Skip to main content
sharethis

มนูญ  มุ่งชู


สำนักข่าวประชาธรรม


 


การที่รัฐบาลขาดมาตรการที่ชัดเจนในการควบคุมการถือครองที่ดิน  ปล่อยให้เอกชนเป็นเจ้าของที่ดินแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา  ทำให้กรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนใหญ่ตกไปอยู่ในครอบครองของผู้มีอันจะกินและปล่อยทิ้งร้างว่างเปล่าไม่ได้ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด


 


ขณะที่คนยากจนที่ไร้ที่ดินทำกินกลับต้องขอเช่าจากเอกชนในอัตราที่เก็งกำไร  ซ้ำร้ายที่ดินที่เช่าอยู่นั้นก็คือที่ดินเดิมของตนเอง   ปัจจุบันรัฐยังไม่มีมาตรการควบคุมไม่ให้ที่ดินกลายเป็นสินค้า  ทำให้ที่ดินยิ่งหลุดมือจากเกษตรกรมากขึ้น


 


นอกจากนี้ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ   เกษตรกรและคนยากจนส่วนใหญ่ไม่มีความมั่นคงในการถือครองที่ดิน  เพราะทางการไม่ยอมออกเอกสารสิทธิ์ให้ โดยอ้างว่าเป็นที่ราชพัสดุบ้าง  ที่สาธารณะบ้าง  บางพื้นที่ถึงขึ้นใช้ความรุนแรงผลักดันชาวบ้านให้ออกจากพื้นที่เพื่อจะขอใช้ประโยชน์จากที่ดินดังกล่าว


 


โฉนดที่ดินชุมชน นำร่องปฏิรูปที่ดินกันเอง


 


บ้านโนนหนองราด  .7 .บ้านขาม อ.น้ำพอง  .ขอนแก่น  เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีปัญหาและข้อขัดแย้งกรณีที่ชาวบ้านได้จับจองที่ดินทำกินและสร้างที่อยู่อาศัยมาหลาย  10 ปี แต่ทางการไม่ยอมออกเอกสารสิทธิ์การถือครองที่ดินให้ ทำให้ชาวบ้านเกิดความรู้สึกไม่มีความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน  จึงพยายามต่อสู้เรียกร้องเพื่อให้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์นั้นทุกวิถีทาง   ทั้งทางตรงคือเมื่อปี 2539   เข้าร่วมกับเครือข่ายปัญหาต่าง ๆ ทั่วประเทศในนาม สมัชชาคนจน  ส่วนทางอ้อมคือการคิดค้นรูปแบบการถือครองที่ดิน ที่เรียกกันว่า "โฉนดที่ดินชุมชน"โดยใช้มติของชุมชนรับรองกันเอง


 


สังวาร    อันทะเกตุ  ชาวบ้านโนนหนองราด  .7 .บ้านขาม อ.น้ำพอง  .ขอนแก่น และ คณะกรรมการรับรองโฉนดที่ดินชุมชน  ย้อนอดีตให้ฟังว่า    บ้านโนนหนองราด เดิมเป็นที่ดินว่างเปล่าและชาวบ้านได้พากันจับจองเป็นพื้นที่ทำกินสืบต่อกันมาหลายรุ่น  ต่อมามีโครงการสร้างฝายกั้นน้ำขึ้นทำให้พื้นที่ทำกินชาวบ้านถูกน้ำท่วมเสียหายเหลือเพียงบางส่วนที่สามารถทำกินได้  


 


ต่อมาน้ำในอ่างเก็บน้ำที่เกิดจากการสร้างฝาย ได้ลดลงอย่างมากทำให้ชาวบ้านซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินเดิมกลับเข้าไปทำกินอีกครั้ง  โดยมีผู้นำชุมชนซึ่งเป็นกำนันในสมัยนั้น เป็นคนจัดจัดสรรพื้นที่ให้    กระทั่งมีการเปลี่ยนตัวผู้นำชุมชนใหม่   ที่มาพร้อมกับแนวคิดที่จะนำพื้นที่โนนหนองราด ให้กลับมาเป็นที่ดินสาธารณะประโยชน์อีกครั้ง  ปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ จึงเกิดขึ้นแต่นั้นเป็นต้นมา


 


"ภายหลังการประกาศที่สาธารณะประโยชน์ทับที่ทำกินของชาวบ้านโนนหนองราดซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2514 จนถึงปัจจุบัน  ก็ยังไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาไกล่เกลี่ย  มีบ้างก็เพียงเจ้าหน้าที่รังวัดที่ดินของ กรมที่ดิน แต่สุดท้ายเรื่องก็มาติดที่ว่าอำนาจในการตัดสินใจอยู่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ถ้าไม่มีมติเห็นชอบ  กรมที่ดินก็ทำอะไรไม่ได้  แนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ดินโนนหนองราดจึงไม่ชัดเจน และคลุมเครือมาตลอด  ทำให้ตนและชาวบ้านอีกกว่า 80 ครอบครัวถูกมองว่าเป็นคนบุกรุกที่สาธารณะทั้งที่ได้จับจองทำกินสืบทอดกันมาหลายชั่วคนแล้ว"


 


สังวาร  เล่าต่อไปว่า  กระทั่งปี  2539  ชาวบ้านโนนหนองราดจึงตัดสินใจเข้าร่วมต่อสู้กับสมัชชาคนจน เรียกร้องความเป็นธรรมจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ  จากนั้นจึงได้มี เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน เข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ในเบื้องต้น โดยการจัดตั้ง คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินดังกล่าว และมีมติร่วมกันว่าจะให้คนในชุมชนรับรองกันเองในเบื้องต้นก่อน   โดยการออกเอกสารสิทธิ์การถือครองที่ดิน ที่เรียกว่า โฉนดที่ดินชุมชน  เพื่อรับรองว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของบุคคลที่ถือครองเอกสารสิทธิ์นั้น  โดยผู้ถือครองที่ดินจะต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อตกลงอย่างเคร่งครัด 


 


กฎระเบียบร่างขึ้นจากชุมชน


 


ระเบียบข้อตกลงของโฉนดที่ดินชุมชนโนนหนองราด  ประกอบด้วย


 


ข้อ 1.สิทธิในที่ดินต้องเป็นสิทธิรวมหมู่  การกระทำใด ๆ ต้องเป็นไปตามระเบียบของชุมชนโดยมี คณะกรรมการชุมชนเป็นผู้ควบคุม 


ข้อ 2. ที่ดินแปลงใดไม่ได้ใช้ประโยชน์จะต้องแจ้งให้ คณะกรรมการฯรับรู้   ห้ามนำไปให้ผู้อื่นที่ไม่ใช่ญาติใช้ประโยชน์โดยเด็ดขาด 


ข้อ 3. ที่ดินที่ไม่ใช้ประโยชน์คณะกรรมการฯจะนำมาเป็นที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันโดยจะแบ่งผลผลิตให้เจ้าของที่ดินไม่เกิน 20 % และอีก 80%จะนำเข้าส่วนกลาง สำหรับใช้เป็นต้นทุนในเคลื่อนไหวงานของกลุ่ม 


ข้อ 4.ห้ามซื้อ ขาย จ่ายโอนให้กับผู้อื่นที่ไม่ใช่ญาติหรือสมาชิกเด็ดขาด  และการซื้อขายจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการฯ


ข้อ 5. การซื้อขายที่ดินจะต้องเป็นไปตามราคาประเมินของคณะกรรมการฯ โดยจะมีการประเมินราคาที่ดินทุก 4 ปี 


ข้อ 6. ที่ดินสาธารณะประโยชน์ของชุมชนห้ามบุกรุกและนำมาใช้ประโยชน์ส่วนตัวโดยเด็ดขาด  ยกเว้นได้รับมติเห็นชอบจากสมาชิกเกินกึ่งหนึ่งของที่ประชุม 


ข้อ 7. ผู้ใดกระทำผิดระเบียบข้อบังคับของชุมชนถือว่าหมดสภาพการเป็นสมาชิกของชุมชนและจะไม่ได้รับการคุ้มครองจากชุมชน 


ข้อ 8. ให้มีการจัดตั้ง "กองทุนที่ดิน"  โดยมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้  8.1) กองทุนที่ดินมีไว้เพื่อเป็นกลไกแลกเปลี่ยนซื้อขายที่ดินในยามที่สมาชิกมีความจำเป็น  8.2) เป็นกองทุนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน


ข้อ 9. คณะกรรมการโฉนดชุมชนได้มาจากการเลือกตั้งในที่ประชุมใหญ่ของสมาชิกชุมชน จำนวน 7 คน มีวาระ 4 ปี


 


สังวาร  กล่าวในตอนท้ายว่า  ตั้งแต่มีการตั้งคณะกรรมการโฉนดที่ดินชุมชนขึ้นมาปัญหาและข้อพิพาทกรณีการบุกรุกที่สาธารณะก็บรรเทาลง   ถือว่าเป็นรูปแบบการแก้ไขปัญหาเรื่องเอกสารสิทธิ์ที่ดินที่ถูกคิดค้นขึ้นมาจากชุมชนกันเอง  เพราะถ้ารอให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาแก้ไขปัญหาให้   ก็ไม่รู้ว่าต้องรอไปอีกนานเท่าไหร่ ฉะนั้นระหว่างที่รอให้รัฐเข้ามาแก้ไขปัญหาให้อย่างมั่นคง และยั่งยืน  ชุมชนต้องคิดค้นแนวทางการแก้ไขปัญหาของตนเองเสียก่อน  


 


นิวาส  โคตรจันทึก  ผู้ประสานงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน กล่าวว่า     กระแสทุนนิยมที่รุกเข้ามาอย่างหนัก เป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านหันมาทำเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว  แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะหยุดกระแสนั้นได้  ปัญหาอยู่ที่ว่า ชาวบ้านเรายังไม่มีภูมิคุ้มกันในการปกป้องที่ดินของตนเอง  โอกาสที่ที่ดินจะตกไปอยู่ในมือของนายทุนก็มีสูงขึ้นเรื่อย ๆ  ขณะเดียวกันก็ยังไม่มีกฎหมายที่จะมารองรับปัญหานี้โดยตรง  ชาวบ้านจึงต้องมีทางเลือกในการคุ้มครองที่ดินของตนเองอย่างมั่นคงและยั่งยืน


 


"โฉนดชุมชนเป็นเรื่องของการที่จะปลูกฝังแนวคิดให้เกษตรกรรู้จักการจัดการที่ดินของชุมชน  และต้องยอมรับว่าที่ดินตรงนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมของชุมชน  แนวทางคือให้เกษตรกรมีสิทธิในการดูแลจัดการและปกป้องที่ดินของตนเองอย่างยั่งยืน"


 


ผู้ประสานงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดิน  ภาคอีสาน  กล่าวอีกว่า ปัญหาที่ดินของเกษตรกรในปัจจุบันเป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ  เพราะเกษตรกรรมถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย  แต่ที่ผ่านมารัฐยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจน   ตนยังมองไม่เห็นภาพที่จะทะลุทะลวงปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม ถึงที่สุดแล้วเมื่อชาวบ้านนำเสนอข้อมูลที่เป็นจริงของแต่ละพื้นที่พร้อมทั้งนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อคณะทำงานที่รับผิดชอบแล้ว  หน่วยงานภาครัฐก็จะอ้างกฎหมายที่มีอยู่ทันที  ทำให้ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมและหมักหมมคลุมเครืออยู่จนถึงปัจจุบัน 


 


"ถ้ารัฐมีความจริงใจต่อการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินให้ชาวบ้านจริง ๆ ต้องกล้าที่จะนำกฎหมายบางตัวที่ขัดต่อแนวทางการแก้ไขปัญหานั้น ๆ มาพิจารณาและแก้ไขให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของแต่ละพื้นที่ไม่อย่างนั้นปัญหาก็ไม่จบสิ้นและจะคาราคาซังอยู่อย่างนี้ต่อไป  ในส่วนของภาคประชาชนเองก็มีความจำเป็นที่จะต้องคิดค้นรูปแบบการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกินของตนเองขึ้นมานำเสนอต่อคณะทำงานปฏิรูปการเมืองเพื่อบรรจุเป็นวาระแห่งชาติต่อไป" ผู้ประสานงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสานกล่าว


 


ดร.เกษียร   เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์   เคยกล่าวไว้ในเวทีเสวนาวิชาการ เรื่อง "มองปัญหาที่ดินในปัจจุบัน"  ซึ่งจัดโดยสมัชชานักวิชาการเพื่อคนจน  โดยมีข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหาที่ดินไว้อย่างน่าสนใจว่า  สาเหตุที่การจัดการทรัพยากรล้มเหลวเพราะเราปล่อยให้ตลาด และรัฐเป็นคนจัดการเองทั้งหมด   กรณีที่ดินก็เหมือนกันความจริงรัฐมีหน้าที่ดูแลที่สาธารณะ  แต่กลับไปร่วมมือกับกลุ่มบุคคลและบุคคลโดยออกเอกสารสิทธิ์ที่มิชอบให้เอกชนไปวางค้ำประกันการกู้เงินในยุคเศรษฐกิจฟองสบู่   พอฟองสบู่แตกที่ดินก็ไปกระจุกตัวอยู่ในมือนายทุนหมด   ถือว่าเป็นความล้มเหลวที่เกิดจากการกระทำของภาครัฐโดยแท้


  


"ถ้าเราพบว่ารัฐล้มเหลว ในการช่วยดูแลทรัพยากรของชาติ ทำไมไม่ให้โอกาสกับชุมชนพิสูจน์ตนเองว่าเขาจะช่วยดูแลทรัพยากรของชาติในลักษณะที่เกื้อกูลชาติทำให้ชาติเข้มแข็งขึ้นมาได้ใหม่"


 


ดร.เกษียร กล่าวอีกว่า  ถึงเวลาที่ประเทศไทยจะคิดถึงเรื่องโฉนดชุมชน ให้ชุมชนมีกรรมสิทธิ์มั่นคงในที่ดินของชุมชน ในรูปแบบ "โฉนดชุมชน" คือห้ามซื้อ และห้ามขาย  ให้ชุมชนเป็นผู้ดูแลและสร้างผลผลิตให้มีคุณค่าขึ้นมา   การพูดถึงเศรษฐกิจพอเพียง  รัฐบาลหรือชุมชนได้คิดถึงการปฏิรูปที่ดินให้ชุมชนหรือยัง  ถ้าหากคิดแล้วก็ถือว่าเป็นการลงทุนกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงอย่างจริงจัง  แทนที่เราจะพูดถึงทุกวันโดยไม่ทำอะไร   การลงทุนให้เกษตรกรเป็นฐานแก่เศรษฐกิจพอเพียง   ถ้ามีเศรษฐกิจพอเพียง เราก็อาจจะรับมือกับกระแสโลกาภิวัตน์ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ได้ 


 


อย่างไรก็ตาม การเดินสายแจกหนังสืออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (...4-01) แก่เกษตรกรที่ได้รับการจัดที่ดินในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม  ทั่วประเทศของรัฐบาลรักษาการในปัจจุบันถือเป็นเรื่องที่ดี  แต่แค่เพียงการแจก ส...4-01  ไม่ได้ถือว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่ดินอย่างยั่งยืน  รัฐต้องกล้าที่จะสร้างมาตรการขึ้นมาเพื่อให้เอกชนที่ครอบครองที่ดินจำนวนมหาศาลไว้นั้นคายที่ดินออกมา  แล้วจัดสรรให้คนยากคนจนอย่างเพียงพอ  การเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้าก็เป็นข้อเสนอที่น่าสนใจ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net