Skip to main content
sharethis

"ยิ่งใครชูธงคุณธรรมมาด่าทักษิณ ถามว่าชูธงคุณธรรมคุณนั้นกล้าจริงๆ หรือที่พูดว่าผู้ปกครองต้องมีคุณธรรม จริยธรรม ... อย่างนั้นกล้าที่จะร้องคุณธรรมจริยธรรมให้กับคุณวิชิตชัย (อมรกุล) ที่โดนแขวนคอมีคนเอาเก้าอี้มาตี วันที่ 6 ตุลา 19 หรือไม่" จากงานสัมมนาวิชาการ สังคมการเมืองไทย 4 เดือนหลังรัฐประหาร

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)

งานสัมมนาวิชาการ 'สังคมการเมืองไทย 4 เดือนหลังรัฐประหาร'

จัดโดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน และคณะทำงานสัมมนาและเผยแพร่ คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.

วันที่ 19 มกราคม 2550

 

 

4 เดือนที่ผ่านมา ปัญญาชน นักวิชาการ นักกิจกรรมทั้งหลายแสดงให้เห็นว่าไม่เคยเรียนรู้อะไรเลย ไม่เคยเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ไม่เคยเรียนรู้ความผิดพลาดของตัวเองและไม่เคยที่จะยอมรับ คือ ทำตัวเป็นเทวดาพอๆ กับเทวดาที่ชอบยกย่องกัน กระแสยกย่องเทวดาในรอบหลายปีที่ผ่านมามันเกิดขึ้นอย่างลอยๆไม่ได้ มีหลายสิ่งที่เราแชร์ร่วมกันก็คือไม่เคยเรียนรู้ความผิดพลาดตัวเองเลย

 

เอาง่ายๆ รูปแบบที่เราทำคือรูปแบบการเสวนาออกไปแล้วเป็น movement ทางการเมืองอย่างหนึ่ง ในหลายปีนี้พบว่ามันเกิดขึ้นเพื่อให้คนเหล่านี้กลายเป็นพระเอกหรือฮีโร่ขึ้นมา ผมมีปัญหากับรูปแบบนี้เพราะเถียงกันเปล่าๆ ว่านักวิชาการคนนั้นพูดอย่างนั้น คนนี้พูดอย่างนี้ จนเกิดภาวะที่นักวิชาการคนหนึ่งสามารถเรียกนักข่าวมา press conference ให้พาดหัวข่าวในวันรุ่งขึ้น ภาวะอย่างนี้คนก็เชียร์กันสะใจมากที่ออกมาด่ารัฐบาล ด่านักการเมือง โดยไม่รู้ว่าภาวะนี้มันทุเรศขนาดไหน

 

ผมไม่เคยนึกว่าธีรยุทธ (บุญมี) หรือประเวศ วะสี เป็นตัวแทนของใครที่ไหน ผมไม่อยากจะทำอย่างนี้เพราะเป็นการเสริมภาวะนี้อันหนึ่ง แต่เห็นว่าถ้าการพูดนี้จะมีประโยชน์บ้างก็เพื่อให้ภาวะนี้ที่ผ่านมาหายไป

 

ข้อสรุปของผมคือที่บอกว่าปัญญาชนไม่เคยเรียนรู้อะไรเลยใน 4 เดือนที่ผ่านมา ข้อพิสูจน์คือหนังสือเล่มนี้(รัฐประหาร 19 กันยา : รัฐประหารเพื่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน) สะท้อนความผิดพลาดของตัวเองที่ผ่านมา โดยยกตัวอย่างแค่ 4 ประเด็น ที่เขียนโดย สุลักษณ์ (ศิวรักษ์) นิธิ (เอียวศรีวงศ์) ชัยวัฒน์ (สถาอานันท์) ธงชัย (วินิจจะกูล)

 

ชัยวัฒน์ พยายามจะเขียนแก้ตัวและมีท่าทีหน่อมแน้มกับการรัฐประหารครั้งนี้ บอกทหารไม่ใช้ความรุนแรงบ้างอะไรบ้าง ในบทความอริสโตเติลกับรัฐประหาร 19 กันยาฯ ขอมีข้อกังขากับศีลธรรม เพราะด้านหนึ่งบอกไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร แต่อีกด้านก็บอกเข้าใจเหตุผลของการรัฐประหาร มันเถียงไม่ขึ้นเนื่องจากก่อนหน้ารัฐประหารไม่กี่เดือน อาจารย์ชัยวัฒน์เป็นคนหนึ่งที่เซ็นในแถลงการณ์วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2548 คัดค้านการใช้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญ แต่พอมีการใช้จริงๆ เกือบทุกคนในนั้น ทั้งชัยวัฒน์ สมชาย (ปรีชาศิลปกุล) รังสรรค์  (ธนะพรพันธ์) เกษียร (เตชะพีระ) หลังรัฐประหารมีใครโผล่หน้ามาออกแถลงการณ์ว่าไม่เห็นด้วย คัดค้านการรัฐประหาร ไม่มีเลย

 

ชัยวัฒน์สอนเรื่องสันติวิธี สอนเรื่องหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง สอนนักศึกษาแต่ละรุ่นผมขอให้คุณใช้สันติ แต่มันเกิดมีคนใช้ความรุนแรงโดยที่ความรุนแรงนั้นมีข้ออ้างที่มันฟังเข้าท่าเรื่องนั้นไม่เคยสอนว่า ผมขอมีข้อกังขาทางศีลธรรม

 

3 คน ที่เหลือ สุลักษณ์ พูดตรงๆ พูดด้วยความเสียใจมากๆ เมื่อหลายปีก่อนมีงานสัมมนาเล็กๆ ที่คณะรัฐศาสตร์ เคยพูดว่าในประเทศไทย สุลักษณ์เท่านั้นได้ชื่อว่าเป็นปัญญาชนจริงๆ เพราะในประเทศไทยถ้าคุณเป็นปัญญาชนจริงๆ ต้องกล้าพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์ ถ้าคุณไม่กล้าพูดอย่างมากก็เป็นคนที่รับใช้รัฐแล้วเขียนลงหนังสือพิมพ์เอารายได้ต่อเดือนต่อวันไปเท่านั้น

 

ที่เสียใจมากคือได้ฟังอาจารย์สุลักษณ์พูดที่เวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 3 ครั้ง และอ่านสัมภาษณ์โดยละเอียดที่ตีพิมพ์ในกรุงเทพธุรกิจวันที่ 3 ธันวาคม 2548 เป็น speech สาธารณะที่แย่มากๆ ที่เคยอ่านในหลายๆ ปี นอกจากจะโจมตีทักษิณ-พจมาน เนื้อหาตอนนั้นพันธมิตรฯ ชูธงเหลืองมาเป็นปีแล้ว การขึ้นเวทีของอาจารย์สุลักษณ์ ไปสร้างความชอบธรรมให้กับขบวนการที่ชูธงเหลือง ส่วนบทสัมภาษณ์ที่ลงในกรุงเทพธุรกิจ อาจารย์สุลักษณ์บอกว่า ทักษิณยังแย่กว่าสฤษดิ์ (ธนะรัชต์) เพราะอย่างน้อยสฤษดิ์จงรักภักดีมากกว่าทักษิณ

 

อาจารย์สุลักษณ์อ้างปรีดี (พนมยงค์) ซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่ไม่เคยเรียนรู้อะไรจากปรีดีเลย ปรีดีเขียนซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าสมัยปี 2500 คนจำนวนมากไปหลงเชื่อข้ออ้างของจอมพลสฤษดิ์ที่โจมตีจอมพล ป. พิบูลสงคราม ว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ไม่เคารพในหลวง

 

อย่างที่บอกด้วยความเสียใจ  3 ครั้งที่ขึ้นเวทีแม้ข้อเสนอมาตรา 7 ยังไม่เป็นทางการ แต่เมื่อข้อเสนอเป็นทางการแล้วอาจารย์ก็ไม่เคยนำตัวเองออกจากกระบวนการนี้เลย การชูสถาบันกษัตริย์มาเล่นงานคนเป็นอะไรบางอย่างที่คนเถียงไม่ได้ ไอ้คนที่ชูประเด็นสถาบันกษัตริย์คือคนขี้ขลาดสุดๆ เลย เพราะรู้ว่าคนไม่สามารถเถียงประเด็นนี้ได้ หรือเรื่องคุณธรรมก็เพราะรู้ว่าคนเถียงเรื่องพวกนี้ไม่ได้

 

ส่วนอาจารย์นิธิ ในบทสัมภาษณ์พยายามสร้างความชอบธรรมให้ตัวเองในท่าทีหน่อมแน้มหลังรัฐประหาร อ่านบทความที่ว่าสู้ประชานิยมจอมปลอมแล้วผมโกรธมากกับบทความนี้ อาจารย์นิธิพยายามแก้ตัวว่าขอโทษที่เขียนไปสร้างความชอบธรรมกับการรัฐประหาร ต้องขออภัยในปัญหาที่ผมไม่ได้เจตนา ผมคงไม่มีวันที่จะเห็นว่าการรัฐประหารใดๆ ชอบธรรมเด็ดขาด

 

แต่จะเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็น หลังบทความนั้นตีพิมพ์ไป 3 เดือน คือ ตั้งแต่ประมาณเดือนตุลาคม ผมอ่านหนังสือพิมพ์มาตลอดไม่เคยเห็นครั้งไหนเลยหลังจากบทความนี้ที่นิธิจะเขียนบทความว่าสู้คณะปฏิรูปจอมปลอม ไม่เคยมีครั้งไหนเลยที่นิธิจะเรียกร้องให้คนรวมหัวกันสู้กับคณะที่จอมปลอมยึดอำนาจอยู่ตอนนี้ 3 เดือนผ่านมาแล้ว ลงงานเขียนในมติชนสัปดาห์ละ 2 ฉบับ มีความพยายามแก้ตัวว่าตลอดเวลาที่ผ่านมานิธิโจมตีแต่นักการเมือง

 

ผมเคยเขียนในบทความขึ้นต้นทำนองว่าปัญญาชนสาธารณะทั้งหลายมึงควรละอายใจแก่ตัวเอง เป็นวันที่ผมพูดหยาบคายมากว่า "มึง" ผมเลียนแบบนิธิที่ในหลายปีที่ผ่านมาเวลาด่านักการเมืองขึ้นมึงเลยในฐานะที่ยืมคำชาวบ้านมาเอาคำว่ามึงมาด่านักการเมือง หรือผมเคยพูดหลายครั้งว่า อาจารย์รังสรรค์ ด่านักการเมืองอัปรีย์ จะด่าอะไรก็ไม่ว่าแต่กล้าพูดกับคนอื่นหรือไม่

 

นิธิ แก้ตัวหน่อมแน้มมากไปหาอ่านเอาเอง และลงเอยว่าผมคงกลัวนักการเมืองมากกว่าทหาร นักการเมืองอย่างไรเราก็อยู่กับพวกเขานาน ผมว่าจริงๆ นิธิไม่ได้กลัวนักการเมืองแต่กลัวคนที่ไม่กล้าด่านั้นมากกว่า ในฐานะนักประวัติศาสตร์ที่ว่านักการเมืองอยู่กับเรานาน ผมว่าในฐานะนักประวัติศาสตร์เป็นอะไรที่งี่เง่ามาก ทักษิณอยู่กับเรามา 5 ปี เอง อาจารย์นิธิตอนนี้ 65 แล้ว นักการเมืองที่อยู่เป็นหลักในสังคมไทยตอบหน่อยกี่ปี ใครครับที่อยู่มานานกว่า

 

ประเด็นสุดท้ายคือ ธงชัย จะ Defend ประเด็นว่า ปัญญาชนกลุ่มหนึ่งมี 2 ไม่เอา คือชูธงว่าไม่เอาทักษิณและไม่เอานายกพระราชทาน ผมคิดว่าชูธง 2 ไม่เอานี้ไม่ได้ ไม่เอา 2 อันนี้ เอาอะไร มีตัวแทนของตัวเองหรือ แล้วบอกว่าไม่เอาคนไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง พอคนมาจากการเลือกตั้งก็ไม่เอาอีก ประเด็นสำคัญคือตรงนี้

 

จุดยืน 2 ไม่เอานี้ในที่สุดแล้วมันไปเสริมให้กับกระแสสนธิ นิธิเองเขียนไว้ด้วยซ้ำว่าเขาไม่ต้องการทำอะไรที่เป็นการบ่อนทำลายการต่อสู้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พูดจริงด้วยความโกรธ หลายเดือนที่ผ่านมาพยายามไม่คิดถึงเรื่องการรัฐประหารเพราะคิดถึงทีไรเชื่อมากๆ ว่าบรรดาปัญญาชนพวกนี้ที่ผมว่ามากๆ ว่า พวกนี้ไม่ได้เป็นตัวทำให้เกิดรัฐประหาร แต่พวกนี้เป็นพวกที่ควรจะรู้ดีกว่าใครๆ ไม่เอานายกพระราชทานจะเอานายกที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ไม่เอาทักษิณแล้วไปร่วมกับกระแสเคลื่อนไหวที่ผ่านในรอบปี คนที่ควรจะรู้ดีกว่าใคร จากตัวอย่าง สมัยสฤษดิ์ ชูธงด่า ป. พิบูลสงคราม สุดท้ายสฤษดิ์ขึ้นมาเอาไปเอง

 

ธงชัยก็แย้งผมประเด็นนี้ว่า การชูคำขวัญไม่เอาทักษิณในทุกระบอบประชาธิปไตยการเรียกร้องให้ผู้นำลาออกเป็นสิ่งที่ทำได้ปกติตราบที่ใช้วิธีการตามรัฐธรรมนูญ ผมว่าวิธีการที่ธงชัยอธิบายนี้คือการบอกว่าประเทศไทยไม่ใช่ประชาธิปไตย แล้วตอนท้ายก็วิจารณ์ผมว่า การที่ผมพูดประเด็นเรื่องแทกติก หรือคิดในเชิงยุทธวิธีว่า การที่คุณไปหนุนเสริมกระแสเป็นการไม่ดี เขาบอกว่าการคิดแบบนี้เป็นการคิดในเชิง timing เป็นการฉวยโอกาส

 

แต่ลองถามตัวเองว่ากล้าจะไม่เอากับคนที่อยากจะไม่เอาหรือไม่ แม้แต่ธงชัยก็เถอะ ในทีนี้มีใครบ้างกล้าตะโกนว่าไม่เอากับคนที่คุณคิดในใจว่าไม่เอา ปัญหาคำถามของไม่เอาทักษิณก็คือตรงนี้ กล้าหรือที่มาปกป้องว่ามันเป็นสิทธิตามประชาธิปไตย ที่ธงชัยเขียนเป็นร้อยๆ หน้าไม่ใช่ประเด็นนี้หรือว่ามันไม่เป็นประชาธิปไตย มันเป็นเพราะเหตุผลนี้ ธงชัยต้องพูดมาสิว่าไม่เอาใครบ้าง ไม่ใช่แม้แต่ธงชัยทำไม่ได้ ผมก็ทำไม่ได้

 

เราทำไม่ได้ก็กลายเป็นประเด็นสำคัญ มันคือปัญหาของสังคมทุกวันนี้จริงๆ หลายปีที่ผ่านมาก็กลับมาประเด็นนี้ตลอดเวลา ด่าว่าทักษิณมันเลวอย่างนั้นอย่างนี้ หนังสือฟ้าเดียวกันเป็นแห่งแรกที่ชูคำว่าระบอบทักษิณ วันนี้แม้แต่ไทยรัฐยังเอาไปใช้ แต่หัวใจคือถามจริงๆ ทักษิณเลวหรือไม่เลว หลายคนมาที่ประเด็นนี้มาตลอดเวลา คำตอบตอบแบบไม่ได้เล่นคำคือ "ตอบไม่ได้"  เพราะการประเมินทางการเมืองหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องอาศัยบรรทัดฐานที่เป็นนามธรรมลักษณะทั่วไป ปัญหาคือหลักการนามธรรมที่เป็นลักษณะทั่วไปนี้จะ make sense ก็ต่อเมื่อมันถูกประยุกต์ใช้ต่อผู้มีอำนาจอย่างทั่วไปเหมือนกัน

 

ยกตัวอย่าง อาจารย์ไชยันต์ ไชยพร ชูธงคุณธรรม แต่ยิ่งใครชูธงคุณธรรมมาด่าทักษิณ ผมอยากจะอ้วก ถามว่าชูธงคุณธรรม คุณนั้นกล้าจริงๆ หรือที่พูดว่าผู้ปกครองต้องมีคุณธรรม จริยธรรม พูดซ้ำๆๆๆ แต่กล้าท้าทายกับผู้ที่มีอำนาจตอนนี้จริงหรือ

 

อย่างนั้นกล้าที่จะร้องคุณธรรมจริยธรรมให้กับ ชิต (สิงหเสนี) เฉลียว (ปทุมรส) บุศย์ (ปัทมศริน) หรือไม่ 3 คนนี้อาจจะเก่าไป เป็นคุณวิชิตชัย (อมรกุล) ที่โดนแขวนคอมีคนเอาเก้าอี้มาตี วันที่ 6 ตุลา กล้าหรือไม่ เอาเป็นอาจารย์ไชยันต์เดินเข้าเดินออกคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ทุกวันมีรูปอยู่  ถ้าไม่กล้าอย่ามาสะเออะพูดเรื่องนี้ ขอร้อง

 

ปัญหาเรื่องคอรัปชั่น การตรวจสอบทางการเงิน กล้าเรียกร้องให้ตรวจสอบเรื่องนี้จริงๆ หรือไม่ มาช็อกกันที่สุรยุทธ์ (จุลานนท์) ทำไมมีเงินตั้งเป็นร้อยล้าน เพราะรัฐธรรมนูญ 2540 มันไม่บอกว่าพวก ผบ.ทบ.ทั้งหลายแหล่นี้ต้องเปิดเผยตัวเลขตัวเองด้วย แน่นอนว่าไม่ระบุให้คนอื่นเขาเปิดเผย แล้วเอาอะไรมาวิจารณ์ทักษิณ ผมสามารถชี้นำคนอื่นๆ ให้คุณไปเรียกร้องได้ แต่คุณกล้าหรือไม่ เมื่อไม่กล้าแล้วก็ชูธงวิจารณ์ว่านักการเมืองแย่อย่างโน้นอย่างนี้ด้วยบรรทัดฐานที่เป็นนามธรรมที่เป็นทั่วไปนี้ตลอดเวลา แต่ขณะเดียวกันก็หลีกเลี่ยงที่จะพูดประเด็นนี้ทั้งหมด ผลจากการทำประเด็นนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก 25 ปี กลายเป็นเรื่องสามัญสำนึกที่นักการเมืองมันเลวทราม ต่ำช้า ชาติชั่ว คอร์รัปชั่น ถ้าชาวบ้านคิดแบบนี้จะไม่ว่า แต่คนระดับศาสตราจารย์ทั้งหลายคิดและพูดซ้ำ มันทุเรศ

 

ผมพูดว่า 25 ปี เรื่องนี้สำคัญ เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมามันไม่ได้เกิดขึ้นเฉยๆ  แต่เนื่องจากเมื่อ 25 ปีที่แล้วขบวนการทางการเมืองคือ พคท. (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) มันพัง แล้วปัญญาชนที่ได้รับอิทธิพลจาก พคท. มันพังไป ผมไม่เคยเป็นสมาชิก พคท. แต่ยืนยันในฐานะนักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องการเมืองมาตลอด ในทางการเมืองไทยมีขบวนการทางการเมืองนี้เท่านั้นที่หากจะว่าในแง่กระบวนการจริงๆ พรรคการเมืองน่ายกย่องจริงๆ ในทางหลักการก็มีกระบวนการนี้เท่านั้น หลังจากนี้ไปปัญญาชนทั้งหลายที่มีชื่อเสียงขึ้นมาทีหลังไม่ได้ผลของขบวนการ

 

พคท.ผิดพลาดเยอะ แต่อย่างน้อยสุดวิธีคิดหรือชี้นำ พ่อขุน ศักดินา ศัตรูประชนคือจักรวรรดินิยม นายทุนใหญ่ เจ้าที่ดินใหญ่ เขาใช้หลักการอันนี้ ไม่เหมือนปัญญาชนตลอดช่วง 25 ปีมานี้ ขี้ขลาดตาขาว ขณะเดียวกันพยายามโพธนาว่าตัวเองมีคุณธรรม ถือหลักการอย่างนั้น อย่างนี้ แต่ไม่กล้าแตะ

 

ข้อสรุปคือ หนังสือนี้ ( รัฐประหาร 19 กันยาฯ ) เป็นผลสะท้อนของ 20 กว่าปีว่าปัญญาชนพอเริ่มโละประเด็นประเด็นประชาธิปไตยก็เป็นอย่างนี้ ปัญญาชนของไทยไม่เคยเรียนรู้อะไรเลย

 

 

 

-------------------------

หมายเหตุ

 

- เฉลียว ปทุมรส ,ชิต สิงหเสนี และบุศย์ ปัทมศริน คือผู้ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนลอบปลงพระชนม์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2489 ถูกประหารชีวิตเมื่อวันที่วันพฤหัสบดีที่ 17 กุมภาพันธ์ 2489

http://somsakwork.blogspot.com/2006/06/blog-post.html

 

- วิชิตชัย อมรกุล นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เข้าร่วมการต่อสู้ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และเสียชีวิต โดยถูกกระสุนเอ็ม 16 ที่ท้อง ใช้เชือกรองเท้ารัดคอลากไปตามพื้นและนำไปแขวนไว้ที่ต้นมะขามสนามหลวงโดยถูกทุบตีซ้ำ

http://www.2519.net/autopage/show_page.php?t=3&s_id=50&d_id=51

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net