Skip to main content
sharethis




นพพล อาชามาส


 


 


"น้ำท่วมยังไม่ได้แก้เลย แล้วจะสร้างโรงถลุงเหล็กขึ้นใหม่อีกเหรอ?"


 


คำถามและเสียงครวญของชาวบ้านคนหนึ่งในกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ดังขึ้นมา ในพิธีเปิดหมู่บ้านเฝ้าระวังป่าบริเวณหน้าป่าพรุแม่รำพึง เมื่อวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา


 


ในพิธีได้มีการนิมนต์พระสงฆ์เพื่อทำบุญเปิดศาลาเฝ้าระวัง และชักธงสีเขียว สัญลักษณ์ของการอนุรักษ์ขึ้นสู่ยอดเสา ชาวแม่รำพึงราว 400 คนที่มารวมกันต่างมีเป้าหมายในการต่อสู้คัดค้านการก่อสร้างโรงงานถลุงเหล็กครบวงจรของเครือสหวิริยา ซึ่งชาวบ้านเห็นว่าจะสร้างทับพื้นที่ป่าพรุและพื้นที่สาธารณะของชาวบ้าน โดยต่างยืนยันที่จะปกป้องและรักษาป่าผืนนี้ไว้ด้วยชีวิต…


 


 



พิธีทำบุญเปิดหมู่บ้านเฝ้าระวังป่าพรุ


 


 


 


บางสะพาน..เมืองหลวงเหล็กของประเทศไทย


บริษัท เครือสหวิริยา จำกัด สร้างโรงงานผลิตเหล็กในพื้นที่อำเภอบางสะพาน ตั้งแต่เมื่อปี 2534 ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเหล็กมีกำลังผลิตรวม 9.5 ล้านตันต่อปี มียอดขายรวมปีละกว่า 100,000 ล้านบาท แต่โรงงานนี้เป็นโรงผลิตเหล็กขั้นปลาย ซึ่งต้องอาศัยการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ และนำเข้ามาผ่านกระบวนการรีดร้อน รีดเย็น และเคลือบต่อไป


 


เครือสหวิริยาเล็งเห็นว่าในประเทศไทยนั้นไม่มีโรงผลิตเหล็กขั้นต้นเลย จึงเสนอโครงการสร้างโรงถลุงเหล็กและผลิตเหล็กกล้าครบวงจร ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการผลิต เพราะจะเป็นโรงงานผลิตเหล็กและนิคมอุตสาหกรรมเหล็กครบวงจร โดยไม่ต้องนำเข้าวัตถุดิบสำเร็จรูปจากต่างประเทศ และคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการไปเมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2548 รวมทั้งยังได้อนุมัติโครงการท่าเรือน้ำลึก ซึ่งเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับโครงการนี้ด้วย


 


เครือสหวิริยาเรียกโครงการนี้ว่า "Iron one" หมายถึงการเป็นหนึ่งด้านเหล็กในอาเซียน และคาดหวังให้บางสะพานเป็นเมืองหลวงเหล็กของประเทศไทย ภายใต้สโลแกน "บางสะพานของเรา สหวิริยาของเรา"


 


โครงการแบ่งระยะเวลาในการดำเนินงานเป็น 5 เฟส เฟสละประมาณ 3 ปี รวมงบประมาณกว่า 5 แสนล้านบาท กำลังการผลิตเหล็กปีละกว่า 30 ล้านตัน โดยในเฟสแรกวางพื้นที่โครงการไว้ที่ตำบลแม่รำพึง ในพื้นที่ประมาณ 1,551 ไร่ และขยายต่อไปถึง อ.ปะทิว จ.ชุมพร ในเฟสต่อๆ ไป


 



กองเหล็กในพื้นที่โรงงานเดิม


 


 


 



ท่าเรือเดิมเป็นท่าเรือพาณิชย์ แต่ท่าเรือในโครงการใหม่จะเป็นท่าเรือน้ำลึก


 


 


"เรือวิ่งผ่านหน้าบ้านผม"


แม้โรงถลุงเหล็กครบวงจรจะยังไม่เกิดขึ้น แต่โรงถลุงปลายน้ำเดิมนั้น ก็ให้บทเรียนบางอย่างต่อชาวบางสะพานมาแล้ว ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านต้องรวมตัวกันคัดค้านการสร้างโรงถลุงเหล็กโรงใหม่


 


โดยหลายปีที่ผ่านมา ภาวะน้ำท่วมที่บางสะพาน ค่อยๆ เพิ่มความรุนแรงมากขึ้น และเกิดขึ้นบ่อยอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน โดยเฉพาะปีที่ผ่านมา เกิดน้ำท่วมใหญ่ถึง 3 ครั้งในหนึ่งปี ระดับน้ำในตลาดบางสะพานจากที่เคยอยู่แค่ตาตุ่ม ขึ้นไปถึงหัวไหล่ หรือบางพื้นที่ก็มิดหัว


 


ชาวบ้านเล่าว่าตั้งแต่มีการสร้างโรงงานถลุงเหล็กมา ก็เกิดน้ำท่วมบ่อยๆ เพราะก่อนถูกถมทำโรงงาน พื้นที่เดิมนั้นเป็นคลองแม่รำพึง และก็เคยเป็นป่าพรุบางส่วนด้วย ซึ่งเป็นพื้นที่แก้มลิงธรรมชาติหรือพื้นที่พักน้ำก่อนที่น้ำจะไหลลงทะเล จึงไม่มีที่ระบายน้ำ น้ำจึงไปลงที่อ่างเก็บน้ำบ้านคลองลอย และบ้านวังน้ำเขียว ซึ่งรองรับปริมาณน้ำไม่ได้มากนัก น้ำจึงท่วมมากและหนักขึ้น


 


 


ฝนที่ตกลงมาเป็นสีเหลือง


นอกจากภาวะน้ำท่วมแล้ว ความผันผวนของธรรมชาติที่ชาวบางสะพานต้องเผชิญ คือน้ำฝนที่ตกลงมาเป็นคราบสีเหลือง มีตะกอนสีดำ และส่งกลิ่นเหม็นคล้ายกลิ่นกำมะถัน สังเกตได้ในพื้นที่ที่อยู่กลางแจ้ง เช่น รอบตัวถังรถยนต์ ร่มแม่ค้า ชายคาบ้าน ผ้าที่ตากไว้บนราว หรือกระทั่งอ่างปลาที่รองน้ำฝนแรกไว้ ปลาในอ่างถึงกับตายหมด ชาวบ้านจึงไม่มีใครกล้ากินน้ำฝนกันอีก ต้องอาศัยน้ำที่ซื้อกินเอา


 


ช่วงหน้าหนาวที่ผ่านมาภาวะฝนเหลืองหนักขึ้น ถึงขั้นมีฝนสีเหลืองตกลงมาพร้อมน้ำค้างทุกคืน และแม้จะไม่มีเค้าเมฆฝน แต่เกิดฝนเหลืองตกลงมาได้ ทิศทางของฝนเหลืองก็หนาแน่นในเขตตำบลแม่รำพึง ผ่านตลาดบางสะพาน ไปทางใต้จนถึงรอยต่ออำเภอบางสะพานน้อย ไกลกว่า 20 กิโลเมตร


 


ในวันนี้ยังไม่มีการศึกษาถึงสาเหตุและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ไม่มีคำตอบจากหน่วยราชการ หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่เครือสหวิริยาเอง ซึ่งชาวบ้านสงสัยกันว่าเป็นต้นเหตุของฝนสีเหลืองที่เกิดขึ้น


แต่ภาวะที่เกิดขึ้นก็ทำให้ชาวบางสะพานไม่สามารถดำเนินชีวิตเช่นเดิมได้


 


นอกจากนั้นแล้วยังเกิดความเปลี่ยนแปลงอื่นๆ อีกหลายสิ่งในพื้นที่บางสะพาน เช่นหาดแม่รำพึง ซึ่งตั้งอยู่ใกล้โรงงานถลุงเหล็กเดิมนั้น กลายเป็นทะเลโคลน น้ำกลายเป็นสีดำและส่งกลิ่นเหม็น ปริมาณปลาที่ชาวประมงจับได้ก็ลดลง จากเดิม 300-400 กิโลเหลือกันไม่ถึง 100 กิโล เพราะปลาออกไปอยู่ใกล้ฝั่งมากขึ้น


 


 


รุกที่หรือไม่รุก?


โครงการโรงถลุงเหล็กครบวงจรของสหวิริยาได้เริ่มดำเนินการออกแบบ จัดซื้อเครื่องจักร และปรับที่ดินบางส่วนไปบ้างแล้ว จนกระทั่งเกิดการคัดค้านจากชาวบ้านขึ้น..


 


ชาวบ้านบางส่วนเห็นว่าโครงการนี้ออกเอกสิทธิ์โดยมิชอบ รุกเข้าไปในพื้นที่ป่าพรุแม่รำพึง อันเป็นพื้นที่ป่าสาธารณะของหมู่บ้านซึ่งไม่เคยมีคนอาศัยอยู่จึงออกเอกสารสิทธิ์อะไรไม่ได้ รวมถึงการรุกพื้นที่ป่าช้าและถนน ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะ และยังมีการกว้านซื้อที่ดินรอบๆ ป่าจากชาวบ้าน โดยไม่บอกว่าจะนำไปสร้างโรงถลุงเหล็ก จากนั้นก็พยายามรุกป่าเข้าไปเรื่อยๆ เพื่อขยายพื้นที่ครอบครอง


 


ทางผู้บริหารของเครือสหวิริยาได้ยืนยันว่า สหวิริยาจัดซื้อที่ดินถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ และพื้นที่ที่ตั้งของโครงการก็อยู่ติดกับพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองแม่รำพึง แนวเขตรอยต่ออยู่ติดกัน ไม่ได้รุกเข้าพื้นที่ป่าแต่อย่างใด ข่าวการรุกพื้นที่ป่าชุ่มน้ำ จึงเป็นความเข้าใจผิด


 


นอกจากนั้นเรื่องการใช้พื้นที่ดินสาธารณะอย่างป่าช้าและถนน ทางสหวิริยายืนยันว่าได้ขอเช่าพื้นที่ตามกฎหมาย โดยยื่นเรื่องไปที่สำนักงานที่ดิน และจัดประชาคมหมู่บ้าน ผ่านความเห็นชอบจากอบต.แล้ว


 


กระนั้นชาวบ้านกลับเห็นว่าสหวิริยารุกเข้าไปปรับ ไถพื้นที่สาธารณะก่อนที่จะผ่านความเห็นชอบของอบต.เสียอีก และกระบวนการอนุมัติให้ผ่านนั้นก็ทำกันอย่างไม่เป็นระบบ และบอกชาวบ้านว่าจะนำไปปลูกป่า ไม่ได้บอกว่าจะนำไปทำเป็นโรงงานถลุงเหล็ก


 


จากความขัดแย้งนี้เอง ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และตัวแทนของจังหวัดประจวบฯ จึงให้ตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ฝ่ายละ 5 คนขึ้นมาเมื่อกลางเดือนมีนาคม ทั้ง 4 ฝ่ายประกอบด้วยเครือสหวิริยา ชาวบ้านในพื้นที่ จังหวัดประจวบฯ และเจ้าหน้าที่ส่วนกลาง เพื่อเข้าไปตรวจสอบที่ดินและแก้ปัญหานี้


 


ทว่าทางฝ่ายสหวิริยากลับประกาศถอนตัวจากคณะกรรมการเนื่องจากเห็นว่ากรรมสิทธิ์ที่ดินนั้นได้มาโดยชอบจึงไม่จำเป็นต้องตรวจสอบ แต่ทางคณะกรรมการสิทธิฯ ก็ยืนยันที่จะให้คณะกรรมการนี้ดำเนินต่อไป แม้จะมีตัวแทนจากสหวิริยา และยังให้ระงับการส่งรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ไปยังกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพราะอาจมีความไม่โปร่งใสในการศึกษา


 


 


ป้ายคัดค้าน


 


 


ป่าพรุแม่รำพึง...ป่าชุ่มน้ำผืนสุดท้ายของบางสะพาน


พื้นที่ป่าพรุที่ชาวบ้านกังวลว่าจะถูกนำไปสร้างโรงถลุงเหล็กนั้น เป็นป่าชุ่มน้ำที่มีน้ำขัง เป็นป่าต้นน้ำ เป็นแหล่งกักเก็บน้ำฝน ซับและชะลอการไหลของน้ำเวลาน้ำหลาก ป้องกันน้ำทะเลไม่ให้รุกเข้ามาในแผ่นดิน


ป่าพรุแห่งนี้ยังคงอุดมสมบูรณ์อยู่ มีความหลากหลายทางชีวภาพ ไม่ได้เป็นป่าเสื่อมโทรมแบบที่สหวิริยาสำรวจ


 


บนพื้นที่กว่า 1,200 ไร่ ยังมีนกน้ำกว่า 70 ชนิด และนกอพยพอีกหลายชนิด เช่น นกกระสา นกกระยาง นกนางนวล นกตะกราม เหยี่ยวหลายชนิด มีพืชพันธุ์ไม้ชุ่มน้ำที่หลากหลาย เช่นไม้เสม็ด ต้นจาก หวายลิง ต้นกก ต้นเป้ง เฟิร์น กระจูด ฯลฯ และยังเป็นแหล่งอนุบาล เพาะพันธุ์ปลาหรือสัตว์น้ำหลายชนิด


 


ชาวบ้านอาศัยพื้นที่ป่าอยู่บ้าง เช่นหาปลา ตัดต้นและใบจากมาเย็บเป็นหลังคาบ้าน เก็บลูกจากไปทำลูกชิด ไม้เสม็ดใช้ทำเสาบ้าน ส่วนเปลือกต้นเสม็ดใช้ทำไต้ และอาศัยเป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์ ดังที่ชาวบ้านเรียกพื้นที่บางส่วนว่าทุ่งลานควาย เพราะมีการนำวัว ควายมาหาอาหารกินบริเวณนั้น


 


นอกจากได้ประโยชน์จากป่าพรุแล้ว ในฤดูแล้ง ซึ่งไม่มีน้ำท่วมขัง ทำให้ปลาหรือสัตว์น้ำไม่มีน้ำอาศัยอยู่ ชาวบ้านจะเป็นผู้ขุดบ่อเล็กๆ เป็นปลักปลา เพื่อให้ปลามีชีวิตรอด และกลายเป็นพ่อแม่พันธุ์ในฤดูน้ำต่อไป ถือเป็นการอาศัยอยู่ร่วมกันของคนกับป่าอย่างพึ่งพาเกื้อกูลกัน


 


 


ปลักปลาที่ชาวบ้านขุดไว้


 


ชาวบ้านคาดการณ์กันว่าถ้ามีการสร้างโรงถลุงเหล็กบริเวณป่าพรุจริง การก่อสร้างก็ต้องถมพื้นที่สูงกว่า 7 เมตร เพื่อป้องกันน้ำท่วมบริเวณโรงงาน เมื่อเป็นเช่นนั้น น้ำที่ไม่สามารถไหลไปในพื้นที่ซับน้ำได้ ก็เป็นไปได้ที่จะไหลท่วมพื้นที่ชาวบ้าน และรอบๆ บริเวณ นอกจากนั้นยังอาจมีปัญหาเรื่องของเสีย และมลพิษจากนิคมอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นด้วย


 


 


ป่าเสื่อมโทรมด้วยรถไถ?


ภาพพื้นที่ป่าพรุที่ถูกไถเตียน โล่งยาวเป็นแนว ตอไม้สีดำที่มีร่องรอยถูกเผาปรากฏให้เห็นเป็นระยะๆ ขณะที่บางจุดไม้ก็ถูกตัดโค่นเหลือแค่ตอ นี่ไม่ใช่สภาพป่าเสื่อมโทรมที่เกิดขึ้นเองเป็นแน่


 


นายวิฑูรย์ บัวโรย แกนนำกลุ่มอนุรักษ์เล่าว่าเมื่อพวกเขาขึ้นไปยื่นหนังสือคัดค้านการสร้างโรงถลุงเหล็กในกรุงเทพฯ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ มีการนำเลื่อยเครื่อง รถแบ๊คโฮ แทร็กเตอร์หลายคัน เข้ามาไถขุดป่าพรุเป็นแนว เพื่อให้ง่ายต่อการแบ่งที่ดินเป็นแปลง ให้สามารถออกโฉนดได้ง่าย รวมถึงจุดไฟเผาไม้บางส่วน เพื่อสามารถอ้างการความเป็นป่าเสื่อมโทรม ให้ดำเนินโครงการสร้างโรงถลุงเหล็กต่อไปได้ อีกทั้งรอบบริเวณป่าก็ถูกปรับไถด้วยเครื่องจักรอย่างรวดเร็ว


 


สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ชาวบ้านไม่สามารถอยู่นิ่งเฉยได้ นำไปสู่การการจัดเวรยามเฝ้าดูแลรอบผืนป่า ตั้งหน่วยลาดตระเวนคอยระวังการรุกเข้ามาทำลายป่า สร้างแนวกันไฟ ป้อมยาม ศาลาการประชุม และเปิดเป็นหมู่บ้านเฝ้าระวังป่าขึ้นในที่สุด


 


 


 


พื้นที่ป่าถูกไถเป็นทางยาว


 


 


 


ร่องรอยการเผา


 


 


ถอดเสื้อเหลือง สวมเสื้อเขียว


นายวิฑูรย์ เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 20 เมษายนว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ร่วมกับเครือสหวิริยา ร่วมกันจัดโครงการปลูกป่าชายเลนเฉลิมพระเกียรติ บริเวณหมู่ที่ 5 ตำบลแม่รำพึง ซึ่ง มีการรณรงค์และเกณฑ์ให้ชาวบ้านสวมเสื้อสีเหลือง ไปร่วมกันปลูกป่า


 


ชาวบ้านในกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงเห็นว่ากิจกรรมนั้นเป็นการสร้างภาพ เพราะมีการปลูกต้นไม้กันจริงๆ ไม่กี่ต้น และเป็นคนละพื้นที่กับโรงงานถลุงเหล็กเดิม เป็นการปลูกป่าไม่กี่ไร่เพื่อทำลายป่าชุ่มน้ำพันไร่ ทั้งเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับการสร้างโรงถลุงเหล็กใหม่ จึงรวมตัวกันไปประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจกับชาวบ้านที่ไปร่วมงาน ชาวบ้านหลายคนเมื่อได้ฟังข้อมูล ก็สลายตัวกลับไป บางคนถึงกลับถอดเปลี่ยนเสื้อสีเหลืองที่ใส่มา เป็นเสื้อสีเขียว บริเวณจัดงานนั้นเลย


 


 


เสื้อกลุ่มอนุรักษ์


 


 



ประชุมขบวนการเสื้อเขียว


 


กลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงใช้รูปพื้นที่ป่าพรุซึ่งมีลักษณะคล้ายนก บนเสื้อ (หรือธง) สีเขียวเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่ม โดยเสื้อสีเขียวนั้นเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มอนุรักษ์หลายๆ กลุ่ม ที่ต่อสู้ยืนยันสิทธิในการดูแลอนุรักษ์ทรัพยากรในท้องถิ่นของตน และสิทธิการเลือกกำหนดวิถีชีวิตของตนเอง โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดประจวบฯ ที่เกิดกลุ่มอนุรักษ์ขึ้นหลายกลุ่ม โดยต่างได้รับผลกระทบจากนโยบายการพัฒนาของรัฐและทุน เช่นกลุ่มอนุรักษ์บ้านกรูด กลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก กลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก และล่าสุดกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง เกิดเป็นเครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ที่มีความร่วมมือกันขึ้นมา


 


วันนี้ ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ยังคงปักหลักเฝ้าระวังรักษาป่าพรุ พร้อมกับออกไปประชาสัมพันธ์ ทำความเข้าใจ แจกจ่ายใบปลิวในตัวอำเภอ ด้วยความหวังว่าชาวบางสะพานจะเห็นความสำคัญของป่าพรุผืนนี้ เพื่อให้ลูกหลานชาวบางสะพานยังคงมีป่าให้หายใจต่อไป 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net