Skip to main content
sharethis

 

กล่าวเกริ่น
 
ว่ากันว่า...หากเราไม่เคยรับรู้ถึงความเฉยชา เราคงจะไม่ลึกซึ้งในคุณค่าของรอยยิ้ม.....
 
ปิดเทอมซัมเมอร์: ประชาธิปไตยสัญจร ออนซอนหมอลำครั้งที่ 1 ของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีออกเดินทางอย่างขาดความเชื่อมั่นเมื่อเย็นวันที่ 22 มีนาคม 2552 เนื่องจากนักศึกษาที่ลงชื่อไว้ราว 50 คน ไปค่ายที่บ้านคันท่าเกวียน อ.โขงเจียม (พื้นที่ที่จะมีการสร้างเขื่อนบ้านกุ่ม มูลค่าหนึ่งแสนสองหมื่นล้านที่นายกฯ สมัคร ไปเซ็นบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับรัฐบาลลาวไว้ ) เมื่อนักศึกษาจำนวนมากสละสิทธิ์ ทำให้คณะทำงานคิดถึงสุภาษิตที่ว่าคบเด็กสร้างบ้าน และคิดว่าการเก็บเงินจะทำให้เกิด “การมีส่วนร่วม”  ในการออกค่ายตามที่นักทฤษฎีรัฐศาสตร์ว่าไว้
 
นี่คงเป็นครั้งแรกที่กิจกรรมค่ายลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นในแวดวงกิจกรรมนักศึกษา ม.อุบลฯ และเป็นครั้งแรกของนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ที่มีอายุการก่อตั้งคณะเพียงสี่ปี  เรายังไม่รู้ว่าหน้าตาของค่ายจะออกมารูปแบบใด รู้แต่ว่าเราควรใช้วัฒนธรรมเป็นเครื่องมือในการทำงานการเมืองกับชาวบ้าน แทนการอบรมและสัมมนา ซึ่งเจริญ ภานะโสต นายกฯ อบต.กลาง อ.เดชอุดม บอกว่า อบกันจนเหลือง รมกันจนกรอบ ชาวบ้านก็ไม่เข้าใจประชาธิปไตยเสียที และคนที่ถูก “อบรม” ก็เป็นคนหน้าเก่าในหมู่บ้าน ที่ถูกเรียกว่า “ผู้นำชุมชน” ไม่ อสม. ก็ อบต. หรือไม่ก็กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน
 
นี่คือการทำงานการเมืองที่สถาบันการเมืองต่าง ๆ ทุ่มเทงบประมาณลงไปในความหมายของการกระจายอำนาจ โดยเฉพาะภายหลังรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมา สถาบันทางการเมืองต่าง ๆ ใช้เงินเพื่อการ “ปฏิรูปการเมือง” จำนวนมหาศาล ตลอดเวลากว่า 10 ปีนับแต่ใช้รัฐธรรมนูญปี 40 มาจนถึงวันที่ดูเหมือนว่าการมีส่วนร่วมทางการเมืองมีเพียงสองขั้วตรงกันข้ามอย่างชัดเจนจนไม่อาจสมานฉันท์กันได้อย่างวันนี้ คำถามคือเราจะวัดประสิทธิผลของการทำงานอย่างนี้กันอย่างไร คงจะถึงเวลาที่ต้องทบทวนการทำงานการเมืองในชุมชนเสียใหม่ จะออกแบบการทำงานการเมืองกับชุมชนอย่างไร ในที่สุดก็ตัดสินใจว่าวัฒนธรรมน่าจะเป็นเครื่องมือในการทำงานการเมืองที่ดีที่สุด(ในเวลานี้) โจทย์ของเราคือ จะนำวัฒนธรรมมารับใช้การเมืองในระดับรากหญ้าได้อย่างไร
 
การสัญจรครั้งนี้จึงเริ่มต้นจากความคิดของคณบดี รศ.ดร.ธงชัย วงศ์ชัยสุวรรณ  ขณะที่มารับตำแหน่งเมื่อปลายปีที่แล้ว การประสานความร่วมมือเริ่มต้นเมื่อนักศึกษาจำนวนหนึ่งอยากทำกิจกรรมการเมือง  และนายก อบต. ที่เป็นนักศึกษาวิชารัฐประศาสนศาสตร์หลักสูตรพิเศษเพียงไม่กี่คนที่ตระหนักถึงความสำคัญของการทำงานกิจกรรมที่ได้ประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย นักศึกษาก็ได้ประสบการณ์ ชาวบ้านก็ได้ประโยชน์ คณะฯ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็มีผลงานที่เป็นชิ้นเป็นอัน เมื่อประเมินความคุ้มค่าแล้วก็ต้องบอกว่า win-win ด้วยกันทุกฝ่าย กิจกรรมแบบนี้นำร่องมาตั้งแต่การออกไปสาธิตการเลือกตั้งเมื่อคราวเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ที่ผ่านมา 
 
การทำงานในครั้งนั้นพบปัญหาที่น่าสนใจหลายประการที่ทำให้เรารู้ว่า ไม่ใช่คนทุกคนจะเดินเข้าสู่คูหาเลือกตั้งได้อย่างมั่นใจ อย่างน้อยคนแก่จำนวนหนึ่งที่ไม่คุ้นเคยกับการขีดการเขียนหนังสือเลยก็งก ๆ เงิ่น ๆ ว่าจะกาบัตรเลือกตั้งอย่างไร ยังไม่ต้องคิดถึงความหวาดกลัวว่าจะทำผิดกฎหมายหรือไม่ เช่น หากแม่ใหญ่ถือบัตรเลือกตั้งออกมาจากคูหา พื้นที่ของการเลือกตั้งจึงเป็นอาณาบริเวณทางการเมืองที่น่าหวาดหวั่นอยู่ไม่น้อย ฉะนั้น อย่าคิดถึงพื้นที่ทางการเมืองที่กฎหมาย “ไม่อนุญาต” ให้แสดงออก เช่น บนท้องถนน ว่าจะน่าหวาดหวั่นสำหรับคนบางคนสักเพียงใด  แม้เป็นเพียงการสาธิตเราก็พบเปอร์เซ็นต์ของบัตรเสียจำนวนไม่น้อยในการเลือกตั้งครั้งนั้น
 
ตอนนั้นนักศึกษาทำละครประกอบการรณรงค์ด้วย นักศึกษาวัยเยาว์ของคณะรัฐศาสตร์จำนวนหนึ่ง ซึ่งขณะนั้นมีเพียงชั้นปีที่ 1 ถึงชั้นปีที่ 3 รู้สึกสนุกกับกิจกรรมที่ได้ออกจากห้องสี่เหลี่ยมแคบ ๆ ของคณะฯ กิจกรรมแบบนี้ห่างหายไปภายใต้ภาวะสุญญากาศทางการเมือง แต่ยังมีนักศึกษาก็ให้ความสนใจ จนหลายคนถามว่าเมื่อไรเราจะจัดกิจกรรมแบบนี้อีก
 
 
 

ประชุมเตรียมการก่อนการออกค่าย

 
 
ก่อนการสัญจร
 
นับแต่ปลายปี 51 เป็นต้นมา คณะรัฐศาสตร์ ได้ผลักกิจกรรมการเมืองออกมารองรับความต้องการของนักศึกษาและประชาชนผู้สนใจการเมืองจำนวนหนึ่ง เป็นกิจกรรมที่ชวนทะเลาะและขัดแย้งทางความคิดในสายตาของคนทั่วไป  แต่สำหรับท่านคณบดีมีความเห็นว่า เราจำเป็นต้องทำ  เพราะเราต้องศึกษาความคิดทางการเมืองของสังคม นักเรียนรัฐศาสตร์เกือบทุกคนรู้จักความคิดของโสเครตีส เพลโต้ หรืออริสโตเติ้ล แต่อาจจะไม่รู้จักความคิดหรืออุดมคติทางการเมืองของคนร่วมสมัยอย่างคุณหมอเหวง โตจิราการ, สมศักดิ์ โกศัยสุข, สมปอง เวียงจันทร์, จอนิ โอเดเชา หรือสมเกียรติ พ้นภัย ที่ดูเหมือนว่าอยู่คนละขั้วกับอำนาจรัฐ และบางคนอยู่คนละขั้วความคิดกันอย่างสิ้นเชิง 
 
คนเหล่านี้เรียนรู้การเมืองจากชีวิตจริงที่ต้องต่อสู้กับอำนาจ และปฏิเสธไม่ได้ว่าคนเหล่านี้คือคนที่มีบทบาทในการต่อสู้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคม การเมือง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เป็นการเมืองของคนตัวเล็ก ๆ ที่ไร้อำนาจแต่ท้าทาย(อำนาจ)รัฐอย่างถึงรากถึงโคน   แต่หากจะต้องเลือกข้างการเมืองเราควรจะเลือกยืนอยู่บนผลประโยชน์ของใคร และ คำถามคือ คนจนจะอยู่ตรงไหน ภายใต้โครงสร้างสังคมที่การจัดสรรผลประโยชน์ไม่เป็นธรรมเช่นนี้
 
อย่างน้อยเรามีตำราเล่มโตที่มีความหมายสำหรับนักสังคมศาสตร์รออยู่ที่เขื่อนปากมูน  การทะเลาะและขัดแย้งทางความคิดเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง เพราะนั่นคือความแตกต่างที่จำเป็นต้องอยู่ร่วมกันได้อย่างสมค่าความเป็นคนภายใต้ระบบการเมืองหนึ่ง ๆ  ดังนั้น ภารกิจสำคัญของนักเรียนรัฐศาสตร์คือการศึกษาปรากฏการณ์ทางการเมืองซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ของสังคม  สิ่งที่ทำได้ในขณะที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ยังไม่ได้แถลงนโยบายคือการจัดเสวนาเรื่อง การเมืองหลังทักษิณาธิปไตย  ที่มีอาจารย์ ดร.เทียนชัย วงศ์ชัยสุวรรณ หรือยุค ศรีอาริยะ อาจารย์ปรีชา เปี่ยมพงษ์สานต์ และคุณหมอนิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ร่วมกิจกรรม ภายในเวลาอันสั้นเราผลักกิจกรรมออกมาได้ระดับหนึ่ง กิจกรรมเหล่านี้ดูจะเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับชาวจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ หรือชาว มช. แต่ไม่ธรรมดาสำหรับคณะเกิดใหม่อย่างรัฐศาสตร์ ม.อุบลฯ ที่นักศึกษาส่วนใหม่มีความสนใจใคร่รู้ทางการเมือง
 
นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาเรื่อง เสรีภาพทางวิชาการ ขณะที่เกิดกรณีที่หนังสือของอาจารย์ใจ อึ้งภากรณ์ ที่แปลเป็นไทยว่า การปฏิวัติเพื่อคนรวย โดน “แบน” และหลังจากนั้นไม่เกินสัปดาห์ อาจารย์ก็ไปลอนดอน.... วันนั้นมี “เสื้อแดง” มาเต็มคณะ ตำรวจที่บอกเราว่า ได้รับ “คำสั่ง” จากจังหวัดก็มาเต็มคณะเช่นกัน นักศึกษาจำนวนหนึ่งไม่พอใจที่ถูกแย่งที่นั่ง เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าคณะทำงานฯ ยืนยันให้นักศึกษาเสียสละที่นั่งให้เสื้อแดงซึ่งเป็นคนรุ่นพ่อใหญ่แม่ใหญ่ของเขา  ไม่ว่าเขาจะเข้าข้างการเมืองฝ่ายไหน แต่เขาก็มีสิทธิที่จะใช้ตึกเรียนหลังนี้โดยการเข้าไปนั่งฟังอาจารย์ใจอภิปราย ความชุลมุนวุ่นวายเกิดขึ้น ในขณะที่ตำรวจได้รับแจ้งว่ามี “เสื้อเหลือง” มาถึงหน้ามหาวิทยาลัยแล้ว และ รปภ.สกัดไว้
 
วิเคราะห์แบบหยาบ ๆ ก็แทบไม่น่าเชื่อว่าคนเหล่านี้ตื่นตัวทางการเมือง ไม่ว่าเขาจะอยู่ฝ่ายไหน  ภาษาของการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ก็ต้องนิยามเขาว่า เขาคือ “พลเมืองผู้มีความกระตือรือร้นทางการเมือง” ในขณะพลเมือง “เสื้อแดง” คนหนึ่งบอกนักศึกษาของเราว่า พอได้ข่าวว่าอาจารย์ใจ มาอุบลฯ ก็คว้าเสื้อใส่มาเลย ความวุ่นวายในวันนั้นจบลงโดยการให้พลเมืองเสื้อแดงเข้าไปฟังอาจารย์ใจ การตัดสินใจอย่างนี้คณบดีบอกว่าอธิการบดีพอใจ
 
ขณะนี้กิจกรรมการเมืองที่ท้าทายพลังปัญญาของนักศึกษารัฐศาสตร์หรือสิงห์แสดแห่งที่ราบสูงกำลังจะเริ่มต้น  ความจริงกิจกรรมนี้เริ่มมาตั้งแต่วันที่นักศึกษากลุ่มหนึ่งเดินเข้ามาหาเพื่อปรึกษาปัญหาการทำกิจกรรมที่ “ไม่มีพื้นที่” สำหรับผู้แพ้
 
ภายหลังการเลือกตั้งสโมสรนักศึกษา  สิ่งที่สนทนาในวันนั้นคือ เวทีสโมสรนักศึกษาคงไม่ใช่หนทางเดียวสำหรับการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม แม้ว่าจะแพ้การเลือกตั้ง คนที่เรียกตัวเองว่า “นักการเมือง” ก็ทำงานต่อไปได้   นักการเมืองผู้ชนะการเลือกตั้งไม่มีสิทธิผูกขาด “การเมือง” ไว้แต่เพียงผู้เดียว เพราะเราต่างรับผลจากระบอบการเมืองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง  สังคมที่ไม่มีที่ยืนให้คนแพ้เป็นสังคมที่อันตราย เพราะในเกมส์หนึ่ง ๆ จะมีคนชนะเพียงคนเดียวเท่านั้น แล้วคนแพ้จำนวนมากจะไปยืนตรงไหน หากไม่ลุกขึ้นมาสร้างพื้นที่ของตนเอง
 
ด้วยเหตุผลนี้ จึงไม่อาจปฏิเสธความตั้งใจของนักศึกษาจำนวนหนึ่งที่เดินมาหาเพื่อขอคำปรึกษา  ไม่ลืมบอกเขาเหล่านั้นว่า การมีชีวิตเพื่อสาธารณะนั้นเจ็บปวด สูญเสีย ต้องเจอแรงเสียดทานทางการเมืองมากมาย และดูเหมือนล้มเหลวในสายตาของคนอื่น
 
แต่สิ่งที่ได้คือความภาคภูมิใจ หากอยากจะทำงานเพื่อส่วนรวม เราจะพาไปนอกรั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งมีชาวบ้านจำนวนมากรอให้นักศึกษาออกไปหา โดยเฉพาะปัญหาความเดือดร้อนในรูปแบบต่าง ๆ ที่เรียกกันว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มาพร้อมกับนายทุนและผู้มีอำนาจรัฐ ซึ่งในพื้นที่อุบลฯ มีมากมายเหลือเกิน  สิ่งนั้นท้าทายนักศึกษามากกว่าการขึ้นบริหารสโมสรนักศึกษาเป็นไหน ๆ  เพราะสโมสรนักศึกษาคือการเมืองในระบบ เป็นการเมืองแบบเก่า เปรียบเสมือนรัฐสภา การทำงานนอกมหาวิทยาลัยต่างหากคือการสร้างการเมืองแบบใหม่ คือการสร้างความเข้มแข็งทางการเมืองให้กับภาคประชาชน ที่มี อบต. เป็นแกนกลางของการกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น สิ่งที่เขาทำในขณะนี้จึงเป็นการเมืองภาคประชาชนที่ไม่ต้องอธิบายให้เสียเวลาว่า อุบลฯ เป็นภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความสำคัญอย่างไรต่อการสร้างวาทกรรมการเมืองแบบใหม่ เป็นวาทกรรมคนละความหมายที่ถูกประกาศบนเวทีสีต่าง ๆ
 
เราเดินทางไป อบต.แก้ง อ.เดชอุดม ราวกุมภา 51 เพื่อพบนายกฯ บุญเทียม ยาโล ที่เป็นนักศึกษาหลักสูตรพิเศษ เมื่อไปถึงกำลังมีการประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณางบประมาณ  เรา...ทั้ง 12 คน จึงรออยู่ข้างนอก แต่นายกฯ ต้องการให้นักศึกษาเห็นบรรยากาศของการประชุมสภาฯ การมาครั้งนี้จึงเหมือนการ “ดูงาน” ที่มีพี่เพชร พงษ์ฐนชัย มาลี นักศึกษาอีกคนหนึ่งเป็นประธานสภาฯ ที่ประชุมขอให้นักศึกษาแนะนำตัว ชื่ออะไร อยู่บ้านไหน ตามประสาผู้ใหญ่ที่อยากรู้จักเด็ก พร้อมให้เรานำเสนอโครงการ ซึ่งไม่คิดว่าจะนำเสนอในวันนั้น ที่ประชุมตอบรับในหลักการ นายกฯ ถามว่า...จะใช้เงินเท่าไร พร้อมกำหนดวันมาเรียบร้อยว่าต้องทำก่อนการเลือกตั้งครั้งใหม่ สมาชิก อบต.จำนวนหนึ่งขอให้ อสม. เข้ามามีส่วนร่วม โดยให้เหตุผลว่า อสม. เป็นคนที่เข้าถึงชุมชนมากที่สุด และขอให้ “ศิลปิน” ในหมู่บ้านเข้าร่วมกิจกรรม โดยการแต่งกลอนลำและร้องได้ด้วย นี่คือการมีส่วนร่วมที่เราต้องการให้เกิดขึ้น
 
เมื่อ อบต.แก้ง ตอบตกลงให้จัดกิจกรรมในวันที่ 23-25 มีนาคม พี่เจริญ ภานะโสต เพื่อนคู่หูพี่บุญเทียม (เราจำเป็นต้องเรียก “พี่”นายกฯ ตามคำร้องขอ และเพื่อความกลมกลืนของวัย) ก็ไม่น้อยหน้า เสนอโครงการในวันที่ 26-27 ต่อเนื่องมา รวมเป็นเวลา  5 วัน เราได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากทั้ง 2 อบต. เป็นค่าใช้จ่ายในพื้นที่ 5 วัน ซึ่งเป็นวงเงินที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจอนุมัติงบประมาณโดยไม่ต้องผ่านสภาฯ ในขณะที่ผู้ใหญ่ของมหาวิทยาลัยส่งคำถามมาด้วยความห่วงใยถึง 2 ครั้งต่อความเป็นกลางทางการเมืองที่เราจะลงไปทำ คณบดีบอกเราว่า หากคิดเช่นนั้นก็ไม่ต้องทำอะไร
 
เราได้กำลังใจอย่างมากมายจากคณบดี  สิ่งที่อยากถามกลับไปคือ ...การเป็นกลางทางการเมืองต่างอะไรกับการลอยตัวอยู่เหนือความขัดแย้ง... สิ่งที่ตามมาคือไม่ได้ทำอะไร ทั้งที่มหาวิทยาลัยมีศักยภาพและทรัพยากรมากมายเหลือเกิน โดยเฉพาะความรู้  หลายคนมีวาสนาได้เป็นใหญ่เป็นโต ควบคุมกลไกการเมืองที่สำคัญไว้ มีตำแหน่งแห่งหนในสังคมจนเขียนในหนังสืองานศพไม่หมด  แต่อาจเลือกที่จะนั่งดูความวุ่นวายของการเมือง และอธิบายให้ดูดีว่าต้องทำตัวให้เป็นกลางทางการเมือง ทั้งที่เราต่างมีภารกิจทางการเมืองเพื่อสาธารณะมากมาย ไม่ว่านักศึกษาหรือผู้บริหารมหาวิทยาลัย เสียดายที่นักศึกษาหลายคนเลือกสะสมเกรด(เพียงอย่างเดียว)แทนการหาประสบการณ์นอกห้องเรียน เสียดายที่ ผู้ใหญ่หลายคนเลือกที่จะสะสมเหรียญตราแทนการทำงานเพื่อคนด้อยโอกาส(อย่างจริงจัง) อันเป็นรากเหง้าของปัญหาที่ได้รับการแก้ไขอย่างไม่ตรงจุด ทำอย่างไร
 
มหาวิทยาลัยจะรับใช้ชุมชนเป็นโจทย์ที่ท้าทายผู้บริหาร มหาวิทยาลัยต้องทำงานเพื่อสร้างประชาธิปไตย ต้องทำงานการเมือง และต้องเป็นการเมืองที่ตอบสนองคนด้อยโอกาส  คนไม่มีอำนาจ ที่ไม่สามารถยื่นมือเข้าถึงทรัพยากรการเมืองใด ๆ ไม่ว่าระบบการศึกษาหรือผลประโยชน์จากการพัฒนา คนถูกกีดกันโอกาสภายใต้โครงสร้างไม่เป็นธรรมเช่นนี้มีอยู่จำนวนมหาศาลไม่เพียงแต่ประเทศนี้ หากแต่มากมายบนโลกใบนี้ ไม่เช่นนั้น สังคมจะไม่มีที่ยืนให้คน “น้อยอำนาจ” หรือคนแพ้ในการแข่งขันภายใต้กติกาการพัฒนาในระบบทุนหรือภายใต้กติกา “ประชาธิปไตย”  เพราะตลอดเวลาคนเหล่านี้เสียสละราวพระเวสสันดร และทุกครั้งที่การเมืองล้มเหลวเพราะนักการเมือง จะโยนบาปว่าคนจนโง่ที่เลือกนักการเมืองอย่างนั้นอย่างนี้ โดยเฉพาะคนอิสาน 
 
ความจริงนักการเมืองอิสานเข้าถึงคนจนมากกว่านักศึกษาหรือนักวิชาการ ระบบการเรียนการสอนที่ปิดกั้นนักศึกษาด้วย“เกรด”  คงจะเป็นเหตุผลสำคัญที่เขาไม่ต้องคิดถึงสังคม ดังนั้นภายหลัง 6 ตุลา 19 หรือ พฤษภา 35 เราจึงไม่เห็นบทบาททางการเมืองของนักศึกษาอีกเลย  ขบวนการนักศึกษาจึงเป็นเพียงสิ่งที่อาจเรียกได้ในภาษาของแจ้ ดนุพล แก้วกาญจน์ (นักร้องผู้พ่อของโต๋ ศักดิ์สิทธ์)ในยุคนั้นว่า...กลับมาเถิดวันวาน....วันวานยังหวานอยู่
 
ไม่ว่าวันวานอันหวานชื่นของขบวนการนักศึกษาจะกลับมาได้หรือไม่ เราก็ได้พยายามทำในสิ่งที่คิดว่ามีความหมายต่อสังคมประชาธิปไตยแล้ว 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net