Skip to main content
sharethis


 


เมื่อวันที่ 26 ก.พ.50 ที่ห้องประชุม 3 ศาลากลาง จ.เชียงใหม่ นายกองเอกวิลาศ รุจิวัฒนพงศ์ รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงใหม่ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ตัวแทนสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดประชุมร่วมกับสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ(สกน.) เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดินซึ่งมีปัญหาเรื้อรังกันมานาน


 


ตามที่เมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ(สกน.)และเครือข่ายองค์กรประชาชนภาคเหนือ ได้ทำหนังสือถึง พลเอกสุรยุทธิ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้มีการแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดิน ซึ่งต่อมานายกรัฐมนตรีได้สั่งการลงมาโดยขอให้ตัวแทนรัฐบาลและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดินภาคเหนือขึ้น


 


โดยหนังสือนั้นระบุว่า ปัญหาการถือครองที่ดินภาคเหนือที่ผ่านมานั้น รัฐมีกลไกและผลการดำเนินการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้ปัญหาดังกล่าวมีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนจึงขอเรียกร้องว่า ให้ตัวแทนรัฐบาลและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาการถือครองที่ดิน อันประกอบด้วย ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การทรวงการคลัง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทนที่มีอำนาจในการตัดสินใจลงมาประชุมเจรจาเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว


 


กระทั่ง นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้ตัวแทนสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมผู้แทนแต่ละกระทรวงที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมร่วมกับตัวแทนของ สกน.ในครั้งนี้ และเมื่อจัดประชุมเพื่อแก้ปัญหาการถือครองที่ดินจนได้ตกลงร่วมกันทุกภาคส่วนแล้ว ให้รัฐบาลนำข้อสรุปผลการประชุมเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติแนวทางให้มีกลไกการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ สอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงต่อไป


 


ซึ่งในการประชุมในครั้งนี้ สกน.ได้เสนอว่า 1.ให้ยึดกรอบข้อตกลงผลการเจรจาและผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดินของ สกน. ตามมติครม.วันที่ 9 เม.ย. 2545 , 25 ก.พ. 2546 , 7 เม.ย. 2547 และ 30 มิ.ย. 2547 2.กรณีการนำร่องปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน ให้ดำเนินการตามผลการประชุมของคณะทำงานปฏิรูปที่ดินนำร่องในพื้นที่ของ สกน. ครั้งที่ 1/2547 เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2547 ณ ศาลาประชาคม จ.ลำพูน โดยมีกรอบแนวทางดำเนินการข้อเสนอแนวทางนำร่องปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน 25 พื้นที่ ดังนี้ คือให้รัฐพิสูจน์สถานะของที่ดินมูลเหตุกรณีว่าหากออกโดยมิชอบด้วยกฎหมายให้รัฐดำเนินการเพิกถอน หากที่ดินทิ้งร้างว่างเปล่า ให้รัฐเวนคืนหรือจัดซื้อในราคาที่เป็นธรรม ส่วนกรณีที่ดินเป็นหนี้เอ็นพีแอลให้รัฐจัดซื้อในราคาที่เป็นธรรม และกรณีที่ดิน สปก.ที่ออกโดยมิชอบให้กับบุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติ ให้เพิกถอนสิทธิ์


 


นอกจากนี้ ให้จัดสรรที่ดินใหม่ในรูปแบบ "โฉนดชุมชน"โดยให้ สปก.ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐเป็นเจ้าภาพดำเนินการซื้อมาก่อนแล้ว แล้วมาจัดสรรให้ชาวบ้าน และหากต้องให้ชาวบ้านจัดซื้อ ก็ต้องกับรัฐในระยะยาวโดยให้รัฐปลอดดอกเบี้ย โดยจัดงบประมาณและแต่งตั้งกลไกกรรมการร่วมกันดำเนินการ หากสามารถดำเนินการตามข้อตกลงข้างต้น ได้แล้วให้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อให้ครม.พิจารณาเพื่อขออนุมัติหลักการและงบประมาณเพื่อนำร่องปฏิรูปที่ดินโดยชุมชนต่อไป ส่วนกรณีปัญหาระดับพื้นที่ 10 กรณีให้ติดตามการแก้ไขปัญหาการส่วนราชการเป็นรายกรณีไป


 


กรณีข้อเสนอด้านกฎหมาย สกน. เรียกร้องให้รัฐบาลผลักดัน พ.ร.บ.จัดเก็บภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า, พ.ร.บ.คุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม, พ.ร.บ.ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกร (สปก.),และ ยกเลิกคำสั่งคณะปฏิวัติฉบับที่ของประมวลกฎหมายที่ดิน ปี 2497 และระหว่างการแก้ไขปัญหาตามหลักการข้างต้น ให้ยุติหรือชะลอการดำเนินคดีเพิ่มเติม ที่สำคัญข้อเสนอเกี่ยวกับกลไกดำเนินงาน ให้คณะรัฐมนตรีมีคำสั่งแต่งตั้ง "คณะกรรมการนำร่องการปฏิรูปที่ดินโดยชุมชนในพื้นที่ของ สกน. 25 พื้นที่"


 


โดยให้มีองค์ประกอบประกอบด้วยตัวแทนจากภาครัฐ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งองค์กรพัฒนาเอกชน ประชาชนในพื้นที่ โดยมีอำนาจหน้าที่คือ พิจารณาเพื่อดำเนินการและติดตามการแก้ไขปัญหา กรณีการนำร่องปฏิรูปที่ดินโดยชุมชนในพื้นที่ของ สกน. 25 พื้นที่ให้ได้ข้อยุติ และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานตามความจำเป็นเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาเร่งด่วนได้ และสุดท้ายคือให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจหรือคณะกรรมการอื่นที่เกี่ยวข้องจัดส่งเอกสาร ข้อมูล ชี้แจงข้อเท็จจริงหรือผลการดำเนินการต่อคณะกรรมการได้ตามความจำเป็น


  


นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด กองเลขา สกน. กล่าวว่า ปัญหาการถือครองที่ดินนับเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน กลไกการแก้ปัญหาต่างๆที่ผ่านมานั้นก็หยุดชะงัก ไม่มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้นการประชุมร่วมกับตัวแทนรัฐบาล ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในวันนี้เพื่อต้องการให้กระบวนการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมีความคืบหน้าภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยอยากหาข้อตกลง เพื่อนำไปเรียนในคณะรัฐมนตรีต่อไป


 


ด้านผู้แทนจากกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ปัญหาของ สกน.นั้นมีการประชุมจนได้ข้อสรุปแล้วคือให้ทางจังหวัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบ อย่างกรณีของกรมที่ดินนั้นมีการตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ พิจารณาดูว่าที่ดินแปลงใดออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบบ้าง ซึ่งเรื่องนี้แม้จะมีการเปลี่ยนรัฐบาลแต่ปัจจุบันทางกรมที่ดินก็ยังดำเนินการตรวจสอบอยู่ แต่ต้องเข้าใจว่าเรื่องนี้ส่งผลกระทบด้านสิทธิของบุคคลอื่นด้วย ดังนั้นกระบวนการดำเนินการต้องเป็นไปอย่างรอบคอบตามกฎหมาย ซึ่งอาจต้องใช้เวลา แต่ทางกรมที่ดินมิได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด จึงขอให้ทาง สกน.ใจเย็นๆ


 


ในขณะที่ นายสุมิตรชัย หัตถสาร ที่ปรึกษา สกน. กล่าวว่า วันนี้เราต้องการพูดถึงการปฏิรูปที่ดินนำร่อง ใน 25 พื้นที่ เพื่อเป็นตัวอย่างในการใช้กระบวนการแก้ไขปัญหา ไม่ใช่มาอ้างว่าติดขัดกฎหมาย ซึ่งหากเรานำร่องตรงนี้ ก็จะสามารถนำเสนอเพื่อหาทางแก้ไขกฎหมายที่มันขัดในภายหลังได้ แต่ถ้ามาอ้างติดขัดกฎหมายอย่างนี้ 10 ปีก็แก้ไขปัญหาเหล่านี้ไม่ได้


 


"ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงของรัฐบาลชุดนี้ ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน มีการออกโฉนดชุมชน เพราะถ้าชาวบ้านไม่มีที่ดิน ก็ไม่มีทางที่จะเป็นไปตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงได้เลย" นายสุมิตรชัย กล่าว


 


ด้านตัวแทนของ สปก.กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวคิดของนายสุมิตรชัย ซึ่งสามารถดำเนินการได้โดยแยกออกเป็น 2 กรณีปัญหา คือ ปัญหาเฉพาะหน้า ก็สามารถดำเนินการแก้ไขได้เลย ไม่ต้องรอ และปัญหาระยะยาว ก็ค่อยหาทางนำเสนอเพื่อแก้ไขกฎหมายที่มันขัดต่อการแก้ไขปัญหาต่อไป


 


ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในกรอบการเจรจาดังกล่าวพร้อมทั้งให้มีการตั้งคณะกรรมการนำร่องการปฏิรูปที่ดินโดยชุมชนในพื้นที่ของ สกน. 25 พื้นที่ ในเขตจังหวัดเชียงใหม่-ลำพูนโดยมีนายนายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นรองประธาน รวมทั้งส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และตัวแทน สกน.ร่วมเป็นคณะกรรมการชุดดังกล่าว ซึ่งจะได้มีการนำผลการประชุมทั้งหมดไปเสนอต่อสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net