งานเปิดตัวหนังสือ “บทสนทนาเฟดรัสและไอออน ของ เพลโต”

Event Date: 
Tuesday, 29 September, 2015 - 16:30

Miracle Mall ร่วมกับ commonbooks ขอเชิญร่วมงานเปิดตัวหนังสือ “บทสนทนาเฟดรัสและไอออน ของ เพลโต”
พบปะพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับบรรณาธิการและผู้แปลร่วม อู่ทอง โฆวินทะ
ดำเนินรายการโดย จตุรงค์ ผดุงทรัพย์
ในวันอังคาร ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2558 เวลา 17:00-19:00 น.
ณ Miracle Mall ปากซอยสุขุมวิท 41 (ใกล้ BTS พร้อมพงษ์)
สำรองที่นั่งและสอบถามรายละเอียดได้ที่ Facebook / commonbookspublishing
หรือโทร. 085 912 6263
(ไม่เสียค่าใช้จ่าย) 

กิจกรรม https://www.facebook.com/events/563249233823234/

 

กำหนดการ
16:30-16:55 ลงทะเบียน และรับประทานของว่าง
17:00-18:00 ช่วงสนทนา
18:00-19:00 ช่วงถาม-ตอบ และรับประทานของว่าง

เกี่ยวกับกิจกรรม
“เพลโต 'พูด' อะไรกับเรา ใน 'บทสนทนาเฟดรัสและไอออน ของ เพลโต'” เป็นเสวนาครั้งที่ 1 ในเสวนาชุด “เส้นทางคืนสู่รากแก้วปรัชญาตะวันตก” จัดขึ้นในวาระเปิดตัวหนังสือ “บทสนทนาเฟดรัสและไอออน ของ เพลโต” โดยมีจุดประสงค์ที่ต้องการจะเชื้อชวนผู้อ่านและผู้สนใจในปรัชญาตะวันตกได้มาพบปะสังสรรค์และพูดคุยกันฉันท์มิตรตามหนทางแห่งการรักในความรู้ของสหายปรัชญา (friends of philosophy) โดยมุ่งหวังว่าจะมีการจัดกลุ่มเสวนาเช่นนี้ในครั้งต่อๆ ไปอย่างต่อเนื่อง 
บทสนทนาเฟดรัสและไอออน ของ เพลโต เป็นหนังสือปรัชญาเล่มแรกอย่างเป็นทางการของอู่ทอง โฆวินทะ อาจารย์ภาควิชาปรัชญา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2529-2551 และผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับปรัชญาเพลโต ปรัชญานิทเช่ และสุนทรียศาสตร์ ในฐานะบรรณาธิการและผู้แปลร่วม ร่วมกับ ศุภมิตร เขมาลีลากุล ลูกศิษย์ผู้ซึ่งปัจจุบันเป็นนักแปลอิสระ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์คอมม่อนบุ๊คส วางจำหน่ายครั้งแรกในเดือนสิงหาคม 2558

เกี่ยวกับหนังสือ 
“A text is not a text unless it hides from the first comer,
from the first glance, the law of its composition and the rules of its game.”
“Let us begin again.
Therefore the dissimulation of the woven texture can in any case take centuries to undo its web.”
Jacques Derrida, “Plato’s Pharmacy”

เฟดรัส (Phaedrus) นับเป็นบทสนทนาชิ้นหนึ่งของเพลโตที่เต็มไปด้วยข้อกังขาและถูกตั้งคำถามมาโดยตลอดไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเนื้อหาหรือความเป็นเอกภาพของบทสนทนา รวมถึงที่ว่าเป็นบทสนทนาว่าด้วยเรื่องอะไรแน่ ความรัก ความงามของจิตวิญญาณที่เป็นอมตะ ความจริง การพูดการเขียน วาทศิลป์ (rhetoric) และวิพากษ์วิธี (dialectic) หรือปรัชญาที่ถูกถักทออยู่ในเรื่องเดียวกัน กระนั้นก็ดี อาจกล่าวได้ว่า เฟดรัสถูกจัดให้เป็นหนึ่งในบทสนทนาของเพลโตที่มีผู้นิยมอ่านไม่แพ้บทสนทนายอดนิยมอย่าง Symposium โดยเฉพาะในช่วงศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา
อิทธิพลสำคัญที่ทำให้เกิดกระแสความสนใจและศึกษาเฟดรัสในบริบทร่วมสมัย ก็คือการอ่านและใคร่ครวญอีกครั้ง (rethink) ของสองนักปรัชญาเรืองนาม มาร์ติน ไฮเด็กเกอร์ (Martin Heidegger) และฌาคส์ แดริดา (Jacques Derrida) ซึ่งทำให้บทสนทนาชิ้นนี้ได้รับการพิจารณาในฐานะเพชรในตมที่รอคอยเวลากว่ายี่สิบห้าศตวรรษจึงจะถูก “ค้นพบ”
สำหรับมาร์ติน ไฮเด็กเกอร์ เฟดรัสคือบทสนทนาของเพลโตที่ยอดเยี่ยมเป็นพิเศษ (remarkable) ชิ้นหนึ่ง เมื่อพิจารณาทั้งจากลีลาการประพันธ์ เช่น การผูกเรื่องที่มีหลากหลายประเด็นเข้ามาอยู่ในเรื่องเดียวกันอย่างแยบคายและลงตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความรัก ความงามของจิตวิญญาณ (soul) ที่เป็นอมตะ การพูดและการเขียน การทำความเข้าใจในเรื่องของวาทศิลป์และปรัชญา ซึ่งล้วนเป็นลักษณะการแสดงออกของการเป็นมนุษย์ของเรา (human expression) ประกอบกับการใช้สำนวนที่ไพเราะและมีชั้นเชิง ขณะที่นักปรัชญารุ่นหลัง ฌาคส์ แดริดา ได้เขียนบทความขนาดยาวเกี่ยวกับเฟดรัส ที่มีชื่อว่า “Plato’s Pharmacy” หรือ “ห้องยาของเพลโต” (ในหนังสือชื่อ Dissemination) โดยนำเสนออย่างลุ่มลึกและแหวกแนวถึงความโดดเด่นของเฟดรัสในฐานะผลงานชิ้นแรกของประวัติศาสตร์ความคิดตะวันตกที่พยายามทำความเข้าใจกับปัญหาของการพูด (speech หรือ logos) และการเขียน (writing หรือ graphe) รวมทั้งวาทศิลป์ (rhetoric) ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้สำคัญของการเป็นมนุษย์ในฐานะที่เราเป็นสัตว์ที่พูดได้
เฟดรัสเป็นบทสนทนาถามตอบระหว่างโสกราตีสและเฟดรัส สหายที่รักในสุนทรพจน์ และเป็นบทสนทนาเดียวของเพลโตที่มีฉากหลังอยู่ในท่ามกลางธรรมชาติร่มรื่นนอกนครเอเธนส์ โดยเปิดฉากบทสนทนาด้วยสุนทรพจน์สามบท สองบทแรกพยายามโน้มน้าวให้หนุ่มผู้ถูกปองรักรับรักผู้ที่ไม่ได้รักเขา ส่วนสุนทรพจน์บทที่สามมีเนื้อความตรงข้าม พยายามโน้มน้าวให้หนุ่มที่ถูกปองรักรับรักผู้ที่รักเขา เนื้อหาของสุนทรพจน์ที่อาจดูมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องของความรักนี้ หากพิจารณาในภาพกว้างหรือภาพรวมของเนื้อหาจะพอมองเห็นได้ว่า “การพูดและการเขียน” ได้ถูกซ่อนไว้เบื้องหลังเรื่องของความรักอย่างแนบเนียนตั้งแต่ต้นเรื่อง ทั้งยังเชื่อมร้อยเข้ากับเรื่องของ “วาทศิลป์และปรัชญา” เฉกเช่นในไอออน (Ion) บทสนทนาขนาดสั้นของเพลโตที่เขียนขึ้นก่อนเฟดรัสสามสิบปี ที่มีเนื้อหาเชื่อมโยงคาบเกี่ยวกับเฟดรัสอย่างมีนัยสำคัญในประเด็นดังกล่าว หรือที่มักนิยมเรียกขานกันว่า ข้อพิพาทระหว่างกวีนิพนธ์และปรัชญา (The battle between poetry and philosophy) หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ปรากฏอยู่ในอีกหลากหลายบทสนทนา การนำเฟดรัสและไอออนมารวมไว้ด้วยกันจึงอาจเป็นประโยชน์ในการทำความเข้าใจว่าเพลโตต้องการจะพูดอะไรกับเราตลอดชีวิตการประพันธ์ของเขา

เกี่ยวกับบรรณาธิการและผู้แปลร่วม อู่ทอง โฆวินทะ
สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาปรัชญา จาก Skidmore College, Saratoga Springs, New York, USA (พ.ศ. 2515) และระดับปริญญาโท-เอก สาขาปรัชญา จากมหาวิทยาลัย Duquesne Pittsburge, Pennsylvania, USA (พ.ศ. 2528) ปัจจุบันยังคงอ่านและค้นคว้าเกี่ยวกับปรัชญากรีกโบราณ ปรัชญานิทเช่ และสุนทรียศาสตร์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท