"อิกโนเบล" 2005 โนเบลฉบับขำขำ

รางวัล "อิกโนเบล" กำลังเป็นรางวัลที่ได้รับการเฝ้าคอยติดตามมากขึ้นๆ เคียงคู่กับการประกาศรางวัลอันทรงเกียรติของโลก "โนเบล" ทั้งนี้อิกโนเบล มิใช่รางวัลเพื่อจุดประสงค์ในการเสียดสีรางวัลโนเบลแต่อย่างใด หากแต่มีขึ้นเพื่อมอบให้ผู้คิดค้นเรื่องแปลกๆ  โดยในปีนี้เป็นปีที่ 15 การจัดพิธีมอบรางวัลมีขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ณ โรงละครแซนเดอร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด วันเดียวกับการประกาศผลรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ มีผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาต่างๆ (รางวัลจริงๆ) มาเข้าร่วมและเป็นผู้มอบรางวัลมากมาย ซึ่ง มาร์ก อับราฮัมส์ ผู้ก่อตั้งรางวัลอิกโนเบล รับบทเป็นพิธีกรประจำพิธีมอบรางวัลด้วยตัวเอง โดยปรากฏตัวในรูปเงาบนกำแพง

 

ทั้งนี้งานวิจัยและผลงานทางวิทยาศาสตร์ที่เข้าตา "คณะกรรมการพิจารณางานวิจัยที่ไม่น่าจะเป็นไปได้" ประจำปี (Annals of Improbable Research) ตามปรัชญาของรางวัล "หัวเราะแล้ว จะได้คิด" ประกอบด้วย

 

      

มนุษย์ว่ายในน้ำเชื่อมไวกว่าในน้ำธรรมดา : อิก โนเบล สาขาเคมี

ได้แก่ เอ็ดวาร์ด คัซเลอร์ (Edward Cussler) และไบรอัน เกตเทลฟิงเกอร์ (Brian Gettelfinger) จากมหาวิทยาลัยมินเนโซตา (University of Minnesota) สหรัฐฯ ทั้งคู่พยายามหาคำตอบว่า มนุษย์สามารถว่ายน้ำในน้ำเชื่อมได้เร็วกว่าในน้ำธรรมดา ซึ่งสมมติฐานนี้ทำให้เกตเทลฟิงเกอร์ลุกขึ้นมาคิดค้นวิธีเพิ่มความเร็วในการว่ายน้ำ ขณะซ้อมว่ายน้ำเพื่อเข้าแข่งโอลิมปิก

             

จากการจับเวลาและเปรียบเทียบอาสาสมัครที่ว่ายน้ำในน้ำธรรมดากับน้ำในสระที่ที่มีแป้งมันเหนียวๆ คัซเลอร์พบว่า ของเหลวที่มีความหนาแน่นกว่า ช่วยเพิ่มพลังในการจ้วงว่ายแต่ละช่วงแขน ซึ่งทำให้แรงในการลากลำตัวพุ่งหน้าในน้ำไปข้างหน้าเพิ่มมากขึ้น

 

"การทดลองช่างสนุกสนาน แต่ให้ตายเหอะ ท้ายที่สุด มันก็ไร้ประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง" คัซเลอร์กล่าวภายหลังจากได้รับรางวัล

      

"เพนกวิน" ผายลมแรงกว่าคน : อิกโนเบล สาขาพลศาสตร์ของไหล

ได้แก่ เบนโน เมเยอร์-รอคฮาว (Benno Meyer-Rochow) จากมหาวิทยาลัยนานาชาติแห่งเบรเมน (International University of Bremen) เยอรมนี และยอซเซฟ กัลป์ (Jozsef Gal) จากมหาวิทยาลัยออฟ โลแลนด์ ออตวอส (Lorand Eötvös University) ในฮังการี ทั้งคู่เป็นเจ้าของทฤษฎีวิเคราะห์แรงผายลมของเพนกวิน (penguin poop propulsion)

      

ทั้งคู่พบว่า ขณะเจ้าเพนกวินถ่ายทุกข์จะกระดกก้นขึ้น ยกหางและปล่อยสิ่งของไม่พึงประสงค์ออกมา โดยพลังผายลมของเพนกวินมีแรงส่งไกลถึง 40 เซนติเมตร หรือมีแรงดันภายในช่องทวารของเพนกวินอยู่ที่ประมาณ 10-60 กิโลปาสคาล (หรือแรงประมาณ 1.45 - 8.7 ปอนด์ต่อ 1 ตารางนิ้ว)

 

นาฬิกาปลุกหนีการกดทิ้ง : อิกโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์

เป็นของ กาวรี แนนดา จากสถาบันเทคโนโลยีเมสซาซูเซ็ตส์ (Massachusetts Institute of Technology : MIT) ที่มีแนวคิดประดิษฐ์ "คล็อกี้" (Clocky) นาฬิกามีล้อสำหรับผู้ที่นอนขี้เซาในตอนเช้า หากตั้งปลุกแล้ว เจ้าของขี้เซาเกิดกดปุ่ม "สนอซ" (snooze) ขอเวลานอนอีก 5 นาที นาฬิกาตัวนี้จะหนีไปซ่อน ทำให้เจ้าของต้องลุกขึ้นมาหาในการเตือนครั้งต่อไป ซึ่งน่าจะเป็นเครื่องรับรองได้ว่า ตื่นแล้ว

      

หยดกากน้ำมันดิน : อิกโนเบล สาขาฟิสิกส์

ยกให้กับการทดลอง "หยดกากน้ำมันดิน" (pitch drops) ที่ต้องใช้เวลาทดลองมาหลายสิบปี โดยรางวัลนี้เป็นของโทมัส พาร์เนลล์ (Thomas Parnell) ที่เคยทำการทดลองไว้ที่มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ (University of Queensland) เมื่อปี 1927 และจอห์น เมนสโตน (John Mainstone) ก็มาช่วยพัฒนาต่อ

      

ทั้งนี้ กากน้ำมันดินที่เหนียวๆ ที่ดูเหมือนว่ามีพฤติกรรมเหมือนของแข็ง เพื่อแสดงให้เห็นว่ากากน้ำมันดินเป็นของเหลว พาร์เนลได้ละลายกากน้ำมันดินแล้วนำไปใส่กรวยที่เย็นตัว จากนั้นเขาก็รอ จนกระทั่ง 8 ปีผ่านไปกากน้ำมันดินหยดแรกก็หลุดออกมาจากกรวย ส่วนหยดที่ 2 ตามมาในอีก 9 ปีถัดจากนั้น และในปี 2000 ก็เพิ่งจะได้เห็นหยดที่ 8 ขณะที่เมนสโตนก็รับช่วงต่อรอหยดที่ 9

     

อัณฑะเทียมสุนัข : อิกโนเบล สาขาแพทยศาสตร์

เป็นของ เกรก มิลเลอร์ (Gregg Miller) จากมิสซูรี ที่สามารถประดิษฐ์อัณฑะเทียมของสุนัขเพื่อใช้แทนของจริง อีกทั้งอัณฑะเทียมดังกล่าวมีให้เลือกถึง 3 ขนาด และมีความฟิตถึง 3 ขั้น

 

ไฟฟ้าในสมองแมลงขณะชมหนังสตาร์วอร์ : อิกโนเบล สาขาผู้ปรารถนาสันติภาพ

เป็นอย่างยิ่งเป็นของ 2 นักวิจัยชาวอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยนิวคลาสเซิล (Newcastle University) ที่เฝ้าจับตาดูกระแสไฟฟ้าอันเกิดจากกิจกรรมในสมองของแมลงจำพวกตั๊กแตนตัวหนึ่งขณะกำลังชมบางตอนสำคัญของภาพยนตร์เรื่องสตาร์วอร์ส

 

ทำบัญชีกลิ่นของกบขณะเครียด : อิกโนเบล สาขาชีววิทยา

ตกเป็นของกลุ่มนักวิจัยจำนวนมากมายและอีกหลายสถาบันที่พยายามดมกลิ่มและจัดทำรายชื่อกลิ่นของกบ 131 สายพันธุ์ ขณะที่กบเหล่านี้อยู่ในภาวะตึงเครียด

      

อีเมลล์ลูกโซ่ : อิกโนเบล สาขาวรรณกรรม

เป็นของกลุ่มชาวไนจีเรียเจ้าของอีเมล์ลูกโซ่ ที่ส่งอีเมล์ถึงผู้ใช้นับล้านๆ คนทั่วโลกที่มีข้อความว่า "cast of rich characters ... each of whom requires just a small amount of expense money so as to obtain access to the great wealth to which they are entitled"

   

อย่างไรก็ดี ในแต่ละปีผู้ที่ได้รับรางวัลต่างก็ยินดีที่จะเดินทางมาร่วมพิธี และจะมีโอกาสขึ้นไปกล่าวอะไรเพียงแค่ 1 นาทีเท่านั้น โดยมีเด็กน้อยวัย 8 ขวบเป็นผู้ควบคุมพิธีการ ถ้าหากผู้ได้รับรางวัลกล่าวสุนทรพจน์เกินเวลา เด็กน้อยก็จะตะโกนออกไปว่า "กรุณาหยุดได้แล้ว หนูเบื่อเต็มที !!"

      

ทั้งนี้ผู้ก่อตั้งรางวัลได้กล่าวย้ำถึงจุดประสงค์ของการมอบรางวัลนี้อีกครั้งว่า งานบางชิ้นช่างดูเพี้ยนๆ แปลกๆ นั่นแหละจะทำให้พวกคุณหัวเราะ และจากนั้นมันก็จะทำให้คุณได้คิด ซึ่งนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่เราจะได้คิดอะไรแปลกๆ และเพื่อฉายแสงให้กับโครงการวิทยาศาสตร์แปลกๆ ประหลาดที่ถูกโยนทิ้งจากกองบรรณาธิการนิตยสารวิทยาศาสตร์ และงานวิจัยแปลกๆ เพื่อมิให้งานวิจัยเหล่านี้สูญหายไปในอนาคต

 

....................................................

เรียบเรียงจาก : "สุดยอดไอเดียบรรเจิด (ที่ไม่น่าจะเกิดได้) ตบเท้าคว้า อิกโนเบล 2005" โดย ผู้จัดการออนไลน์ 7 ตุลาคม 2548 http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9480000138014

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท