สาธารณสุขเดินหน้าโครงการอาหารปลอดภัย

ผลักดันครัวไทยเป็นครัวโลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบนโยบายทุกหน่วยงานทำงานให้เป็นเอกภาพ เร่งปรับโครงสร้างองค์กรมีเจ้าภาพชัดเจน รณรงค์คนไทยบริโภคอาหารปลอดภัย เพื่อลดอัตราการเจ็บป่วย เผยสถิติผู้ป่วยเรื้อรัง 4 โรคยอดฮิตจากอาหารไม่ปลอดภัย อันดับหนึ่งความดันโลหิตสูง ส่วนโรคอุจจาระร่วงครองแชมป์โรคติดต่อทางอาหารและน้ำ

เมื่อวันที่ 23 เมษายน ที่โรงแรมอิมพีเรียลควีนส์ปาร์ค สุขุมวิท 22 กรุงเทพฯ นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมช.สธ.) เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ “รวมพลังขับเคลื่อนอาหารปลอดภัย เพื่อคนไทยสุขภาพดี มีโภชนาการสมวัย ส่งเสริมครัวไทยเป็นครัวโลก” พร้อมกล่าวมอบนโยบายให้แก่ผู้บริหารระดับสูงและข้าราชการนำไปปฏิบัติ โดยมีนายแพทย์สมชัย นิจพานิช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมพิธีและกล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดงานครั้งนี้

นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รมช.สธ. กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยมีปัญหาด้านสุขภาพและเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ ที่เกิดจากการบริโภคอาหารไม่ปลอดภัยและโภชนาการที่ไม่ถูกสุขลักษณะเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้รณรงค์เพื่อให้ประชาชนได้บริโภคอาหารที่ปราศจากการปนเปื้อนของสารพิษตกค้าง และเชื้อโรคต่างๆ แต่ปัญหาที่พบคือ การทำงานด้านความปลอดภัยอาหารมีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่กลับขาดการประสานงานความร่วมมือแบบบูรณาการและไม่มีเจ้าภาพบริหารงานชัดเจน ทำให้การแก้ปัญหาไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ส่งผลให้ประชาชนเจ็บป่วยเรื้อรังมากขึ้น แพทย์มีเวลาดูแลคนไข้น้อยลง ขณะที่ภาครัฐต้องสูญเสียงบประมาณค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้น

นายแพทย์สุรวิทย์ กล่าวว่า จากปัญหาดังกล่าวจึงจำเป็นที่จะต้องมีหน่วยงานเข้ามาบริหารจัดการด้านความปลอดภัยของอาหารที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีนโยบายเห็นควรปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรที่ดูแลด้านอาหารปลอดภัยทั้งระบบของกระทรวงสาธารณสุข ให้ทำงานเชื่อมโยงกันตามแผนบูรณาการ โดยมี ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยด้านอาหารเป็นหน่วยงานหลักในการประสานความร่วมมือระหว่างจังหวัด กรมและกระทรวงเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

“การจัดโครงการครั้งนี้ถือเป็นการส่งสัญญาณกระตุ้นบุคลากรด้านสาธารณสุขให้เตรียมพร้อมที่จะขับเคลื่อนและผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่สังคมที่ตระหนักรู้และมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารปลอดภัย มีคุณภาพ ถูกหลักโภชนาการ รู้จักวิธีการบริโภคอาหารเพื่อป้องกันโรคและเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรง ไม่เจ็บป่วยง่าย ซึ่งถือเป็นนโยบายของรัฐบาลที่จะส่งเสริมครัวไทยเป็นผู้นำด้านอาหารปลอดภัยระดับครัวโลก และสร้างความเข้มแข็งให้สถานประกอบการด้านอาหารมีมาตรฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี และยังเป็นแบบอย่างที่ดีในระดับอาเซียนในอนาคต”รมช.สธ.กล่าว

นายแพทย์สุรวิทย์ กล่าวถึงการขับเคลื่อนนโยบายอาหารปลอดภัยว่า นับจากนี้จะต้องเร่งสร้างความเข้มแข็งในกระบวนการบริหารจัดการอาหารตลอดห่วงโซ่อาหาร ตั้งแต่การผลิต นำเข้า แปรรูปจนถึงการจำหน่าย กระจายสู่ผู้บริโภคหรือที่เรียกว่า จากฟาร์มจนถึงโต๊ะอาหาร เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยของประชาชน และเผยแพร่ข้อมูลให้เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มทั้งกลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยง กลุ่มผู้ป่วยและกลุ่มที่พักฟื้นเพื่อสร้างสุขนิสัยที่ถูกต้องในการบริโภคและไม่กลับมาป่วยซ้ำอีก ขณะนี้ได้ประสานกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งผู้ประกอบการสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพ สามารถเข้าร่วมโครงการอาหารปลอดภัย จัดส่งวัตถุดิบถึงครัวโรงพยาบาลนำไปบริการแก่ผู้ป่วยและผู้พักฟื้นที่บ้านเพื่อบำบัดรักษาโรคเรื้อรัง นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายที่จะพัฒนามาตรฐานอาหารฮาลาลในโรงพยาบาล เพื่อให้บริการแก่ผู้ป่วยและผู้มารับบริการ โดยกำหนดเป้าหมายไว้ที่โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป 56 แห่ง ซึ่งขณะนี้มีโรงพยาบาลยะลาและโรงพยาบาลสตูลได้รับการรับรองมาตรฐาน HAL-Q เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้เปิดเผยสถิติล่าสุด พบผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 4 โรคยอดฮิตที่มีสาเหตุ จากอาหารและโภชนาการไม่ปลอดภัยในรอบ 5 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2549-2553 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 3,093,546 ราย โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกโรค เรียงตามลำดับดังนี้ อันดับ 1.โรคความดันโลหิตสูง มีอัตราความชุกสูงที่สุด คือพบผู้ป่วย 1,725,719 ราย หรือคิดเป็นอัตราความชุก 2,709 ต่อประชากรแสนคน อันดับ 2.โรคเบาหวาน มีจำนวน 888,580 ราย คิดเป็นอัตราความชุกเท่ากับ 1,394 ต่อประชากรแสนคน อันดับ 3.โรคหัวใจขาดเลือด พบ 171,353 ราย อัตราความชุก 268 ต่อประชากรแสนคน อันดับ 4.โรคหลอดเลือดสมอง พบ 140,243 ราย อัตราความชุก 220 ต่อประชากรแสนคน

สถานการณ์การระบาดของโรคติดต่อทางอาหารและน้ำที่สำคัญ เช่น โรคอุจจาระร่วง จากรายงานการเฝ้าระวังโรคในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า โรคอุจจาระร่วงมีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนเป็นอันดับหนึ่งมาตลอด เมื่อปี 2554 มีรายงานผู้ป่วยทั่วประเทศ จำนวน 1,303,921 ราย คิดเป็นอัตราป่วยเท่ากับ 2,041 ต่อประชากรแสนคน พบผู้เสียชีวิต 56 ราย และตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-12 เม.ย. 55 พบผู้ป่วย 377,780 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 591.41 ต่อแสนประชากร มีผู้เสียชีวิต 8 ราย

อหิวาตกโรค ในปี 2554 มีผู้ป่วยจำนวนทั้งสิ้น 279 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 0.44 ต่อประชากรแสนคน เสียชีวิต 4 ราย อัตราป่วยของอหิวาตกโรคมีแนวโน้มลดลงจากปี 2553 เกิดการระบาดของอหิวาตกโรคครั้งใหญ่อีกครั้ง พบผู้ป่วยทั้งสิ้น 1,597 ราย อัตราป่วย 2.51 ต่อประชากรแสนคน สำหรับปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 12 เม.ย. 55 พบผู้ป่วย 18 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต

โรคอาหารเป็นพิษในช่วงปีที่ผ่านมา มีอัตราป่วยลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน สำหรับปี 2554 ได้รับรายงานผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษจำนวน 100,534 ราย คิดเป็นอัตราป่วยเท่ากับ 157.38 ต่อประชากรแสนคน พบผู้เสียชีวิต 4 ราย และตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-12 เม.ย. 55 พบผู้ป่วย 30,317 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 47.46 ต่อแสนประชากร มีผู้เสียชีวิต 1 ราย

นายแพทย์สมชัย นิจพานิช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้มีหนังสือสั่งการไปยังหน่วยงานระดับสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อเร่งนำนโยบายไปปฏิบัติตามแผนบูรณาการอาหารปลอดภัยในปี 2555 โดยแต่งตั้งคณะกรรมการความปลอดภัยด้านอาหารระดับจังหวัด เพื่อสุ่มตรวจตัวอย่างอาหาร สถานประกอบการ ตลาด ร้านอาหารและอุบัติการณ์เกิดโรค พร้อมจัดทำตัวชี้วัดหรือเป้าหมาย และการติดตามประเมินผล การประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่ดูแลห่วงโซ่อาหารตั้งแต่ต้นน้ำคือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดูแลการผลิตระดับฟาร์ม ส่วนกลางน้ำและปลายน้ำมีกระทรวงสาธารณสุขตรวจสอบและเฝ้าระวัง ด้านกระทรวงพาณิชย์ดูแลการค้าขายอาหาร และยังเป็นตัวแทนเจรจาการค้าบนเวทีระดับอาเซียนเพื่อส่งเสริมให้ครัวไทยเป็นครัวโลก ทั้งนี้มีหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมด้วย เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงศึกษาธิการ และภาคเอกชน เป็นต้น เพื่อให้อาหารมีความสะอาดปลอดภัย

“เมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนแล้ว จะทำให้เกิดการส่งออกและนำเข้าอาหารระหว่างประเทศมากขึ้น ก็ยิ่งต้องเพิ่มมาตรการควบคุมดูแล ระบบตรวจสอบตามด่านชายแดนเข้มงวดมากขึ้น โดยเตรียมเครื่องมือและบุคลากรตลอดจนฐานข้อมูลด้านความปลอดภัยอาหาร เพื่อประสานงานกันระหว่างประเทศ หากเกิดกรณีฉุกเฉินด้านอาหารไม่ปลอดภัยหรือภัยก่อการร้ายในรูปแบบสารปนเปื้อนอาหารที่เป็นอันตรายต่อชีวิตคนจำนวนมาก ทั้งนี้มีองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยมีศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยด้านอาหารเป็นฝ่ายประสานงาน”รองปลัด สธ.กล่าว

ด้านนางจงกลนี วิทยารุ่งเรืองศรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยด้านอาหาร (ศปอ.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าจากการตรวจสอบตัวอย่างอาหารของกระทรวงสาธารณสุข ในปี 2554 จาก 435,740 ตัวอย่าง ยังพบไม่ปลอดภัยจากสารปนเปื้อนทางเคมีและเชื้อจุลินทรีย์จำนวน 15,869 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 3.65 อาหารที่ตกมาตรฐานมากที่สุด 3 อันดับ แรก ได้แก่ 1) น้ำแข็ง 2) น้ำดื่ม และ 3) อาหารปรุงจำหน่าย โดยพบจุลินทรีย์ที่มือพ่อค้า แม่ค้าหยิบจับอาหาร ส่วนผลการตรวจตลาดสดจำนวน 808 แห่ง ผ่านเกณฑ์ตลาดสดน่าซื้อจำนวน 724 แห่ง (ปลอดภัยร้อยละ 89.60) และตรวจร้านอาหารและแผงลอยจำหน่ายอาหาร จำนวน 78,929 แห่ง ผ่านเกณฑ์อาหารสะอาด 69,560 แห่ง (ปลอดภัยร้อยละ 88.13) จากผลการดำเนินงานถือว่าน่าพอใจเพราะเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ 80 % แต่อย่างไรก็ตามก็ยังคงพบน้ำแข็ง น้ำดื่ม และอาหารปรุงจำหน่าย ตกมาตรฐาน สาเหตุอันเนื่องมาจากพ่อค้า แม่ค้า ปฏิบัติตนไม่ถูกต้องตามสุขลักษณะ เช่น ไม่ล้างมือ ไม่ทำความสะอาดภาชนะที่ใช้ในการผลิตอาหาร ส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดอาการอาเจียน ท้องเสีย และมีไข้ได้ สำหรับในปีนี้แต่ละจังหวัดตั้งเป้าหมายสูงกว่าเดิม เพื่อยกมาตรฐานให้ตลาดสดมีความสะอาดและน่าซื้อมากขึ้น โดยรมว.สธ.มอบหมายให้ทุกจังหวัดดำเนินการอย่างเข้มงวดเพื่อให้อาหารปลอดภัย 100% 

ทั้งนี้ ภายหลังจากนายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รมช.สธ. กล่าวมอบนโยบายเสร็จแล้ว ได้มอบโล่ประกาศเกียรติคุณแด่ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อกระทรวงสาธารณสุข ด้านอาหารปลอดภัยให้แก่ ศ.ดร.นพ.คาซูโนริ โออิชิ จากมหาวิทยาลัยโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ในฐานะเป็นผู้วิจัยอุบัติการณ์โรคไข้หูดับหรือโรคติดเชื้อ Streptococcus suis ในประเทศไทย โดยร่วมมือกับศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยด้านอาหารในการนำร่องการรณรงค์ที่จังหวัดพะเยา เพื่อให้คนไทยเลิกบริโภคเนื้อหมูสุกๆ ดิบๆ อย่างลาบ หลู้ ที่เป็นสาเหตุของโรคไข้หูดับ

นอกจากนี้ยังได้มอบรางวัลโรงพยาบาลต้นแบบอาหารปลอดภัย จำนวน 4 แห่ง และรางวัลโรงพยาบาลมาตรฐานอาหารฮาลาล จำนวน 2 แห่ง รางวัลทีมงานอาหารปลอดภัยเข้มแข็งระดับจังหวัด จำนวน 21 แห่งและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 15 แห่ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท