Skip to main content
sharethis

หลายๆ คน กำลังนับวันรอการเลือกตั้งที่น่าจะมาถึงในปีหน้า  เพื่อจะได้ใช้สิทธิตามระบบอประชาธิปไตยอย่างเต็มที่  แต่ด้วยรูปแบบการจัดการเลือกตั้งที่ใช้กันในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่ามีค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้งแต่ละครั้งเป็นจำนวนมาก  โดยการเลือกตั้งทั่วไปของไทยครั้งล่าสุดมีค่าใช้จ่าย 2,800 ล้านบาท และมีการประเมินกันว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าอาจมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 5,800 ล้านบาท แต่ก็ยังไม่สามารถรับรองได้ว่าจะไม่มีปัญหาการสวมสิทธิหรือการทุจริตที่เกิดจาก “คน” ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งได้

เทคโนโลยี Blockchain ที่เป็นที่กล่าวถึงอย่างกว้างขวางในหลายๆ แวดวง เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการจัดการเลือกตั้งที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มความโปร่งใสได้ เนื่องจาก Blockchain  เป็นฐานข้อมูลแบบกระจาย (Decentralized) โดยมีเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวนมากเข้ามาเก็บและตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล  Blockchain มีกลไกในการตรวจสอบเพื่อสร้างชุดข้อมูลใหม่ ทำให้เป็นไปได้ยากในการสร้างข้อมูลเท็จ โดยเฉพาะ Blockchain สาธารณะเช่น Ethereum มีเครื่องคอมพิวเตอร์เข้าร่วมเก็บข้อมูลเกือบ 1 ล้านเครื่อง  จึงทำให้ข้อมูลมีความมั่นคงอย่างสูง

ระบบเลือกตั้งบน Blockchain สามารถแก้ไขปัญหาการเลือกตั้งแบบดั้งเดิมและระบบการเลือกตั้งอิเล็กทรอนิกส์แบบรวมศูนย์ได้ กล่าวคือ ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน โดยประเมินว่าค่าใช้จ่ายต่อหัวของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งอยู่ที่15 บาท  สะดวกและปลอดภัย โดยผู้เลือกตั้งสามารถใช้โทรศัพท์มือถือหรือเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตลงคะแนนได้    มีความโปร่งใส โดยผู้เลือกตั้งสามารถตรวจสอบการใช้สิทธิของตนเองบนฐานข้อมูล Blockchain ได้ โดยยังคงความเป็นส่วนตัว เนื่องจากการระบุตัวตนจะผ่านหมายเลขของผู้เลือิกตั้งซึ่งเป็นความลับ   มีความปลอดภัย เพราะระบบฐานข้อมูลแบบ Blockchain สาธารณะมีเครื่องคอมพิวเตอร์ในเครือข่ายเกือบ 1 ล้านเครื่อง จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะ Hack ระบบ หรือแม้แต่ “คน” ที่เป็นผู้ดูแลระบบก็ไม่สามารถทุจริตได้ เพราะสามารถตรวจสอบความถูกต้องของฐานข้อมูลและโปรแกรมการลงคะแนนที่เรียกว่า Smart Contract ซึ่งทั้งสองอย่างถูกเก็บอยู่บนฐานข้อมูล Blockchain ไม่ใช่เครื่องแม่ข่ายของหน่วยงานที่จัดการเลือกตั้งแต่อย่างใ

เป็นที่น่ายินดีที่หน่วยงานภาครัฐของไทยได้เล็งเห็นความสำคัญของ Blockchain และนำมาใช้กับการเลือกตั้ง โดยกรมพลศึกษาได้ริเริ่มนำระบบเลือกตั้งอิเล็กทรอนิกส์บน Ethereum Blockchain มาใช้เป็นครั้งแรกของประเทศ สำหรับการเลือกคณะกรรมการส่งเสริมมาตรฐานผู้ฝึกสอนกีฬาและผู้ตัดสินกีฬา  ซึ่งจะมีผู้ฝึกสอนกีฬาและผู้ตัดสินกีฬาจากทั่วประเทศจำนวนกว่าสองแสนคน กรมพลศึกษาได้จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นเมื่อวันที่ 4 เมษายน ที่ผ่านมา นางสาวดารณี ลิขิตวรศักดิ์ รองอธิบดีกรมพลศึกษา เชื่อมั่นว่า การเลือกตั้งออนไลน์บน Blockchain จะช่วยสร้างความสะดวกให้แก่ประชาชน และทำให้สัดส่วนผู้มาใช้สิทธิมากขึ้น ซึ่งอาจนำไปใช้ในการแก้ปัญหาการเมืองระยะยาวของประเทศ และพัฒนาไปสู่การเมือง 4.0 ยุค “ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม” ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net