Skip to main content
sharethis

เนตรดาว เถาถวิล


 


ภาพข่าวการสลายการชุมนุม หลังชาวบ้านปากมูลออกมาเรียกร้องสิทธิให้เปิดเขื่อนปากมูลตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 12 มิ.ย. เปรียบเสมือนยากระตุ้นความเจ็บปวด เศร้าสลดและโกรธแค้นที่มีฤทธิ์แรงเหลือเชื่อ ผู้เขียนซึ่งเป็นแนวร่วมของชาวบ้านปากมูลมาก่อน แม้ว่าจะถอดนวมจากการเขียนบทความลงสื่อมาหลายปี ยังมีคำถามที่เกิดขึ้นในใจอย่างช่วยไม่ได้คือ  ทำไมทหารเข้ามาใช้อำนาจแทรกแซงการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลในช่วงเวลานี้ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ชาวบ้านปากมูลไม่ได้อยู่ในสายตาทหารด้วยซ้ำ คำถามต่อมาคือ ทำไมทหารต้องใช้อำนาจสวนทางการตัดสินใจของรัฐบาล ซึ่งมีมติเห็นชอบการเปิดเขื่อนปากมูลสี่เดือนตามข้อตกลงเดิมไปแล้ว


 


ผู้เขียนเชื่อว่า การใช้อำนาจทหารเข้าแทรกแซงเรื่องเขื่อนปากมูลในเวลานี้ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ อย่างน้อยการใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมของชาวบ้านใจกลางทำเนียบรัฐบาลอย่างไร้เยื่อใย แค่เพียงชาวบ้านตามทวงถามสัญญาสุภาพบุรุษที่ผู้นำทางทหารเคยให้ไว้ ย่อมสะท้อนชัดถึงความต้องการใช้ความเด็ดขาดในการจัดการปัญหาอย่างชัดเจน ความมั่นใจในอำนาจที่กองทัพมีอยู่ในมือยามนี้ ทำให้สามารถจัดการกับปัญหาเรื้อรั้งอย่างปากมูลแบบดิบๆ โดยไม่จำเป็นต้องเสียเวลาไปร่วมวงกินข้าวกับคนจน เพื่อรักษาภาพพจน์ของรัฐบาลอย่างที่รัฐบาลก่อนหน้าเคยทำ ประเด็นที่น่าคิดคือ ทำไมการใช้อำนาจแบบดิบๆ จึงเกิดขึ้นรวดเร็ว โดยไม่ต้องแคร์กระแสประชาธิปไตยซึ่งกำลังแรงขึ้นในช่วงใกล้การเลือกตั้ง และไม่แคร์แม้แต่สายตาของสื่อมวลชนด้วยซ้ำ


 


ประเด็นที่ไม่อาจมองข้ามคือ การใช้อำนาจทหารเข้าจัดการกับชาวบ้านปากมูลคราวนี้ เกิดขึ้นในห้วงเวลาเดียวกับที่คนส่วนใหญ่ในสังคมยอมสยบให้กับข้ออ้างของการรัฐประหารครั้งนี้ แม้ว่าการผลักดันพระราชบัญญัติความมั่นคง จะนำไปสู่ข้อวิพากษ์วิจารณ์ของหลายฝ่ายว่า พ.ร.บ. ดังกล่าวเป็นความพยายามในการขยายอำนาจทหาร เพื่อเข้าไปครอบงำทุกปริมณฑลของความสัมพันธ์ในสังคม ในทุกพื้นที่และในทุกเวลา ไม่ใช่แค่เรื่องความมั่นคง แต่ครอบคลุมถึงเรื่องอื่นๆ อย่างกว้างขวาง เช่น การพัฒนา โดยไม่มีอำนาจอื่นใดมาทัดทานหรือตรวจสอบได้ ในเงื่อนไขที่คนส่วนใหญ่ในสังคมไม่ได้ตื่นตัวต่อต้านเจตนาการสืบทอดอำนาจทหาร ผู้มีอำนาจย่อมคิดไปได้ว่า การใช้อำนาจจัดการกับชาวบ้านจนๆ อย่างปากมูล เป็นเรื่องที่แทบไม่ต้องเสียเวลาไตร่ตรอง


 


บทบาทของกองทัพในการเข้าแทรกแซงการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลในช่วงเวลานี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ หากปะติดปะต่อภาพเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นเข้าด้วยกัน ประเด็นที่ต้องเตือนความจำกันไว้คือ การใช้อำนาจทหารเข้าจัดการกับชาวบ้านปากมูลครั้งนี้ เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขที่เพิ่งมีการสานสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไปหมาดๆ ในฝั่ง กฟผ. เองก็กำลังผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าลิกไนต์อีกหลายโรง พร้อมกับเมกกะโปรเจ็คคือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งล้วนเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณมหาศาล และต้องอาศัยแรงผลักดันจากหลายฝ่าย มิพักต้องพูดถึงว่า กฟผ. ต้องการความช่วยเหลือจากกองทัพมากเพียงใด ในการสานต่อฝันให้เป็นจริง และจัดการกับกลุ่มผู้คัดค้านโครงการ ซึ่งย่อมผุดขึ้นเป็นเงาตามตัว เนื่องจากโครงการโรงไฟฟ้าลิกไนต์และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนท้องถิ่นอย่างมาก นี่ยังไม่ได้นับรวมความรู้สึกไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของกฟผ. ซึ่งกลัวการสูญเสียอาณาจักรอย่างยิ่งยวด ภายหลังความพยายามในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจตามแนวคิด privatization ของรัฐบาลทักษิณ การแต่งงานกันอย่างปัจจุบันทันด่วน ระหว่างกลุ่มที่อ้าง "ความมั่นคงของชาติ" กับ กลุ่มที่อ้าง "ความมั่นคงทางพลังงาน" จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างเร่งด่วน สำหรับความอยู่รอดของกลุ่มที่อ้างความมั่นคงเอง


 


กระนั้นก็ดี กลุ่มอำนาจอาจประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้น จากการสลายการชุมนุมของชาวบ้านปากมูลต่ำเกินไป เนื่องจากการเคลื่อนไหวทางสังคมอันยาวนานตลอดเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมาของชาวบ้านปากมูล ได้สร้างความเข้าใจในปัญหานี้มากพอสมควร และยังก่อให้เกิดกลุ่มคนที่สนับสนุนการต่อสู้เพื่อความชอบธรรมของชาวบ้านปากมูลจำนวนไม่น้อยด้วย หากกลุ่มผู้มีอำนาจในวันนี้ได้เรียนรู้บทเรียนจากอดีตก็คงตระหนักดีว่า แม้รัฐบาลหลายสมัยในอดีต พยายามดิสเครดิตการต่อสู้ของชาวบ้านปากมูล โดยใช้วาทกรรมสร้างภาพชาวบ้านปากมูลให้กลายเป็นพวก "ขัดขวางความเจริญ" "สร้างความไม่สงบ" "ได้ไม่รู้จักพอ" "เป็นพวกมือที่สาม" "รับเงินต่างชาติ" หรืออื่นๆ อีกมากมาย ทว่าความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นจริงกับชาวบ้าน บวกกับเส้นทางการต่อสู้อันยาวไกลของชาวบ้านปากมูล ซึ่งยืนหยัดต่อสู้แบบกัดไม่ปล่อย แม้คนรุ่นหนึ่งจะอ่อนล้า ล่าถอย กลับเกิดคนรุ่นใหม่ขึ้นมาทดแทน ทำให้การต่อสู้ของชาวบ้านปากมูล กลายเป็นพลังสำคัญที่ส่งทอดการเรียนรู้อันไม่จบสิ้นสู่สังคม แม้ว่าตำนานการต่อสู้นี้ยังไม่ได้รับชัยชนะ และไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดลง


 


ผู้เขียนเป็นเพียงคนเล็กๆ คนหนึ่ง ที่เติบโตขึ้นพร้อมกับบทเรียนการต่อสู้ของชาวบ้านปากมูล เมื่อครั้งทำงานเป็นนักข่าว ผู้เขียนมีโอกาสลงพื้นที่สัมผัสชีวิตชาวบ้านปากมูลหลายครั้ง การสัมภาษณ์ชาวบ้านที่ร่วมต่อสู้ ทำให้เข้าใจว่าชาวบ้านให้คุณค่ากับความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติเท่าชีวิต  เพราะชาวบ้านมองว่าธรรมชาติเป็น "ต้นทุนชีวิต" ทุกด้านนั่นเอง ครอบครัวจะมีกินหรือไม่ ลูกจะได้เรียนหนังสือสูงแค่ไหน อนาคตจะมีหรือไม่ ล้วนขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของแม่มูนทั้งสิ้น  สำหรับชาวบ้านอีสานซึ่งเสียเปรียบให้กับการพัฒนาที่ให้ค่ากับการสร้างความเจริญในเมืองมาโดยตลอด การสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำมูนไปอย่างถาวร เปรียบได้กับการสูญเสียต้นทุนชีวิตไปอย่างถาวรด้วย ไม่ใช่แค่การสูญเสีย "ทรัพยากร" ในความหมายที่คนในเมืองเข้าใจ และไม่สามารถทดแทนได้ด้วย "เงินค่าชดเชย" เพราะชาวบ้านไม่มีทุนอื่นๆ ไม่ว่าจะเงิน ปริญญา หรืออำนาจ ที่จะใช้เป็นช่องทางในการดำรงชีวิต การต่อสู้เพื่อคืนชีวิตให้แม่มูน จึงเป็นเนื้อเดียวกับการต่อสู้เพื่อสร้างความยั่งยืนให้แก่ชีวิตของชาวบ้านโดยตรง


 


เมื่อครั้งที่มีการต่อสู้ของชาวบ้านปากมูลในเรื่องการตีความ "ผลกระทบทางสังคม" ที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนปากมูล ผู้เขียนจำได้ว่า ชาวบ้านปากมูลได้ยกระดับการเรียนรู้ของสังคม จากที่รัฐอ้างว่าการประเมินผลกระทบของผู้เดือดร้อน สามารถทำได้จากการประเมินจำนวนครัวเรือนที่มีบ้านเรือนตั้งอยู่ระยะใกล้หรือห่างจากเขื่อน และสามารถประเมินได้จากประเภทของเครื่องมือที่ใช้ในการจับปลา เพื่ออ้างความชอบธรรมในการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้มีผลกระทบโดยตรงจำนวนไม่มากนัก แต่ชาวบ้านกลับโต้แย้งว่า วิถีชีวิตของชาวบ้านที่พึ่งพิงแม่น้ำมูน ไม่ได้จำกัดด้วยระยะทางใกล้หรือไกล และไม่สามารถประเมินได้จากประเภทของเครื่องมือประมง เนื่องจากชาวบ้านใกล้หรือไกลก็เดินทางมาหากินจากแม่มูน ใช้เครื่องมือประมงที่หลากหลาย เพื่อจับปลาตามฤดูกาล และประเภทของสัตว์น้ำที่แตกต่างกัน ซึ่งองค์ความรู้อันลึกซึ้งเหล่านี้ อยู่นอกเหนือความเข้าใจของรัฐ และห่างไกลจากจินตนาการของบริษัทที่รับจ้างทำการศึกษาผลกระทบด้วยซ้ำ ยิ่งกว่านั้น ชาวบ้านยังเห็นว่าการประเมินผลกระทบทางสังคมเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กับเวลาด้วย ดังนั้นเกณฑ์การประเมินผลกระทบทางสังคมแบบเดิมๆ ของรัฐ ควรจะต้องถูก "รื้อถอน" และ "สร้างใหม่" เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับชาวบ้านมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ ประวัติศาสตร์การต่อสู้อันยาวนานของชาวบ้านปากมูล จึงเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับการต่อสู้ในเรื่องเขื่อนของสังคมไทย และยังทำให้เกิดความเข้าใจในเรื่อง "ประชาธิปไตยที่กินได้"


 


ผู้เขียนยังจำได้ดีว่า กว่าจะได้มาซึ่งมติคณะรัฐมนตรีให้เปิดเขื่อนปากมูลสี่เดือนในสมัยของรัฐบาลทักษิณ ชาวบ้านปากมูลต้องออกแรงมากเพียงใด เพื่อพิสูจน์ความเดือดร้อนที่ตนเองแบกรับมานานให้เป็นที่ประจักษ์ชัดในสายตาของสังคม ทั้งๆ ที่ชัยชนะจากการเปิดเขื่อนสี่เดือน เปรียบได้แค่ยาบรรเทาปวด เพราะช่วยให้ชาวบ้านแค่พอต่อชีวิตรอดไปได้ในระยะสั้นเท่านั้น หาใช่การแก้ปัญหาที่สาเหตุ หรือช่วยให้ชาวบ้านสะสมทุน ลืมตาอ้าปาก หรือมีความมั่นคงในชีวิตไม่


 


ผู้เขียนแทบไม่เชื่อสายตาตัวเองว่า การเรียกร้องของชาวบ้านปากมูลให้เปิดเขื่อนสี่เดือน จะนำมาสู่การใช้ความรุนแรงเข้าสลายการชุมนุมซ้ำอีก  แทบไม่น่าเชื่อว่า รัฐได้นำปัญหากลับไปสู่จุดตั้งต้นใหม่ ในวันที่คนในสังคมเริ่มเข้าใจมากขึ้นแล้วว่า ปัญหาเขื่อนปากมูลยิ่งใหญ่กว่าข้อถกเถียงเรื่อง "ควรปิดหรือเปิดเขื่อนปากมูลกี่เดือน" เพราะรากเหง้าของปัญหาเขื่อนปากมูล คือความไม่เป็นธรรมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ระหว่างกลุ่มคนด้อยอำนาจในสังคม ซึ่งมีชาวบ้านปากมูลผู้เสียประโยชน์จากการพัฒนาเป็นตัวแทน กับกลุ่มคนที่มีอำนาจในสังคม ซึ่งมีคนชั้นนำและคนชั้นกลางผู้ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเป็นตัวแทน


 


เมื่อสิบปีมาแล้ว ชาวบ้านพยายามเข้าไปปักหลักเพื่อยึดหัวเขื่อนปากมูล แลกกับข้อต่อรองในเรื่องการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล ชาวบ้านนับร้อยถูกตรึงด้วยกองกำลังพร้อมอาวุธครบมือ มีการปล่อยข่าว ใช้สงครามจิตวิทยาข่มขู่นักข่าวว่าจะใช้ความรุนแรงเข้าจัดการ หากยังไม่ถอนตัวจากการทำข่าวการชุมนุม พร้อมกับมีการตัดไฟฟ้าในเวลาค่ำคืนเพื่อข่มขู่....ก่อนที่จะมีการใช้ความรุนแรงจริงๆ ในเวลาต่อมา นักข่าวหลายคนที่อยู่ในเหตุการณ์กลายเป็นประจักษ์พยานของการใช้ความรุนแรงที่โหดเหี้ยม ไม่ละเว้นแม้แต่เด็ก คนชรา หรือผู้หญิง ทว่ากลับมีสื่อมวลชนจำนวนไม่มากนักที่ตีพิมพ์ข่าวความรุนแรงดังกล่าว เนื่องจากสื่อมวลชนเองก็ถูกเม็ดเงินจากงบโฆษณาประชาสัมพันธ์มหาศาลที่กฟผ. หว่านโปรยเพื่อปิดปาก ทำให้เกิดการนำเสนอข่าวไปในทำนองว่า ชาวบ้านเป็นฝ่ายยั่วยุและใช้ความรุนแรงกับเจ้าหน้าที่ก่อน ถึงแม้จะมีความพยายามในการทำลายความชอบธรรมในการเรียกร้องสิทธิของชาวบ้านมาโดยตลอด แต่ตราบใดที่ชาวบ้านปากมูลยังมีพื้นที่ในการต่อสู้อยู่ในสังคม ภาพของความไม่เป็นธรรมในการพัฒนา จะยังคงเป็นบทเรียนที่ส่งทอดให้แก่คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ต่อไปไม่สิ้นสุด


 


ถ้าไม่ลืมว่า การต่อสู้กรณีเขื่อนปากมูล เป็นสงครามตัวแทนในเรื่องการแย่งชิงทรัพยากร เราก็จะเข้าใจได้ว่า ทำไมรัฐจึงใช้อำนาจเด็ดขาดจัดการกับการชุมนุมของชาวบ้านปากมูล รัฐอาจเชื่อว่าการใช้ความรุนแรงจัดการกับชาวบ้านที่หัวแข็ง เป็นวิธีการ "ตัดไม้ข่มนาม" ที่ได้ผล ในยามที่รัฐ ไม่ว่าจะเป็นกฟผ.  หน่วยงานรัฐอื่นๆ หรือแม้แต่กองทัพผลักดันโครงการเม็กกะโปรเจ็ค ชาวบ้านหัวแข็งอื่นๆ จะได้เกิดความเกรงกลัว


ทว่าการไม่เรียนรู้อดีตของรัฐ กลับทำให้รัฐทำผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะทั้งๆ ที่เพิ่งถูกสลายการชุมนุมไปหมาดๆ ชาวบ้านปากมูลกลับประกาศก้องว่า "จะกลับไปต่อสู้เพื่อเปิดเขื่อน แม้จะต้องติดคุก" คำยืนยันว่าของชาวบ้านว่า "รัฐไม่มีสิทธิบังคับให้ชาวบ้านอดตาย" บอกให้รู้ว่า ตราบใดที่จุดยืนในการต่อสู้ยังอยู่ ยิ่งตี ก็ยิ่งโตไม่ใช่ยิ่งตี ก็ยิ่งตาย.........แล้วคนในสังคมที่เหลืออยู่ล่ะ ท่านจะนิ่งดูดาย ไม่ออกแรงช่วยชาวบ้านปากมูลเปิดเขื่อนบ้างหรือ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net