Skip to main content
sharethis
Event Date

ดีไซเนอร์จะแก้ปัญหาของมนุษย์ได้อย่างไร? คนหนึ่งคนสามารถพลิกโลกได้หรือไม่? เมืองที่ผู้คนสิ้นหวังจะกลับกลายเป็นเมืองแห่งคุณภาพชีวิตที่ดีได้ด้วยวิธีใด?  ‘ธุรกิจ’ กับ ‘สังคม’ กอดคอไปด้วยกันได้จริงรึเปล่า?

พบคำถามเหล่านี้ และคำตอบจากผู้คนมากมายทั่วโลกที่ใช้ ‘มือ’ และ ‘ใจ’ ของพวกเขาสร้างสิ่งใหม่ที่ดีกว่า ...ใน 5 หนังสารคดีบันดาลใจของ Social Change Film Festival วันที่ 6-7 และ 9 มีนาคมนี้ : Google and the World Brain, Money & Life, Urbanized, No Impact Man และ Design & Thinking

ชมฟรี มีซับฯ ไทยทุกเรื่อง ติดตามรายละเอียดหนังแต่ละเรื่องและวัน-เวลาฉาย ได้ที่
https://www.facebook.com/SocialChangeFF

ภูมิใจนำเสนอโดย สำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (สกส.) และนิตยสาร BIOSCOPE

Social Change Film Festival เป็นส่วนหนึ่งของ “เทศกาลสัปดาห์กิจการเพื่อสังคม” (Social Enterprise Week) ซึ่งยังประกอบด้วยอีกหลากหลายกิจกรรมเพื่อสร้างการเปลี่ยนสังคม ทั้งหนังสือ, อาหารสุขภาพ, เส้นทางท่องเที่ยว, และการเสวนา-อบรมมากมาย วันที่ 1-9 มีนาคม นี้


------------------------------------------------------------------


ข้อมูลหนัง

Google and the World Brain (2013)

กำกับ : เบน ลูว์อิส / 90 นาที

เมื่อปี 1937 เอช จี เวลส์ นักเขียนไซ-ไฟระดับเทพทำนายการเกิดขึ้นของ ‘World Brain’ หรือห้องสมุดขนาดใหญ่ยักษ์ที่บรรจุข้อมูลความรู้ทั้งมวลไว้เปรียบดังก้อนสมองที่จะสามารถนำพามนุษยชาติไปสู่ระดับปัญญาที่สูงส่งขึ้น ....ช่างน่าทึ่งที่แค่ 70 ปีต่อมา คำทำนายเหลือเชื่อนั่นก็ทำท่าจะกลายเป็นจริง เมื่อ Google เริ่มต้นอภิมหาโปรเจ็คต์ที่ทะเยอทะยานที่สุดในประวัติศาสตร์ความรู้ของโลกมนุษย์ ด้วยการลงมือสแกนหนังสือนับล้านๆ เล่มใส่ไว้ในเว็บไซต์ Google Books อย่างเงียบๆ เพื่อให้คนเข้าถึงมันแบบดิจิตอลได้อย่างง่ายดาย...และฟรี

ทว่า ปัญหาคือ กว่าครึ่งของจำนวนนั้นเป็นหนังสือที่ยังมีลิขสิทธิ์อยู่ และนักเขียนเจ้าของหนังสือเหล่านี้ก็ไม่แฮปปี้เอาเสียเลยจึงลุกขึ้นมาทำแคมเปญต่อต้าน co-working space กันอย่างพร้อมเพรียง ถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาลอื้อฉาวที่นิวยอร์คในปี 2011!

นี่คือเรื่องราวที่เราจะได้พบใน Google and the World Brain สารคดีที่บอกเล่าความฝันยิ่งใหญ่ของมนุษย์ซึ่งเอาเข้าจริงก็มิได้มีแต่ด้านงดงามหอมหวาน โดย เบน ลูว์อิส นักทำสารคดีผู้โด่งดัง สวมบท ‘แจ็คผู้ฆ่ายักษ์’ ด้วยการตะโกนถามดังๆ ต่อโครงการดังกล่าว “เราทุกคนรู้ว่าการเขียนหนังสือไม่ใช่เรื่องง่าย คนต้องใช้เวลาหลายปีในการผลิตความรู้ออกมา แล้วเราควรจะรู้สึกยังไงดีล่ะเมื่อ Google ทำแบบนี้โดยไม่ต้องจ่ายค่าเหนื่อยอะไรเลยแก่นักเขียนเหล่านั้น? มันทำให้ผมเริ่มสงสัยว่า ขอบเขตที่เหมาะสมของอินเตอร์เน็ตอยู่ตรงไหน และเราจะใช้ศักยภาพของมันได้อย่างไร้ข้อจำกัดจริงๆ รึแค่เพราะเราอ้างว่า ‘เรากำลังทำสิ่งดีๆ ให้แก่โลก’? ผมอยากให้คนดูเกิดความคิดเชิงวิพากษ์วิจารณ์ต่ออินเตอร์เน็ตมากขึ้น และอยากบอกทุกคนว่า ‘เลิกเชื่อเถอะว่าเทคโนโลยีจะสร้างโลกยูโทเปียได้’!”

(Google and the World Brain ได้เข้าชิงสาขา World Cinema – Documentary ในเทศกาลหนังซันแดนซ์ปี 2013)

 


Money & Life (2013)

กำกับ : เคที ทีก / 86 นาที

การล่มสลายของเศรษฐกิจโลกในปี 2008 ส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนมากมาย ในกรณีของนักบำบัดชื่อ เคที ทีก นั้น แม้จะไม่ถึงขั้นตกงานชีวิตดำดิ่ง แต่สิ่งนี้ก็ทำให้สายตาที่เธอเคยมีต่อ ‘เงิน’ เปลี่ยนไปมหาศาล และผลักดันให้คนซึ่งไม่เคยมีประสบการณ์การทำหนังอะไรเลยอย่างเธอตัดสินใจทุ่มเทเวลา 4 ปีเต็มไปกับการทำสารคดี essay เรื่องนี้อันว่าด้วยความสัมพันธ์ของเงินกับคน

Money & Life พาเราย้อนไปรำลึกถึงอดีตสวยงามครั้งที่คนรุ่นทวดรุ่นปู่ยังสามารถดำรงชีวิตโดยไม่ต้องพึ่งพาสิ่งที่เรียกว่าเงินมากนัก เป็นยุคที่ความสุขของผู้ใหญ่ยังหาง่าย และความสนุกของเด็กมีเกลื่อนกล่นอยู่ในกิจกรรมแอบอิงธรรมชาติ กระทั่งเมื่อโลกเปลี่ยนไป เทคโนโลยีและการบริโภคแบบสมัยใหม่ก็ทำให้เงินกลายมาเป็นศูนย์กลางแห่งการแสวงหาอย่างไม่สิ้นสุด

แต่ได้ยินแบบนี้อย่าเพิ่งรีบสรุปว่านี่เป็นหนังต่อต้านนายทุนเกลียดชังทุนนิยมแบบดื้อๆ ด้านๆ เพราะทีกไม่ได้เสนอคำตอบหรือทางออกใดๆ ให้แก่เราเลย สิ่งที่เธอทำคือการปลุกเร้าให้คนดูต้องคุยกับตัวเองด้วยคำถามเหล่านี้ : ทำไมอยู่ดีๆ เงินจึงกลายเป็นนายของเรา แทนที่เราจะเป็นนายของมัน? เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะใช้ชีวิตอย่างเป็นอิสระจากหนี้และการบริโภคที่มากเกินไป?, เราจะสามารถหาเงินโดยไม่ละทิ้งคุณค่าลึกๆ บางด้านของชีวิตที่เรายึดถือได้ไหม? โลกนี้มีระบบการเงินทางเลือกอะไรให้เราเลือกได้อีกบ้าง?

“มนุษย์เป็นผู้สร้างเงินขึ้นมา” ทีกบอก “คำถามสำหรับตอนนี้มีอยู่ว่า แล้วเราจะสามารถยึดบทบาทนั้นกลับคืนมาเพื่อสร้างความหมายของเงินขึ้นเสียใหม่ได้หรือเปล่า?”

(Money & Life คว้ารางวัล Best Social Issue Documentary จากเทศกาล Atlanta Docufest)

 

Urbanized (2011)

กำกับ : แกรี ฮัสต์วิต / 85 นาที

หนังสารคดีเรื่องที่ 3 ในไตรภาค ‘Design Trilogy’ อันโด่งดัง ที่ผกก. แกรี ฮัสต์วิต สำรวจ ‘งานออกแบบ’ ตั้งแต่การออกแบบกราฟิก (Helvetica, 2007), ผลิตภัณฑ์ (Objectified) จนถึงผังเมือง (Urbanized) โดยมิได้หยุดเนื้อหาตรงแค่ว่ามันคืออะไรและสวยอย่างไร แต่ยังลงลึกถึงบทบาท ความสัมพันธ์ และความหมายที่งานดีไซน์เหล่านี้มีต่อชีวิตคนและต่อโลก

ใน Urbanized ฮัสต์วิตกับทีมงานไม่กี่ชีวิตหิ้วกล้องดิจิตอลแล้วออกเดินทางไปทั่วโลกเช่นเคยเพื่อพบปะพูดคุยกับคนหลากกลุ่ม ตั้งแต่นักวางผังเมือง, สถาปนิก, นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ไปจนถึงนักการเมืองและชาวบ้าน เพื่อหาคำตอบว่า ในโลกยุคที่ผู้คนมุ่งหน้าเข้ามาใช้ชีวิตใน ‘เมือง’ มากขึ้นทุกขณะเช่นนี้ เมืองควรจะถูกพัฒนาไปอย่างไรด้วยวิธีไหนเพื่อให้มนุษย์สามารถเติบโตไปพร้อมกับมันได้ทั้งทางกายภาพและจิตวิญญาณ

“การออกแบบเมืองที่ผ่านๆ มาตั้งแต่ยุคโมเดิร์นนิสต์จะเป็นการโยนไอเดียจาก ‘บนลงล่าง’ คือจากผู้ที่มีอำนาจกำหนดนโยบายลงมาสู่ประชาชน โดยไม่ได้สนใจว่ามันจะมีผลยังไง แต่ไอเดียใหม่ในยุคนี้คือ การออกแบบจาก ‘ล่างขึ้นบน’ ซึ่งหมายความว่า นักวางแผนจะต้องรับฟังความต้องการที่แท้ของผู้คนซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในเมืองจริงๆ และใช้ไอเดียมาตอบสนองสิ่งนั้นอย่างสร้างสรรค์” ฮัสต์วิตกล่าว

 


No Impact Man (2009)

กำกับ : จัสติน เชน, ลอรา แก็บเบิร์ต / 93 นาที

"ปี 2006 เราได้ยินทั้งข่าวสงครามอิรักและข่าวน้ำแข็งขั้วโลกละลาย ด้านหนึ่งเราทำสงครามแย่งชิงน้ำมันเพื่อสนองไลฟ์สไตล์คนเมืองของเรา อีกด้านการเผาผลาญน้ำมันพวกนั้นก็เผาโลกไปด้วย และเมื่อหันมามองวิถีชีวิตเราเอง ก็เห็นได้ชัดว่ามันไม่ได้ทำให้เรามีความสุขสักเท่าไหร่ ผู้คนมากมายอยู่ภายใต้ความเครียด เราทำงานมากเกินไป ...27% ของพวกเราทนทุกข์กับความวิตกกังวลและความซึมเศร้า

"การฆ่าคนในสงครามและการฆ่าโลกไม่น่าจะใช่วิถีชีวิตที่เราควรมี ...แล้วเป็นไปได้มั้ยที่เราจะค้นหาหนทางที่ทั้งทำให้มนุษย์มีความสุขขึ้น และโลกก็มีความสุขขึ้นด้วย? นั่นแหละคือคำถามที่ผมอยากหาคำตอบ"

คอลิน บีแวน บล็อกเกอร์หนุ่มชาวนิวยอร์คกล่าวแบบนั้น ...และวิธี 'หาคำตอบ' ของเขาก็คือ การที่ตัวเขา, ภรรยา และลูกสาววัยสองขวบ ทดลองใช้ชีวิต 1 ปีเต็มในอพาร์ตเมนต์หลังเดิมโดยเลิกดูทีวี, เลิกดื่มกาแฟ, ถอดปลั๊กตู้เย็น, ไม่ซื้อน้ำขวด, ไม่ซื้อหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร, ไม่ช็อปปิ้งเสื้อผ้าใหม่, ซื้อผักปลาอาหารท้องถิ่นเท่านั้น, ไม่ขับรถ, ไม่ใช้รถไฟฟ้า, ไม่ใช้ลิฟต์ (ห้องพักของพวกเขาอยู่ชั้น 9!), ไม่ขึ้นแท็กซี่, ไม่เปิดแอร์ และไม่ใช้กระดาษทิชชู่!!

เรื่องราวตลอดหนึ่งปีดังกล่าวของครอบครัวบีแวนที่มากมายไปด้วยอารมณ์ขัน ช่วงเวลาชวนลุ้น ความอบอุ่น และแรงบันดาลใจ ถูกเล่าผ่านสายตาของสองผู้กำกับ ลอรา แก็บเบิร์ต และ จัสติน เชน ออกมาเป็นหนังสารคดีสนุกสนานเรื่องนี้ที่ไม่เพียงเล่าความพยายามของคนตัวเล็กๆ ผู้ลุกขึ้นมาต้านทานปัญหา แต่ยังแสดงให้เห็นสภาพความเป็นจริงของสังคมเมืองปัจจุบันอย่างจะแจ้งว่าแต่ละวันคนเราสร้างขยะและล้างผลาญทรัพยากรกันขนาดไหน

 


Design & Thinking (2012)

กำกับ : ไฉ้มู่หมิน / 74 นาที

เราล้วนคุ้นเคยกับคำว่า ‘design’ แต่น้อยคนจะเข้าใจหรือแม้แต่เคยได้ยินคำว่า ‘design thinking’
ศัพท์นี้ถูกสร้างขึ้นให้กลายเป็นของฮิตโดยบริษัทดีไซน์แห่งหนึ่งเมื่อปี 2008 โดยมีนิยามว่า ‘เครื่องมือที่ใช้ในการแก้ทุกปัญหา ตั้งแต่ระดับชีวิตประจำวัน จนถึงระดับธุรกิจและกระทั่งปัญหาความอดอยากของชาวโลก’ มันกลายเป็นแนวคิดนี้ที่ได้รับความสนใจล้นหลาม ถึงขั้นมีคนกล่าวว่าควรบรรจุใส่ในหลักสูตรการศึกษาของโรงเรียนทั้งประเทศ บ้างเชื่อว่านี่คือกุญแจที่จะผลักดันให้บริษัทเล็กๆ กลายเป็นยักษ์ใหญ่แบบแอปเปิลได้ไม่ยาก ขณะที่อีกด้านมันก็ถูกมองด้วยความระแวงขนาดหนักว่าเป็นแค่แผนการตลาดและการโปรโมตตัวเองของบริษัทดีไซน์แห่งนั้น และคนจำนวนไม่น้อยฟันธงว่า จริงๆ แล้วแนวคิดนี้ก็ไม่เห็นจะมีอะไรใหม่ เป็นแค่การสร้างหีบห่อหรูดูดีให้แก่คำว่า ‘ความคิดสร้างสรรค์เพื่อสังคม’ เท่านั้นเอง

แต่ไม่ว่าจะถูกรักหรือชัง คำถามที่ว่า “งานออกแบบจะสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตให้ดีขึ้นได้อย่างไร” และ “ทำอย่างไรเราจึงจะสามารถทำธุรกิจที่มีทั้งความคิดสร้างสรรค์และการคำนึงถึงสังคมได้” ก็คือสองประเด็นสำคัญที่แนวคิดข้างต้นนั้นรื้อฟื้นให้กลับมาอยู่ในความสนใจของโลกได้สำเร็จ และตรงนี้เองที่หนังสารคดีเรื่องนี้พยายามสำรวจผ่านความคิดและประสบการณ์ของผู้คนหลากหลาย ตั้งแต่ในแวดวงดีไซน์ (เช่น คนจาก IDEO, Smart Design, AIGA, Stanford d.School, Jump) จนถึงกิจการอื่นๆ (เช่น บริษัทรับทำจักรยาน, นักเรียนแพทย์, เจ้าของ coworking space) ซึ่งล้วนมีจุดร่วมในการใช้ ‘กระบวนการคิดออกแบบอย่างสร้างสรรค์’ เพื่อเสริมพลังให้แก่มนุษย์ด้วยกัน และเพื่อกระตุ้นให้เกิดการร่วมมือร่วมเรี่ยวแรงกันในการเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net