Skip to main content
sharethis
Event Date

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 8.30-12.30 น. ณ ห้อง 701 ชั้น 7 อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หลักการและเหตุผล

            การพัฒนาเมืองในช่วงเวลากว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่าน ทั้งในประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลก ได้สะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำในมิติต่างๆ ทั้งในเชิงพื้นที่ โอกาส รายได้ การศึกษา และคุณภาพชีวิต แม้การพัฒนาในอดีตจะทำให้เมืองหลายแห่งของประเทศมีความทันสมัยและเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศและภูมิภาค ทว่าการพัฒนาดังกล่าวก็ได้ทอดทิ้งพื้นที่โดยเฉพาะในชนบทและกีดกันผู้คนจำนวนมากให้กลายเป็นชายขอบของระบบเศรษฐกิจการเมืองของประเทศ

          การเติบโตของเมืองใหญ่ต่างๆ ได้ทำให้พื้นที่เหล่านี้กลายเป็นดินแดนแห่งโอกาสที่ผู้คนจำนวนมากที่ถูกละทิ้งจากการพัฒนาของรัฐ อพยพย้ายถิ่นเข้ามาสู่เมืองเพื่อแสวงหา “โอกาสที่ดีกว่า” ทั้งในทางเศรษฐกิจและทางสังคม เมืองใหญ่โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางของประเทศจึงกลายเป็นพื้นที่รวมของผู้คนจากทั่วทุกภูมิภาค แม้ผู้คนจำนวนหนึ่งจะได้รับโอกาสที่ตนแสวงหา แต่ผู้คนอีกจำนวนมากกลับต้องประสบกับปัญหาความยากจน การไร้ความมั่นคงทางด้านที่อยู่อาศัย ความไม่แน่นอนทางรายได้และการจ้างงาน รวมถึงความไม่เท่าเทียมทางโอกาส การศึกษา และการรับบริการทางสังคม ทั้งนี้อันเนื่องมาจากการพัฒนาเมืองในช่วงที่ผ่านมาของรัฐมิได้ให้ความสำคัญหรือยอมรับการมีอยู่ของคนจนเมืองกลุ่มต่างๆ ที่ต่างเป็นกำลังสำคัญในการสร้างพลวัตของเมือง

          จากสภาวการณ์ดังกล่าว ในปัจจุบันหลายหน่วยงานทั้งภาคประชาสังคม ภาครัฐ และภาควิชาการ ได้เริ่มตั้งคำถามและศึกษาเพื่อทำความเข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาเมืองในช่วงที่ผ่านมา ที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมทางสังคมเศรษฐกิจ หลายหน่วยงานได้เสนอความเป็นไปได้ในการพัฒนาเมืองที่เป็นพื้นที่ของทุกคน รวมถึงแนวทางในการสร้างความมั่นคงที่อยู่อาศัย และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มคนจนเมืองและคนชายขอบในเมืองกลุ่มต่างๆ ซึ่งแนวทางและความเป็นไปได้ของการพัฒนาเมืองนี้จำนวนหนึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นแม่แบบสำคัญในการนำไปปรับใช้กับการพัฒนาเมืองในภูมิภาคต่างๆ  ตลอดจนเป็นพื้นฐานสำคัญของการแลกเปลี่ยนเพื่อการพัฒนาเมืองในอนาคตที่มีความยั่งยืนและเป็นของทุกคน

          ทั้งนี้ในการประชุมระดับรัฐมนตรีเอเชีย-แปซิฟิคด้านที่อยู่อาศัยและการพัฒนาเมือง ครั้งที่ 6 (Asia-Pacific Ministerial Conference on Housing and Urban Development: 6th APMCHUD) ที่กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย เมื่อวันที่ 14-16 ธันวาคม 2559 ได้มีหัวข้อหลักในการประชุมคือ "รูปแบบเมืองที่เกิดใหม่: การตอบสนองเชิงนโยบายและโครงสร้างการบริการของวาระใหม่แห่งการพัฒนาเมือง" รวมถึงการหารือด้านที่อยู่อาศัยและนโยบายการพัฒนาที่อยู่อาศัยอย่างยั่งยืน ซึ่งผู้แทนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศไทยได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุม มีเนื้อหาโดยสรุปว่าประเทศไทยได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาที่อยู่อาศัย เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งพร้อมในการสนับสนุนความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิคในประเด็นที่สำคัญต่างๆ

การประชุมทางวิชาการครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อทำความเข้าใจและแลกเปลี่ยนสภาพปัญหาจากการพัฒนาเมืองในอดีตจนถึงปัจจุบัน รวมถึงแนวคิดของการพัฒนาเมืองในอนาคตที่จำเป็นจะต้องมีความยั่งยืนและเป็นพื้นที่ของทุกกลุ่มคน ตลอดจนเป็นแนวทางหนึ่งในการแสวงหาทางออกและความเป็นไปได้สำหรับการกำหนดทิศทางทางนโยบายเกี่ยวกับเมืองของประเทศในอนาคต

 

วัตถุประสงค์

1. เรียนรู้และทำความเข้าใจสภาพปัญหาของการพัฒนาเมืองในอดีตจนถึงปัจจุบัน

2. แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแสวงหาแนวทางในการพัฒนาเมืองที่เป็นของทุกกลุ่มคนอย่างไม่ทอดทิ้งกัน “URBAN INCLUSION”

3. รวบรวมข้อมูลสำหรับจัดทำรายงานสถานการณ์และการขับเคลื่อนงานด้านคนจนเมืองของประเทศไทยเพื่อเตรียมการเข้าร่วมประชุม UNESCO – MOST ณ ประเทศมาเลเซีย ในวันที่ 14-17 มีนาคม 2560

 

ผู้เข้าร่วม

          นักวิชาการ ภาคประชาสังคม และหน่วยงานภาครัฐ ที่ทำงานเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาเมืองและตระหนักถึงปัญหาของการพัฒนาเมืองในอดีตที่ผ่านมา รวมถึงมีความพยายามในการแสวงหาแนวทางการพัฒนาเมืองเพื่อเป็นของทุกกลุ่มคน ตลอดจนสื่อมวลชนที่สนใจประเด็นเกี่ยวกับเมืองและคนจนเมือง ประมาณ 40 คน

 

จัดโดย

o   คณะกรรมการบริหารจัดการเปลี่ยนแปลงสังคม (UNESCO – MOST แห่งประเทศไทย)

o   แผนงานสนับสนุนองค์ความรู้เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะและคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

o   โครงการยุทธศาสตร์การวิจัยเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและการสร้างความเป็นธรรม
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

o   สำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

o   เครือข่ายจุฬาฯ นานาชาติ

 

กำหนดการประชุมวิชาการ

“URBAN INCLUSION: ความรู้กับนโยบายเพื่ออนาคตที่อยู่อาศัยและเมืองที่ยั่งยืน”

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 8.30-12.30 น.

ณ อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

****************************************************************************************************

08.30 - 09.00 น.

ลงทะเบียนเข้าร่วมงาน

09.00 – 09.15 น.

กล่าวต้อนรับ

ศ.สุริชัย หวันแก้ว

ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

09.15 – 09.30 น.

กล่าวเปิดงาน

ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต

รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

09.30-12.15 น.

เวทีเสวนา “URBAN INCLUSION: ความรู้กับนโยบายเพื่ออนาคตที่อยู่อาศัยและเมืองที่ยั่งยืน”

-          คุณภรณี ภู่ประเสริฐ  ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9)

-          รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ

-          ดร.ศยามล สายยศ เจ้าหน้าที่แผนงานอาวุโส สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย

-          คุณกนิษฐา ปรีชาพีชคุปต์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)

-          คุณนพพรรณ พรหมศรี เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย

-          คุณนุชนารถ แท่นทอง เครือข่ายสลัม 4 ภาค

-          ผศ.ดร.สักรินทร์ แซ่ภู่ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมือง และนฤมิตศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

เสวนาแลกเปลี่ยน “อนาคตกับการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนและไม่ทอดทิ้งกัน”

-          นำการเสวนาโดย อนรรฆ พิทักษ์ธานิน ผู้จัดการแผนงานสนับสนุนองค์ความรู้ฯ คนไร้บ้าน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ

 

*พักรับประทานอาหารว่าง

12.15 -12.30 น.

สรุปประเด็นแล้วกล่าวปิดการเสวนา ศ.สุริชัย หวันแก้ว

12.30 น.

รับประทานอาหารกลางวัน

*ดำเนินรายการโดย ดร.มนทกานต์ ฉิมมามี สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net