที่ลงมาดูพื้นที่ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สมาชิกวุฒิสภา เป็นต้น แต่สถานการณ์ในพื้นที่ปัจจุบันยังมีการข่มขู่คุกคามเป็นระยะ โดยเฉพาะหลังจากที่ผู้ใหญ่บ้านได้เข้าจับกุมรถตีนตะขาบของออป. 2 คัน ก็มีข่าวว่าชาวบ้านจะต้องเสียค่าปรับซึ่งถ้าจะถูกจับจ๊ะยืนยันว่าไม่เป็นไรเพราะทำเพื่อส่วนรวม

เมื่อเอ่ยถามถึงภาระหน้าที่จ๊ะสาวบอกว่าทำทุกอย่างที่ทำได้ เช่น ทำอาหาร หรือแม้แต่เรื่องราวการต่อสู้ก็พยายามที่จะเรียนรู้ เพียงแต่ยังไม่ได้มีโอกาสเช่นดังผู้ชาย

"เวลาไปดูงานที่อื่นเราก็อยากไปด้วย แต่ส่วนมากจะให้ผู้ชายไป เวลาประชุมเขาให้ส่งตัวแทนผู้หญิงไปร่วมแล้วค่อยให้ผู้หญิงมาคุยกันต่อ แต่ก๊ะอยากเข้าด้วยบางทีถูกว่าก็ทนเพราะเราอยากมีส่วนร่วม เราอยากช่วย" จ๊ะสาวเล่าพลางยิ้มสู้

นอกจากนี้จ๊ะสาวยังไปชวนชาวบ้านคนอื่นๆมาร่วม ซึ่งต้องใช้เวลานับ 10 วันจึงมีชาวบ้านบางคนเข้ามาร่วมด้วย แต่อีกมากก็ยังไม่แน่ใจกับคำขู่ที่บอกว่าจะถูกจับจึงยังดูอยู่ห่างๆ บางคนก็ถูกยุแหย่ว่าเป็นการต่อสู้เพื่อจะเอาที่เป็นกรรมสิทธิ์ เมื่อไม่แน่ใจจึงไม่กล้ามาร่วมด้วย แต่จ๊ะสาวก็ยังยืนยันว่าจะต้องไปชวนโดยตลอด

จ๊ะสาวยิ้มพร้อมกับโชว์เสื้อสีเขียวที่ใส่อยู่ ก่อนจะเล่าต่อว่าสัญลักษญ์ที่ติดอยู่บนเสื้อนี้จ๊ะสาวเป็นคนออกแบบ โดยสีที่ใช้คือสีเหลืองหมายถึงยางพารา ข้างบนเป็นรูปภูเขาครอบทะมีรอยแยกเพราะต่อไปเมื่อตัดป่าออกหมดดินจะพัง ส่วนต้นไม้ที่มีอยู่ต้นเดียวเนื่องจากตอนนี้ริมคลองแคเหลือต้นก่ออยู่ต้นเดียวนอกนั้นเป็นต้นยางพารา

โดยมีการตัดเสื้อสำหรับกลุ่มผู้หญิง 16 ตัวเท่านั้น เนื่องจากไม่มีทุนจึงไม่สามารถจัดทำได้จำนวนมาก ถึงแม้ว่าบางคนอยากได้แต่ไม่มีเงินเพราะเมื่อมาชุมนุมที่นี่เมื่อไม่ได้กรีดยางก็ไม่มีรายได้ โดยกลุ่มผู้หญิงที่มาลงชื่อมีประมาณ 30 คน และต่อไปคาดว่าจะจัดทำเสื้อเพิ่มขึ้นให้ผู้ชายด้วย

"ตอนนี้เราลงขันกัน หุงข้าวกินด้วยกันเอาข้าวสารมาจากบ้าน ไปตลาดซื้อกับข้าวบ้างใครหาอะไรได้ก็เอามากินด้วยกัน เต็นท์เช่ามาก็ลงขันเป็นรอบๆ ต่อไปคงต้องทำของขายต้องหาทุนด้วยถ้าต้องสู้ไปนานๆ" จ๊สาวเล่าถึงสิ่งที่ต้องทำต่อ

ในส่วนความสัมพันธ์กับป่าผืนนี้ จ๊ะแหมะส้า หวังสป วัย 42 ปี เล่าว่า เมื่อก่อนนี้จ๊ะเคยไปเก็บลูกก่อในป่าช่วงเดือน 8-9 มีรายได้ประมาณ 1 พันบาท/วัน ทุกคนไปเก็บได้เพราะไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของใครและลูกก่อก็มีจำนวนมาก และนอกจากนี้ยังมีผักเหนียง ผักหวานป่า ซึ่งสามารถเก็บมากินมาขายได้ แต่หลังจากออป.เริ่มไถดันป่าในปี 2542 เพื่อปลูกยางพารา ก็ไม่มีให้เก็บอีก

"หลังปี 2542 ทางออป.เขาปล่อยหมาที่แปลงเพาะพันธุ์ซึ่งอยู่ตรงทางเข้า ถ้าผ่านเข้าไปในป่าก็ต้องผ่านทางนี้คนกลัวหมากัด มีชาวบ้านขี่รถมอเตอร์ไซด์เข้าไปก็เคยถูกกัด และมุสลิมก็กลัวหมาด้วยเลยเข้าไปไม่ได้" ก๊ะลิหย้าเล่าต่อ

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจึงหมายถึงวิถีชีวิตที่ถูกแยกออกจากการพึ่งพาป่าอย่างที่เคยเป็น ไม่ว่าจะเป็นการทำนาต้องหยุดไปเพราะลำน้ำแห้งขอดจากการที่ต้นน้ำถูกทำลาย รวมทั้งถูกถมปิดทางน้ำ ปัจจุบันชาวบ้านจึงต้องปล่อยทุ่งนาให้รกร้างและซื้อข้าวกินแทน และล่าสุดหลังจากฝนตกหนักประมาณ 1 ชั่วโมงได้ส่งผลให้น้ำไหลบ่าเข้าท่วมหมู่บ้านร่วม 3 ชั่วโมง จ๊ะแหมะส้าเองเล่าติดตลกว่าถ้าฝนตก 5 ชั่วโมงคงท่วมไปถึง 15 ชั่วโมง ทั้งๆที่ห้วยน้ำขาวไม่เคยน้ำท่วมมาก่อน

จ๊ะแหมะส้าเองก็พูดถึงบทบาทของกลุ่มผู้หญิงว่าศษสนาอิสลามให้ผู้ชายเดินหน้า แต่ว่าถ้าเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมก๊ะเองก็เชื่อว่าว่าน่าจะมีความคิดที่หลากหลายขึ้น โดยหลังจากนี้กลุ่มผู้หญิงที่มารวมตัวกันอยู่ที่นี่จะตั้ง "กลุ่มสตรีอนุรักษ์ห้วยน้ำขาว" เพื่อทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมไม่ว่าหญิงหรือชาย

ซึ่งภาระหน้าที่ที่เป็นอยู่นั้นคงปฏิเสธไม่ได้ว่ากลุ่มผู้หญิงกว่า 30 ชีวิต เป็นส่วนสำคัญหนึ่งในการต่อสู้ที่กำลังดำเนินไป เนื่องจากทุกคนไม่ว่าหญิงหรือชายล้วนเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน ดังนั้น การต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่จึงเป็นภาระที่พวกเธอเต็มใจและพร้อมที่จะแบกไว้เช่นกัน

สุดท้ายจ๊ะสาวซึ่งเป็นตัวแทนของเหล่าสตรีนักต่อสู้ บอกว่าถ้าเป็นไปได้อยากให้เหลือป่าไว้เหมือนเดิม เป็นป่าต้นน้ำลำธาร ถ้ามีป่าก็คงมีน้ำแล้วคงได้ทำนาเหมือนอดีต หรือถ้าจะเป็นป่าชุมชนให้ช่วยกันดูแลต่อไปก็คงดี....

รายงานโดย : ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว
ศูนย์ข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net