ภูฏานและผู้ลี้ภัยการเมืองที่โลกลืม (ขออภัยที่อาจทำให้ใครอกหัก)

กษัตริย์จิกมี สิงเย วังชุก แห่งประเทศภูฏานกลายเป็นข่าวพาดหัวเมื่อสละราชบัลลังก์แก่เจ้าชายจิกมี เคซาร์ นัมเกล วังชุก ท่ามกลางหมอกควันที่อาบคลุมให้ดินแดนภูฏานให้ดูสงบสันติและพอเพียง คงไม่ช้าเกินไปที่ "ภัควดี" จะแปลงานที่บ่งบอกถึงเหตุผลและหรือความจริงอีกด้านใต้หมอกควันแห่งดินแดนเจ้าชายในฝันแห่งนี้

โดย มูรารี อาร์ ชาร์มา

ภัควดี วีระภาสพงษ์ แปลจาก

Murari R. Sharma, "Shaking Up Bhutan" (Silver City, NM and Washington, DC: Foreign Policy In Focus, December 28, 2006).
http://fpif.org/fpiftxt/3828

……………………………………………………………..

 

ในเดือนธันวาคม ค..2006 กษัตริย์จิกมี สิงเย วังชุก แห่งประเทศภูฏาน กลายเป็นข่าวพาดหัวด้วยการสละราชบัลลังก์กะทันหัน และสืบทอดราชสมบัติแก่เจ้าชายจิกมี เคซาร์ นัมเกล วังชุก มกุฎราชกุมารผู้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด พระเจ้าจิกมี สิงเย ยังพระราชทานคำมั่นสัญญาว่าจะประทานระบอบประชาธิปไตยบางส่วนแก่ประชาราษฎร โดยจะจัดการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยใน ค..2008 อย่างไรก็ตาม กษัตริย์ภูฎานไม่ได้ทรงอธิบายถึงแรงจูงใจเบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงนโยบายอย่างปัจจุบันทันด่วนนี้

เป็นไปตามคาด ข่าวนี้ทำให้ชุมชนนานาประเทศตื่นเต้นเคลิ้มตาม ทว่าสำหรับผู้ลี้ภัยชาวภูฏานที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้อพยพที่ประเทศเนปาล พวกเขาคงไม่รู้สึกเป็นรสชาติสักเท่าไร ในทัศนะของ ราฏาน กัจเมอร์ ผู้นำคนหนึ่งของกลุ่มผู้ลี้ภัย พระราชโองการของกษัตริย์เป็น "เพียงการดึงม่านขนสัตว์บังตาชุมชนนานาประเทศ ด้วยการโฆษณาชวนเชื่อว่าจะมีระบอบประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง"

แรงกดดันเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงก่อตัวสะสมขึ้นมาทั้งภายในและภายนอกประเทศภูฏาน ประชาชนชาวภูฏานร่ำร้องหาระบอบประชาธิปไตยและเสรีภาพมานานแล้ว ประเทศเนปาลที่เป็นบ้านใกล้เรือนเคียงก็กำลังใคร่ครวญถึงอนาคตของระบอบกษัตริย์ และอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยเช่นกัน ดังนั้น กษัตริย์ภูฏานจึงดูเหมือนต้องการประทานระบอบประชาธิปไตยแบบจำกัดให้แก่ประชาชนเสียก่อน ก่อนที่ชาวภูฏานจะลงมาเรียกร้องบนท้องถนนตามอย่างชาวเนปาล แผนการของพระองค์คือการนำระบอบประชาธิปไตยแบบชี้นำและมีสองพรรคมาใช้ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการร่างมาเนิ่นนานแล้ว

แต่กษัตริย์จิกมี สิงเย ไม่ได้มีดำรัสอะไรเลยถึงการแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัย ซึ่งขัดแย้งกับการโฆษณาภาพพจน์ของภูฏานว่าเป็นราชอาณาจักรที่สงบและสันติสุข

สถานการณ์ของผู้ลี้ภัย

ราชอาณาจักรมังกรของประเทศภูฏานอวดโอ่ถึงการมี "ความสุขมวลรวมประชาชาติ" ในอัตราสูง แต่ชาวภูฏานจำนวนมากคงไม่เห็นด้วย พวกเขาโต้แย้งด้วยเหตุผลว่า ประเทศที่ประชากรถึง 1 ใน 6 ต้องอพยพไปอาศัยนอกประเทศในฐานะผู้ลี้ภัย คงไม่ใช่ประเทศที่มีความสุขในระดับสูงเป็นแน่

เต็ก นาธ รียัล เคยเป็นที่ปรึกษาของกษัตริย์จิกมี สิงเย เขาถูกจำคุกและถูกทรมานถึง 9 ปี เพราะการเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน รียัลเขียนลำดับความไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติ Nirvasan (ลี้ภัย) ถึงการที่กษัตริย์ทรงบดขยี้ขบวนการด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนที่เพิ่งก่อตัวขึ้นเพื่อยึดอำนาจให้อยู่มือ ขั้นแรก รัฐบาลในนครหลวงธิมปูจำกัดสิทธิของชุมชนชาวเนปาลในการเคลื่อนย้ายและถือครองทรัพย์สิน จากนั้น รัฐบาลยัดเยียดภาษา, การแต่งกายและวัฒนธรรมของชาวทิเบตที่เป็นชนชั้นปกครองแก่ชุมชนเชื้อชาติอื่นซึ่งมีอยู่ถึงเกือบสองในสามของประชากรภูฏาน

การประท้วงปะทุขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980 และรัฐบาลใช้มาตรการปราบปรามอย่างรุนแรง รัฐบาลเปลี่ยนกฎหมายสัญชาติใน ค..1988 ถอนสัญชาติของผู้ประท้วงและเนรเทศออกนอกประเทศ เนื่องจากผู้ถูกเนรเทศส่วนใหญ่มีเชื้อสายเนปาล พวกเขาจึงรอนแรมมาอาศัยอยู่ในเนปาล และมีประชาชนอพยพตามออกมาอีกเพราะถูกคุกคามหรือเพราะความกลัว

ทุกวันนี้ มีผู้อพยพลี้ภัยเกือบ 120,000 คน อาศัยอยู่ในประเทศเนปาล นั่นเป็นจำนวนเกือบหนึ่งในหกของประชากรภูฏาน ผู้อพยพส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในค่ายที่อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ผู้ลี้ภัยจำนวนไม่น้อยต้องอาศัยอยู่ในค่ายอพยพมาถึง 16 ปีแล้ว ชาวเนปาลท้องถิ่นกล่าวโทษผู้อพยพเหล่านี้ว่าเป็นตัวการทำให้ค่าจ้างแรงงานตกต่ำลง ทำลายสิ่งแวดล้อม และสร้างปัญหาสังคมรอบบริเวณค่าย ชุมชนนานาประเทศเริ่มมีอาการเบื่อหน่ายที่จะบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือเลี้ยงดูผู้ลี้ภัยเหล่านี้

ตอนนี้ยังมองไม่เห็นเลยว่า จะมีหนทางคลี่คลายแก้ไขปัญหาอย่างไร ภูฏานบอกกล่าวแก่หุ้นส่วนทางด้านการพัฒนาของตนว่า เพื่อรักษาเอกลักษณ์ทางด้านชาติพันธุ์ไว้ ภูฏานจึงไม่สามารถรับผู้ลี้ภัยกลับเข้าประเทศ ภูฏานยังบอกเนปาลว่า ควรมีการวางหลักเกณฑ์ในการส่งผู้อพยพกลับถิ่นเดิม และจัดประชุมระดับรัฐมนตรีมาแล้ว 15 รอบในประเด็นนี้ตั้งแต่ ค.. 1993

ความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมเพียงประการเดียวของกระบวนการทวิภาคีนี้ก็คือ การร่วมมือระหว่างสองประเทศเพื่อพิสูจน์สัญชาติของผู้อพยพในค่ายหนึ่งจากที่มีอยู่ทั้งหมด 12 ค่าย การพิสูจน์พบว่า กว่า 76% ของผู้ลี้ภัยสามารถกลับถิ่นเดิมได้ทันทีโดยไม่ต้องอาศัยเอกสารยืนยันหรือการสอบสวนเพิ่มเติมอะไรอีก นับแต่นั้นมา ภูฏานก็หลีกเลี่ยงการเจรจาระดับรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ

ส่งไปอเมริกาดีไหม?

สหรัฐอเมริกาประกาศในเดือนตุลาคมปีที่แล้วว่า สหรัฐฯ จะรับผู้ลี้ภัยชาวภูฏานจำนวน 60,000 คน จากค่ายของ UNHCR ในช่วง 3-4 ปีต่อจากนี้ ผู้อพยพชาวภูฏานพอใจกับท่าทีในเชิงมนุษยธรรม รัฐบาลที่ธิมปูก็ถอนใจโล่งอกด้วยความเชื่อผิดว่า ผู้ลี้ภัยคงคว้าข้อเสนอของรัฐบาลอเมริกันไว้โดยไม่ก่อเรื่องเดือดร้อนต่อไปอีก แต่รัฐบาลภูฏานดูเหมือนลืมไปว่า ผู้ลี้ภัยที่เลือกไปตั้งหลักแหล่งในอเมริกาอาจส่งเงินกลับมาสนับสนุนขบวนการต่อต้านระบอบกษัตริย์ในภูฏานให้เติบใหญ่ขึ้น เพื่อที่เพื่อนร่วมชาติในประเทศบ้านเกิดจะได้ลิ้มรสเสรีภาพแบบเดียวกับที่พวกตนได้รับในประเทศอุปถัมภ์

การผสมกลมกลืนไปกับประชากรท้องถิ่นในประเทศที่สองและย้ายไปตั้งหลักแหล่งในประเทศที่สาม อาจเป็นทางเลือกสำหรับผู้ลี้ภัยเหล่านี้ เพราะพวกเขามองไม่เห็นวี่แววจะได้กลับบ้านในอนาคตอันยาวไกล หรือไม่ก็อาจต้องเผชิญกับอันตรายอุกฤษฏ์หากเสี่ยงกลับถิ่นเกิด แต่การผสมกลมกลืนหรือการย้ายไปตั้งหลักแหล่งไม่ควรใช้วิธีคัดสรร การคัดสรรมักสร้างผลร้ายต่อผลประโยชน์ส่วนรวมในชุมชนผู้ลี้ภัย เพราะวิธีการนี้เท่ากับปล้นบุคลากรที่ดีที่สุดและเก่งที่สุด ทั้งที่คนเหล่านี้สามารถโน้มน้าวความคิดเห็นของสาธารณชนเพื่อสร้างหลักประกันให้ผู้อพยพทั้งหมดได้กลับบ้าน และผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในประเทศบ้านเกิด

นอกจากนั้น การส่งผู้ลี้ภัยกลับถิ่นเดิมควรเป็นแนวนโยบายหลักในการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัยในเกือบทุกกรณี เพราะทั่วโลกทุกวันนี้มีผู้ลี้ภัยเกือบ 21 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศยากจน ประเทศเหล่านี้ไม่สามารถรองรับผู้ลี้ภัยไว้โดยไม่ต้องเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจและต้นทุนทางการเมืองอย่างใหญ่หลวง ส่วนประเทศที่สามก็สนใจเพียงแค่ให้หลักแหล่งแก่ผู้อพยพจำนวนหยิบมือเดียว และมักคัดสรรเฉพาะคนที่ดีที่สุดไปเสียด้วย ดังนั้น ไม่ว่าการผสมกลมกลืนในประเทศที่สองหรือย้ายไปตั้งหลักแหล่งในประเทศที่สาม ย่อมไม่ใช่ทางเลือกที่พึงปรารถนาทั้งสิ้น

บทบาทของโลกภายนอก

ตามสนธิสัญญาทวิภาคี ค..1949 อินเดียเป็นผู้รับผิดชอบนโยบายต่างประเทศและการป้องกันประเทศของภูฏาน อินเดียยังเป็นประเทศที่ให้การพักพิงประเทศแรกแก่ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ เนื่องจากเนปาลกับภูฏานไม่มีพรมแดนประชิดกัน แต่อินเดียไม่ยอมช่วยหาหนทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น บางทีอาจเพราะกริ่งเกรงจะเป็นการผลักไสรัฐบาลภูฏานให้ไปซบอกประเทศจีนแทน ผู้ลี้ภัยแสดงความไม่พอใจที่อินเดียอนุญาตให้ชาวภูฏานเดินทางจากประเทศไปค่ายผู้อพยพในเนปาล แต่ไม่ยอมเปิดเส้นทางให้เดินทางกลับ

ความสงบสันติในเอเชียใต้เป็นความปรารถนาของสหรัฐอเมริกา แต่ภูมิภาคนี้ก็ห่างไกลจากคำว่าสงบสุข ประเทศต่างๆ ตั้งแต่อัฟกานิสถานไปจนถึงศรีลังกาล้วนตกอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง การเผชิญหน้าระหว่างอินเดียกับปากีสถานยังคงทอดเงาทะมื่นเหนือภูมิภาค อีกทั้งการงัดข้อในเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนกับอินเดีย ซึ่งต่างฝ่ายต่างกำลังก้าวขึ้นสู่ความเป็นมหาอำนาจ เป็นอีกต้นเหตุใหญ่ของความไม่สบายใจ ที่ผ่านมา วอชิงตันพยายามวางตัวอยู่ห่างจากปัญหาในเอเชียใต้ หรือไม่ก็ยังพยายามไม่มากพอที่จะหาทางคลี่คลายให้ดีขึ้น แต่ตอนนี้ดูเหมือนทุกอย่างกำลังเปลี่ยนไป ความคลั่งไคล้สุดขั้วในลัทธิต่างๆ, การก่อการร้าย และความหัวรุนแรงของผู้ลี้ภัยที่กำลังขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ในภูมิภาคนี้ ชักจะทำให้อเมริกาหันมาจับตาดูอนุทวีปนี้อย่างใกล้ชิด

ข้อเสนอของสหรัฐอเมริกาที่จะรับผู้ลี้ภัยชาวภูฏานก่อให้เกิดปฏิกิริยาที่ผสมปนเป ในด้านหนึ่ง ผู้ลี้ภัยกลุ่มที่มีการศึกษาและมีฝีมือรู้สึกดีใจที่จะได้มีโอกาสไล่ตามความฝันแบบอเมริกัน ส่วนอีกด้านหนึ่ง ผู้ลี้ภัยกลุ่มใหญ่วิตกว่า การคัดสรรผู้อพยพไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สามจะทำลายความหวังอันแท้จริงที่จะได้กลับบ้านและสร้างสังคมประชาธิปไตยขึ้นในภูฏาน

นอกจากนี้ เนปาลยังถูกทิ้งให้จัดการปัญหาที่เหลือต่อไป เนปาลจะต้องรับมือกับผู้อพยพที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งจนกว่าจะมีประเทศไหนก้าวออกมารับพวกเขาไปอีก รวมทั้งยังต้องต่อกรกับคลื่นผู้อพยพระลอกใหม่ที่จะหลั่งไหลเข้ามา โดยมีโอกาสในการได้ย้ายไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สามเป็นสิ่งล่อใจ

กษัตริย์จิกมี สิงเย ก้าวลงจากคอนบัลลังก์สูงลิบโดยไม่แก้ไขวิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัยที่พระองค์ทรงก่อให้เกิดขึ้น ในเมื่อนิวเดลีมีความสำคัญเพิ่มขึ้นหลังจากข้อตกลงนิวเคลียร์สหรัฐฯ-อินเดียเมื่อเร็วๆ นี้ วอชิงตันน่าจะอาศัยอินเดียให้ใช้อิทธิพลกดดันภูฏาน เพื่อกรุยทางไปสู่การรับผู้ลี้ภัยคืนถิ่น ก่อนที่ผู้ลี้ภัยเหล่านี้จะสิ้นหวังจนตรอก จนกลายเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาค การคลี่คลายปัญหาจะเปิดช่องให้ผู้ลี้ภัยกลับบ้านได้อย่างมีศักดิ์ศรี กระตุ้นให้ระบอบกษัตริย์คลายมือจากอำนาจ รวมทั้งผลักดันค่านิยมและสถาบันประชาธิปไตยในประเทศภูฏาน

 

..........................................................

มูรารี ชาร์มา เป็นอดีตเอกอัครราชทูตเนปาลประจำสหประชาชาติ เป็นผู้ร่วมเขียนหนังสือชื่อ Reinventing the United Nations ซึ่งออกวางจำหน่ายในเดือนมกราคมปีนี้ เขาเคยมีบทบาทในการเจรจาประเด็นปัญหาผู้ลี้ภัยระหว่างเนปาลกับภูฏาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท