"กฟผ."ปลุกเหมืองถ่านหินสะบ้าย้อยคืนชีพ

ประชาไท - ปลุกผี "เหมืองถ่านหินสะบ้าย้อย" คืนชีพ ตั้งคณะกรรมการฯ ศึกษาผลดีผลเสียฯ เปิดแผน 24 เดือนเตรียมปักธงเหมืองถ่านหิน เดือนเมษาฯ ลุยแน่ศึกษาแนวทางการพัฒนาแหล่งถ่านหินสะบ้าย้อย กรกฎาฯ ศึกษาผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ตั้ง คณะทำงานฯ 3 ชุด ช่วยดันโครงการฯ


 

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2549 ที่ศาลากลางจังหวัดสงขลา มีการประชุมคณะกรรมการศึกษาผลดีผลเสียของการดำเนินงานโครงการศึกษาการมีส่วนร่วมการพัฒนาแหล่งลิกไนต์สะบ้าย้อย ครั้งที่ 1/2549 มีนายสมพร ใช้บางยาง ประธานกรรมการ เป็นประธานการประชุม มีกรรมการและกรรมการที่ปรึกษาเข้าร่วมประชุม 39 คน

 

โดยนายสมพร ได้แนะนำคณะกรรมการฯ ทั้งหมด 23 คน และคณะกรรมการที่ปรึกษา 6 คน ซึ่งมาจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนของบริษัท กฟผ. (จำกัด) มหาชน นักการเมืองทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น นักวิชาการ และผู้แทนชุมชน

 

นายสมพร ชี้แจงว่า อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้ ประกอบด้วย พิจารณาแผนการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียเข้ามามีส่วนหนึ่งของการตัดสินใจในการบริหารโครงการฯ, ส่งเสริม สนับสนุน และแสวงหาความร่วมมือจากทุกประชาคมในการศึกษาระบบนิเวศและวิถีชุมชนอย่างเป็นระบบ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน, พิจารณา ให้ความเห็น และติดตามการศึกษาการมีส่วนร่วมพัฒนาแหล่งลิกไนต์ให้ครอบคลุมด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมเพื่อพัฒนาเหมืองถ่านหินนำมาใช้ประโยชน์ ได้แก่ การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม การศึกษาผลกระทบทางสังคมและชุมชน, พิจารณามาตรการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม อันเนื่องมาจากการทำเหมือง รวมทั้งการวางแผนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบยั่งยืนของชาวอำเภอสะบ้าย้อย ควบคู่กับการเปิดเหมือง โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน และการรับฟังความเห็นสาธารณะ การขอใช้พื้นที่ และประทานบัตรเพื่อการทำเหมือง

 

" นอกจากนี้ ยังมีอำนาจหน้าที่ให้คำเสนอแนะและประเมินผลการมีส่วนร่วมของชุมชนในการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิถีชุมชน, เชิญหน่วยงาน (กฟผ.) ส่วนราชการ องค์กรชุมชน หรือบุคคลที่เกี่ยวขข้องมาร่วมให้ข้อมูล หรือจัดทำ หรือส่งเอกสารตามความเหมาะสม, พิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงาน เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานของคณะกรรมการได้ตามความเหมาะสม" นายสมพรกล่าว

 

นายพิชญา เพิ่มทอง ผู้จัดการโครงการพัฒนาเหมือสะบ้าย้อย รายงานต่อที่ประชุมเกี่ยวกับยแผนงานศึกษาผลดีผลเสียของการดำเนินงานโครงการศึกษาการมีส่วนร่วมพัฒนาแหล่งลิกไนต์สะบ้าย้อย ปี 2549 - 2550 ว่า ช่วงเดือนมกราคม - กุมภาพันธุ์ 2549 จัดตั้งคณะทำงานประชาสัมพันธ์และมวลชนสัมพันธ์, คณะทำงานศึกษาผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม, คณะทำงานศึกษาแนวทางการพัฒนาแหล่งถ่านหินสะบ้าย้อย โดยคณะกรรมการคณะกรรมการศึกษาผลดีผลเสียของการดำเนินงานโครงการศึกษาการมีส่วนร่วมการพัฒนาแหล่งลิกไนต์สะบ้าย้อย และคณะทำงานทั้ง 3 ชุด จะประชุมในเดือนมีนาคม 2549, มิถุนายน 2549, กันยายน 2549, ธันวาคม 2549, มีนาคม 2550, มิถุนายน 2550, กันยายน 2550 และธันวาคม 2550 โดยจะเริ่มงานประชาสัมพันธ์และมวลชนสัมพันธ์ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2549 เป็นต้นไป

           

"จากนั้น ในเดือนเมษายน 2549 จะเริ่มศึกษาแนวทางการพัฒนาแหล่งถ่านหินสะบ้าย้อย เดือนกรกฎาคม 2549 เริ่มศึกษาผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยจะสรุปผลการดำเนินงาน 2 ครั้ง ครั้งแรกเดือนธันวาคม 2549 ครั้งที่ 2 เดือนธันวาคม 2550" นายพิชญา กล่าว

นายสมพร เสนอให้ตั้งคณะทำงานประชาสัมพันธ์และมวลชนสัมพันธ์ก่อน เนื่องจากต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ โดยให้นายอำเภอสะบ้าย้อย เป็นประธาน

นายณรงค์ศักดิ์ วิเชษฐ์พันธ์ ที่ปรึกษา บริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) ในฐานะกรรมการที่ปรึกษา กล่าวต่อที่ประชุมว่า ตนได้พยายามทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่ว่า หากไม่ดำเนินโครงการนี้ ทรัพยากรที่มีอยู่เท่ากับสูญเปล่า ต่อไปจะพัฒนายากขึ้น เนื่องจากมีการขยายตัวชุมชน มีมัสยิดและกูโบร์( สุสานชาวมุสลิม) เพิ่มขึ้น ซึ่งการพัฒนาเหมืองต้องให้ความสำคัญกับศาสนสถานเหล่านี้ และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

 

นายฮามะ ดอเลาะ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เขตอำเภอสะบ้าย้อย กล่าวว่า ตนเข้าร่วมเป็นคณะทำงานของ บริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) มาตั้งแต่ปี 2538 ได้ทำความเข้าใจกับชาวบ้านมาตลอด เห็นว่าเป็นเรื่องยากมากที่ชาวบ้านจะเข้าใจถึงความสำคัญของโครงการในเร็ววัน ดังนั้น ตนขอรับอาสาเข้าไปเชิญตัวแทนชาวบ้านจาก 4 ชุมชนที่อยู่ในแหล่งลิกไนต์ มาเป็นคณะทำงานชุดต่างๆ

           

นายสมพร จึงได้ให้นายปรีชา ดำเกิงเกียรติ นายอำเภอสะบ้าย้อย ไปหารือร่วมกับนายฮามะ จัดหาตัวแทนชาวบ้านมาเป็นคณะทำงาน

 

"ผมขอให้นายอำเภอสะบ้าย้อย เป็นผู้ประสานงาน ส่วนบริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ให้ข้อมูล และรับฟังปัญหาและความต้องการของชาวบ้าน ส่วนการตัดสินใจให้ขึ้นอยู่กับชาวบ้านในพื้นที่ ทุกอย่างที่ชาวบ้านสงสัยทางบริษัท กฟผ.จำกัด (มหาชน) ต้องตอบให้ได้และต้องชัดเจน เป็นที่พอใจของชาวบ้าน

 

นายวรวิทย์ บารู รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและชุมชน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในฐานะกรรมการที่ปรึกษา กล่าวว่า คณะทำงานประชาสัมพันธ์และมวลชนสัมพันธ์มีความสำคัญมาก ตนต้องการให้คณะทำงานฯ ให้ความสำคัญกับศาสนาด้วย เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งอยู่ร่วมกับความทันสมัยได้ ดังนั้น โครงการนี้สามารถเป็นแบบอย่างของการพัฒนาที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้ ตนจึงเสนอให้ชาวบ้านเข้ามาถือหุ้น เพื่อให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน

 

นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า จะให้ชาวบ้านเข้ามาถือหุ้นในลักษณะของกลุ่ม เช่น กลุ่มอาชีพ หรือกลุ่มแม่บ้าน ส่วนงานมวลชนสัมพันธ์นั้น จะใช้วิธีลงไปถึงชุมชน เช่น เดียวกับโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมสงขลา ที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่มีความขัดแย้งกับชุมชน

 

นายกิตติ ศิริกวิน รองกรรมการผู้ใหญ่ กลุ่มพัฒนา บริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) จำเป็นต้องหาเชื้อเพลิงราคาถูกในการผลิตไฟฟ้า มีการศึกษามาหลายแห่ง ทุกแห่งก็ได้ให้ความสำคัญกับประชาชนเป็นหลัก

นายพิชญา เปิดเผย "ประชาไท" ว่า ถึงแม้โครงการเหมืองสะบ้าย้อยจะถูกชะลอไประยะหนึ่ง เนื่องจากสำนักงานชั่วคราวถูกเผา แต่พวกตนยังคงติดต่อกับชาวบ้านในพื้นที่ตลอด

 

นายฮามะ เปิดเผย "ประชาไท" ว่า ตนจำเป็นต้องเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการชุดนี้ เพราะถ้าไม่เข้าร่วมก็ไม่ทราบว่า ทางการดำเนินการอะไรไปบ้าง ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่เสียเปรียบ หลังจากนี้ตนจะกลับหาตัวแทนชาวบ้านเข้ามาเป็นคณะทำงานฯ โดยเร็ว

           

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท