อเมริกาซุ่มจับตาการเมืองไทย - ฟิลิปปินส์

ประชาไท - 1 มี.ค. 49 เอเอฟพี รายงานว่า ทางวอชิงตันกำลังกังวลว่า ประธานาธิบดีกลอเรีย อาร์โรโย ผู้ซึ่งขึ้นมามีอำนาจครั้งแรกจากการก่อกบฏที่โดยได้รับความสนับสนุนจากฝ่ายทหาร ในปี ค.ศ. 2001 จะยังคงไม่ยอมยกเลิกอำนาจพิเศษต่างๆ อันเกิดจากการประกาศใช้ภาวะฉุกเฉิน ส่วนในประเทศไทย รัฐบาลสหรัฐฯ ดูจะวิตกว่าหากเกิดสถานการณ์ความรุนแรงขึ้นมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ อาจต้องทรงใช้พระราชอำนาจคลี่คลายสถานการณ์ และจะหมดเวลาของนายกรัฐมนตรี

 

เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ผู้หนึ่ง เปิดเผยกับ เอเอฟพีว่า สหรัฐฯคาดหมายว่าฟิลิปปินส์จะมีการยกเลิกภาวะฉุกเฉินโดยเร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเมื่อสถานการณ์กลับคืนสู่ปกติ พร้อมกันนั้นเขายังย้ำถึงความจำเป็นที่ฝ่ายรัฐบาล, ฝ่ายทหาร, และประชาชนฟิลิปปินส์ จะต้อง "เคารพในหลักการปกครองโดยกฎหมาย, การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน, และการปฏิเสธความรุนแรง"

 

สำหรับกรณีของไทย เจ้าหน้าที่ผู้นี้กล่าวว่า "เราเคารพในกระบวนการทางประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ และหวังว่าเหตุการณ์ต่างๆ จะยังคงคลี่คลายไปในประเทศไทยด้วยลักษณะสันติ ซึ่งเคารพหลักการปกครองโดยกฎหมาย และเจตนารมณ์ของประชาชนไทย"

 

รายงานของเอเอฟพีจากวอชิงตันชิ้นนี้ยังระบุว่า นักวิเคราะห์บางคนเตือนว่า ถ้าการประท้วงในไทยกลายเป็นความรุนแรงแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็อาจต้องทรงใช้พระราชอำนาจในการคลี่คลายสถานการณ์ และพ.ต.ท.ทักษิณต้องลาออก หรือไม่เช่นนั้นฝ่ายทหารก็อาจจะเข้ามามีบทบาท

 

แคเรน บรูคส์ อดีตหัวหน้าฝ่ายนโยบายเอเชียของทำเนียบขาว ให้ความเห็นว่า ในอดีตที่ผ่านมา ต้องมีเงื่อนไขพิเศษมากๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงจะทรงเข้าเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว พระองค์ทรงเป็นที่เคารพรักยิ่งในประเทศไทย และทรงมีอำนาจทางศีลธรรมอย่างมหาศาล แต่ก็ทรงสุขุมยิ่งในการทรงใช้พระราชอำนาจ

 

"สิ่งสำคัญก็คือ วิกฤตคราวนี้ควรต้องปลดชนวนกันในลักษณะที่จะเป็นการเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่บรรดาสถาบันทางประชาธิปไตยของไทย ไม่ใช่กลายเป็นการบ่อนทำลายสถาบันเหล่านี้ และเรื่องนี้จึงจำเป็นจะต้องอาศัยความยับยั้งชั่งใจและความรับผิดชอบจากทุกๆ ฝ่าย" หัวหน้าฝ่ายนโยบายเอเชียของทำเนียบขาว กล่าว

 

 

รายงานข่าวเอเอฟพีจากกรุงเทพฯ ยังอ้างความเห็นของ อาจารย์อุกฤษณ์ ปัทมนันท์ แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งกล่าวว่า การตัดสินใจของพรรคฝ่ายค้านในการคว่ำบาตร ไม่ส่งผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งในคราวนี้ เป็นการรับฟังอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนที่ต่อต้านทักษิณ แต่ขณะเดียวกันก็บ่งชี้ถึงการที่ปรปักษ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณไม่มีทางเลือกใดๆ เหลืออยู่แล้ว ในเมื่อไม่มีทั้งเงินหรืออิทธิพลที่จะสู้กับ พ.ต.ท.ทักษิณในการเลือกตั้ง หรือเมื่อเข้าสภาแล้วก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะพรรค พ.ต.ท.ทักษิณจะควบคุมเสียงข้างมากได้แน่

 

อาจารย์ธิตินันท์ พงศ์สุทธิรักษ์ แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ก็แสดงความเห็นไปในทางเดียวกัน ว่า หากฝ่ายค้านลงเลือกตั้งในเดือนเมษายน มั่นใจได้ว่าพวกเขาจะพ่ายแพ้ จึงไม่มีประโยชน์อะไรสำหรับพวกเขาที่จะเข้าร่วม

 

"ผู้ประท้วงบนท้องถนนและฝ่ายค้านในรัฐสภากำลังสามัคคีกันด้วยจุดมุ่งหมายร่วมกันประการหนึ่ง ซึ่งก็คือการกำจัดทักษิณ...แต่มันก็เป็นการเพิ่มเดิมพันและยิ่งทำให้วิกฤตทางการเมืองของไทยยิ่งหนักหน่วง ถ้า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ลาออก จะเกิดอะไรขึ้น คำขู่เรื่องเส้นตาย(ในวันอาทิตย์ที่ 5 นี้) ไม่เป็นมงคลเลย" อ.ธิตินันท์ กล่าว

 

วิกฤตทางการเมืองที่เกิดขึ้นกำลังเริ่มได้รับความสนใจจากนานาชาติ โดยเฉพาะจากพวกนักลงทุนต่างประเทศ "เมื่อคุณมีประเทศที่ขึ้นพาดหัวข่าวบอกว่าประชาชนประท้วงตามท้องถนน พวกนักลงทุนและบอร์ดบริหารของพวกเขาก็ต้องคิดมากขึ้นเป็นสองเท่า" เออร์เนสต์ โบเวอร์ อดีตประธานสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน แสดงความเห็น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท