Skip to main content
sharethis

ประชาไท- 8 ส.ค. 50 เหตุการณ์ 8888 เป็นการเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งสำคัญในประเทศพม่า ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม (เดือน 8) ค.ศ.1988 โดยมีกลุ่มนักศึกษา ประชาชน และพระสงฆ์ ออกมาชุมนุมเพื่อกดดันรัฐบาลทหารให้ดำเนินการทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย


 


ผู้ชุมนุมในเหตุการณ์ดังกล่าวปราศจากอาวุธใดๆ พวกเขาไฮด์ปาร์คเพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมือง ซึ่งส่วนใหญ่คือแกนนำนักศึกษาที่เคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการ และต้องการให้ขับไล่ เส่ง ลวิน (Seng Lwin) ผู้นำทางการเมืองในขณะนั้นพ้นไปจากตำแหน่ง


 


หลังจากการชุมนุมยืดเยื้อยาวนาน และมีประชาชนมาเข้าร่วมมากขึ้นทุกที กองกำลังทหารพม่าตัดสินใจยิงปืนกราดเข้าไปในฝูงชนกลางดึกของคืนวันที่ 8 สิงหาคม 1988 และกลายเป็นที่มาของรหัสตัวเลข 8888 ที่ทั่วโลกจดจำในฐานะเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยในพม่าที่ต้องแลกมาด้วยเลือดเนื้อและชีวิต


 


ในวันที่ 8 สิงหาคม 2550 นี้ ถือเป็นวันครบรอบ 18 ปี เหตุการณ์ 8888 โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.) และองค์กรร่วมพันธมิตรด้านพม่าศึกษาฯ ได้จัดงานรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุม ศศ.201 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์


 


ในช่วงเสวนา เปรียบเทียบร่างรัฐธรรมนูญ พม่า-ไทย มีผู้ร่วมเสวนาหลากหลาย ประกอบด้วย นายมันโคบัน ตัวแทนจากรัฐบาลผสมของสหภาพพม่า, นายอองตู สมาชิกสภานักกฎหมายพม่า, นายโมโซอู ตัวแทนยุวชน พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย, นายไพโรจน์ พลเพชร เลขาธิการสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) และสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ผู้สื่อข่าวเนชั่น ดำเนินรายการโดย ดร.นฤมล ทับจุมพล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 


ผู้เริ่มเสวนาเป็นคนแรกคือนาย มันโคบัน ตัวแทนจากรัฐบาลผสมของพม่า ได้แสดงความเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญของไทยในอดีตที่ผ่านมา ให้สิทธิและเสรีภาพแก่ประชาชนมากกว่าร่างรัฐธรรมนูญของพม่า แต่เนื่องในวาระครบรอบ 18 ปี เหตุการณ์ 8888 จึงขอพูดถึงประเด็นสำคัญที่น่าเป็นห่วงในร่างรัฐธรรมนูญพม่า ซึ่งกำหนดให้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญมาจากกลุ่มการเมืองต่างๆ แต่ไม่มีตัวแทนจากกลุ่มชาติพันธุ์ได้รับสิทธิ์ให้เข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน


 


การปิดกั้นไม่ให้กลุ่มชาติพันธุ์ในพม่าเข้าไปมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญถือเป็นการละเมิดสิทธิและไม่คำนึงเรื่องความเสมอภาคใดๆ ซึ่งนายมันโคบันกล่าวว่า ดูเหมือนผู้นำในรัฐบาลพม่าขณะนี้จะไม่ได้สนใจอะไรมากนัก จึงไม่แน่ใจว่าร่างรัฐธรรมนูญของพม่าจะทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น


 


ผู้เสวนาคนต่อมาคือนาย อองตู สมาชิกสภานักกฎหมายพม่า ได้หยิบยกมาตราต่างๆ ในร่างรัฐธรรมนูญพม่ามาเปรียบเทียบกับร่างรัฐธรรมนูญของไทย ซึ่งนายอองตูกล่าวว่า ประชาชนไทยโชคดีกว่าชาวพม่าตรงที่มีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นได้มากกว่า เพราะร่างรัฐธรรมนูญของพม่าระบุว่า รัฐบาลสามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยว่าก่อความไม่สงบและคิดล้มล้างรัฐบาลได้โดยไม่ต้องมีการสอบสวนใดๆ และส่วนใหญ่ผู้ต้องสงสัยเหล่านั้นจะถูกจำคุกอยู่เป็นเวลานานนับเดือนนับปี


 


นอกจากนี้ นายอองตูยังกล่าวถึงกฏหมายนอมินีซึ่งเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปถือครองสิทธิ์ในการลงทุนในพม่าได้อย่างง่ายดาย เพราะรัฐบาลทหารเปิดโอกาสให้ ตนจึงอยากให้นานาประเทศช่วยกันกดดันรัฐบาลพม่าอีกทางหนึ่ง ด้วยการปฏิเสธที่จะร่วมสังฆกรรมหรือดำเนินธุรกิจใดๆ ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสร้างเขื่อนหรือการสัมปทานป่าไม้ก็ตาม เพราะการไม่สนับสนุนรัฐบาลพม่าก็เป็นเหมือนการให้ความช่วยเหลือทางอ้อมแก่ประชาชนชาวพม่าซึ่งมีหลากหลายเชื้อชาติพันธุ์


 


โมโซอู ตัวแทนยุวชน พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ตั้งข้อสังเกตการเขียนรัฐธรรมนูญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า ผู้ปกครองใหม่มักเขียนข้อความประณามผู้ปกครองเก่าว่า "ได้กระทำการเลวร้ายแก่ชาติ" ลงในรัฐธรรมนูญ


 


เขากล่าวถึงกรณีพม่าว่า กรณีมีการรัฐประหารในปี 1962 และปี 1988 ซึ่งหลังจากการรัฐประหารในปี 1988 นั้นได้ทำให้ประเทศอยู่ภายใต้เผด็จการโดยตลอด แม้จะมีเลือกตั้งในปี 1992 และพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ชนะการเลือกตั้ง แต่ทหารก็มีข้ออ้างต่างๆ มากมาย ที่จะไม่ยอมคืนอำนาจ


 


กรณีการรัฐประหารในประเทศไทย นายโมโซอูกล่าวว่าเขาไม่อาจวิจารณ์ได้มาก เพราะมีประเด็นเฉพาะในบริบทของการเมืองไทย แต่เขาขอแนะนำวิธีสังเกตบางประการ เช่น ข้อเปรียบเทียบระหว่างรัฐบาลเก่า - ใหม่ว่าต่างกันอย่างไร โดยเขาเสนอให้พิจารณาว่าจะมีแนวโน้มสืบทอดอำนาจหรือไม่ จะมีการออกกฎหมายเฉพาะเพื่อเสริมอำนาจกลุ่มตนและเพื่อกีดกันนัการเมืองกลุ่มเก่าหรือเปล่า จะมีการออกกฎหมายคุมสื่อ และผู้ปกครองส่งเสริมแนวทางชาตินิยมหรือไม่


 


เขากล่าวทิ้งท้ายว่า การรัฐประหารเพื่อล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นความไม่ชอบธรรมมาตั้งแต่ต้น แต่การรัฐประหารมักเกิดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ต้องมานั่งคิดว่า ค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนแปลงการปกครองสูงเกินไปหรือเปล่า เราควรจะสร้างรูปแบบหรือกลไกใหม่ๆ ให้บทเรียนกับคนรุ่นใหม่ว่าไม่ควรใช้กำลังทหาร ไม่ควรใช้กำลังอำนาจมาเปลี่ยนแปลงการเมือง


 


ทางด้าน ไพโรจน์ พลเพชร เลขาธิการสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) กล่าวว่า สมมติฐานในการร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่เห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 ฝ่ายบริหารมีอำนาจมาก ดังนั้นร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงมีการจำกัดอำนาจฝ่ายบริหาร ด้วยการกำหนดให้มีการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ไม่เกิน 2 สมัย และข้อด้อยของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือให้ ส.ว.76 คนมาจากการเลือกตั้ง แต่ ส.ว.74 คนมาจากคณะกรรมการสรรหา ในขณะที่ ส.ว. 76 คน มาจากฐานอำนาจของปวงชนชาวไทย มาจากการเลือกของคนทั้งประเทศ แต่เกือบครึ่งหนึ่งในสภาคือ 74 คน มาจากการเลือกของคน 7 คน โดยมีข้อมูลภายในว่า ที่มาของ ส.ว.สรรหา เป็นไปได้มากว่าชนชั้นนำจะเข้ามาดำรงตำแหน่งเอง หรืออาจเป็นคนใน ส.ส.ร.บางส่วน ที่อยากลงในตำแหน่ง ส.ว. นี้ ก็ต้องดูกันต่อไป


 


นายไพโรจน์ พลเพชร กล่าวว่า องค์กรอิสระปี 2540 ถูกครอบงำโดยฝ่ายการเมือง ดังนั้นรัฐธรรมนูญปี 2550 จึงให้มีคณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระ 7 คน ที่ 5 คนมีที่มาจากศาล และ 2 คนมีที่มาจากฝ่ายการเมือง เวลาสรรหาศาลจะมีอำนาจเด็ดขาดเพราะถือเป็นเสียงข้างมาก ผิดกับรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ อำนาจการสรรหาองค์กรอิสระยังยึดโยงอยู่กับวุฒิสภา ที่มาจากการเลือกตั้ง โดยที่ ส.ว.รับ - ไม่รับสามารถปฏิเสธได้


 


แต่รัฐธรรมนูญปี 2550 อำนาจการสรรหาขององค์กรอิสระอยู่ที่คณะกรรมการสรรหา เมื่อกรรมการสรรหาคัดเลือกคนในองค์กรอิสระได้แล้ว แม้ว่า ส.ว. จะไม่เห็นชอบ แต่กรรมการสรรหาสามารถลงมติ 2 ใน 3 เพื่อให้เป็นไปตามมติได้ สะท้อนว่ากรรมการสรรหาเป็นผู้ที่มีอำนาจในการเลือกจริงๆ และมีโอกาสที่กรรมการสรรหาจะเลือกคนระดับบนก็สูงมาก


 


ในเรื่องสิทธิเสรีภาพในสมัย คมช. นายไพโรจน์ กล่าวว่า ที่ทุกวันนี้ประชาชนออกมาประท้วง ไม่ได้แปลว่าเป็นเพราะทหารให้เสรีภาพเต็มที่ ทหารก็ไม่ได้อยากให้มีการประท้วง แต่สังคมไทยมันเลยพ้นการปิดกั้นไปแล้ว การที่หมวดสิทธิเสรีภาพในร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 มีเนื้อหาก้าวหน้า การที่บรรจุให้ FTA ต้องผ่านสภาในรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ผลผลิตจาก ส.ส.ร.ชุดปัจจุบัน แต่เป็นผลมาจากการต่อสู้ของประชาชน กล่าวได้ว่า เสรีภาพไม่ใช่สิ่งที่รัฐจะปฏิเสธได้อีกต่อไป


 


"แต่สิ่งที่พูดในรัฐธรรมนูญไม่มีความหมาย ถ้าพ.ร.บ.ความมั่นคงแห่งชาติออกมา" นายไพโรจน์กล่าว


 


เขายังกล่าวต่อไปว่า การออก พ.ร.บ.ความมั่นคง ดังกล่าวออกมา เป็นเพราะสังคมไทยไม่ยอมรับการสืบทอดอำนาจด้วยการให้นายกรัฐมนตรีจากคนนอกอีกต่อไป จึงต้องการหาวิธียึดอำนาจด้วยการออกกฎหมายเข้ามาแทนที่


 


เขายังคาดการณ์ว่า หลัง 19 ส.ค. 2550 ไปจนถึงวันเลือกตั้ง จะเป็นการต่อสู้ การแย่งชิง และการปะทะ ของฝ่ายต่างๆ อยู่ และเมื่อไหร่ที่ พ.ร.บ.ความมั่นคงออก เท่ากับเป็นความขัดแย้งใหญ่ของสังคมไทย ระหว่างฝ่ายที่รวบอำนาจ กับภาคประชาชน


 


อย่างไรก็ตาม นาย สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ผู้สื่อข่าวจากเนชั่น ซึ่งติดตามและรายงานความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสถานการณ์ในพม่ามาเป็นเวลานานกล่าวว่า ไม่เคยคิดมาก่อนว่าวันหนึ่งจะต้องมาเปรียบเทียบสถานการณ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศพม่า ซึ่งรู้กันดีอยู่ว่าปกครองโดยเผด็จการทหาร แต่รัฐบาลของพม่ายังมีความจริงใจมากกว่าตรงที่ไม่มีการอ้างถึงคำว่า "ประชาธิปไตย" ในการปกครองประเทศเลย แต่รัฐบาลทหารในประเทศไทยกลับอ้างว่าตนทำรัฐประหารรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็เพื่อปฏิรูปการปกครองให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น


 


นอกจากนี้ ประเด็นหลักๆ ที่ต้องพิจารณาจากร่างรัฐธรรมนูญของไทยและพม่าก็คือ เรื่องของที่มา  กระบวนการร่าง และเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ว่าจะพิจารณาจากประเด็นไหน ก็ไม่มีความชอบธรรมใดๆ จากร่างรัฐธรรมนูญของทั้งสองประเทศ


 


นายสุภลักษณ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ร่างรัฐธรรมนูญของพม่าและไทย ล้วนถูกเขียนขึ้นมาจากความหวาดกลัว โดยรัฐบาลพม่ากลัวว่าประชาชนจะลุกขึ้นมาล้มล้างอำนาจรัฐบาล เหมือนอย่างที่เคยเกิดเหตุการณ์ 8888 จึงร่างบทบัญญัติและมาตราต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนใช้สิทธิเสรีภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ส่วนร่างรัฐธรรมนูญของไทยก็ถูกเขียนขึ้นจากความกลัวว่าขั้วอำนาจเก่าอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะกลับเข้ามามีบทบาททางการเมืองอีกครั้ง จึงมีการป้องกันทุกวิถีทางไม่ให้เรื่องที่รัฐบาลหวาดกลัวได้เกิดขึ้น


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net